Skip to main content
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน


ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง


ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว


ที่เคยใส่แต่ผ้าซิ่นสวยๆ เสื้อใหม่ๆ ก็ต้องกลับมาใส่ผ้าซิ่นเก่าๆ เสื้อเชิ้ตแขนยาวเก่าๆ ไปรับจ้างเขาเก็บผักบุ้งบ้าง ตัดหญ้าบ้าง ตามแต่ใครจะว่าจ้าง


ในวัยหกสิบที่ควรจะอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ยายช้อยกลับต้องกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหาเงินเข้าบ้าน เนื่องจาก ตายิ่ง อดีตกำนัน ผัวของแกนั้น มีโรคประจำตัวหลายโรค ทำงานหนักไม่ได้ ยังดีที่พอช่วยดูแลสวนกล้วยหลังบ้านได้บ้าง

 

ส่วนลูกสองคนที่มีครอบครัวแล้วแต่ยังอยู่บ้านเดียวกันนั้น

รำยอง - ลูกสาว เรียนมาน้อย เคยทำงานในร้านตัดเย็บเสื้อผ้าในตัวอำเภอ ก็ต้องออกมาอยู่บ้าน เพราะไปทะเลาะกับเจ้าของร้าน เคยมีผัวที่แสนดี อยากได้อะไรก็หามาให้ ก็ต้องเลิกกับผัว เพราะชอบด่าพ่อผัวแม่ผัวอยู่เป็นประจำ เคยมีเพื่อนฝูงคบหากันหลายคนก็ต้องเลิกคบหากันไป เพราะชอบไปเอาเรื่องไม่ดีของคนนั้นคนนี้ไปว่าลับหลังให้คนอื่นฟัง ไปๆ มาๆ เลยไม่มีใครอยากคบ


อาจจะเรียกได้ว่า "เสีย" เพราะปากตัวเอง

กระนั้น รำยอง ก็ยังเชิดหน้าชูคอว่าข้าแน่ ไม่เคยแพ้ใคร


สามารถ - ลูกชาย ก็เรียนไม่สูง กระนั้น ยายช้อยก็ทั้งผลักทั้งดันให้เข้ารับราชการเป็นทหารชั้นประทวนจนได้ พอลูกชายได้เป็นทหาร ยายช้อยก็ป่าวประกาศไปทั่วว่า เดี๋ยวลูกก็ได้เป็นนายร้อย ตอนนี้เงินเดือนก็ร่วมหมื่นแล้ว ใครได้ฟังก็ไม่รู้จะตอบยังไง ได้แต่แอบกระซิบถามกันว่า ยายช้อยแกแกล้งโง่ หรือ แกคิดว่าคนอื่นโง่กันแน่ นายสามารถมีลูกสองคน เลิกกับเมียแล้ว แต่ก็มีกิ๊กเป็นระยะๆ


แปลกดีเหมือนกัน ที่ลูกทั้งสองคนล้วนเป็นม่าย และกลับมาอยู่บ้านพ่อแม่เหมือนเดิม

 

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่บ้าน ว่าคนบ้านนี้ยกย่องเชิดชูความร่ำรวยเหนือสิ่งอื่นใด คนรวยคือคนดี คนจนคือคนเลว ต่อให้ชั่วช้าแค่ไหน ถ้าขับรถคันใหญ่ สวมใส่เฟอร์นิเจอร์ครบชุด ก็ย่อมจะเป็นคนดีในสายตาของครอบครัวนี้ แน่นอน พวกเขาทุกคนมีความคิดไปในแนวทางเดียวกันนั่นคือ พวกเขาเป็นคนรวย(เคยรวย) และมีหน้ามีตามากกว่าใครๆ ในหมู่บ้าน ฉะนั้น คนที่จะคบหากับพวกเขาได้ ก็ต้องเป็นคนมีฐานะเช่นเดียวกันเท่านั้น


ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่บ้านของครอบครัวนี้ จะไม่ค่อยมีใครอยากไปมาหาสู่เท่าใดนัก เพราะเขาจะไม่ต้อนรับคนที่จนกว่า


อันที่จริง หลังจากฐานะครอบครัวตกต่ำลง ยายช้อยดูจะเสียหน้าไปมาก เพราะเคยอวดร่ำอวดรวยไว้เยอะ พอต้องมารับจ้างเขา เสียงที่เคยดังเป็นลำโพงก็เบาลงไปหลายเดซิเบล


และแม้จะจนลง คนในครอบครัวนี้ก็ยังถือศักดิ์ศรีคนเคยรวยอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง

 

เรื่องอะไรต่อมิอะไรที่เป็นไปในทางเสื่อมเสียของครอบครัว ไม่มีใครอยากให้หลุดออกไปสู่ปากชาวบ้าน แต่ควันไฟนั้น ใครจะไปปิดมันได้เล่า เมื่อมีเรื่องก็ต้องมีคนรู้ ถึงไม่มีใครบอกก็ต้องมีคนไปสอดรู้จนได้ ทว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนๆ ยายช้อยก็ไม่เคยเอะอะโวยวาย หรือ ฟูมฟาย ได้แต่เก็บเงียบไว้เนื่องจากมีศักดิ์ศรีคนเคยรวยค้ำคออยู่


เรื่องที่รำยอง-ม่ายสาวผู้ก๋ากั่น ไปหว่านเสน่ห์ให้เด็กหนุ่มต่างหมู่บ้านในงานเลี้ยงอย่างไม่ค่อยจะงามนัก ยายช้อยก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หรือ เรื่องที่รำยองไปป่าวประกาศรับสมัครน้องสะใภ้ไปทั่วหมู่บ้าน พลางคุยอวดว่า คนนั้นคนนี้ มาชอบน้องชายตัวเอง ซึ่งทำให้หญิงสาวที่ถูกเอ่ยชื่อซึ่งไม่เคยเหลียวมองนายสามารถด้วยซ้ำ พากันแค้นเคือง ยายช้อยก็ทำเป็นไม่ได้ยิน


เรื่องที่สามารถ - แวะเวียนไปทำคะแนนขายขนมจีบสาวสวยคนหนึ่ง ซึ่งก็คงไม่ผิดอะไร ถ้าหากสาวสวยคนนั้นจะมีผัวแล้ว เพียงแต่ผัวทำงานขับรถนานๆ จะกลับมาที ประมาณว่า ผัวเผลอแล้วเจอกัน ยายช้อยก็พูดทำนองว่า มันแค่ไปคุยกัน ไม่มีอะไร

 

ทว่า วันหนึ่ง ยายช้อยเป็นอันต้องโวยวายลั่นบ้าน อันเนื่องมาจาก ลูกสุดที่รักทั้งสองคน

เรื่องของเรื่องก็คือว่า

นายสามารถ หลังจากเป็นพ่อม่ายพวงมาลัยมาหลายเพลาก็ได้ไปตกลงคบหากับแม่ม่ายลูกติดคนหนึ่ง ซึ่งเข้าสเป๊คคือ บ้านรวย ชื่อ คุณนายจัน อายุไม่มากเท่าไร แต่ก็สี่สิบกลางๆ แล้ว


ครอบครัวของป้าช้อยให้การต้อนรับคุณนายจันเป็นอย่างดี คุณนายจันแวะเวียนมาค้างบ้านนี้ในวันหยุด บางทีก็พาลูกชายของแกมาเล่นกับลูกชายของนายสามารถซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน


คุณนายจันแกใจกว้างไม่เบา ซื้อนู่นซื้อนี่มาให้คนในครอบครัวยายช้อยทุกคน แกบอกว่า แกไม่ต้องการแต่งงาน ขอแค่ "อย่าหลอกกัน" ก็พอ


เมื่อทำท่าว่าจะได้สะใภ้คนใหม่แถมรวยเสียด้วยซี ยายช้อยก็เข้าฟอร์มเดิม ไปคุยขโมงว่า คุณนายจันแกร่ำรวยขนาดไหน แกใจดีขนาดไหน ฯลฯ ชาวบ้านก็ได้แต่พยักหน้าหงึกๆ รับฟังแต่โดยดี

 

ผ่านมาได้สักสามเดือน นายสามารถก็เริ่มออกลาย กลับเข้าฟอร์มเดิม นั่นคือตระเวนไปมีกิ๊กคนใหม่ ไม่สนใจคุณนายจันอีกต่อไป แม้ว่าคุณนายจันจะพยายามติดต่อ จะเทียวมาหาที่บ้าน นายสามารถก็จะหลบหลีกไปได้ทุกครั้ง


คราวหนึ่ง คุณนายจันแวะมาหา นายสามารถอยู่บ้าน แต่บอกให้รำยองไปบอกว่า ตัวเองไม่อยู่

รำยอง - นอกจากจะเข้าข้างน้องชายแล้ว ยังทำเกินหน้าที่ คือไปว่าคุณนายจันอีกว่า เขาไม่สนแล้วยังจะหน้าด้านมาเทียวหาอยู่ได้ กลับไปบ้านได้แล้ว แล้วไม่ต้องมาอีก ฯลฯ

คุณนายจัน ไม่ใช่พวกหน้าหนา แกไม่พูดอะไร หันหลังกลับขึ้นรถขับออกไปแต่โดยดี

สองพี่น้อง กระหยิ่มยิ้มย่อง ทำนองคนไม่รับผิดชอบหัวใจคนอื่น

 

ไม่กี่วันต่อมา คุณนายจันก็มาหายายช้อยที่บ้าน ขณะที่สองพี่น้องไม่อยู่ แกพูดไปก็ร้องไห้ไปว่า ทุ่มเทอะไรให้นายสามารถบ้าง จู่ๆ ก็มาทิ้งกันเสียเฉยๆ อย่างนี้ แถมรำยองยังมาชี้หน้าว่าแกเสียอีก แกผิดหวังแกเสียใจขนาดไหน แกระบายให้ยายช้อยฟังหมด

เท่านั้นเอง ความภาคภูมิใจในตัวลูกทั้งสองของยายช้อยก็พังทลาย

เย็นนั้น ทั้งรำยองทั้งสามารถ โดนยายช้อยด่าเช็ดร่วมชั่วโมง เด็กๆ ก็อ้าปากหวอ ไม่คิดว่าจะได้ยินคุณย่า ด่าคุณพ่อ กับคุณป้าของตัวเอง

 

หลังจากนั้น ยายช้อยก็มานั่งบ่นว่าลูกชาย-ลูกสาวตัวเองที่ร้านประจำหมู่บ้าน ทีแรกชาวบ้านก็เข้าใจว่า แกเป็นแม่ยายที่มีคุณธรรม ลูกสะใภ้โดนทำอย่างนั้นก็ทนไม่ไหว ที่ไหนได้


ยายช้อย แกได้แต่พร่ำบ่นว่า

 

"...ไอ้พวกโง่ เขารวยขนาดนั้น ยังไม่ยอมเอาเขาไว้ วันไหนเขาตาย สมบัติเขาก็ต้องเป็นของเรา มันยังไปไล่เขาอีก...ไอ้พวกโง่ ! โง่ ! โง่ ! บรมโง่ ! ..."

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก