บางคน
เราควรกล่าวถึง เขียนถึง ระลึกถึง ด้วยมีความรู้ มีความสามารถ มีหลักการในการทำงาน น่า
ยกย่องศรัทธา เป้าหมายการทำงานสูงกว่ากำไรขาดทุน ที่แสดงเป็นตัวเลข แต่ทำงานเพื่อคุณธรรมความดีงามและสังคม เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อส่วนรวม เช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ , สืบ
นาคะเสถียร , ขบวนการเสรีไทย , วีรชนเดือนตุลาคม พ.ศ.2519 , คณะราษฎร์ 2575 ฯลฯ
บางท่าน
เราต้องกล่าวถึง เขียนถึง ระลึกถึง ด้วยประจักษ์ในผลงานที่มีคุณประโยชน์ต่อชาติ ต่อบ้านเมืองมากมาย เช่น พระนเรศวรมหาราช(พ.ศ.2133-2148) กู้อิสรภาพครั้งที่ 1 , พระเจ้าตากสินมหาราช
( พ.ศ. 2311-2325) กู้อิสรภาพครั้งที่ 2 , พ่อขุนรามคำแหงมหาราช(ประดิษฐ์อักษรไทย พ.ศ.1826) , พระเจ้ามังรายมหาราช(สร้างนครเชียงใหม่ พ.ศ. 1839) ฯลฯ
บางคน
เราอยากกล่าวถึง เขียนถึง นึกถึง มันเป็นความรู้สึกละเอียดอ่อนในใจ มันวนเวียนล่องลอยในลมหายใจ เราสื่อถึงเขาด้วยจิตวิญญาณที่ไม่อาจจับต้อง ทำไม่เล่า ? เพราะเขาแหล่านั้น ทำงานในอาชีพของตนอย่างสุดกำลังและซื่อตรงเนินนานปีเดือน ทำเพราะอยากทำ ยังไม่พอทำเพื่อเผื่อแผ่ถึงผู้อื่น ส่งเสริมสนับสนุนผู้อื่น ได้เดินสู่ความสำเร็จ ทั้งชื่อเสียงการยอมรับ ไม่มีการกีดขวาง ท่านผู้หนึ่งนั้นคือ “ อาจารย์สุชาติ สวัสดิ์ศรี.” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์(เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์) ปี พ.ศ. 2554 มีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงการนักเขียน ยังไม่พอท่านเป็นบรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือนชื่อ “ ช่อการะเกด” ท่านเป็นหัวเรือใหญ่ในการส่งเสริมวงการนักเขียน โดยให้นักเขียนมือใหม่ ส่งเรื่องสั้นไปให้ท่านได้พิจารณาอ่าน หากเรื่องใดผ่านการพิจารณา จะได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารช่อการะเกด โดยได้ค่าเรื่องพอสมควร นิตยสารฉบับนี้เปรียบเสมือนเวที ให้นักเขียนหน้าใหม่ ได้ทดสอบฝีมือ เพื่อผ่านไปเป็นนักเขียนที่ดี และสู่การเป็นนักเขียนอาชีพต่อไป นิตยสาร “ช่อการะเกด” ราคาเฉลี่ยเล่มละ 200 กว่าบาทขึ้นไป เชื่อหรือไม่ ? ทำงานไม่มุ่งหวังความสำเร็จด้านธุรกิจการค้า ไม่มุ่งกำไร ดังนั้นไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดการขาย ต้องล้มลุกคลุกคลาน ล้มแล้วลุก แข็งใจกัดฟันขณะเลือดกบปากสู้ต่อไป ต้องปิดกิจการหลายครั้งครา เพราะสู้ไม่ไหวแล้ว ต้องหยุดการผลิตอีกครั้งหนึ่ง หนังสือช่อการะเกดออกจำหน่ายฉบับสุดท้ายเดือน มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2554 เป็นฉบับที่ 55
ผมได้เขียนเรื่องสั้น
ชื่อ “ ไฟไหม้กาดหลวง” ไปให้อาจารย์สุชาติได้พิจารณาอ่าน ท่านอาจารย์ได้อ่านแล้ว ให้เรื่องของผมผ่าน ได้รับการพิมพ์ลงในหนังสือ “ช่อการะเกด”ฉบับที่ 55 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย ผมดีใจมาก...เป็นกำลังใจมหาศาล เหมือนคนเดินเปะปะในความมืด ได้พบแสงสว่างและทิศทาง...อีกส่วนหนึ่งก็เสียดายหนังสือดีๆฉบับหนึ่ง ที่มุ่งส่งเสริมผู้คนที่รักการขีดเขียน ต้องปิดตัวเองลง เหมือนหนังดีมักไม่ได้เงิน ส่วนกล่องรางวัลใดๆยังไม่อาจคาดเดาได้ ผมเชื่อนะ..อาจารย์ได้ก้าวผ่านเรื่องรางวัลใดๆไปแล้ว การได้ทำงานที่มีคุณประโยชน์มีคุณค่าต่อส่วนรวม เป็นสิ่งมีคุณค่าสูงสุดสำหรับความเป็นมนุษย์ ผู้อื่นได้มองเห็นความดีงามนี้แล้ว คณะกรรมการจึงได้พิจารณาตัดสินให้ท่าน เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2554 ได้รับเงินตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท และสามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ กรณีเสียชีวิต จะมีค่าช่วยเหลืองานศพ 15,000 บาท...ขออนุญาตปรบมือให้ด้วยความเคารพและศรัทธา ยกย่องยามผู้นั้นยังมีลมหายใจดีกว่าสร้างอนุสาวรีย์เมื่อเขาตายไปแล้ว ท่านคือนักเขียนชั้นครูและนักสร้างนักเขียนใหม่รุ่นต่อไป ขอขอบคุณจริงๆครับ ขออาจารย์ได้มีสุขภาพดีแข็งแรง มีความสุขกายใจทั้งครอบครัว ขอพนมมือให้ “สิงห์สนามหลวง” ครับผม.