Skip to main content
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคต
ทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียว
คือ เกษตรเคมี


ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก


ว่ากันง่ายๆ พืชผักประเภทหนักยาอย่าง ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บล็อกโคลี่ จะหาไอ้ที่สารเคมีน้อยๆ นั้น ยากเหลือหลาย ผักสวยๆ แบบปลอดสารแท้ๆ นั้นแทบจะไม่มี มีแต่ปลอดภัย คือฉีดยา แต่พ้นระยะอันตรายไปแล้ว ซื้อไปบริโภคได้
ส่วนประเภทเบายา เช่น กระเพรา โหระพา ใบแมงลัก แตงกวา ผักชี แม้ไม่ค่อยมีศัตรูพืช แต่ก็ต้องฉีดยากันเชื้อราบ้าง

พืชผักแต่ละอย่างก็มีรายละเอียดในการดูแลแตกต่างกันไป ใครถนัดอย่างไหนก็ปลูกอย่างนั้น ใครถนัดหลายอย่าง ก็ปลูกได้หลายอย่าง
ถ้าจะปลูกหลายอย่าง อย่างละเล็กอย่างละน้อย แค่พอไว้กินเอง นั้นไม่มีปัญหา (แต่ถ้าคิดว่าจะปลูกไว้กินเอง เหลือค่อยเก็บขาย กลับไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะถ้าไม่สวย ก็ไม่มีใครซื้อ)

แต่ถ้าจะปลูกหลายอย่าง เพื่อขาย นอกจากจะต้องมีความขยันขันแข็งอย่างยิ่งยวดแล้ว ยังต้องมีทุนอย่างยิ่งด้วย
ก็ผักแต่ละอย่าง ค่าปุ๋ย ค่ายา มันน้อยเสียเมื่อไร
ปุ๋ยกระสอบละ 500-800 บาท
ยาฆ่าแมลงขวดละ 300-500 บาท
ฮอร์โมนเร่งการเติบโตขวดละ 400-600 บาท

ปลูกหลายอย่างก็ใช้ยาหลายตัว แถมยาสมัยนี้ก็มีหลายยี่ห้อ หลายชื่อเสียเหลือเกิน จะฉีดยาฆ่าหนอนสักชนิด มียาให้เลือกใช้ตั้ง สิบกว่าชื่อ มองขวดจนตาลายยังไม่รู้จะเลือกอะไรดี จะเลือกแบบมั่วๆ ก็ไม่ได้ เพราะราคาไม่ใช่ถูกๆ แถมถ้าใช้ไม่ได้ผล คุมหนอนแมลงไม่อยู่ ก็เสี่ยงที่จะเสียไปทั้งหมด

แล้วถ้าเกิดใครสักคน ไม่อยากใช้ยาฆ่าแมลง หรืออยากใช้ให้น้อยกว่าคนอื่น จะเกิดอะไรขึ้น
?
หนอน แมลง มันก็จะมารุมลงแปลงผักที่ฉีดยาน้อย หรือไม่ได้ฉีดยาน่ะซี
คืนเดียวเท่านั้น รับรองว่า เรียบ ไม่ต้องฟื้นกันเลย
ในเมื่อใครๆ เขาก็ฉีดกันทั้งนั้น แล้วใครจะกล้าเสี่ยงไม่ฉีด
เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ ผักปลอดสาร ฯลฯ ใช่ว่าชาวบ้านจะไม่รู้ แต่ก็ก็จนด้วยคำถามเดิมๆ  "ใครล่ะ จะกล้าเสี่ยง?"

ใครต่อใครจึงต้องหาทางฉีดยาคุมศัตรูพืชให้อยู่ ภายใต้งบประมาณที่ประหยัดที่สุด ทีนี้แต่ละคนก็มีความเชื่อ และความนิยมแตกต่างกันไป บ้างก็ชอบยี่ห้อ บ้างก็ชอบที่ชื่อ บ้างก็เน้นแต่ว่า เอายาที่ผลิตจากบริษัทนี้ๆ เท่านั้น 
พอตอนเอามาใช้ บ้างก็เอายาตัวนั้นผสมกับยาตัวนี้ บ้างก็เอายาตัวนี้ไปผสมกับฮอร์โมนตัวนั้น หรือ ยาสองตัวกับฮอร์โมนอีกตัวหนึ่ง ฯลฯ  หลายคนขี้เกียจจำ ขี้เกียจไปคิดค้นสูตร ก็ใช้ตามๆ คนอื่น ใช้ดีก็ใช้ต่อไป ใช้ไม่ดีก็เปลี่ยนไปลองตัวอื่น
แต่ก็มีอีกไม่น้อย ที่มี "สูตรลับ"  ซื้อปุ๋ย ซื้อยาอะไรมาจากที่ไหน ไม่มีเสียละที่จะบอกใคร กระทั่งกระสอบปุ๋ย ขวดยา ยังแอบซ่อนไว้ไม่ให้ใครรู้
มันคงจะเป็นความภาคภูมิใจประหนึ่งได้ครอบครองภูมิปัญญา(เคมีเกษตร)อันล้ำค่าไว้

หน้าแล้งปีนี้ ปลูกแตงโมกับมะเขือเทศกันเยอะ
แตงโมต้องใช้ความเชี่ยวชาญไม่น้อยเลย ต้องรู้พันธุ์ รู้ดิน รู้ปุ๋ย รู้ยา รู้เทคนิคในการปลูก การดูแล ไปจนถึงการตัดขาย และที่สำคัญที่สุดคือ รู้ตลาด
ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ง่ายๆ โดยเฉพาะถ้ายังตัดใจ ตัดลูกแตงโมทิ้ง ไม่ลง

ลุงเหมือน คนปลูกแตงโมมานานกว่ายี่สิบปี พูดไว้น่าฟัง
"...ถ้าต้นหนึ่งออกสามลูก เราเอาไว้ทั้งสามลูก จะไม่ดีสักลูก เอาไว้สองลูกได้ราคาครึ่งเดียว เพราะน้ำหนักไม่ดี แต่ถ้าเอาไว้ลูกเดียว ขายได้เต็มราคา เพราะแตงได้กินปุ๋ยเต็มที่..."
ที่อันตรายที่สุด คือถ้าถูกน้ำท่วม หรือน้ำซึมมาเจิ่งๆ นองๆ แตงโมมีสิทธิ์เน่าได้ทั้งไร่
ถ้าฝนตก ก็ต้องภาวนาอย่าให้ท่วม

มะเขือเทศดูแลง่ายกว่า เพาะกล้าในกระบะ ทำแปลงคลุมผ้าพลาสติก ปักไว้ไว้ผูกต้นตอนที่มันโต ถ้าดูแลดีๆ มะเขือเทศแค่ไม่กี่ไร่ ก็ได้ผลผลิตหลายตัน(หนึ่งพันกิโลกรัม)
ถ้าได้ราคาสักกิโลกรัมละสิบบาท ก็พอยิ้มออกไม่ขาดทุน
ถ้าได้ถึงกิโลกรัมละ 15-20 บาท ก็นอนยิ้มร่า ฝันดีไปได้หลายวัน
แต่ถ้าไปถึงกิโลกรัมละ 25-30 บาท ปีนั้นก็เตรียมปลดหนี้ปลดสิน จ้างลิเกมาเล่น จ้างหนังมาฉาย
และถ้าหากเกิดร่วงไปเหลือแค่กิโลกรัมละ 2-5 บาท ก็แค่ช้ำชอกกันไปอีกครั้ง เหมือนๆ ที่เคยผ่านมา ปีหน้าค่อยเสี่ยงดวงกันใหม่

ว่าตามจริง มะเขือเทศฉีดยาแค่ครั้งเดียวเท่านั้น คือตอนที่ลูกมันกำลังจะสุก กำลังจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง ตอนนั้นละ ที่หนอนแมลงจะพากันมาปาร์ตี้โดยมิได้รับเชิญ จังหวะนี้เท่านั้นที่จะชี้ชะตาชาวสวนว่าจะได้หรือจะเสีย จังหวะนี้เท่านั้นที่ต้องฉีดยาคุมให้อยู่

ยายปี่กับตาเปลื้อง ก็ปลูกมะเขือเทศเหมือนคนอื่นๆ ที่นาสามไร่ติดบ้านถูกเปลี่ยนให้เป็นแปลงมะเขือเทศ ส่วนที่ติดๆ กันนั้น ก็ล้วนพี่น้องเพื่อนบ้าน ปลูกมะเขือเทศเหมือนๆ กันทั้งนั้น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องทำมาหากินกันทุกวัน

เรื่องอะไรก็คุยได้ แต่พอคุยเรื่องปุ๋ย เรื่องยาฆ่าแมลง ว่าใช้ตัวนั้นสิดี ตัวนั้นไม่ได้เรื่อง  ยายปี่กับตาเปลื้อง กลับหุบปากเงียบไม่คุยเรื่องนี้กับใคร ซึ่งก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะแกเคยปลูกมะเขือเทศได้ราคาทุกปี แกก็คงหวงสูตรของแกเป็นธรรมดา

"...ปีนี้ใช้ยาอะไรล่ะแก ?" ลุงเหมือน ถามสองตายาย ในวงเสวนาเย็นวันหนึ่ง
"...ไม่บอกหรอกโว้ย นี่มันสูตรลับเคมีเกษตร..." ตาเปลื้องว่า แล้วก็หัวเราะชอบอกชอบใจ
"...จะหวงไว้ทำไมล่ะ แบ่งๆ กันมั่งซี..." น้าต่วน คนปลูกมะเขือเทศที่ติดๆ กัน หันมาถามยายปี่
"...อ้าว...ของอย่างนี้ บอกกันง่ายๆ ได้รึ เกิดได้ผลดีกันหมด ของข้าก็ราคาตกเท่ากับพวกเอ็งน่ะสิ..." ยายปี่ไม่ยอมบอกท่าเดียว

พอถึงเวลาที่ต้องฉีดยา สองตายายตรงแน่วไปร้านขายเคมีเกษตรเจ้าประจำ บอกชื่อยาที่ต้องการ
"...อ๋อ ตัวนั้นเขาเลิกผลิตไปแล้วครับ..." คนขายบอก
"...อ้าว แล้วจะทำยังไงล่ะ ฉันเคยใช้แต่ตัวนั้นเสียด้วยสิ..." ยายปี่ชักกังวล
"...ใช้ตัวนี้ก็ได้ครับ แทนกันได้ มาจากบริษัทเดียวกัน..." คนขายหันไปหยิบยาอีกตัวหนึ่งมาให้ดู
"...แล้วใช้ เอ่อ..." ตาเปลื้องหันซ้ายหันขวา ป้องปากกระซิบเสียงเบาเหมือนกลัวใครจะได้ยิน
"...ใช้ผสมกับฮอร์โมนตัวเดิมได้เหมือนกันหรือเปล่าล่ะ ?"
"...อ๋อ ลุงเคยใช้แบบผสมฮอร์โมนใช่มั้ย? แต่ตัวนี้เขาไม่ให้ผสมอะไรนะ ให้ใช้แค่ตัวนี้ตัวเดียวก็พอ..." คนขายอธิบาย
"...แล้วมันจะได้ผลเหมือนเดิมเรอะ?..." ยายปี่หันไปถามตาเปลื้อง
"...ซื้อมาก่อนเหอะแล้วค่อยว่ากัน...ใส่ถุงเลยๆ..." ตาเปลื้องบอกคนขาย แล้วหันไปนับเงินส่งให้

คืนนั้นตอนสามทุ่ม ตาเปลื้องกับยายปี่ แอบมาฉีดยา เพราะกลัวว่าใครจะมาแอบดูสูตรของแก
"...ตกลงจะผสมฮอร์โมนดีหรือเปล่าวะ?..." ยายปี่ยังไม่แน่ใจ
"...เฮ่ย...แกก็ไปฟังไอ้คนขาย มันจะรู้ดีกว่าเราที่เป็นคนใช้ยาได้ยังไง ถ้ามันเหมือนกันมันก็ต้องผสม ไม่ผสมมันก็ได้ผลเท่าของคนอื่นน่ะสิ..." ว่าแล้วตาเปลื้องก็ผสมฮอร์โมนกับยาใส่ถังฉีดพ่นไปด้วยกัน
พอฉีดยาเสร็จ สองตายายก็กระหยิ่มยิ้มย่องว่า คราวนี้ มะเขือเทศของข้า คงจะดก คงจะงามยิ่งกว่าของใครแน่ๆ

ทว่า พอตอนเช้ามืด สองตายายมารดน้ำแปลงมะเขือเทศ ก็แทบจะเป็นลม เพราะยอดมะเขือเทศแทนที่จะชูขึ้นฟ้า กลับเหี่ยวเฉา สลบไสล ราวกับโดนน้ำร้อนลวก

พอยายปี่โวยวายเสียงดัง เพื่อนบ้านก็เลยพากันมาดู
"...ก็เมื่อคืนข้าพ่นยา เช้ามามันก็เป็นอีแบบนี้แหละ..." ตาเปลื้องเสียงสั่นๆ ยังตกใจไม่หาย
"...แกผสมยาอะไรเข้าไปล่ะ ?..." ลุงเหมือนถาม ตาเปลื้องกับยายปี่อิดๆ ออดๆ อยู่พักหนึ่ง กลัวเพื่อนบ้านจะรู้ความลับ แต่แล้วก็ต้องบอก เพราะผลลัพธ์มันเห็นอยู่ตำตา
"...ก็คนขายเขาบอกแล้วไม่ใช่รึ ว่าไม่ให้ผสมๆ แกก็ยังไปผสมอีก มันก็เลยร้อนน่ะสิ พอมันร้อนยอดมันก็เลยเหี่ยว..." ลุงเหมือนวินิจฉัย
สองตายายทำหน้าเหมือนจะร้องไห้แต่ก็ร้องไม่ออก
ก็ยอดมันเหี่ยวเสียแล้ว ต้นมันจะโตได้ยังไง แล้วถ้าต้นมันไม่โต ลูกมันจะโตได้ยังไง

น้าต่วน หัวเราะเยาะเย้ยอย่างไม่ปิดบัง
"...ทำอะไรไม่ปรึกษาใคร แล้วเป็นไงล่ะ...สูตรลับเคมีเกษตร ยอดพับไปเลย..."

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…