Skip to main content

(มะพร้าวกะทิ)

ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาด
ฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

แต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผม
อาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก
แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆ

ผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี
มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ ราวกับกำลังเคี้ยวเนยก้อน จะว่าอร่อยก็ไม่เชิง จะว่าไม่อร่อยก็ไม่ใช่ เมื่อกินพร้อมกับน้ำตาลทราย กลับหวานมันเพลินปาก
ตอนนั้นผมคิดตามประสาเด็กว่า ทำไมจึงเรียกว่ามะพร้าวกะทิ น่าจะเรียกว่า มะพร้าวเนยมากกว่า

หลายปีต่อมา ผมได้พบเจอกับเจ้ามะพร้าวกะทิอีกครั้งสองครั้ง แต่ไม่ค่อยประทับใจนัก เพราะรสชาติ ออกจะมันเลี่ยนเกินบ้าง เก่าจนเหม็นหืนบ้าง ทั้งผมเองก็ไม่ได้ติดอกติดใจเป็นพิเศษ จึงไม่ได้ขวนขวาย

จนกระทั่ง วันหนึ่ง หลังจากจัดข้าวของเข้าที่เข้าทางแล้ว แม่บ้านของผมไปสอยมะพร้าวข้างบ้านมากองรวมกันไว้ เนื่องจากมีคนมาติดต่อขอซื้อมะพร้าว
เธอชี้ให้ผมดูมะพร้าวต้นที่อยู่หน้าบ้านด้านติดกับถนน
“ต้นนี้แหละ...มะพร้าวกะทิ”

ทราบกันดีว่า ถ้ามะพร้าวต้นไหน เคยให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ก็จะให้อยู่เรื่อยๆ อย่างนั้น ปะปนกับมะพร้าวธรรมดา ส่วนต้นไหนที่ไม่เคยให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ก็จะไม่มีทางได้มะพร้าวกะทิจากต้นนั้นเลย

จำนวนต้นมะพร้าวที่ให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ต่อ ต้นมะพร้าวธรรมดา จะเป็นสัดส่วนเท่าไร ผมไม่ทราบ แต่สำหรับราคารับซื้อนั้น มะพร้าวกะทิราคาผลละ 30-40 บาท ขณะที่มะพร้าวธรรมดาผลละ 5-7 บาทเท่านั้น

เมื่อแม่บ้านสอยมะพร้าวจากต้นนั้นลงมากองรวมกัน แม่ยายผมก็เดินมาสมทบ แกจับลูกมะพร้าวเขย่าทีละลูก ๆ เงี่ยหูฟังอย่างผู้ชำนาญการ
“ลูกนี้ไง มะพร้าวกะทิ พอเขย่าแล้วมันดังกล๊อกๆ”  แกส่งมะพร้าวกะทิให้ผมสองลูก
“สองลูก ก็ขายได้หกสิบ” ผมคำนวณอย่างรวดเร็ว
“อย่าขายเลย เก็บไว้กินเหอะ” แกบอก

ผมยิ้ม เดินเอามะพร้าวไปเก็บในครัว
แกทำให้ผมคิดได้
จะขายทำไม ของดีเราปลูกได้ ต้องเก็บไว้กินเองสิ

เย็นวันนั้น แม่บ้านตัดกล้วยกำลังสุกจากข้างบ้านมาทำ กล้วยบวชชีใส่มะพร้าวกะทิ เป็นของหวาน ที่ทั้งหวาน ทั้งมัน
อร่อยมาก...
หลังจากห่างเหินไปนาน การเจอกันระหว่างผมกับมะพร้าวกะทิครั้งนี้ ค่อนข้างน่าประทับใจ เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดี ก่อนจะต้องพบกันอีกหลายครั้ง
        
(แก๊งหาหอย)

สังคมชาวบ้าน ไปมาหาสู่กันทั้งด้วยธุระปะปังและกิจนอกการงานเป็นเรื่องปกติ บ่อยครั้งที่มีเพื่อนบ้านมาส่งข่าวกับแม่ยายของผม ว่าวันนี้ เวลานี้ ขึ้นรถที่ตรงนั้น จากนั้นแม่ยายของผมก็จะนั่งขัดนั่งลับเหล็กแท่งยาวคล้ายชะแลง แต่ปลายแหลมแบน ไว้รอท่า

เมื่อผมถามภรรยาก็ได้คำอธิบายว่า
แม่ยายของผม นอกจากทำสวนผัก และทำนาแล้ว แกยังมีงานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งคือการ “ ไปขุดหาหอย”

ขุดหาหอย ? ... ที่ไหน...? อย่างไร...?

จากบ้านแหลมถึงชะอำ ชายหาดทอดตัวยาวหลายสิบกิโลเมตร ทั้งหาดที่เป็นทราย และหาดที่เป็นเลน ตลอดความยาวของแผ่นดินริมทะเลจะมีบริเวณที่หอยน้ำเค็มนานาชนิด ผลัดกันขึ้นมานอนอาบแดดตลอดทั้งปี

คนที่รู้แหล่ง ซึ่งส่วนใหญ่ทำมาหากินอยู่กับทะเล พอทราบว่าหอยขึ้นที่ไหนก็จะมาบอกพี่น้องพวกพ้อง ให้ไปขุดหาหอยกัน  บรรดาผู้นิยมการขุดหาหอย ไม่ว่าจุดที่หอยขึ้นนั้นจะอยู่ไกลแค่ไหน ก็จะต้องดั้งด้นไปกันจนได้

สมาชิกชมรมนี้มีจำนวนไม่น้อยเลย ว่ากันว่า จุดที่หอยขึ้น และมีคนไปขุดหานั้น ครึกครื้นระดับงานวัดย่อมๆ เลยทีเดียว
กิจกรรมที่ว่านี้ แม่ยายผมไม่เคยพลาดสักครั้ง ต่อให้ติดงานอะไรก็ต้องหาเวลาว่างไปจนได้ ผมเลยขนานนาม กลุ่มผู้นิยมการขุดหาหอยนี้ว่า  “แก๊งหาหอย”    
    
วันไหนจะไปหาหอย จะมีเพื่อนบ้านร่วมแก๊งเดินมาบอกแม่ยายผมล่วงหน้า พอถึงวันนัด เช้าตรู่ก็ขึ้นรถกันไป ตกบ่าย แม่ยายผมก็จะหอบผลงานเป็นกระสอบใส่หอยทะเลสารพัดชนิดมาวางที่ข้างครัว น้ำหนักก็ไม่มากไม่มาย แค่ครั้งละสิบกว่ากิโลกรัม เท่านั้น

หอยที่มายกพลขึ้นบกนั้นมีสารพัดชนิด ใครชอบหอยอะไรก็หาขุดหากันตามรสนิยม ส่วนใหญ่ ที่แม่ยายผมเอามาทุกครั้ง จะต้องมีหอยแครง,หอยคราง,หอยเสียบ และหอยตลับ บางครั้งก็จะได้หอยหวาน และหอยแมงภู่ติดมาด้วย

เมื่อผมถามถึงการขุดหา แม่ยายผมเล่าว่า หอยแต่ละชนิดก็มีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป วิธีการและความยากง่ายในการขุดหาก็ไม่เท่ากันด้วย หอยบางชนิดอยู่ไม่ลึก ก็ค่อยๆ คราดทรายหา แต่
อย่างหอยเสียบซึ่งเนื้อเยอะ รสชาติดี แต่ต้องใช้วิธีขุดหา ขุดๆ ไป บางทีหอยมันก็ดำทรายหนีไปได้

เมื่อมีหอยมากมายทั้งปริมาณและชนิดขนาดนี้ เมนูอาหารหลายวันต่อมาจึงเต็มไปด้วยหอย
ทั้งหอยแครงลวง ,ยำหอยแครง,หอยเสียบผัดฉ่า,หอยเสียบผัดมะพร้าว,หอยตลับผัดพริกเผา,แกงหอยใส่ใบมะขาม ฯลฯ

น่าแปลกที่กินหอยติดกันทุกมื้อ ผมก็ยังไม่รู้สึกเบื่อ อาจเพราะเป็นของสดกระมัง
ทีแรกผมเห็นปริมาณหอยที่แม่ยายจับมาแต่ละครั้งมากมาย ผมก็คิดอย่างที่หลายคนคิด นั่นคือ ถ้าเอาไปขาย คงได้ราคาคงไม่น้อย     ทว่า เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องมะพร้าวกะทิ คือ จะขายทำไม ของดีเราหามาได้ เก็บไว้กินเองไม่ดีกว่าหรือ ?

ครอบครัวของเราได้กินของอร่อย หากมีมากก็แบ่งให้ญาติพี่น้องให้บ้านใกล้เรือนเคียง
เงินนั้นเป็นเรื่องรอง ปล่อยให้น้ำใจ ไหลไปสู่กันและกัน
จิตใจคนก็ชุ่มชื่นเหมือนแผ่นดินหลังฝนตก
    
เมื่อกลับมาอยู่ในสังคมที่ของกินแทบไม่ต้องซื้อ
ผมคิดถึง ข้าวสาร และ น้ำมัน(ทั้งที่ปรุงอาหารและที่เติมรถยนต์) ที่ราคาขึ้นแทบทุกวัน ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
ของดีเรามี แต่เราไม่เก็บไว้กินเอง ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน คิดแต่จะส่งขายเอากำไร
สังคมเดือดร้อน เพราะคนที่มีมาก กั๊กไว้ไม่ยอมแบ่งปัน
ก็แล้วใครจะไปพูดให้เขาเข้าใจเรื่องความเห็นแก่ตัว และ การเห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคม

ในเมื่อเงินและอำนาจมันบังตาเขาหมดแล้ว

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก