Skip to main content

คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญ


วันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้าน

วันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง

ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ

แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..ข้าจะทำพวงมาลัยแบงค์ห้าร้อยคล้องคอให้ซะเลย...” ป้านิ่มว่า พลางยิ้มน้อยยิ้มใหญ่

...ได้ดูลิเกฟรีแล้วยังจะเอาไชยา มิตรชัยอีกเหรอป้า ? ...” น้าไก่สงสัย

...ข้าก็พูดไปงั้นแหละ...”

คืนนั้น ลิเกเล่นเรื่อง “มเหสีจำเป็น” ตามท้องเรื่อง เล่าถึง ตัวนางเอกซึ่งเป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ปลอมตนเป็นคนธรรมดา พร้อมด้วยสาวใช้คนสนิท หนีมาเที่ยวต่างเมือง ฝ่ายเจ้าชายเมืองนั้น กำลังกลัดกลุ้มพระทัยที่ถูกพระราชบิดาและพระราชมารดาบังคับให้แต่งงานกับเจ้าหญิงต่างเมือง เจ้าชายจึงคิดแผนจ้างหญิงสาวมาเป็นคนรัก เพื่อตบตาพ่อแม่ ซึ่งหญิงสาวคนนั้น ก็คือนางเอกที่ต้องตกกระไดพลอยโจนไปเป็นมเหสีจำเป็น


เรื่องดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ก่อนจะลงเอยอย่างสมหวังว่า ที่แท้ ทั้งสองก็เป็นคู่หมั้นคู่หมายกันอยู่แล้วนั่นเอง


ลิเก เริ่มเล่นตอนสองทุ่ม ไปจบเอาเกือบเที่ยงคืน เก้าอี้ห้าสิบตัวมีคนนั่งเต็ม ที่ยืนดูขาแข็งอีกหลายสิบ กระนั้นก็แทบจะไม่มีใครขยับกลับบ้านก่อนเลย พอลิเกจบก็เรียกเสียงปรบมือเกรียวกราว ป้านิ่ม น้าจู ยายแป้ว ยายจัน ควักแบงค์ห้าร้อย ส่งให้พระเอก นางเอก ที่เดินมากราบถึงตักคนให้ คนอื่นๆ ก็พากันควักแบงค์ยี่สิบ แบงค์ห้าสิบมาให้มั่ง กว่าจะเลิกราแยกย้ายกันกลับบ้าน พระเอกนางเอกกำเงินกันคนละฟ่อน สองฟ่อน


“...
พรุ่งนี้ จะไปงานที่ไหนต่อล่ะ ? ...” ยายนุ้ย เจ้าภาพถามหัวหน้าคณะ ขณะกำลังเก็บฉาก

...ไม่มีหรอกจ้ะ ช่วงนี้เข้าพรรษา งานหายาก...” หัวหน้าคณะยิ้มเศร้า ...ที่แม่นุ้ยจ้างพวกฉันนี่ก็เป็นงานเดียวในเดือนนี้ ...” พวกลิเก ชอบเรียกเจ้าภาพ หรือผู้อุปการะว่า แม่

... ไม่มีใครจ้าง แล้วอยู่กันยังไงล่ะ ?...”

...ก็แยกย้ายกันไป บ้างก็ไปรับจ้างเล่นแก้บน บ้างก็ไปรับจ้างเล่นตามงานศพ พวกที่มีสวน มีนาก็กลับไปทำ ก็อดบ้าง อิ่มบ้างเป็นธรรมดานั่นแหละจ้ะ ...”

...โถ...ลำบากแย่เลยนะ...”

...ไม่หรอกจ้ะ พวกฉันชินแล้ว...”

...เอางี้สิ ...ศาลาหมู่บ้านนี่นานๆ เขาถึงจะใช้ประชุมกันสักที ถ้ายังไม่มีที่ไปก็อยู่เล่นกันไปก่อน คนแถวนี้น่ะ เขาชอบดูลิเกกัน ได้น้อยได้มาก ก็ยังดีกว่าไปเร่ร่อนรับจ้างนะ...” ย้ายนุ้ยเสนอ


หัวหน้าคณะ กระพริบตาปริบๆ คิดคำนวณอย่างรวดเร็ว

...แล้วผู้ใหญ่บ้าน...”

...เดี๋ยวฉันไปขอให้ อยู่แค่ชั่วคราวคงไม่เป็นไรหรอก...”

หัวหน้าคณะ ก้มลงกราบขอบคุณยายนุ้ยผู้ชี้ทางสว่าง

 

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ลิเกคนยากคณะนี้ จึงเปิดวิกแสดงอยู่ที่ศาลากลางหมู่บ้านทุกค่ำคืน จะหยุดเล่น ก็แต่วันที่ฝนตกหนักจนไม่มีใครออกจากบ้านเท่านั้น


เพียงแค่สัปดาห์แรกผ่านไป หัวหน้าคณะก็เห็นว่า ตัดสินใจไม่ผิดเลยที่ปักหลักอยู่ที่นี่ เพราะ คนที่นี่ชอบดูลิเกกันจริงๆ จังๆ ดูกันได้ทุกคืน ไม่เคยเบื่อ ทางคณะก็เปลี่ยนเรื่องเล่นไปเรื่อยๆ ไม่มีซ้ำ ใช้เวลาตอนบ่ายซ้อม พอถึงเวลาเล่น ก็ดำเนินเรื่องไปตามบท


บางเรื่องก็มีหลายตอน ดูวันนี้ยังไม่จบก็ต่อวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ มะเรื่องนี้ ยาวยืดเป็นซีรีส์เกาหลี ขาประจำก็ไม่หนีไปไหน ยังคงมาให้กำลังใจกันคับคั่งทุกคืน

 

และไอ้ที่ถูกใจชาวคณะเหลือเกิน ก็คงเป็น บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ น้ำไฟไม่ต้องเสีย เปิดวิกกันที่ศาลา ชาวคณะก็กินอยู่หลับนอนกันเสียที่นั่น ห้องน้ำในศาลาก็มี แถมยังมีแม่ยก เอากับข้าวกับปลามาให้ทุกวัน...ปรีเปรมขนาดนี้ ลิเกก็ไม่อยากร่อนเร่ไปไหน

 

...เล่นทุกคืนไม่มีใครจ้าง แล้วลิเกมันได้เงินจากไหนล่ะ? ...” ไอ้เปีย คนไม่ดูลิเก ถามน้าหวี ซึ่งได้ยินเสียงลิเกเล่นชัดแจ๋วทุกวัน เพราะบ้านแกอยู่ตรงข้ามศาลา

...ก็เก็บเงินเอาน่ะสิ พอพระเอกออก ก็มีคนมาเดินเก็บตังค์ พอนางเอกออก ก็มาเก็บอีก แถมตอนใกล้ๆ จะจบก็มาเก็บอีกรอบ ก็ชาวบ้านน่ะนะ...มาดูแล้วก็ต้องให้ อย่างน้อยก็สิบยี่สิบ...”

...คนมาดูก็ใช่ว่าจะมาก คืนหนึ่งๆ มันจะได้เยอะสักแค่ไหนกันเชียว ? ...” ไอ้เปีย ถามพลางเคี้ยวลูกชิ้นทอดหยับๆ

...เอ็งก็คิดดูเอาเหอะ ขนาดข้า หลงไปดูเมื่อคืนก่อน ยังเสียไปคนเดียวตั้งหกสิบ แล้วที่ไปประจำๆ กันทุกคืน ตั้งร่วมยี่สิบสามสิบคนนั่นจะเสียคนละเท่าไร...คนละร้อยไม่พอละมั้ง...”

...แล้วจ่ายให้ทำไมตั้งเยอะแยะ เขาไม่ได้บังคับเสียหน่อย? ...”

...ข้าว่านะ...” น้าหวี ครุ่นคิด ...พวกลิเกมันต้องมีเมตตามหานิยม ใครไปดูก็ชอบ สงสาร เห็นใจ อดควักเงินให้ไปไม่ได้ พวกแม่ยกหลงลิเก ถึงให้นู่นให้นี่กันมากมายไงเล่า...แต่ข้าไม่ไปดูแล้ว เดี๋ยวอดให้ไม่ได้ เสียดายตังค์ว่ะ ...”

 

ว่ากันว่า คณะลิเกมีรายได้แต่ละคืน ร่วมพันสองพัน แต่หากเป็นคืนวันศุกร์วันเสาร์ รายได้จะมากเป็นเท่าตัว รายได้แค่นี้ อาจไม่มากหากแบ่งให้ชาวคณะทุกคน แต่กินฟรีอยู่ฟรี แต่ละคนเลยมีเงินเหลือเก็บกันวันละไม่น้อย


กระนั้น ก็ใช่ว่าจะมีแต่คนชอบ คนไม่ชอบก็มี แถมไม่ชอบอย่างหนักเสียด้วย

 

พี่โตคนทำงานโรงงาน กลับถึงบ้านสองทุ่ม อยากพักผ่อน ก็ไม่ค่อยได้พัก เพราะเสียงลิเกดังหนวกหูเหลือเกิน พี่โตไปโวยวายที่โรงลิเก จนผู้ใหญ่บ้านกับกำนันต้องมาช่วยไกล่เกลี่ย เป็นเรื่องเป็นราวกันอยู่หลายวัน จนลิเกต้องหันลำโพงไปอีกด้านหนึ่ง และเบาเสียงลงอีกหลายขีด กระนั้น พี่โตก็ยังไม่ค่อยพอใจ กลายเป็นคนแรกๆ ของกลุ่ม คนไม่เอาลิเก


ที่เด็ดสุดคือลุงจ่า

ลุงจ่า รำคาญป้านิ่มเมียแกที่ติดลิเกเหลือเกิน ไปดูทุกคืนน่ะไม่ว่า แต่เอาตังค์ไปให้ลิเกคืนละสามสี่ร้อย ลุงจ่า เห็นว่ามันเกินไป

...ทีแกไปกินเหล้า เข้าคาฟ่ คืนละตั้งเป็นพันข้ายังไม่บ่นเลย แค่นี้มีปัญหานักหรือไง...” ป้านิ่มโวยวาย

...ข้าเลิกเหล้าเลิกเที่ยวคาเฟ่มาตั้งปีแล้ว เอ็งนั่นแหละ เมื่อไรจะเลิกเอาตังค์ไปให้ลิเกเสียที เมื่อเช้าอีหนูมันมาบอกข้าว่า เอ็งไม่ให้ตังค์มันไปโรงเรียน เพราะให้ลิเกไปหมดแล้ว มันเลยต้องมาขอตังค์ข้า เอ็งจะว่ายังไง? ...” ลุงจ่า โวยมั่ง

แต่เถียงไปเถียงมา ลุงจ่าก็เถียงสู้เมียไม่ได้เหมือนเดิม พอตกค่ำ ป้านิ่มก็แต่งตัวไปนั่งหน้าแฉล้มดูลิเก คราวนี้ ลุงจ่า แอบตามไปพร้อมพกความแค้นมาเต็มกระเป๋า


ขณะลิเกกำลังดำเนินเรื่องไปอย่างสนุกสนาน ป้านิ่ม ที่นั่งอยู่แถวหน้า ก็ร้อง โอ้ย ! เสียงดัง แกยกมือขึ้นกุมหัว หันไปมองข้างหลัง


ลุงจ่า กำลังเหนี่ยวหนังสติ๊ก ก่อนจะปล่อยหินลูกเล็กเข้าเป้าที่กลางศรีษะป้านิ่มอีกครั้ง

โอ้ย !! ไอ้จ่า ! ไอ้บ้า ! เอ็งเอาหนังสติ๊ก มายิงข้าทำไม ?!” ป้านิ่ม ลุกขึ้นโวยวายเสียงดัง คนอื่นหันมามองเป็นตาเดียว พระเอกที่กำลังจะออกฉาก หยุดชะงักไปชั่วขณะ

อย่างเอ็งมันพูดไม่รู้เรื่อง ต้องโดนแบบนี้” ลุงจ่า ยิงโดนหัวป้านิ่มอย่างแม่นยำอีกหนึ่งลูก แล้วหัวเราะอย่างสะใจ


คราวนี้ ป้านิ่ม พ่นคำด่าออกมาเป็นชุดๆ พลางสาวเท้าเข้าหา ลุงจ่า ก็ว่องไวอย่างเหลือเชื่อ พอป้านิ่มขยับ แกก็ออกวิ่งพลางหันมายิง พอเสียงด่า กับร่างของสองลุงป้า ออกไปห่างจากโรงลิเก ชาวบ้านทุกคนก็ระเบิดเสียงหัวเราะกันอย่างครื้นเครง

...ลุงจ่า คิดได้ยังไงวะ เอาหนังกะติ๊ก มายิงป้านิ่ม...” ไอ้ปุ้ย หัวเราะจนน้ำตาไหล


ทุกคนพากันหัวเราะและพูดคุยเรื่องผัวเมียทะเลาะกันสดๆ ร้อนๆ ที่เพิ่งได้เห็น จนกระทั่งลืมลิเกไปชั่วครู่ พระเอกได้แต่ยิ้มแห้งๆ แต่พอหัวหน้าคณะพยักหน้าให้เล่นต่อพลางตีตะโพนเสียงดัง คนดูก็หันกลับมาดูลิเกตามเดิม

 

ลุงจ่า กลายเป็นสมาชิกหมายเลขสองของกลุ่มคนไม่เอาลิเก และกลุ่มที่ว่านี้ ก็ทำท่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อบ้าน ที่มีแม่บ้านติดลิเก


หลายครอบครัวเริ่มมีปัญหา เพราะคนในครอบครัวเกิดอาการ “หลงลิเก” มีเงิน มีของกิน ก็เอาไปให้ลิเก ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่หลายครั้ง ให้มากเสียจนคนในบ้านไม่มีจะกิน ขณะที่ลิเกผอมๆ ชักจะมีเนื้อมีหนัง บางคนก็เริ่มจะมีทองหยองใส่ ไอ้ตัวโกงถอยจักรยานคันใหม่เอี่ยมมาขับฉวัดเฉวียน


หัวหน้าคณะเริ่มเลียบเคียงถามคนในหมู่บ้านว่า แถวนี้มีที่ราคาถูกๆ ขายบ้างหรือเปล่า ใครได้ยินก็สงสัยว่า จะมาปลูกบ้าน หรือจะเปิดวิกลิเกเป็นการถาวรกันแน่ ขณะที่ ศาลาของหมู่บ้านก็เริ่มสกปรกเพราะคนอยู่กันเยอะ และถูกใช้งานทุกวันแต่ไม่ค่อยได้ทำความสะอาด พอกรรมการหมู่บ้านมีเรื่องจะประชุม ก็ต้องย้ายไปขอยืมศาลาวัดแทน

 

คำถามเดียวที่กลุ่มคนไม่เอาลิเก และกลุ่มคนที่สงสัยว่าทำไมลิเกไม่ไปไหนเสียที ต่างพากันซุบซิบกันดังกระหึ่ม คือ

ผู้ใหญ่บ้าน ทำไมจึงยอมให้คณะลิเกใช้ศาลาของหมู่บ้านฟรีๆ ไม่ยอมไล่ไปไหนเสียที?”

บางคนรู้คำตอบดี แต่ขี้เกียจพูด อาจเพราะรู้ว่า พูดไปก็ไร้ประโยชน์ ทั้งระดับหมู่บ้านจนถึงระดับชาติ คำตอบนี้ก็ไม่ต่างกัน

 

ก็ถ้าผู้ปกครองไม่ได้ประโยชน์อะไร ทำไมสิ่งที่ไม่ถูกไม่ต้อง มันยังคงอยู่ได้เล่า ?

 

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…