Skip to main content
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคต
ทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียว
คือ เกษตรเคมี


ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก


ว่ากันง่ายๆ พืชผักประเภทหนักยาอย่าง ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บล็อกโคลี่ จะหาไอ้ที่สารเคมีน้อยๆ นั้น ยากเหลือหลาย ผักสวยๆ แบบปลอดสารแท้ๆ นั้นแทบจะไม่มี มีแต่ปลอดภัย คือฉีดยา แต่พ้นระยะอันตรายไปแล้ว ซื้อไปบริโภคได้
ส่วนประเภทเบายา เช่น กระเพรา โหระพา ใบแมงลัก แตงกวา ผักชี แม้ไม่ค่อยมีศัตรูพืช แต่ก็ต้องฉีดยากันเชื้อราบ้าง

พืชผักแต่ละอย่างก็มีรายละเอียดในการดูแลแตกต่างกันไป ใครถนัดอย่างไหนก็ปลูกอย่างนั้น ใครถนัดหลายอย่าง ก็ปลูกได้หลายอย่าง
ถ้าจะปลูกหลายอย่าง อย่างละเล็กอย่างละน้อย แค่พอไว้กินเอง นั้นไม่มีปัญหา (แต่ถ้าคิดว่าจะปลูกไว้กินเอง เหลือค่อยเก็บขาย กลับไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะถ้าไม่สวย ก็ไม่มีใครซื้อ)

แต่ถ้าจะปลูกหลายอย่าง เพื่อขาย นอกจากจะต้องมีความขยันขันแข็งอย่างยิ่งยวดแล้ว ยังต้องมีทุนอย่างยิ่งด้วย
ก็ผักแต่ละอย่าง ค่าปุ๋ย ค่ายา มันน้อยเสียเมื่อไร
ปุ๋ยกระสอบละ 500-800 บาท
ยาฆ่าแมลงขวดละ 300-500 บาท
ฮอร์โมนเร่งการเติบโตขวดละ 400-600 บาท

ปลูกหลายอย่างก็ใช้ยาหลายตัว แถมยาสมัยนี้ก็มีหลายยี่ห้อ หลายชื่อเสียเหลือเกิน จะฉีดยาฆ่าหนอนสักชนิด มียาให้เลือกใช้ตั้ง สิบกว่าชื่อ มองขวดจนตาลายยังไม่รู้จะเลือกอะไรดี จะเลือกแบบมั่วๆ ก็ไม่ได้ เพราะราคาไม่ใช่ถูกๆ แถมถ้าใช้ไม่ได้ผล คุมหนอนแมลงไม่อยู่ ก็เสี่ยงที่จะเสียไปทั้งหมด

แล้วถ้าเกิดใครสักคน ไม่อยากใช้ยาฆ่าแมลง หรืออยากใช้ให้น้อยกว่าคนอื่น จะเกิดอะไรขึ้น
?
หนอน แมลง มันก็จะมารุมลงแปลงผักที่ฉีดยาน้อย หรือไม่ได้ฉีดยาน่ะซี
คืนเดียวเท่านั้น รับรองว่า เรียบ ไม่ต้องฟื้นกันเลย
ในเมื่อใครๆ เขาก็ฉีดกันทั้งนั้น แล้วใครจะกล้าเสี่ยงไม่ฉีด
เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ ผักปลอดสาร ฯลฯ ใช่ว่าชาวบ้านจะไม่รู้ แต่ก็ก็จนด้วยคำถามเดิมๆ  "ใครล่ะ จะกล้าเสี่ยง?"

ใครต่อใครจึงต้องหาทางฉีดยาคุมศัตรูพืชให้อยู่ ภายใต้งบประมาณที่ประหยัดที่สุด ทีนี้แต่ละคนก็มีความเชื่อ และความนิยมแตกต่างกันไป บ้างก็ชอบยี่ห้อ บ้างก็ชอบที่ชื่อ บ้างก็เน้นแต่ว่า เอายาที่ผลิตจากบริษัทนี้ๆ เท่านั้น 
พอตอนเอามาใช้ บ้างก็เอายาตัวนั้นผสมกับยาตัวนี้ บ้างก็เอายาตัวนี้ไปผสมกับฮอร์โมนตัวนั้น หรือ ยาสองตัวกับฮอร์โมนอีกตัวหนึ่ง ฯลฯ  หลายคนขี้เกียจจำ ขี้เกียจไปคิดค้นสูตร ก็ใช้ตามๆ คนอื่น ใช้ดีก็ใช้ต่อไป ใช้ไม่ดีก็เปลี่ยนไปลองตัวอื่น
แต่ก็มีอีกไม่น้อย ที่มี "สูตรลับ"  ซื้อปุ๋ย ซื้อยาอะไรมาจากที่ไหน ไม่มีเสียละที่จะบอกใคร กระทั่งกระสอบปุ๋ย ขวดยา ยังแอบซ่อนไว้ไม่ให้ใครรู้
มันคงจะเป็นความภาคภูมิใจประหนึ่งได้ครอบครองภูมิปัญญา(เคมีเกษตร)อันล้ำค่าไว้

หน้าแล้งปีนี้ ปลูกแตงโมกับมะเขือเทศกันเยอะ
แตงโมต้องใช้ความเชี่ยวชาญไม่น้อยเลย ต้องรู้พันธุ์ รู้ดิน รู้ปุ๋ย รู้ยา รู้เทคนิคในการปลูก การดูแล ไปจนถึงการตัดขาย และที่สำคัญที่สุดคือ รู้ตลาด
ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ง่ายๆ โดยเฉพาะถ้ายังตัดใจ ตัดลูกแตงโมทิ้ง ไม่ลง

ลุงเหมือน คนปลูกแตงโมมานานกว่ายี่สิบปี พูดไว้น่าฟัง
"...ถ้าต้นหนึ่งออกสามลูก เราเอาไว้ทั้งสามลูก จะไม่ดีสักลูก เอาไว้สองลูกได้ราคาครึ่งเดียว เพราะน้ำหนักไม่ดี แต่ถ้าเอาไว้ลูกเดียว ขายได้เต็มราคา เพราะแตงได้กินปุ๋ยเต็มที่..."
ที่อันตรายที่สุด คือถ้าถูกน้ำท่วม หรือน้ำซึมมาเจิ่งๆ นองๆ แตงโมมีสิทธิ์เน่าได้ทั้งไร่
ถ้าฝนตก ก็ต้องภาวนาอย่าให้ท่วม

มะเขือเทศดูแลง่ายกว่า เพาะกล้าในกระบะ ทำแปลงคลุมผ้าพลาสติก ปักไว้ไว้ผูกต้นตอนที่มันโต ถ้าดูแลดีๆ มะเขือเทศแค่ไม่กี่ไร่ ก็ได้ผลผลิตหลายตัน(หนึ่งพันกิโลกรัม)
ถ้าได้ราคาสักกิโลกรัมละสิบบาท ก็พอยิ้มออกไม่ขาดทุน
ถ้าได้ถึงกิโลกรัมละ 15-20 บาท ก็นอนยิ้มร่า ฝันดีไปได้หลายวัน
แต่ถ้าไปถึงกิโลกรัมละ 25-30 บาท ปีนั้นก็เตรียมปลดหนี้ปลดสิน จ้างลิเกมาเล่น จ้างหนังมาฉาย
และถ้าหากเกิดร่วงไปเหลือแค่กิโลกรัมละ 2-5 บาท ก็แค่ช้ำชอกกันไปอีกครั้ง เหมือนๆ ที่เคยผ่านมา ปีหน้าค่อยเสี่ยงดวงกันใหม่

ว่าตามจริง มะเขือเทศฉีดยาแค่ครั้งเดียวเท่านั้น คือตอนที่ลูกมันกำลังจะสุก กำลังจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง ตอนนั้นละ ที่หนอนแมลงจะพากันมาปาร์ตี้โดยมิได้รับเชิญ จังหวะนี้เท่านั้นที่จะชี้ชะตาชาวสวนว่าจะได้หรือจะเสีย จังหวะนี้เท่านั้นที่ต้องฉีดยาคุมให้อยู่

ยายปี่กับตาเปลื้อง ก็ปลูกมะเขือเทศเหมือนคนอื่นๆ ที่นาสามไร่ติดบ้านถูกเปลี่ยนให้เป็นแปลงมะเขือเทศ ส่วนที่ติดๆ กันนั้น ก็ล้วนพี่น้องเพื่อนบ้าน ปลูกมะเขือเทศเหมือนๆ กันทั้งนั้น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องทำมาหากินกันทุกวัน

เรื่องอะไรก็คุยได้ แต่พอคุยเรื่องปุ๋ย เรื่องยาฆ่าแมลง ว่าใช้ตัวนั้นสิดี ตัวนั้นไม่ได้เรื่อง  ยายปี่กับตาเปลื้อง กลับหุบปากเงียบไม่คุยเรื่องนี้กับใคร ซึ่งก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะแกเคยปลูกมะเขือเทศได้ราคาทุกปี แกก็คงหวงสูตรของแกเป็นธรรมดา

"...ปีนี้ใช้ยาอะไรล่ะแก ?" ลุงเหมือน ถามสองตายาย ในวงเสวนาเย็นวันหนึ่ง
"...ไม่บอกหรอกโว้ย นี่มันสูตรลับเคมีเกษตร..." ตาเปลื้องว่า แล้วก็หัวเราะชอบอกชอบใจ
"...จะหวงไว้ทำไมล่ะ แบ่งๆ กันมั่งซี..." น้าต่วน คนปลูกมะเขือเทศที่ติดๆ กัน หันมาถามยายปี่
"...อ้าว...ของอย่างนี้ บอกกันง่ายๆ ได้รึ เกิดได้ผลดีกันหมด ของข้าก็ราคาตกเท่ากับพวกเอ็งน่ะสิ..." ยายปี่ไม่ยอมบอกท่าเดียว

พอถึงเวลาที่ต้องฉีดยา สองตายายตรงแน่วไปร้านขายเคมีเกษตรเจ้าประจำ บอกชื่อยาที่ต้องการ
"...อ๋อ ตัวนั้นเขาเลิกผลิตไปแล้วครับ..." คนขายบอก
"...อ้าว แล้วจะทำยังไงล่ะ ฉันเคยใช้แต่ตัวนั้นเสียด้วยสิ..." ยายปี่ชักกังวล
"...ใช้ตัวนี้ก็ได้ครับ แทนกันได้ มาจากบริษัทเดียวกัน..." คนขายหันไปหยิบยาอีกตัวหนึ่งมาให้ดู
"...แล้วใช้ เอ่อ..." ตาเปลื้องหันซ้ายหันขวา ป้องปากกระซิบเสียงเบาเหมือนกลัวใครจะได้ยิน
"...ใช้ผสมกับฮอร์โมนตัวเดิมได้เหมือนกันหรือเปล่าล่ะ ?"
"...อ๋อ ลุงเคยใช้แบบผสมฮอร์โมนใช่มั้ย? แต่ตัวนี้เขาไม่ให้ผสมอะไรนะ ให้ใช้แค่ตัวนี้ตัวเดียวก็พอ..." คนขายอธิบาย
"...แล้วมันจะได้ผลเหมือนเดิมเรอะ?..." ยายปี่หันไปถามตาเปลื้อง
"...ซื้อมาก่อนเหอะแล้วค่อยว่ากัน...ใส่ถุงเลยๆ..." ตาเปลื้องบอกคนขาย แล้วหันไปนับเงินส่งให้

คืนนั้นตอนสามทุ่ม ตาเปลื้องกับยายปี่ แอบมาฉีดยา เพราะกลัวว่าใครจะมาแอบดูสูตรของแก
"...ตกลงจะผสมฮอร์โมนดีหรือเปล่าวะ?..." ยายปี่ยังไม่แน่ใจ
"...เฮ่ย...แกก็ไปฟังไอ้คนขาย มันจะรู้ดีกว่าเราที่เป็นคนใช้ยาได้ยังไง ถ้ามันเหมือนกันมันก็ต้องผสม ไม่ผสมมันก็ได้ผลเท่าของคนอื่นน่ะสิ..." ว่าแล้วตาเปลื้องก็ผสมฮอร์โมนกับยาใส่ถังฉีดพ่นไปด้วยกัน
พอฉีดยาเสร็จ สองตายายก็กระหยิ่มยิ้มย่องว่า คราวนี้ มะเขือเทศของข้า คงจะดก คงจะงามยิ่งกว่าของใครแน่ๆ

ทว่า พอตอนเช้ามืด สองตายายมารดน้ำแปลงมะเขือเทศ ก็แทบจะเป็นลม เพราะยอดมะเขือเทศแทนที่จะชูขึ้นฟ้า กลับเหี่ยวเฉา สลบไสล ราวกับโดนน้ำร้อนลวก

พอยายปี่โวยวายเสียงดัง เพื่อนบ้านก็เลยพากันมาดู
"...ก็เมื่อคืนข้าพ่นยา เช้ามามันก็เป็นอีแบบนี้แหละ..." ตาเปลื้องเสียงสั่นๆ ยังตกใจไม่หาย
"...แกผสมยาอะไรเข้าไปล่ะ ?..." ลุงเหมือนถาม ตาเปลื้องกับยายปี่อิดๆ ออดๆ อยู่พักหนึ่ง กลัวเพื่อนบ้านจะรู้ความลับ แต่แล้วก็ต้องบอก เพราะผลลัพธ์มันเห็นอยู่ตำตา
"...ก็คนขายเขาบอกแล้วไม่ใช่รึ ว่าไม่ให้ผสมๆ แกก็ยังไปผสมอีก มันก็เลยร้อนน่ะสิ พอมันร้อนยอดมันก็เลยเหี่ยว..." ลุงเหมือนวินิจฉัย
สองตายายทำหน้าเหมือนจะร้องไห้แต่ก็ร้องไม่ออก
ก็ยอดมันเหี่ยวเสียแล้ว ต้นมันจะโตได้ยังไง แล้วถ้าต้นมันไม่โต ลูกมันจะโตได้ยังไง

น้าต่วน หัวเราะเยาะเย้ยอย่างไม่ปิดบัง
"...ทำอะไรไม่ปรึกษาใคร แล้วเป็นไงล่ะ...สูตรลับเคมีเกษตร ยอดพับไปเลย..."

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
แกชื่อยายอิ่ม ผู้เคยเฉิดฉายในวงสังคม เพราะคัดสรรเฉพาะสามีรวย หนีออกจากบ้านไปมีผัวตั้งแต่อายุสิบสอง ผ่านมาสี่สิบกว่าปี มีผัวมากี่คน คงนับได้ยากเสียแล้ว พอยายอิ่มแก่ตัวลูกก็หนีหาย ต่างคนต่างไป ไม่มีใครเลี้ยง สุดท้าย แกคว้าตาหงอก ผู้(อ้างว่า)เป็นผู้ดีเก่ามาไว้หาเลี้ยงจนได้ สมัยสาวๆ ยายอิ่มได้มรดกจากพ่อแม่ไปเยอะ แต่ขายกินจนหมด แกมีชื่อเสียงมากด้านความคด ในข้องอในกระดูก ถึงขนาดที่ แม้แต่พี่น้องด้วยกันก็ยังโดน จนต้องตัดพี่ตัดน้องกันนั่นแหละ ในที่สุด พอแก่ตัวไม่มีที่จะอยู่ ต้องมาบีบน้ำตาขอที่จากแม่เฒ่า ซึ่งแม่เฒ่าแกก็ค่อยอยากจะให้ เพราะให้ไปมากแล้ว (แต่เอาไปขายกินหมด)…
ฐาปนา
นี่คือตลาดนัดประจำตำบล ที่เปิดมายาวนานหลายสิบปี ในละแวกใกล้เคียง 3-4 ตำบล เป็นที่รู้กันว่า ถ้า “นัดวันอาทิตย์” ก็ต้องมาที่นี่ ในระดับอำเภอ ตลาดนัดวันอาทิตย์ตอนเช้าของที่นี่ น่าจะใหญ่ที่สุด คึกคักที่สุด ลานกว้างพื้นที่หลายไร่ข้างวัด มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งสินค้ากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า พอเริ่มสว่าง คนก็เริ่มมา หกโมงถึงเจ็ดโมงเช้า เป็นช่วงเวลาที่คนกำลังเยอะ เพราะมีของให้เลือกมาก และแดดยังไม่ร้อน ก่อนที่ตลาดจะเริ่มวายประมาณแปดโมง จอดรถที่ข้างตลาด หรือ ถ้าไม่อยากเบียดเสียดก็ไปจอดในวัด บรรยากาศคึกคักของตลาดเห็นได้แต่ไกล ซอยอาหารทะเลตรงกับทางเข้าด้านที่ตรงมาจากวัด มีคนพลุกพล่านที่สุด…
ฐาปนา
ทุกเช้า ประมาณตีสี่ครึ่ง หอกระจายข่าวกลางหมู่บ้านจะเปิดข่าวเช้า(มืด)จากสถานีวิทยุของจังหวัด เป็นสัญญาณให้ทุกบ้านตื่นนอน เตรียมตัวมาปฏิบัติภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่บาตร เตรียมตัวรอขึ้นรถไปโรงเรียน เตรียมตัวรอขึ้นรถไปทำงาน ใครไม่ตื่นก็ต้องตื่น เพราะเสียงดังจนตามเข้าไปถึงในฝัน รายการเช้ามืด เริ่มต้นด้วยเพลงปลุกใจให้ยึดมั่นในสถาบัน แล้วตามด้วยธรรมเสวนา จากเจ้าอาวาสวัดที่เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด ตามด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร การทำมาหากิน โครงการต่างๆ จากรัฐบาล และ การปฏิบัติงานของหน่วยงานในจังหวัด
ฐาปนา
เช้าตรู่ของวันอากาศดีเสียงตามสายประกาศให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกันตอนบ่ายโมงตรง ณ ศาลาของหมู่บ้านพอบ่ายโมงครึ่ง สมาชิกสหกรณ์ฯ ก็มากันพร้อมหน้าเจ้าหน้าที่สหกรณ์มากันสามคน คนที่ดูอาวุโสกว่าใคร พูดมากกว่าใคร และเรียกเสียงหัวเราะได้มากกว่าใคร เป็นหัวหน้าชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมได้รับกระดาษคนละหนึ่งแผ่น ปากกาคนละหนึ่งด้าม อ่านดู ก็เห็นว่าเป็นแบบฟอร์มสำรวจเรื่อง “ความพอเพียงในครัวเรือน”
ฐาปนา
ที่นี่อยู่ไม่ห่างจากทะเล ป่าและเขาก็อยู่ไม่ไกล มีคลองส่งน้ำจากเขื่อนผ่านพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำนาได้ปีละสองครั้ง ด้านป่าบนติดเขื่อน เขาปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ได้ผลที่มีรสชาติไม่น้อยไปกว่าทางภาคใต้หรือทางภาคตะวันออก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ถนัดปลูกผัก เพราะเก็บขายได้ตลอดทั้งปี แต่ละวันจะมีรถสิบล้อขนผักผลไม้ วันละหลายสิบคันวิ่งจากตำบลต่างๆ ในอำเภอ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ พระประแดง สมุทรปราการ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ฯลฯ พร้อมด้วยผลิตผลทางการเกษตรสารพัดอย่าง ตั้งแต่ของจำเป็นในครัวอย่าง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริก หอม กระเทียม ไปจนถึงผักเจ้าประจำบนแผงผักทั้ง กะเพราะ โหระพา สะระแหน่ บวบ…
ฐาปนา
ดั้งเดิม ก่อนที่แต่ละบ้านจะมีเอกสารกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินของตัวเอง บ้านส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “รั้ว” อย่างเป็นทางการ เพราะแต่ละบ้านในละแวกก็ล้วนพี่น้อง หรือนับไปนับมาก็ญาติกันทั้งนั้น อาจปลูกต้นไม้เป็นแนวให้บอกได้ว่าเป็นแดนใคร แต่จะถึงขั้นปักเสาขึงลวดหนาม หรือก่อกำแพงล้อมนั้นน้อยราย เพราะถือเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเงิน เขตบ้านใครก็บ้านมัน ถึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถึงไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ไม่ก้าวก่ายกันอยู่แล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครคนหนึ่งเกิดอยากทำเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตน จากที่เคยชี้นิ้วบอกว่านี่เขตใคร การออกเอกสารสิทธิ์…
ฐาปนา
วัยเยาว์ของเธอ ขณะที่หัวใจครึ่งหนึ่งเปี่ยมด้วยความฝันและความหวัง ทะเยอทะยานปรารถนา แต่หัวใจอีกครึ่งกลับอ่อนไหว บอบช้ำง่าย ทั้งยังอ่อนด้อยต่อโลกแห่งเหตุผล อนาคตเลือนลางอยู่ในความฝันยามหลับ และวนเวียนอยู่ในความคิดยามตื่น เธอร่ำร้องหาบางสิ่งบางอย่างที่เธอไม่อาจบอกได้ มองไม่เห็น ไม่รู้จุดเริ่มต้น ไม่รู้จุดสิ้นสุด พลังสร้างสรรค์ของเธอฟุ้งกระจาย ไร้ทิศทาง เมื่อคำว่า ความพร้อม อยู่ห่างจากความเข้าใจ เธอจึงได้แต่ก่นโทษตนเองอยู่เป็นนิจ เธอร่อนเร่ไปในเมืองของผู้อื่น จากเมืองสู่เมือง แลกความเพียรกับเงินเลี้ยงชีพ ยิ้มแย้มให้คำดูหมิ่นเพื่อจะได้เห็นเกียรติของตนเสื่อมค่าลง
ฐาปนา
(มะพร้าวกะทิ)ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาดฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวแต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผมอาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ…
ฐาปนา
แกชื่อยายหอม เป็นคนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีแม่ของแกมีเชื้อลาวพวน พ่อของแกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน แต่เดิมแกอยู่ตำบลอื่น แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ แกเป็นคนรุ่นแรกที่มาหักร้างถางพงทำไร่ทำนาหมู่บ้านยุคบุกเบิก มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า สัตว์ป่าชุกชุม เข้าป่าเจอเสือ หรือเสือแอบเข้ามากินวัวในหมู่บ้าน เป็นเหตุการณ์ประจำวัน คอกวัวสมัยนั้น ต้องกั้นเป็นฝาจึงพอกันเสือได้ ชาวบ้านกินเนื้อเก้ง เนื้อกวาง เนื้อไก่ป่า บ่อยกว่าเนื้อหมู หนองน้ำเต็มไปด้วยปลาตัวโตๆ ตะพาบตัวเท่ากระด้ง เรื่องผีสางนางไม้อยู่แนบชิดชุมชนมากกว่าเรื่องวัดเรื่องพระแกเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นแกยังเป็นสาว…
ฐาปนา
ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่จิตใจยังถูกครอบงำด้วยความโรแมนติกเช่นเดียวกับหลายคน ผมฝันถึงบ้านที่มองเห็นภูเขา ฟ้ากว้าง ได้เฝ้ามองหมู่เมฆเคลื่อนคล้อย อาบกายด้วยแสงอัสดงทุกวัน หรือ บ้านที่อยู่ริมทะเล เห็นเส้นขอบฟ้าไร้จุดสิ้นสุด ไกวเปลตามลมเห่ ต้นมะพร้าวโยกเอน นอนฟังเสียงคลื่นกล่อมชั่วกาลทว่าในบริบทของชีวิต ผู้ที่สามารถมีบ้านอย่างที่ฝันมีไม่มากเลย ทั้งเมื่อมีแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะแต่งเติมภาพฝันจนเสร็จจริง คนที่ให้ค่ากับความฝันสูงยิ่งทั้งไม่ยอมให้ความยากลำบากในชีวิตจริงมาบั่นทอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้รับที่พำนักของหัวใจชั่วชีวิตเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน…
ฐาปนา
เสียงจักจั่นกรีดปีกจากป่าเชิงดอย ฝ่าไอแดดร้อนมาถึงเคหะสถานเงียบงัน รถกระบะบรรทุกหนุ่มสาวร่างเปียกปอนยืนล้อมถังน้ำใบใหญ่แล่นผ่านไปหญิงชราถือสายยางเดินออกมาหน้าบ้าน ฉีดน้ำใส่พื้นถนน ไอน้ำระเหยขึ้นเด็กๆ หิ้วถังพลาสติก ขัน ปืนฉีดน้ำ มองสองข้างทางอย่างมีความหวังร้านขายน้ำปั่น น้ำแข็งไส ขายดีจนต้องสั่งน้ำแข็งเพิ่มในช่วงบ่ายเจ้าของโรงทำน้ำแข็ง หน้าบาน แต่ลูกจ้างหน้าเหี่ยว เพราะข้าวสารขึ้นราคาลิตรละหลายบาทแต่ค่าแรงเท่าเดิม    ดวงอาทิตย์กลับมาอยู่ใกล้ชิดโลก เหมือนคนรักที่ได้เจอกันแค่ปีละครั้งมวลอากาศอบอ้าวเข้าเกาะกุมผิว ยึดทุกรูขุมขน เหงื่อเค็มถูกขับซึมเสื้อ เหนอะหนะ…
ฐาปนา
“...ทว่าการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ครั้งนี้ต้องอาศัยปัญญามหาศาล ความกล้าหาญมหึมา และความมุ่งมั่นเหลือคณา เพราะความกลัวจะจู่โจมถึงแกนกลางของแนวคิดนี้ และป่าวร้องว่าผิดพลาด ความกลัวจะกัดกินเข้าไปยังแก่นแห่งสัจธรรมล้ำเลิศและแปลงให้เป็นเรื่องเท็จเทียม ความกลัวจะบิดเบือน และทำลาย ฉะนั้นความกลัวจะเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุด ทว่าเธอไม่อาจมีและไม่อาจสร้างสังคมที่ปรารถนาและใฝ่ฝันมาช้านานจนกว่าจะเห็นปัญญาและกระจ่างชัดถึงปรมัตถ์สัจจ์ที่ว่า สิ่งที่เธอทำแก่ผู้อื่นเธอก็ได้ทำแก่ตัวเอง สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่น เธอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเอง ว่าความเจ็บปวดของผู้อื่น ก็คือความเจ็บปวดของตัวเธอ…