Skip to main content

คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญ


วันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้าน

วันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง

ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ

แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..ข้าจะทำพวงมาลัยแบงค์ห้าร้อยคล้องคอให้ซะเลย...” ป้านิ่มว่า พลางยิ้มน้อยยิ้มใหญ่

...ได้ดูลิเกฟรีแล้วยังจะเอาไชยา มิตรชัยอีกเหรอป้า ? ...” น้าไก่สงสัย

...ข้าก็พูดไปงั้นแหละ...”

คืนนั้น ลิเกเล่นเรื่อง “มเหสีจำเป็น” ตามท้องเรื่อง เล่าถึง ตัวนางเอกซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ปลอมตนเป็นคนธรรมดา พร้อมด้วยสาวใช้คนสนิท หนีมาเที่ยวต่างเมือง ฝ่ายเจ้าชายเมืองนั้น กำลังกลัดกลุ้มพระทัยที่ถูกพระราชบิดาและพระราชมารดาบังคับให้แต่งงานกับเจ้าหญิงต่างเมือง เจ้าชายจึงคิดแผนจ้างหญิงสาวมาเป็นคนรัก เพื่อตบตาพ่อแม่ ซึ่งหญิงสาวคนนั้น ก็คือนางเอกที่ต้องตกกระไดพลอยโจนไปเป็นมเหสีจำเป็น


เรื่องดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ก่อนจะลงเอยอย่างสมหวังว่า ที่แท้ ทั้งสองก็เป็นคู่หมั้นคู่หมายกันอยู่แล้วนั่นเอง


ลิเก เริ่มเล่นตอนสองทุ่ม ไปจบเอาเกือบเที่ยงคืน เก้าอี้ห้าสิบตัวมีคนนั่งเต็ม ที่ยืนดูขาแข็งอีกหลายสิบ กระนั้นก็แทบจะไม่มีใครขยับกลับบ้านก่อนเลย พอลิเกจบก็เรียกเสียงปรบมือเกรียวกราว ป้านิ่ม น้าจู ยายแป้ว ยายจัน ควักแบงค์ห้าร้อย ส่งให้พระเอก นางเอก ที่เดินมากราบถึงตักคนให้ คนอื่นๆ ก็พากันควักแบงค์ยี่สิบ แบงค์ห้าสิบมาให้มั่ง กว่าจะเลิกราแยกย้ายกันกลับบ้าน พระเอกนางเอกกำเงินกันคนละฟ่อน สองฟ่อน


“...
พรุ่งนี้ จะไปงานที่ไหนต่อล่ะ ? ...” ยายนุ้ย เจ้าภาพถามหัวหน้าคณะ ขณะกำลังเก็บฉาก

...ไม่มีหรอกจ้ะ ช่วงนี้เข้าพรรษา งานหายาก...” หัวหน้าคณะยิ้มเศร้า ...ที่แม่นุ้ยจ้างพวกฉันนี่ก็เป็นงานเดียวในเดือนนี้ ...” พวกลิเก ชอบเรียกเจ้าภาพ หรือผู้อุปการะว่า แม่

... ไม่มีใครจ้าง แล้วอยู่กันยังไงล่ะ ?...”

...ก็แยกย้ายกันไป บ้างก็ไปรับจ้างเล่นแก้บน บ้างก็ไปรับจ้างเล่นตามงานศพ พวกที่มีสวน มีนาก็กลับไปทำ ก็อดบ้าง อิ่มบ้างเป็นธรรมดานั่นแหละจ้ะ ...”

...โถ...ลำบากแย่เลยนะ...”

...ไม่หรอกจ้ะ พวกฉันชินแล้ว...”

...เอางี้สิ ...ศาลาหมู่บ้านนี่นานๆ เขาถึงจะใช้ประชุมกันสักที ถ้ายังไม่มีที่ไปก็อยู่เล่นกันไปก่อน คนแถวนี้น่ะ เขาชอบดูลิเกกัน ได้น้อยได้มาก ก็ยังดีกว่าไปเร่ร่อนรับจ้างนะ...” ย้ายนุ้ยเสนอ


หัวหน้าคณะ กระพริบตาปริบๆ คิดคำนวณอย่างรวดเร็ว

...แล้วผู้ใหญ่บ้าน...”

...เดี๋ยวฉันไปขอให้ อยู่แค่ชั่วคราวคงไม่เป็นไรหรอก...”

หัวหน้าคณะ ก้มลงกราบขอบคุณยายนุ้ยผู้ชี้ทางสว่าง

 

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ลิเกคนยากคณะนี้ จึงเปิดวิกแสดงอยู่ที่ศาลากลางหมู่บ้านทุกค่ำคืน จะหยุดเล่น ก็แต่วันที่ฝนตกหนักจนไม่มีใครออกจากบ้านเท่านั้น


เพียงแค่สัปดาห์แรกผ่านไป หัวหน้าคณะก็เห็นว่า ตัดสินใจไม่ผิดเลยที่ปักหลักอยู่ที่นี่ เพราะ คนที่นี่ชอบดูลิเกกันจริงๆ จังๆ ดูกันได้ทุกคืน ไม่เคยเบื่อ ทางคณะก็เปลี่ยนเรื่องเล่นไปเรื่อยๆ ไม่มีซ้ำ ใช้เวลาตอนบ่ายซ้อม พอถึงเวลาเล่น ก็ดำเนินเรื่องไปตามบท


บางเรื่องก็มีหลายตอน ดูวันนี้ยังไม่จบก็ต่อวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ มะเรื่องนี้ ยาวยืดเป็นซีรีส์เกาหลี ขาประจำก็ไม่หนีไปไหน ยังคงมาให้กำลังใจกันคับคั่งทุกคืน

 

และไอ้ที่ถูกใจชาวคณะเหลือเกิน ก็คงเป็น บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ น้ำไฟไม่ต้องเสีย เปิดวิกกันที่ศาลา ชาวคณะก็กินอยู่หลับนอนกันเสียที่นั่น ห้องน้ำในศาลาก็มี แถมยังมีแม่ยก เอากับข้าวกับปลามาให้ทุกวัน...ปรีเปรมขนาดนี้ ลิเกก็ไม่อยากร่อนเร่ไปไหน

 

...เล่นทุกคืนไม่มีใครจ้าง แล้วลิเกมันได้เงินจากไหนล่ะ? ...” ไอ้เปีย คนไม่ดูลิเก ถามน้าหวี ซึ่งได้ยินเสียงลิเกเล่นชัดแจ๋วทุกวัน เพราะบ้านแกอยู่ตรงข้ามศาลา

...ก็เก็บเงินเอาน่ะสิ พอพระเอกออก ก็มีคนมาเดินเก็บตังค์ พอนางเอกออก ก็มาเก็บอีก แถมตอนใกล้ๆ จะจบก็มาเก็บอีกรอบ ก็ชาวบ้านน่ะนะ...มาดูแล้วก็ต้องให้ อย่างน้อยก็สิบยี่สิบ...”

...คนมาดูก็ใช่ว่าจะมาก คืนหนึ่งๆ มันจะได้เยอะสักแค่ไหนกันเชียว ? ...” ไอ้เปีย ถามพลางเคี้ยวลูกชิ้นทอดหยับๆ

...เอ็งก็คิดดูเอาเหอะ ขนาดข้า หลงไปดูเมื่อคืนก่อน ยังเสียไปคนเดียวตั้งหกสิบ แล้วที่ไปประจำๆ กันทุกคืน ตั้งร่วมยี่สิบสามสิบคนนั่นจะเสียคนละเท่าไร...คนละร้อยไม่พอละมั้ง...”

...แล้วจ่ายให้ทำไมตั้งเยอะแยะ เขาไม่ได้บังคับเสียหน่อย? ...”

...ข้าว่านะ...” น้าหวี ครุ่นคิด ...พวกลิเกมันต้องมีเมตตามหานิยม ใครไปดูก็ชอบ สงสาร เห็นใจ อดควักเงินให้ไปไม่ได้ พวกแม่ยกหลงลิเก ถึงให้นู่นให้นี่กันมากมายไงเล่า...แต่ข้าไม่ไปดูแล้ว เดี๋ยวอดให้ไม่ได้ เสียดายตังค์ว่ะ ...”

 

ว่ากันว่า คณะลิเกมีรายได้แต่ละคืน ร่วมพันสองพัน แต่หากเป็นคืนวันศุกร์วันเสาร์ รายได้จะมากเป็นเท่าตัว รายได้แค่นี้ อาจไม่มากหากแบ่งให้ชาวคณะทุกคน แต่กินฟรีอยู่ฟรี แต่ละคนเลยมีเงินเหลือเก็บกันวันละไม่น้อย


กระนั้น ก็ใช่ว่าจะมีแต่คนชอบ คนไม่ชอบก็มี แถมไม่ชอบอย่างหนักเสียด้วย

 

พี่โตคนทำงานโรงงาน กลับถึงบ้านสองทุ่ม อยากพักผ่อน ก็ไม่ค่อยได้พัก เพราะเสียงลิเกดังหนวกหูเหลือเกิน พี่โตไปโวยวายที่โรงลิเก จนผู้ใหญ่บ้านกับกำนันต้องมาช่วยไกล่เกลี่ย เป็นเรื่องเป็นราวกันอยู่หลายวัน จนลิเกต้องหันลำโพงไปอีกด้านหนึ่ง และเบาเสียงลงอีกหลายขีด กระนั้น พี่โตก็ยังไม่ค่อยพอใจ กลายเป็นคนแรกๆ ของกลุ่ม คนไม่เอาลิเก


ที่เด็ดสุดคือลุงจ่า

ลุงจ่า รำคาญป้านิ่มเมียแกที่ติดลิเกเหลือเกิน ไปดูทุกคืนน่ะไม่ว่า แต่เอาตังค์ไปให้ลิเกคืนละสามสี่ร้อย ลุงจ่า เห็นว่ามันเกินไป

...ทีแกไปกินเหล้า เข้าคาฟ่ คืนละตั้งเป็นพันข้ายังไม่บ่นเลย แค่นี้มีปัญหานักหรือไง...” ป้านิ่มโวยวาย

...ข้าเลิกเหล้าเลิกเที่ยวคาเฟ่มาตั้งปีแล้ว เอ็งนั่นแหละ เมื่อไรจะเลิกเอาตังค์ไปให้ลิเกเสียที เมื่อเช้าอีหนูมันมาบอกข้าว่า เอ็งไม่ให้ตังค์มันไปโรงเรียน เพราะให้ลิเกไปหมดแล้ว มันเลยต้องมาขอตังค์ข้า เอ็งจะว่ายังไง? ...” ลุงจ่า โวยมั่ง

แต่เถียงไปเถียงมา ลุงจ่าก็เถียงสู้เมียไม่ได้เหมือนเดิม พอตกค่ำ ป้านิ่มก็แต่งตัวไปนั่งหน้าแฉล้มดูลิเก คราวนี้ ลุงจ่า แอบตามไปพร้อมพกความแค้นมาเต็มกระเป๋า


ขณะลิเกกำลังดำเนินเรื่องไปอย่างสนุกสนาน ป้านิ่ม ที่นั่งอยู่แถวหน้า ก็ร้อง โอ้ย ! เสียงดัง แกยกมือขึ้นกุมหัว หันไปมองข้างหลัง


ลุงจ่า กำลังเหนี่ยวหนังสติ๊ก ก่อนจะปล่อยหินลูกเล็กเข้าเป้าที่กลางศรีษะป้านิ่มอีกครั้ง

โอ้ย !! ไอ้จ่า ! ไอ้บ้า ! เอ็งเอาหนังสติ๊ก มายิงข้าทำไม ?!” ป้านิ่ม ลุกขึ้นโวยวายเสียงดัง คนอื่นหันมามองเป็นตาเดียว พระเอกที่กำลังจะออกฉาก หยุดชะงักไปชั่วขณะ

อย่างเอ็งมันพูดไม่รู้เรื่อง ต้องโดนแบบนี้” ลุงจ่า ยิงโดนหัวป้านิ่มอย่างแม่นยำอีกหนึ่งลูก แล้วหัวเราะอย่างสะใจ


คราวนี้ ป้านิ่ม พ่นคำด่าออกมาเป็นชุดๆ พลางสาวเท้าเข้าหา ลุงจ่า ก็ว่องไวอย่างเหลือเชื่อ พอป้านิ่มขยับ แกก็ออกวิ่งพลางหันมายิง พอเสียงด่า กับร่างของสองลุงป้า ออกไปห่างจากโรงลิเก ชาวบ้านทุกคนก็ระเบิดเสียงหัวเราะกันอย่างครื้นเครง

...ลุงจ่า คิดได้ยังไงวะ เอาหนังกะติ๊ก มายิงป้านิ่ม...” ไอ้ปุ้ย หัวเราะจนน้ำตาไหล


ทุกคนพากันหัวเราะและพูดคุยเรื่องผัวเมียทะเลาะกันสดๆ ร้อนๆ ที่เพิ่งได้เห็น จนกระทั่งลืมลิเกไปชั่วครู่ พระเอกได้แต่ยิ้มแห้งๆ แต่พอหัวหน้าคณะพยักหน้าให้เล่นต่อพลางตีตะโพนเสียงดัง คนดูก็หันกลับมาดูลิเกตามเดิม

 

ลุงจ่า กลายเป็นสมาชิกหมายเลขสองของกลุ่มคนไม่เอาลิเก และกลุ่มที่ว่านี้ ก็ทำท่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อบ้าน ที่มีแม่บ้านติดลิเก


หลายครอบครัวเริ่มมีปัญหา เพราะคนในครอบครัวเกิดอาการ “หลงลิเก” มีเงิน มีของกิน ก็เอาไปให้ลิเก ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่หลายครั้ง ให้มากเสียจนคนในบ้านไม่มีจะกิน ขณะที่ลิเกผอมๆ ชักจะมีเนื้อมีหนัง บางคนก็เริ่มจะมีทองหยองใส่ ไอ้ตัวโกงถอยจักรยานคันใหม่เอี่ยมมาขับฉวัดเฉวียน


หัวหน้าคณะเริ่มเลียบเคียงถามคนในหมู่บ้านว่า แถวนี้มีที่ราคาถูกๆ ขายบ้างหรือเปล่า ใครได้ยินก็สงสัยว่า จะมาปลูกบ้าน หรือจะเปิดวิกลิเกเป็นการถาวรกันแน่ ขณะที่ ศาลาของหมู่บ้านก็เริ่มสกปรกเพราะคนอยู่กันเยอะ และถูกใช้งานทุกวันแต่ไม่ค่อยได้ทำความสะอาด พอกรรมการหมู่บ้านมีเรื่องจะประชุม ก็ต้องย้ายไปขอยืมศาลาวัดแทน

 

คำถามเดียวที่กลุ่มคนไม่เอาลิเก และกลุ่มคนที่สงสัยว่าทำไมลิเกไม่ไปไหนเสียที ต่างพากันซุบซิบกันดังกระหึ่ม คือ

ผู้ใหญ่บ้าน ทำไมจึงยอมให้คณะลิเกใช้ศาลาของหมู่บ้านฟรีๆ ไม่ยอมไล่ไปไหนเสียที?”

บางคนรู้คำตอบดี แต่ขี้เกียจพูด อาจเพราะรู้ว่า พูดไปก็ไร้ประโยชน์ ทั้งระดับหมู่บ้านจนถึงระดับชาติ คำตอบนี้ก็ไม่ต่างกัน

 

ก็ถ้าผู้ปกครองไม่ได้ประโยชน์อะไร ทำไมสิ่งที่ไม่ถูกไม่ต้อง มันยังคงอยู่ได้เล่า ?

 

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก