Skip to main content
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคต
ทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียว
คือ เกษตรเคมี


ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก


ว่ากันง่ายๆ พืชผักประเภทหนักยาอย่าง ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บล็อกโคลี่ จะหาไอ้ที่สารเคมีน้อยๆ นั้น ยากเหลือหลาย ผักสวยๆ แบบปลอดสารแท้ๆ นั้นแทบจะไม่มี มีแต่ปลอดภัย คือฉีดยา แต่พ้นระยะอันตรายไปแล้ว ซื้อไปบริโภคได้
ส่วนประเภทเบายา เช่น กระเพรา โหระพา ใบแมงลัก แตงกวา ผักชี แม้ไม่ค่อยมีศัตรูพืช แต่ก็ต้องฉีดยากันเชื้อราบ้าง

พืชผักแต่ละอย่างก็มีรายละเอียดในการดูแลแตกต่างกันไป ใครถนัดอย่างไหนก็ปลูกอย่างนั้น ใครถนัดหลายอย่าง ก็ปลูกได้หลายอย่าง
ถ้าจะปลูกหลายอย่าง อย่างละเล็กอย่างละน้อย แค่พอไว้กินเอง นั้นไม่มีปัญหา (แต่ถ้าคิดว่าจะปลูกไว้กินเอง เหลือค่อยเก็บขาย กลับไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะถ้าไม่สวย ก็ไม่มีใครซื้อ)

แต่ถ้าจะปลูกหลายอย่าง เพื่อขาย นอกจากจะต้องมีความขยันขันแข็งอย่างยิ่งยวดแล้ว ยังต้องมีทุนอย่างยิ่งด้วย
ก็ผักแต่ละอย่าง ค่าปุ๋ย ค่ายา มันน้อยเสียเมื่อไร
ปุ๋ยกระสอบละ 500-800 บาท
ยาฆ่าแมลงขวดละ 300-500 บาท
ฮอร์โมนเร่งการเติบโตขวดละ 400-600 บาท

ปลูกหลายอย่างก็ใช้ยาหลายตัว แถมยาสมัยนี้ก็มีหลายยี่ห้อ หลายชื่อเสียเหลือเกิน จะฉีดยาฆ่าหนอนสักชนิด มียาให้เลือกใช้ตั้ง สิบกว่าชื่อ มองขวดจนตาลายยังไม่รู้จะเลือกอะไรดี จะเลือกแบบมั่วๆ ก็ไม่ได้ เพราะราคาไม่ใช่ถูกๆ แถมถ้าใช้ไม่ได้ผล คุมหนอนแมลงไม่อยู่ ก็เสี่ยงที่จะเสียไปทั้งหมด

แล้วถ้าเกิดใครสักคน ไม่อยากใช้ยาฆ่าแมลง หรืออยากใช้ให้น้อยกว่าคนอื่น จะเกิดอะไรขึ้น
?
หนอน แมลง มันก็จะมารุมลงแปลงผักที่ฉีดยาน้อย หรือไม่ได้ฉีดยาน่ะซี
คืนเดียวเท่านั้น รับรองว่า เรียบ ไม่ต้องฟื้นกันเลย
ในเมื่อใครๆ เขาก็ฉีดกันทั้งนั้น แล้วใครจะกล้าเสี่ยงไม่ฉีด
เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ ผักปลอดสาร ฯลฯ ใช่ว่าชาวบ้านจะไม่รู้ แต่ก็ก็จนด้วยคำถามเดิมๆ  "ใครล่ะ จะกล้าเสี่ยง?"

ใครต่อใครจึงต้องหาทางฉีดยาคุมศัตรูพืชให้อยู่ ภายใต้งบประมาณที่ประหยัดที่สุด ทีนี้แต่ละคนก็มีความเชื่อ และความนิยมแตกต่างกันไป บ้างก็ชอบยี่ห้อ บ้างก็ชอบที่ชื่อ บ้างก็เน้นแต่ว่า เอายาที่ผลิตจากบริษัทนี้ๆ เท่านั้น 
พอตอนเอามาใช้ บ้างก็เอายาตัวนั้นผสมกับยาตัวนี้ บ้างก็เอายาตัวนี้ไปผสมกับฮอร์โมนตัวนั้น หรือ ยาสองตัวกับฮอร์โมนอีกตัวหนึ่ง ฯลฯ  หลายคนขี้เกียจจำ ขี้เกียจไปคิดค้นสูตร ก็ใช้ตามๆ คนอื่น ใช้ดีก็ใช้ต่อไป ใช้ไม่ดีก็เปลี่ยนไปลองตัวอื่น
แต่ก็มีอีกไม่น้อย ที่มี "สูตรลับ"  ซื้อปุ๋ย ซื้อยาอะไรมาจากที่ไหน ไม่มีเสียละที่จะบอกใคร กระทั่งกระสอบปุ๋ย ขวดยา ยังแอบซ่อนไว้ไม่ให้ใครรู้
มันคงจะเป็นความภาคภูมิใจประหนึ่งได้ครอบครองภูมิปัญญา(เคมีเกษตร)อันล้ำค่าไว้

หน้าแล้งปีนี้ ปลูกแตงโมกับมะเขือเทศกันเยอะ
แตงโมต้องใช้ความเชี่ยวชาญไม่น้อยเลย ต้องรู้พันธุ์ รู้ดิน รู้ปุ๋ย รู้ยา รู้เทคนิคในการปลูก การดูแล ไปจนถึงการตัดขาย และที่สำคัญที่สุดคือ รู้ตลาด
ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ง่ายๆ โดยเฉพาะถ้ายังตัดใจ ตัดลูกแตงโมทิ้ง ไม่ลง

ลุงเหมือน คนปลูกแตงโมมานานกว่ายี่สิบปี พูดไว้น่าฟัง
"...ถ้าต้นหนึ่งออกสามลูก เราเอาไว้ทั้งสามลูก จะไม่ดีสักลูก เอาไว้สองลูกได้ราคาครึ่งเดียว เพราะน้ำหนักไม่ดี แต่ถ้าเอาไว้ลูกเดียว ขายได้เต็มราคา เพราะแตงได้กินปุ๋ยเต็มที่..."
ที่อันตรายที่สุด คือถ้าถูกน้ำท่วม หรือน้ำซึมมาเจิ่งๆ นองๆ แตงโมมีสิทธิ์เน่าได้ทั้งไร่
ถ้าฝนตก ก็ต้องภาวนาอย่าให้ท่วม

มะเขือเทศดูแลง่ายกว่า เพาะกล้าในกระบะ ทำแปลงคลุมผ้าพลาสติก ปักไว้ไว้ผูกต้นตอนที่มันโต ถ้าดูแลดีๆ มะเขือเทศแค่ไม่กี่ไร่ ก็ได้ผลผลิตหลายตัน(หนึ่งพันกิโลกรัม)
ถ้าได้ราคาสักกิโลกรัมละสิบบาท ก็พอยิ้มออกไม่ขาดทุน
ถ้าได้ถึงกิโลกรัมละ 15-20 บาท ก็นอนยิ้มร่า ฝันดีไปได้หลายวัน
แต่ถ้าไปถึงกิโลกรัมละ 25-30 บาท ปีนั้นก็เตรียมปลดหนี้ปลดสิน จ้างลิเกมาเล่น จ้างหนังมาฉาย
และถ้าหากเกิดร่วงไปเหลือแค่กิโลกรัมละ 2-5 บาท ก็แค่ช้ำชอกกันไปอีกครั้ง เหมือนๆ ที่เคยผ่านมา ปีหน้าค่อยเสี่ยงดวงกันใหม่

ว่าตามจริง มะเขือเทศฉีดยาแค่ครั้งเดียวเท่านั้น คือตอนที่ลูกมันกำลังจะสุก กำลังจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง ตอนนั้นละ ที่หนอนแมลงจะพากันมาปาร์ตี้โดยมิได้รับเชิญ จังหวะนี้เท่านั้นที่จะชี้ชะตาชาวสวนว่าจะได้หรือจะเสีย จังหวะนี้เท่านั้นที่ต้องฉีดยาคุมให้อยู่

ยายปี่กับตาเปลื้อง ก็ปลูกมะเขือเทศเหมือนคนอื่นๆ ที่นาสามไร่ติดบ้านถูกเปลี่ยนให้เป็นแปลงมะเขือเทศ ส่วนที่ติดๆ กันนั้น ก็ล้วนพี่น้องเพื่อนบ้าน ปลูกมะเขือเทศเหมือนๆ กันทั้งนั้น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องทำมาหากินกันทุกวัน

เรื่องอะไรก็คุยได้ แต่พอคุยเรื่องปุ๋ย เรื่องยาฆ่าแมลง ว่าใช้ตัวนั้นสิดี ตัวนั้นไม่ได้เรื่อง  ยายปี่กับตาเปลื้อง กลับหุบปากเงียบไม่คุยเรื่องนี้กับใคร ซึ่งก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะแกเคยปลูกมะเขือเทศได้ราคาทุกปี แกก็คงหวงสูตรของแกเป็นธรรมดา

"...ปีนี้ใช้ยาอะไรล่ะแก ?" ลุงเหมือน ถามสองตายาย ในวงเสวนาเย็นวันหนึ่ง
"...ไม่บอกหรอกโว้ย นี่มันสูตรลับเคมีเกษตร..." ตาเปลื้องว่า แล้วก็หัวเราะชอบอกชอบใจ
"...จะหวงไว้ทำไมล่ะ แบ่งๆ กันมั่งซี..." น้าต่วน คนปลูกมะเขือเทศที่ติดๆ กัน หันมาถามยายปี่
"...อ้าว...ของอย่างนี้ บอกกันง่ายๆ ได้รึ เกิดได้ผลดีกันหมด ของข้าก็ราคาตกเท่ากับพวกเอ็งน่ะสิ..." ยายปี่ไม่ยอมบอกท่าเดียว

พอถึงเวลาที่ต้องฉีดยา สองตายายตรงแน่วไปร้านขายเคมีเกษตรเจ้าประจำ บอกชื่อยาที่ต้องการ
"...อ๋อ ตัวนั้นเขาเลิกผลิตไปแล้วครับ..." คนขายบอก
"...อ้าว แล้วจะทำยังไงล่ะ ฉันเคยใช้แต่ตัวนั้นเสียด้วยสิ..." ยายปี่ชักกังวล
"...ใช้ตัวนี้ก็ได้ครับ แทนกันได้ มาจากบริษัทเดียวกัน..." คนขายหันไปหยิบยาอีกตัวหนึ่งมาให้ดู
"...แล้วใช้ เอ่อ..." ตาเปลื้องหันซ้ายหันขวา ป้องปากกระซิบเสียงเบาเหมือนกลัวใครจะได้ยิน
"...ใช้ผสมกับฮอร์โมนตัวเดิมได้เหมือนกันหรือเปล่าล่ะ ?"
"...อ๋อ ลุงเคยใช้แบบผสมฮอร์โมนใช่มั้ย? แต่ตัวนี้เขาไม่ให้ผสมอะไรนะ ให้ใช้แค่ตัวนี้ตัวเดียวก็พอ..." คนขายอธิบาย
"...แล้วมันจะได้ผลเหมือนเดิมเรอะ?..." ยายปี่หันไปถามตาเปลื้อง
"...ซื้อมาก่อนเหอะแล้วค่อยว่ากัน...ใส่ถุงเลยๆ..." ตาเปลื้องบอกคนขาย แล้วหันไปนับเงินส่งให้

คืนนั้นตอนสามทุ่ม ตาเปลื้องกับยายปี่ แอบมาฉีดยา เพราะกลัวว่าใครจะมาแอบดูสูตรของแก
"...ตกลงจะผสมฮอร์โมนดีหรือเปล่าวะ?..." ยายปี่ยังไม่แน่ใจ
"...เฮ่ย...แกก็ไปฟังไอ้คนขาย มันจะรู้ดีกว่าเราที่เป็นคนใช้ยาได้ยังไง ถ้ามันเหมือนกันมันก็ต้องผสม ไม่ผสมมันก็ได้ผลเท่าของคนอื่นน่ะสิ..." ว่าแล้วตาเปลื้องก็ผสมฮอร์โมนกับยาใส่ถังฉีดพ่นไปด้วยกัน
พอฉีดยาเสร็จ สองตายายก็กระหยิ่มยิ้มย่องว่า คราวนี้ มะเขือเทศของข้า คงจะดก คงจะงามยิ่งกว่าของใครแน่ๆ

ทว่า พอตอนเช้ามืด สองตายายมารดน้ำแปลงมะเขือเทศ ก็แทบจะเป็นลม เพราะยอดมะเขือเทศแทนที่จะชูขึ้นฟ้า กลับเหี่ยวเฉา สลบไสล ราวกับโดนน้ำร้อนลวก

พอยายปี่โวยวายเสียงดัง เพื่อนบ้านก็เลยพากันมาดู
"...ก็เมื่อคืนข้าพ่นยา เช้ามามันก็เป็นอีแบบนี้แหละ..." ตาเปลื้องเสียงสั่นๆ ยังตกใจไม่หาย
"...แกผสมยาอะไรเข้าไปล่ะ ?..." ลุงเหมือนถาม ตาเปลื้องกับยายปี่อิดๆ ออดๆ อยู่พักหนึ่ง กลัวเพื่อนบ้านจะรู้ความลับ แต่แล้วก็ต้องบอก เพราะผลลัพธ์มันเห็นอยู่ตำตา
"...ก็คนขายเขาบอกแล้วไม่ใช่รึ ว่าไม่ให้ผสมๆ แกก็ยังไปผสมอีก มันก็เลยร้อนน่ะสิ พอมันร้อนยอดมันก็เลยเหี่ยว..." ลุงเหมือนวินิจฉัย
สองตายายทำหน้าเหมือนจะร้องไห้แต่ก็ร้องไม่ออก
ก็ยอดมันเหี่ยวเสียแล้ว ต้นมันจะโตได้ยังไง แล้วถ้าต้นมันไม่โต ลูกมันจะโตได้ยังไง

น้าต่วน หัวเราะเยาะเย้ยอย่างไม่ปิดบัง
"...ทำอะไรไม่ปรึกษาใคร แล้วเป็นไงล่ะ...สูตรลับเคมีเกษตร ยอดพับไปเลย..."

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก