Skip to main content

10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"

1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?


ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน การลงทุนผิดพลาดหมายถึงการเอาเงินจำนวนมหาศาลไปทิ้ง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเงินของเขาหรือเงินของคนอื่น มันก็อาจทำให้เขาอยากฆ่าตัวตายได้เท่าๆ กัน ดังนั้น นักลงทุนก็น่าจะมีความเชื่อมั่นเทียบเท่ากับมนุษย์ปกติ หากไม่นับรวมเรื่องของการลงทุน

 

2. นักลงทุนนับถือศาสนาหรือลัทธิความเชื่อใด ?


ตอบ เป็นที่แน่ชัดโดยไม่ต้องพิสูจน์ว่า ไม่ว่านักลงทุนจะกล่าวอ้างว่าเขานับถือศาสนาหรือลัทธิความเชื่อใด แต่แท้จริงแล้ว สิ่งเดียวที่เขานับถือบูชาอย่างสุดหัวจิตหัวใจคือลัทธิทุนนิยม หรือเสรีนิยมใหม่ ที่มุ่งหวังการทำกำไรสูงสุดและการเติบโตไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้น ตลาดหุ้นคือโบสถ์ของเขา และการนั่งเฝ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์ฯ ก็เปรียบเสมือนการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แน่นอน ผลลัพธ์แห่งศรัทธาก็คือผลกำไรที่ไหลเทมาสู่บัญชีธนาคารของเขานั่นเอง


3. นักลงทุนสังกัดตัวเองเข้ากับประเทศ สังคม หรือสัญชาติ ใดหรือไม่?


ตอบ หากต้องกรอกข้อความในแบบฟอร์มใดๆ นักลงทุนย่อมระบุว่าเขาสังกัดในสังคมใดสังคมหนึ่งซึ่งการอ้างอิงนั้นมักจะอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ในระยะยาว แต่สำหรับปฏิบัติการในชีวิตจริง นักลงทุนไม่สนใจแม้แต่น้อยว่าเขาคือใคร สังกัดสังคมไหน เพราะการลงทุนสามารถข้ามไปข้ามมาได้ทั้งโลก หากแม้นว่าเขาซื้อหุ้นบริษัท A ที่ต้องการจะมาตั้งโรงงานทำลายสิ่งแวดล้อมในประเทศของตัวเขาเอง เขาก็จะไม่อินังขังขอบแม้แต่น้อยว่าเขาคือประชากรของประเทศนั้น หากแต่เขาคือนักลงทุน ผู้ซึ่งไม่สนใจจะสังกัดกลุ่มทางสังคมใดๆ ทั้งสิ้น


4. นักลงทุนสนใจความอยู่รอดของผู้คนในประเทศด้อยพัฒนาหรือไม่ ?


ตอบ นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะทุกวันนี้มีสิ่งที่เรียกว่า CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ กิจกรรมที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมองอีกแง่หนึ่ง CSR สำหรับนักลงทุนก็เป็นเสมือนการเจียดเศษเงินช่วยเหลือสังคม เพื่อจะกอบโกยผลประโยชน์ที่มากกว่านั้นหลายเท่า หากพิจารณาเชิงตรรกะ ย่อมเป็นไปได้ยากที่นักลงทุนจะยอมจ่ายในสิ่งที่เขามองไม่เห็นผลกำไร ดังนั้น ความอยู่รอดของประเทศด้อยพัฒนา จึงเป็นเพียงแค่ข้ออ้างในการสร้างภาพลักษณ์ของเขาเท่านั้น


5. นักลงทุนมีจิตสำนึกเชิงสุนทรียะหรือไม่ ?


ตอบ นี่เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เนื่องจากเป็นรสนิยมส่วนบุคคล แต่ถ้าเป็นในมิติเรื่องการบริโภค ก็อาจกล่าวได้ว่า นักลงทุนเกือบร้อยเปอร์เซนต์ มีรสนิยมในการบริโภคในระดับสูงสุดคือนอกจากเป็นผู้กอบโกยจากกระแสทุนแล้ว ก็ยังเป็นผู้เสพผลผลิตชั้นยอดของสังคมทุนนิยมอีกด้วย แต่ในแง่ของการสร้างสรรค์งานศิลป์ หรือ การเสพสุนทรียะเชิงธรรมชาตินิยม น่าจะกล่าวได้ว่า หาได้ยากยิ่ง เพราะนักลงทุนมักจะประเมินค่าทั้งงานศิลปะ หรือ ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นตัวเลขเสียมากกว่า


6. เป้าหมายชีวิตของนักลงทุนคืออะไร ?


ตอบ ในระดับพื้นฐาน เป้าหมายชีวิตของนักลงทุนไม่น่าจะแตกต่างจากมนุษย์ปกติ เพียงแต่ว่า นักลงทุนมีสำนึกด้านความทะเยอทะยานสูงกว่ามนุษย์ทั่วไปมาก แต่คำว่าทะเยอทะยานนี้ หากให้ความหมายตามศัพท์ทางพุทธศาสนาที่น่าจะตรงที่สุดก็น่าจะเป็น "ความโลภ" ซึ่งเป็นตัณหาธรรมชาติของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม เพียงแต่นักลงทุนมีมากกว่า เข้มข้นกว่า หนาแน่นกว่า ต้องการไปให้ไกลกว่า และยอมรับการพ่ายแพ้ หรือการวางมือได้ยากยิ่งกว่า

หากเป้าหมายชีวิตของมนุษย์ทุกผู้ทุกนามหมายถึงความสงบสุข นักลงทุนก็น่าจะเป็นพวกที่มีความปรารถนาที่ซับซ้อนกว่ามนุษย์ทั่วไปเนื่องจาก นักลงทุนต้องการป่ายปีนไปให้สูงที่สุดก่อน และเขาเชื่อว่า บนนั้นจะมีพื้นที่ที่แสนสงบสุขรอเขาอยู่ (ขณะที่มนุษย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการดำเนินชีวิตอย่างงดงามไปเรื่อยๆ ย่อมเป็นความสุขที่แท้จริง และย่อมพบความสงบสุขในเบื้องปลาย)

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อใดที่นักลงทุนไม่สามารถป่ายปีนไปจนถึงเป้าหมายที่เขาต้องการได้ หรือไปแล้วพบว่ามันคือความว่างเปล่า เขาจะถือว่านั่นคือความล้มเหลว เนื่องจากเขาให้คุณค่ากับเป้าหมายมากกว่าชีวิตของตัวเอง


7. นักลงทุนเห็นคุณค่าของชีวิตสัตว์ พืช และมนุษย์ หรือไม่ อย่างไร ?


ตอบ คุณค่าของสิ่งที่เรียกชีวิต(ไม่ว่าของเขาหรือของใคร)สำหรับนักลงทุน น่าจะน้อยกว่าผลกำไรที่เขาควรจะได้ในไตรมาสแรก ผลประกอบการย่อมสำคัญกว่าคุณภาพชีวิตของพนักงาน และรถราคาหลายล้านของเขา ก็ย่อมมีคุณค่าสูงกว่าชีวิตของสุนัขจรจัดทั้งประเทศรวมกัน แน่ละ นักลงทุนที่มีจิตสำนึกสูงก็ย่อมต้องมี แต่ในสังคมแห่งการลงทุน คงเหลือที่ว่างให้กับความเมตตาได้ไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์

ดังนั้น สำหรับนักลงทุน ชีวิตก็น่าจะมีความหมายเทียบเท่าปัจจัยการผลิตหนึ่งหน่วยเท่านั้น


8. นักลงทุนเชื่อเรื่อง "กรรม" ตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่ ?


ตอบ น่าจะไม่ เพราะนักลงทุนไม่สามารถแบ่งสมองไปสวามิภักดิ์ต่อทรรศนะอื่น นอกจากการทำกำไรสูงสุด หากมองในระดับชาวบ้าน พ่อค้าคนหนึ่งอาจกล่าวว่า "...บาปบุญไม่มีจริง มีแต่กำไรกับขาดทุนเท่านั้น..." แต่หากในระดับนักลงทุน น่าจะกล่าวได้ว่า "...เวรกรรมไม่อาจนำมาคำนวณต้นทุนการผลิตได้..." ดังนั้น เราจึงมักจะเห็นนักลงทุน เป็นพวกแรกๆ ที่ล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยัง ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ได้สืบเนื่องมาในกมลสันดานของนักลงทุน ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมจนถึงยุคปัจจุบัน


9. ทำไมประเทศไทยจึงต้องเอาอกเอาใจนักลงทุนราวกับพวกเขาเป็นบิดาบังเกิดเกล้า ?


ตอบ เนื่องจากนักธุรกิจการเมืองต้องการให้นักลงทุนควักเงินในกระเป๋ามาลงทุน เพื่อที่เงินเหล่านั้นจะได้ไหลไปสู่กระเป๋าของคนในระดับล่าง และไหลเข้ากระเป๋าของพวกนักธุรกิจการเมืองกับทั้งเครือข่ายผลประโยชน์ของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดำเนินต่อไปได้ ตามความเชื่อในวิถีการพัฒนาประเทศแบบตะวันตก (ในทางกลับกัน ก็ไม่เชื่อว่าเราสามารถพัฒนาได้ด้วยศักยภาพของเราเอง)

เวลาเกิดเหตุใดๆ ที่อาจทำให้นักลงทุนแตกตื่น นักธุรกิจการเมืองเหล่านี้ ก็มักจะยกคาถาสำคัญเรื่อง ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขึ้นมาอ้างเสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนที่อ้างถึงนั้น เป็นประโยชน์กับสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมสักกี่มากน้อยกลับไม่มีใครกล้าอธิบาย


10. นักลงทุนมีความจำเป็นกับประเทศไทยแค่ไหน ?


ตอบ มี แต่ไม่มากถึงขนาดขาดไม่ได้ ที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศเราเน้นการพึ่งพาเขามากกว่าพึ่งเราเอง ผูกเศรษฐกิจของประเทศไว้กับการส่งออก ไว้กับการท่องเที่ยว ซึ่งผันผวนอย่างรุนแรงตามสถานการณ์รอบข้าง ส่วนในภาคธุรกิจอื่น เช่น อุตสาหกรรม การบริการ ก็เริ่มลดน้อยถอยไป เพราะเจ้าใหญ่เขาเตรียมย้ายฐานไปอยู่เวียดนามกันแล้ว ฉะนั้นแม้จะพยายามดึงดัน ก็ไม่อาจรั้งไว้ได้ ฉะนั้นการมัวแต่ท่องคาถา "...ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ความเชื่อมั่นของนักลงทุน..." นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ยังดูเหมือนคนไร้ศักดิ์ศรีเข้าไปทุกขณะ

ทุกวันนี้ นักลงทุนรุกคืบเข้าไปถึงภาคเกษตร ล้วงเข้าไปถึงกระเพาะอาหารของสังคมไทย ชาวต่างชาติมาซื้อที่ดิน แล้วจ้างชาวบ้านทำการเกษตร ได้ผลผลิตก็ส่งเข้าโรงงานของพวกเขา แล้วก็ส่งขายหรือส่งกลับประเทศ อีกไม่นาน คนไทยคงเป็นได้แค่เพียงลูกจ้างติดที่ดิน


ท่องเข้าไว้เถิด ท่านนายกฯ ท่านรัฐมนตรีฯ ท่าน ส.ส. ท่าน ส.ว. ท่านนักธุรกิจทั้งหลาย ทุกครั้งที่ท่านเอ่ยวลีที่ว่า "...ความเชื่อมั่นของนักลงทุน..." ท่านก็ได้สูญเสียความทรนงในฐานะคนไทยไปเรื่อยๆ


แต่ท่านคงไม่สนใจสักเท่าไร เพราะท่านเป็น "นักลงทุน" ที่ไม่สังกัดสังคมใดๆ อยู่แล้วนี่

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…