Skip to main content
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน


ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง


ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว


ที่เคยใส่แต่ผ้าซิ่นสวยๆ เสื้อใหม่ๆ ก็ต้องกลับมาใส่ผ้าซิ่นเก่าๆ เสื้อเชิ้ตแขนยาวเก่าๆ ไปรับจ้างเขาเก็บผักบุ้งบ้าง ตัดหญ้าบ้าง ตามแต่ใครจะว่าจ้าง


ในวัยหกสิบที่ควรจะอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ยายช้อยกลับต้องกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหาเงินเข้าบ้าน เนื่องจาก ตายิ่ง อดีตกำนัน ผัวของแกนั้น มีโรคประจำตัวหลายโรค ทำงานหนักไม่ได้ ยังดีที่พอช่วยดูแลสวนกล้วยหลังบ้านได้บ้าง

 

ส่วนลูกสองคนที่มีครอบครัวแล้วแต่ยังอยู่บ้านเดียวกันนั้น

รำยอง - ลูกสาว เรียนมาน้อย เคยทำงานในร้านตัดเย็บเสื้อผ้าในตัวอำเภอ ก็ต้องออกมาอยู่บ้าน เพราะไปทะเลาะกับเจ้าของร้าน เคยมีผัวที่แสนดี อยากได้อะไรก็หามาให้ ก็ต้องเลิกกับผัว เพราะชอบด่าพ่อผัวแม่ผัวอยู่เป็นประจำ เคยมีเพื่อนฝูงคบหากันหลายคนก็ต้องเลิกคบหากันไป เพราะชอบไปเอาเรื่องไม่ดีของคนนั้นคนนี้ไปว่าลับหลังให้คนอื่นฟัง ไปๆ มาๆ เลยไม่มีใครอยากคบ


อาจจะเรียกได้ว่า "เสีย" เพราะปากตัวเอง

กระนั้น รำยอง ก็ยังเชิดหน้าชูคอว่าข้าแน่ ไม่เคยแพ้ใคร


สามารถ - ลูกชาย ก็เรียนไม่สูง กระนั้น ยายช้อยก็ทั้งผลักทั้งดันให้เข้ารับราชการเป็นทหารชั้นประทวนจนได้ พอลูกชายได้เป็นทหาร ยายช้อยก็ป่าวประกาศไปทั่วว่า เดี๋ยวลูกก็ได้เป็นนายร้อย ตอนนี้เงินเดือนก็ร่วมหมื่นแล้ว ใครได้ฟังก็ไม่รู้จะตอบยังไง ได้แต่แอบกระซิบถามกันว่า ยายช้อยแกแกล้งโง่ หรือ แกคิดว่าคนอื่นโง่กันแน่ นายสามารถมีลูกสองคน เลิกกับเมียแล้ว แต่ก็มีกิ๊กเป็นระยะๆ


แปลกดีเหมือนกัน ที่ลูกทั้งสองคนล้วนเป็นม่าย และกลับมาอยู่บ้านพ่อแม่เหมือนเดิม

 

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่บ้าน ว่าคนบ้านนี้ยกย่องเชิดชูความร่ำรวยเหนือสิ่งอื่นใด คนรวยคือคนดี คนจนคือคนเลว ต่อให้ชั่วช้าแค่ไหน ถ้าขับรถคันใหญ่ สวมใส่เฟอร์นิเจอร์ครบชุด ก็ย่อมจะเป็นคนดีในสายตาของครอบครัวนี้ แน่นอน พวกเขาทุกคนมีความคิดไปในแนวทางเดียวกันนั่นคือ พวกเขาเป็นคนรวย(เคยรวย) และมีหน้ามีตามากกว่าใครๆ ในหมู่บ้าน ฉะนั้น คนที่จะคบหากับพวกเขาได้ ก็ต้องเป็นคนมีฐานะเช่นเดียวกันเท่านั้น


ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่บ้านของครอบครัวนี้ จะไม่ค่อยมีใครอยากไปมาหาสู่เท่าใดนัก เพราะเขาจะไม่ต้อนรับคนที่จนกว่า


อันที่จริง หลังจากฐานะครอบครัวตกต่ำลง ยายช้อยดูจะเสียหน้าไปมาก เพราะเคยอวดร่ำอวดรวยไว้เยอะ พอต้องมารับจ้างเขา เสียงที่เคยดังเป็นลำโพงก็เบาลงไปหลายเดซิเบล


และแม้จะจนลง คนในครอบครัวนี้ก็ยังถือศักดิ์ศรีคนเคยรวยอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง

 

เรื่องอะไรต่อมิอะไรที่เป็นไปในทางเสื่อมเสียของครอบครัว ไม่มีใครอยากให้หลุดออกไปสู่ปากชาวบ้าน แต่ควันไฟนั้น ใครจะไปปิดมันได้เล่า เมื่อมีเรื่องก็ต้องมีคนรู้ ถึงไม่มีใครบอกก็ต้องมีคนไปสอดรู้จนได้ ทว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนๆ ยายช้อยก็ไม่เคยเอะอะโวยวาย หรือ ฟูมฟาย ได้แต่เก็บเงียบไว้เนื่องจากมีศักดิ์ศรีคนเคยรวยค้ำคออยู่


เรื่องที่รำยอง-ม่ายสาวผู้ก๋ากั่น ไปหว่านเสน่ห์ให้เด็กหนุ่มต่างหมู่บ้านในงานเลี้ยงอย่างไม่ค่อยจะงามนัก ยายช้อยก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หรือ เรื่องที่รำยองไปป่าวประกาศรับสมัครน้องสะใภ้ไปทั่วหมู่บ้าน พลางคุยอวดว่า คนนั้นคนนี้ มาชอบน้องชายตัวเอง ซึ่งทำให้หญิงสาวที่ถูกเอ่ยชื่อซึ่งไม่เคยเหลียวมองนายสามารถด้วยซ้ำ พากันแค้นเคือง ยายช้อยก็ทำเป็นไม่ได้ยิน


เรื่องที่สามารถ - แวะเวียนไปทำคะแนนขายขนมจีบสาวสวยคนหนึ่ง ซึ่งก็คงไม่ผิดอะไร ถ้าหากสาวสวยคนนั้นจะมีผัวแล้ว เพียงแต่ผัวทำงานขับรถนานๆ จะกลับมาที ประมาณว่า ผัวเผลอแล้วเจอกัน ยายช้อยก็พูดทำนองว่า มันแค่ไปคุยกัน ไม่มีอะไร

 

ทว่า วันหนึ่ง ยายช้อยเป็นอันต้องโวยวายลั่นบ้าน อันเนื่องมาจาก ลูกสุดที่รักทั้งสองคน

เรื่องของเรื่องก็คือว่า

นายสามารถ หลังจากเป็นพ่อม่ายพวงมาลัยมาหลายเพลาก็ได้ไปตกลงคบหากับแม่ม่ายลูกติดคนหนึ่ง ซึ่งเข้าสเป๊คคือ บ้านรวย ชื่อ คุณนายจัน อายุไม่มากเท่าไร แต่ก็สี่สิบกลางๆ แล้ว


ครอบครัวของป้าช้อยให้การต้อนรับคุณนายจันเป็นอย่างดี คุณนายจันแวะเวียนมาค้างบ้านนี้ในวันหยุด บางทีก็พาลูกชายของแกมาเล่นกับลูกชายของนายสามารถซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน


คุณนายจันแกใจกว้างไม่เบา ซื้อนู่นซื้อนี่มาให้คนในครอบครัวยายช้อยทุกคน แกบอกว่า แกไม่ต้องการแต่งงาน ขอแค่ "อย่าหลอกกัน" ก็พอ


เมื่อทำท่าว่าจะได้สะใภ้คนใหม่แถมรวยเสียด้วยซี ยายช้อยก็เข้าฟอร์มเดิม ไปคุยขโมงว่า คุณนายจันแกร่ำรวยขนาดไหน แกใจดีขนาดไหน ฯลฯ ชาวบ้านก็ได้แต่พยักหน้าหงึกๆ รับฟังแต่โดยดี

 

ผ่านมาได้สักสามเดือน นายสามารถก็เริ่มออกลาย กลับเข้าฟอร์มเดิม นั่นคือตระเวนไปมีกิ๊กคนใหม่ ไม่สนใจคุณนายจันอีกต่อไป แม้ว่าคุณนายจันจะพยายามติดต่อ จะเทียวมาหาที่บ้าน นายสามารถก็จะหลบหลีกไปได้ทุกครั้ง


คราวหนึ่ง คุณนายจันแวะมาหา นายสามารถอยู่บ้าน แต่บอกให้รำยองไปบอกว่า ตัวเองไม่อยู่

รำยอง - นอกจากจะเข้าข้างน้องชายแล้ว ยังทำเกินหน้าที่ คือไปว่าคุณนายจันอีกว่า เขาไม่สนแล้วยังจะหน้าด้านมาเทียวหาอยู่ได้ กลับไปบ้านได้แล้ว แล้วไม่ต้องมาอีก ฯลฯ

คุณนายจัน ไม่ใช่พวกหน้าหนา แกไม่พูดอะไร หันหลังกลับขึ้นรถขับออกไปแต่โดยดี

สองพี่น้อง กระหยิ่มยิ้มย่อง ทำนองคนไม่รับผิดชอบหัวใจคนอื่น

 

ไม่กี่วันต่อมา คุณนายจันก็มาหายายช้อยที่บ้าน ขณะที่สองพี่น้องไม่อยู่ แกพูดไปก็ร้องไห้ไปว่า ทุ่มเทอะไรให้นายสามารถบ้าง จู่ๆ ก็มาทิ้งกันเสียเฉยๆ อย่างนี้ แถมรำยองยังมาชี้หน้าว่าแกเสียอีก แกผิดหวังแกเสียใจขนาดไหน แกระบายให้ยายช้อยฟังหมด

เท่านั้นเอง ความภาคภูมิใจในตัวลูกทั้งสองของยายช้อยก็พังทลาย

เย็นนั้น ทั้งรำยองทั้งสามารถ โดนยายช้อยด่าเช็ดร่วมชั่วโมง เด็กๆ ก็อ้าปากหวอ ไม่คิดว่าจะได้ยินคุณย่า ด่าคุณพ่อ กับคุณป้าของตัวเอง

 

หลังจากนั้น ยายช้อยก็มานั่งบ่นว่าลูกชาย-ลูกสาวตัวเองที่ร้านประจำหมู่บ้าน ทีแรกชาวบ้านก็เข้าใจว่า แกเป็นแม่ยายที่มีคุณธรรม ลูกสะใภ้โดนทำอย่างนั้นก็ทนไม่ไหว ที่ไหนได้


ยายช้อย แกได้แต่พร่ำบ่นว่า

 

"...ไอ้พวกโง่ เขารวยขนาดนั้น ยังไม่ยอมเอาเขาไว้ วันไหนเขาตาย สมบัติเขาก็ต้องเป็นของเรา มันยังไปไล่เขาอีก...ไอ้พวกโง่ ! โง่ ! โง่ ! บรมโง่ ! ..."

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…