การเมืองไทย
ช่วงเวลานี้ ไม่มีอะไรน่าติดตามเท่าการตีความมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยบัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้ ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว...” นักกฎหมาย ผู้รู้ทั้งหลาย ได้ตีความในสองแนวทาง แบ่งความเห็นเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน
กลุ่มแรก
ตีความว่า ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การยื่นเรื่องจะต้องกระทำในสองลักษณะคือ ประการแรกเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการ
กลุ่มที่สอง
ตีความว่า ผู้ทราบการกระทำยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีการกระทำเข้าข่ายตามคำร้องจริงหรือไม่ จากนั้นให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาจึงไม่ชอบ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ กลุ่มนี้มีผู้เห็นด้วยมากกว่ากลุ่มแรก
การเมืองในรัฐสภา
จึงต้องมาหยุดกึกเมื่อศาลรัฐธรรมนูญแสดงบทบาทครั้งสำคัญ จึงเป็นที่มาของความอยากรู้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีขอบเขตอำนาจเพียงใด ได้ค้นข้อมูลพบว่า อำนาจโดยสรุปมี 17 ข้อ ข้อที่เกี่ยวข้องสถานการณ์การเมืองขณะนี้ได้แก่ข้อ 2 ที่บัญญัติว่า พิจารณาวินิจฉัยว่า บุคคลหรือพรรคการเมืองใด กระทำการโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข...หรือไม่ ข้อ 15 บัญญัติว่า พิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จงใจไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สิน ฯลฯ และข้อ 17 วรรคสี่ บัญญัติว่า พิจารณาสั่งยุบพรรคการเมือง
พรรคเพื่อไทย
และพรรคแกนนำรัฐบาลมีความเห็นที่แตกต่างกัน บางคนให้ความเห็นว่า หากไม่ฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาต่อการลงมติในวาระ 3 และอาจมีปัญหากับคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะการเร่งลงมติในวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหานี้ นายกรัฐธรรมนูญต้องนำขึ้นทูลเกล้าถวายภายใน 20 วัน ถือว่าไม่บังควรอย่างยิ่ง นั่นหมายถึงนำพานายกรัฐมนตรีเข้าสู่แดนอันตราย
ด้วยเหตุผลทั้งมวล
ประธานรัฐสภาจึงต้องเลื่อนการลงมติวาระ 3 เรื่องรัฐธรรมนูญออกไป นับว่าเป็นทางออกที่เหมาะสม ปลอดภัย ไม่สุ่มเสียงรับผลเสียที่ตามมา...นับจากนี้ไป ก่อนก้าวไปหาวันลงมติรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ย่อมเต็มไปด้วยอันตรายมากมาย กับดัก หลุมขวาก สารพัด กระนั้นพรรคเพื่อไทยก็ต้องก้าวเดินต่อไป เดินอย่างสุขุม ระมัดระวัง ใจที่นิ่งเยือกเย็น ไม่ตื่นตระหนกเกินไป จะผิดพลาดไม่ได้เด็ดขาด มิฉะนั้นพลังกายใจและสิ่งอื่นที่ทุ่มลงไป จะสูญเปล่าเป็นอากาศทันที มองอีกมุม ความยากลำบากเป็นบททดสอบคนเข้มแข็งยิ่งใหญ่ตัวจริง มิใช่หรือ.
..............................................................