Skip to main content

10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"

1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?


ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน การลงทุนผิดพลาดหมายถึงการเอาเงินจำนวนมหาศาลไปทิ้ง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเงินของเขาหรือเงินของคนอื่น มันก็อาจทำให้เขาอยากฆ่าตัวตายได้เท่าๆ กัน ดังนั้น นักลงทุนก็น่าจะมีความเชื่อมั่นเทียบเท่ากับมนุษย์ปกติ หากไม่นับรวมเรื่องของการลงทุน

 

2. นักลงทุนนับถือศาสนาหรือลัทธิความเชื่อใด ?


ตอบ เป็นที่แน่ชัดโดยไม่ต้องพิสูจน์ว่า ไม่ว่านักลงทุนจะกล่าวอ้างว่าเขานับถือศาสนาหรือลัทธิความเชื่อใด แต่แท้จริงแล้ว สิ่งเดียวที่เขานับถือบูชาอย่างสุดหัวจิตหัวใจคือลัทธิทุนนิยม หรือเสรีนิยมใหม่ ที่มุ่งหวังการทำกำไรสูงสุดและการเติบโตไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้น ตลาดหุ้นคือโบสถ์ของเขา และการนั่งเฝ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์ฯ ก็เปรียบเสมือนการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แน่นอน ผลลัพธ์แห่งศรัทธาก็คือผลกำไรที่ไหลเทมาสู่บัญชีธนาคารของเขานั่นเอง


3. นักลงทุนสังกัดตัวเองเข้ากับประเทศ สังคม หรือสัญชาติ ใดหรือไม่?


ตอบ หากต้องกรอกข้อความในแบบฟอร์มใดๆ นักลงทุนย่อมระบุว่าเขาสังกัดในสังคมใดสังคมหนึ่งซึ่งการอ้างอิงนั้นมักจะอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ในระยะยาว แต่สำหรับปฏิบัติการในชีวิตจริง นักลงทุนไม่สนใจแม้แต่น้อยว่าเขาคือใคร สังกัดสังคมไหน เพราะการลงทุนสามารถข้ามไปข้ามมาได้ทั้งโลก หากแม้นว่าเขาซื้อหุ้นบริษัท A ที่ต้องการจะมาตั้งโรงงานทำลายสิ่งแวดล้อมในประเทศของตัวเขาเอง เขาก็จะไม่อินังขังขอบแม้แต่น้อยว่าเขาคือประชากรของประเทศนั้น หากแต่เขาคือนักลงทุน ผู้ซึ่งไม่สนใจจะสังกัดกลุ่มทางสังคมใดๆ ทั้งสิ้น


4. นักลงทุนสนใจความอยู่รอดของผู้คนในประเทศด้อยพัฒนาหรือไม่ ?


ตอบ นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะทุกวันนี้มีสิ่งที่เรียกว่า CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ กิจกรรมที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมองอีกแง่หนึ่ง CSR สำหรับนักลงทุนก็เป็นเสมือนการเจียดเศษเงินช่วยเหลือสังคม เพื่อจะกอบโกยผลประโยชน์ที่มากกว่านั้นหลายเท่า หากพิจารณาเชิงตรรกะ ย่อมเป็นไปได้ยากที่นักลงทุนจะยอมจ่ายในสิ่งที่เขามองไม่เห็นผลกำไร ดังนั้น ความอยู่รอดของประเทศด้อยพัฒนา จึงเป็นเพียงแค่ข้ออ้างในการสร้างภาพลักษณ์ของเขาเท่านั้น


5. นักลงทุนมีจิตสำนึกเชิงสุนทรียะหรือไม่ ?


ตอบ นี่เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เนื่องจากเป็นรสนิยมส่วนบุคคล แต่ถ้าเป็นในมิติเรื่องการบริโภค ก็อาจกล่าวได้ว่า นักลงทุนเกือบร้อยเปอร์เซนต์ มีรสนิยมในการบริโภคในระดับสูงสุดคือนอกจากเป็นผู้กอบโกยจากกระแสทุนแล้ว ก็ยังเป็นผู้เสพผลผลิตชั้นยอดของสังคมทุนนิยมอีกด้วย แต่ในแง่ของการสร้างสรรค์งานศิลป์ หรือ การเสพสุนทรียะเชิงธรรมชาตินิยม น่าจะกล่าวได้ว่า หาได้ยากยิ่ง เพราะนักลงทุนมักจะประเมินค่าทั้งงานศิลปะ หรือ ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นตัวเลขเสียมากกว่า


6. เป้าหมายชีวิตของนักลงทุนคืออะไร ?


ตอบ ในระดับพื้นฐาน เป้าหมายชีวิตของนักลงทุนไม่น่าจะแตกต่างจากมนุษย์ปกติ เพียงแต่ว่า นักลงทุนมีสำนึกด้านความทะเยอทะยานสูงกว่ามนุษย์ทั่วไปมาก แต่คำว่าทะเยอทะยานนี้ หากให้ความหมายตามศัพท์ทางพุทธศาสนาที่น่าจะตรงที่สุดก็น่าจะเป็น "ความโลภ" ซึ่งเป็นตัณหาธรรมชาติของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม เพียงแต่นักลงทุนมีมากกว่า เข้มข้นกว่า หนาแน่นกว่า ต้องการไปให้ไกลกว่า และยอมรับการพ่ายแพ้ หรือการวางมือได้ยากยิ่งกว่า

หากเป้าหมายชีวิตของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามหมายถึงความสงบสุข นักลงทุนก็น่าจะเป็นพวกที่มีความปรารถนาที่ซับซ้อนกว่ามนุษย์ทั่วไปเนื่องจาก นักลงทุนต้องการป่ายปีนไปให้สูงที่สุดก่อน และเขาเชื่อว่า บนนั้นจะมีพื้นที่ที่แสนสงบสุขรอเขาอยู่ (ขณะที่มนุษย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการดำเนินชีวิตอย่างงดงามไปเรื่อยๆ ย่อมเป็นความสุขที่แท้จริง และย่อมพบความสงบสุขในเบื้องปลาย)

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อใดที่นักลงทุนไม่สามารถป่ายปีนไปจนถึงเป้าหมายที่เขาต้องการได้ หรือไปแล้วพบว่ามันคือความว่างเปล่า เขาจะถือว่านั่นคือความล้มเหลว เนื่องจากเขาให้คุณค่ากับเป้าหมายมากกว่าชีวิตของตัวเอง


7. นักลงทุนเห็นคุณค่าของชีวิตสัตว์ พืช และมนุษย์ หรือไม่ อย่างไร ?


ตอบ คุณค่าของสิ่งที่เรียกชีวิต(ไม่ว่าของเขาหรือของใคร)สำหรับนักลงทุน น่าจะน้อยกว่าผลกำไรที่เขาควรจะได้ในไตรมาสแรก ผลประกอบการย่อมสำคัญกว่าคุณภาพชีวิตของพนักงาน และรถราคาหลายล้านของเขา ก็ย่อมมีคุณค่าสูงกว่าชีวิตของสุนัขจรจัดทั้งประเทศรวมกัน แน่ละ นักลงทุนที่มีจิตสำนึกสูงก็ย่อมต้องมี แต่ในสังคมแห่งการลงทุน คงเหลือที่ว่างให้กับความเมตตาได้ไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์

ดังนั้น สำหรับนักลงทุน ชีวิตก็น่าจะมีความหมายเทียบเท่าปัจจัยการผลิตหนึ่งหน่วยเท่านั้น


8. นักลงทุนเชื่อเรื่อง "กรรม" ตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่ ?


ตอบ น่าจะไม่ เพราะนักลงทุนไม่สามารถแบ่งสมองไปสวามิภักดิ์ต่อทรรศนะอื่น นอกจากการทำกำไรสูงสุด หากมองในระดับชาวบ้าน พ่อค้าคนหนึ่งอาจกล่าวว่า "...บาปบุญไม่มีจริง มีแต่กำไรกับขาดทุนเท่านั้น..." แต่หากในระดับนักลงทุน น่าจะกล่าวได้ว่า "...เวรกรรมไม่อาจนำมาคำนวณต้นทุนการผลิตได้..." ดังนั้น เราจึงมักจะเห็นนักลงทุน เป็นพวกแรกๆ ที่ล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยัง ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ได้สืบเนื่องมาในกมลสันดานของนักลงทุน ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมจนถึงยุคปัจจุบัน


9. ทำไมประเทศไทยจึงต้องเอาอกเอาใจนักลงทุนราวกับพวกเขาเป็นบิดาบังเกิดเกล้า ?


ตอบ เนื่องจากนักธุรกิจการเมืองต้องการให้นักลงทุนควักเงินในกระเป๋ามาลงทุน เพื่อที่เงินเหล่านั้นจะได้ไหลไปสู่กระเป๋าของคนในระดับล่าง และไหลเข้ากระเป๋าของพวกนักธุรกิจการเมืองกับทั้งเครือข่ายผลประโยชน์ของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดำเนินต่อไปได้ ตามความเชื่อในวิถีการพัฒนาประเทศแบบตะวันตก (ในทางกลับกัน ก็ไม่เชื่อว่าเราสามารถพัฒนาได้ด้วยศักยภาพของเราเอง)

เวลาเกิดเหตุใดๆ ที่อาจทำให้นักลงทุนแตกตื่น นักธุรกิจการเมืองเหล่านี้ ก็มักจะยกคาถาสำคัญเรื่อง ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขึ้นมาอ้างเสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนที่อ้างถึงนั้น เป็นประโยชน์กับสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมสักกี่มากน้อยกลับไม่มีใครกล้าอธิบาย


10. นักลงทุนมีความจำเป็นกับประเทศไทยแค่ไหน ?


ตอบ มี แต่ไม่มากถึงขนาดขาดไม่ได้ ที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศเราเน้นการพึ่งพาเขามากกว่าพึ่งเราเอง ผูกเศรษฐกิจของประเทศไว้กับการส่งออก ไว้กับการท่องเที่ยว ซึ่งผันผวนอย่างรุนแรงตามสถานการณ์รอบข้าง ส่วนในภาคธุรกิจอื่น เช่น อุตสาหกรรม การบริการ ก็เริ่มลดน้อยถอยไป เพราะเจ้าใหญ่เขาเตรียมย้ายฐานไปอยู่เวียดนามกันแล้ว ฉะนั้นแม้จะพยายามดึงดัน ก็ไม่อาจรั้งไว้ได้ ฉะนั้นการมัวแต่ท่องคาถา "...ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ความเชื่อมั่นของนักลงทุน..." นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ยังดูเหมือนคนไร้ศักดิ์ศรีเข้าไปทุกขณะ

ทุกวันนี้ นักลงทุนรุกคืบเข้าไปถึงภาคเกษตร ล้วงเข้าไปถึงกระเพาะอาหารของสังคมไทย ชาวต่างชาติมาซื้อที่ดิน แล้วจ้างชาวบ้านทำการเกษตร ได้ผลผลิตก็ส่งเข้าโรงงานของพวกเขา แล้วก็ส่งขายหรือส่งกลับประเทศ อีกไม่นาน คนไทยคงเป็นได้แค่เพียงลูกจ้างติดที่ดิน


ท่องเข้าไว้เถิด ท่านนายกฯ ท่านรัฐมนตรีฯ ท่าน ส.ส. ท่าน ส.ว. ท่านนักธุรกิจทั้งหลาย ทุกครั้งที่ท่านเอ่ยวลีที่ว่า "...ความเชื่อมั่นของนักลงทุน..." ท่านก็ได้สูญเสียความทรนงในฐานะคนไทยไปเรื่อยๆ


แต่ท่านคงไม่สนใจสักเท่าไร เพราะท่านเป็น "นักลงทุน" ที่ไม่สังกัดสังคมใดๆ อยู่แล้วนี่

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก