Skip to main content

แกชื่อยายหอม เป็นคนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

แม่ของแกมีเชื้อลาวพวน พ่อของแกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน แต่เดิมแกอยู่ตำบลอื่น แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ แกเป็นคนรุ่นแรกที่มาหักร้างถางพงทำไร่ทำนา

หมู่บ้านยุคบุกเบิก มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า สัตว์ป่าชุกชุม เข้าป่าเจอเสือ หรือเสือแอบเข้ามากินวัวในหมู่บ้าน เป็นเหตุการณ์ประจำวัน คอกวัวสมัยนั้น ต้องกั้นเป็นฝาจึงพอกันเสือได้ ชาวบ้านกินเนื้อเก้ง เนื้อกวาง เนื้อไก่ป่า บ่อยกว่าเนื้อหมู หนองน้ำเต็มไปด้วยปลาตัวโตๆ ตะพาบตัวเท่ากระด้ง เรื่องผีสางนางไม้อยู่แนบชิดชุมชนมากกว่าเรื่องวัดเรื่องพระ

แกเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นแกยังเป็นสาว พวกทหารญี่ปุ่นเกณฑ์เชลยศึกที่เป็นฝรั่งมาสร้างทางรถไฟอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้าน เชลยศึกพวกนี้ผอมโกรกแต่ต้องทำงานหนัก พอไม่มีแรงก็โดนเฆี่ยนโดนตี ที่ทนไม่ไหวตายไปก็มาก มีชาวบ้านสงสารเอาอาหารมาให้ พวกทหารญี่ปุ่นรู้เข้าก็ห้าม มีแม่ค้าคนหนึ่งสงสารพวกฝรั่งมาก แต่จะเอาของกินไปให้ก็กลัวพวกญี่ปุ่น เลยทำอุบายเอาหาบใส่ของมาเจาะรู พอเข้ามาใกล้บริเวณที่ทำทางรถไฟ ก็เอาขนมเอาผลไม้มาใส่หาบ เดินไปเขย่าไป ผลไม้ก็ร่วงลงตามทาง พวกเชลยฝรั่งก็มาเก็บไปกิน พอพวกผู้คุมมาเอาเรื่อง แกบอกว่า มันร่วงของมันเอง ไม่ได้ตั้งใจจะให้

ชะรอยว่า เชลยฝรั่งคงจะซึ้งใจจนกลายเป็นความรัก เพราะพอสถานการณ์พลิกกลับ ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยเหนืออักษะ ทหารญี่ปุ่นล่าถอยไป เชลยได้รับการปลดปล่อย อดีตเชลยคนหนึ่งก็พาแม่ค้าคนนั้นขึ้นเครื่องบินกลับไปอยู่เมืองฝรั่งด้วย

ผลจากสงครามโลกครั้งที่สอง ยังมีต่อชุมชนแถบนั้นอีกสองอย่าง คือหนึ่ง สนามบินที่ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้ ได้กลายมาเป็นตลาดค้าส่งผักผลไม้ขนาดใหญ่ของอำเภอท่ายาง ที่เรียกกันว่า “ตลาดหนองบ้วย” และสอง ทหารญี่ปุ่นติดใจ “กล้วยหอมทอง” ของท่ายางมาก จึงทำให้กล้วยหอมทอง กลายเป็นผลไม้ส่งออกญี่ปุ่นเป็นประจำนับแต่นั้นมา

ผมฟังหนแรก รู้เลยว่า นี่คือเรื่องจริงที่สามารถเปลี่ยนเป็นเรื่องเล่าชั้นดีได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือนวนิยาย

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องผีที่ยายหอมบอกว่าเป็นเรื่องจริงในสมัยก่อน คือมีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อยายสุ่ม มีผีมาบอกว่าจะยกสมบัติให้ แต่แกปฏิเสธเพราะกลัวว่าจะต้องตายแล้วกลายไปเป็นผีเฝ้าสมบัติแทน ผีก็มาตื๊อไม่ยอมเลิก เอาไหใส่เพชรพลอยเต็มใบมาให้ดูกลางวันแสกๆ แกก็ไม่เอา พอแกจะไปทำนา ทำไร่ หรือออกไปไหน ผีก็ยกเอาไหใส่สมบัติตามไป ยายสุ่มเห็นเมื่อไรก็ต้องร้องว่า “...กูไม่เอาๆ เอาคืนไป...” ไหสมบัติมันลอยตาม แกก็ต้องวิ่งหนีเตลิดเปิดเปิง เป็นอย่างนี้อยู่นานหลายปี แน่นอนในเมื่อเป็นเรื่องผี เรื่องทั้งหมดแกจึงเห็นของแกอยู่คนเดียว

ฟังเรื่องนี้แล้วคิดภาพตามอาจสงสัยว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นคนสติไม่ดีหรือเปล่า แต่เปล่าเลย ยายสุ่มเป็นคนปกติ เพียงแต่จะเกิดอาการเวลาที่แกเห็นไหสมบัติของผี(ซึ่งไม่มีใครมองเห็น)เท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องดังที่คนแถวนั้น ในสมัยนั้นรู้จักกันทุกคน

ถ้าเป็นสมัยนี้ มีผีมายกสมบัติให้ คงจะวิ่งเข้าหารีบคว้าเอาไว้ก่อน เผลอๆ มีแย่งกันด้วย

เรื่องของยายหอมเองก็มี
แกเคยโดนงูกะปะงับเข้าที่เท้าซ้าย อาการสาหัสชนิดที่ว่า ต้องตัดเท้าทิ้งเท่านั้นแต่ “หลวงพ่อทองสุข” เกจิฯ ระดับตำนาน แห่งวัดโตนดหลวง ได้ช่วยรักษาจนหายเป็นปกติอย่างน่าอัศจรรย์

ทีแรกผมก็ไม่ทราบว่า หลวงพ่อทองสุข เป็นตำนานระดับไหน จนกระทั่ง มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องพระเครื่องท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า  ก็ระดับที่ เหรียญหลวงพ่อทองสุขรุ่นแรก ปัจจุบัน คนที่มีเขาเก็บใส่ตู้เซฟกันแล้ว

ยายหอมแกชอบเล่าเรื่องสมัยสาวๆ เพราะแกเป็นคนสวย ทำขนมเก่ง พอไปขายขนมในงานวัดก็มีหนุ่มๆ มารุมจีบ พอผัวแกเห็นเข้าก็หึง เลิกขาย เก็บของกลับบ้านทันที

เวลาเล่าเรื่องตอนที่แกเป็นสาวเสน่ห์แรง แกจะชอบใจมาก เล่าไปหัวเราะไป คนฟังต้องระวังดีๆ เดี๋ยวน้ำหมากกระเด็นใส่

ยายหอมกินหมากจัด ปากแดงทั้งวัน เข้าวัยแปดสิบ แกเดินหลังค่อม ต้องใช้ไม้เท้า แต่ยังหูตาดี เสียงดัง ปากจัด ไม่กลัวใครทั้งนั้น ลูกหลานคนไหนแกไม่ชอบ หรือไม่ถูกใจแกด่าเปิง แต่ถ้าคนไหนแกรัก ทำอะไรก็ถูกไปหมด

แกเป็นคนรุ่นที่เห็นไปรษณีย์ตอนล่วงเข้าวัยกลางคน เห็นโทรทัศน์กับโทรศัพท์ตอนมีหลานหลายคนแล้ว แกเห็นมาตั้งแต่มีเกวียน จนกระทั่งเกวียนเล่มสุดท้ายหมดไปและรถคันแรกแล่นเข้ามา

แกเล่าว่า สมัยก่อนจะเข้าเมืองเพชรฯ ก็ต้องออกเดินแต่เช้ามืด ไปถึงค่ำๆ  
“...ไอ้ห้างใหญ่ๆ ที่พวกมึงชอบไปกันน่ะ เมื่อก่อนเป็นที่ขี้กู...” แกเกทับ เพราะที่ตั้งห้างใหญ่ตอนนี้ เมื่อครึ่งศตวรรษก่อนเป็นป่าต้นสะแก ที่ใครผ่านก็ต้องแวะปลดทุกข์

สมัยที่แกเป็นสาว อยากได้น้ำตาลก็ต้องปลูกอ้อย อยากได้ฟืนได้ถ่านก็ต้องตัดต้องเผา อยากกินขนมก็ต้องโม่แป้ง    
แกชอบบอกหลานๆ ว่า “...สมัยพวกมึงสบาย อะไรก็มีขาย สมัยกู อยากได้อะไรต้องทำเองหมด...” ดังนั้น แม้แกจะมีฝีมือทำขนมอร่อย มีสูตรโบราณหลายสูตร แต่เวลาหลานๆ มาขอสูตรเพื่อลองทำบ้าง แกจึงบอกปัดรำคาญแกมประชดว่า
“...อย่าทำเลย พวกมึงไปซื้อกินเอาเหอะ ง่ายดี...”
    
เนื่องจากเป็นคนรุ่นบุกเบิก ยายหอมเลยมีที่เยอะ อยู่ตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ขายไปก็มาก ให้ลูกให้หลานก็มี แต่ลูกหลานที่อยู่ดูแลแกจริงๆ มีอยู่แค่ไม่กี่คน

พระแก่ๆ แถวนั้น รู้จักแกดี เพราะแกชอบทำบุญทีละมากๆ ซื้อเสาศาลาวัดบ้าง บริจาคทีละหลายหมื่นบ้าง แต่ถ้าแกไม่สนใจ ต่อให้มาหว่านล้อมแค่ไหนแกก็ไม่ให้ เคยมีคนมาขายพระแล้วอวดอ้างสรรพคุณว่า ถ้าซื้อแล้วไปถวายวัด ยายจะหายเจ็บหายป่วย ร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาว ได้บุญกุศลแรง หน้าตาอ่อนเยาว์ มีสง่าราศี เดี๋ยวจะถูกหวย เงินทองไหลมาเทมา ฯลฯ

ปรากฎว่าแกด่าคนขายเผ่นแน่บไปเลย
    
วันที่ยายหอมเริ่มไม่สบาย แกบอกว่า มีเส้นใยอะไรก็ไม่รู้ออกมาจากหน้าแก ดึงเท่าไรก็ไม่หมด แต่ให้คนอื่นมาจับก็ไม่เห็นมีอะไร แต่แกเถียงว่ามี แล้วแกก็นั่งแกะนั่งดึงทั้งวันทั้งคืน

แกให้ลูกหลานพาไปรักษาหลายที่ ทั้งหมอแผนปัจจุบัน ทั้งพระ ทั้งคนทรง ตระเวนไปทั่วเพชรบุรี ท่ายาง ชะอำ พระองค์หนึ่งมาดูอาการยายหอม แล้วท่านก็บอกลูกหลานว่า เป็นกรรมเก่าของแก รักษาไม่หายหรอก

ปีกว่าๆ ต่อมาแกก็ไม่สบาย เดินไม่ค่อยไหว อาการทรุดลงเรื่อยๆ  
เช้าวันหนึ่งแกก็จากไปอย่างสงบ

ยายหอมเป็นย่าของภรรยาผม แกให้ความเอ็นดูผมเหมือนเป็นหลานอีกคนหนึ่ง
เรื่องที่แกเล่าหลายๆ เรื่อง สำหรับผม มันฟังดูเหลือเชื่อ แต่สำหรับแกมันเป็นเรื่องปกติ
ทว่า เรื่องปกติในสมัยนี้ หลายเรื่อง เมื่อได้รู้ แกไม่อยากเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง
เวลาที่ผมมองรูปถ่ายแก(แน่นอน-รูปสมัยยังสาวที่แกภูมิใจ) ผมมักจะคิดถึงเรื่องที่แกเล่า และบุคลิกแบบคนโบราณของแก

เรื่องราวในอดีต ค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับความตายของคนสมัยนั้น
ในอนาคต เมื่อปัจจุบันของเรากลายเป็นอดีต หัวใจของเรา อาจล้าต่อยุคสมัยเสียแล้ว ความชราภาพถีบเราออกห่างจากคนหนุ่มคนสาว

แต่สำหรับยายหอม แกไม่เคยกลัวยุคสมัย ไม่เคยแสดงให้เห็นว่าล้า ทั้งไม่เคยสนใจหรือตื่นเต้นตกใจต่อเทคโนโลยีความก้าวล้ำใดๆ ทั้งสิ้น  

ครั้งหนึ่ง หลานคนหนึ่ง โทรมาหาหลานอีกคนหนึ่ง บอกว่าอยากคุยกับแก หลานก็เลยยื่นโทรศัพท์มือถือให้ ยายหอมแกจับผิดๆ ถูกๆ เอาด้านที่ฟังมาพูด เอาด้านที่พูดมาฟัง พอหลานหัวเราะ แกด่าเปิง

“...ห่า...ก็กูไม่รู้นี่หว่า...พวกมึงมันบ้า คุยกับท่อนอะไรอยู่ได้ทั้งวัน...”
    

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก