Skip to main content

(มะพร้าวกะทิ)

ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาด
ฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

แต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผม
อาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก
แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆ

ผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี
มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ ราวกับกำลังเคี้ยวเนยก้อน จะว่าอร่อยก็ไม่เชิง จะว่าไม่อร่อยก็ไม่ใช่ เมื่อกินพร้อมกับน้ำตาลทราย กลับหวานมันเพลินปาก
ตอนนั้นผมคิดตามประสาเด็กว่า ทำไมจึงเรียกว่ามะพร้าวกะทิ น่าจะเรียกว่า มะพร้าวเนยมากกว่า

หลายปีต่อมา ผมได้พบเจอกับเจ้ามะพร้าวกะทิอีกครั้งสองครั้ง แต่ไม่ค่อยประทับใจนัก เพราะรสชาติ ออกจะมันเลี่ยนเกินบ้าง เก่าจนเหม็นหืนบ้าง ทั้งผมเองก็ไม่ได้ติดอกติดใจเป็นพิเศษ จึงไม่ได้ขวนขวาย

จนกระทั่ง วันหนึ่ง หลังจากจัดข้าวของเข้าที่เข้าทางแล้ว แม่บ้านของผมไปสอยมะพร้าวข้างบ้านมากองรวมกันไว้ เนื่องจากมีคนมาติดต่อขอซื้อมะพร้าว
เธอชี้ให้ผมดูมะพร้าวต้นที่อยู่หน้าบ้านด้านติดกับถนน
“ต้นนี้แหละ...มะพร้าวกะทิ”

ทราบกันดีว่า ถ้ามะพร้าวต้นไหน เคยให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ก็จะให้อยู่เรื่อยๆ อย่างนั้น ปะปนกับมะพร้าวธรรมดา ส่วนต้นไหนที่ไม่เคยให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ก็จะไม่มีทางได้มะพร้าวกะทิจากต้นนั้นเลย

จำนวนต้นมะพร้าวที่ให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ต่อ ต้นมะพร้าวธรรมดา จะเป็นสัดส่วนเท่าไร ผมไม่ทราบ แต่สำหรับราคารับซื้อนั้น มะพร้าวกะทิราคาผลละ 30-40 บาท ขณะที่มะพร้าวธรรมดาผลละ 5-7 บาทเท่านั้น

เมื่อแม่บ้านสอยมะพร้าวจากต้นนั้นลงมากองรวมกัน แม่ยายผมก็เดินมาสมทบ แกจับลูกมะพร้าวเขย่าทีละลูก ๆ เงี่ยหูฟังอย่างผู้ชำนาญการ
“ลูกนี้ไง มะพร้าวกะทิ พอเขย่าแล้วมันดังกล๊อกๆ”  แกส่งมะพร้าวกะทิให้ผมสองลูก
“สองลูก ก็ขายได้หกสิบ” ผมคำนวณอย่างรวดเร็ว
“อย่าขายเลย เก็บไว้กินเหอะ” แกบอก

ผมยิ้ม เดินเอามะพร้าวไปเก็บในครัว
แกทำให้ผมคิดได้
จะขายทำไม ของดีเราปลูกได้ ต้องเก็บไว้กินเองสิ

เย็นวันนั้น แม่บ้านตัดกล้วยกำลังสุกจากข้างบ้านมาทำ กล้วยบวชชีใส่มะพร้าวกะทิ เป็นของหวาน ที่ทั้งหวาน ทั้งมัน
อร่อยมาก...
หลังจากห่างเหินไปนาน การเจอกันระหว่างผมกับมะพร้าวกะทิครั้งนี้ ค่อนข้างน่าประทับใจ เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดี ก่อนจะต้องพบกันอีกหลายครั้ง
        
(แก๊งหาหอย)

สังคมชาวบ้าน ไปมาหาสู่กันทั้งด้วยธุระปะปังและกิจนอกการงานเป็นเรื่องปกติ บ่อยครั้งที่มีเพื่อนบ้านมาส่งข่าวกับแม่ยายของผม ว่าวันนี้ เวลานี้ ขึ้นรถที่ตรงนั้น จากนั้นแม่ยายของผมก็จะนั่งขัดนั่งลับเหล็กแท่งยาวคล้ายชะแลง แต่ปลายแหลมแบน ไว้รอท่า

เมื่อผมถามภรรยาก็ได้คำอธิบายว่า
แม่ยายของผม นอกจากทำสวนผัก และทำนาแล้ว แกยังมีงานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งคือการ “ ไปขุดหาหอย”

ขุดหาหอย ? ... ที่ไหน...? อย่างไร...?

จากบ้านแหลมถึงชะอำ ชายหาดทอดตัวยาวหลายสิบกิโลเมตร ทั้งหาดที่เป็นทราย และหาดที่เป็นเลน ตลอดความยาวของแผ่นดินริมทะเลจะมีบริเวณที่หอยน้ำเค็มนานาชนิด ผลัดกันขึ้นมานอนอาบแดดตลอดทั้งปี

คนที่รู้แหล่ง ซึ่งส่วนใหญ่ทำมาหากินอยู่กับทะเล พอทราบว่าหอยขึ้นที่ไหนก็จะมาบอกพี่น้องพวกพ้อง ให้ไปขุดหาหอยกัน  บรรดาผู้นิยมการขุดหาหอย ไม่ว่าจุดที่หอยขึ้นนั้นจะอยู่ไกลแค่ไหน ก็จะต้องดั้งด้นไปกันจนได้

สมาชิกชมรมนี้มีจำนวนไม่น้อยเลย ว่ากันว่า จุดที่หอยขึ้น และมีคนไปขุดหานั้น ครึกครื้นระดับงานวัดย่อมๆ เลยทีเดียว
กิจกรรมที่ว่านี้ แม่ยายผมไม่เคยพลาดสักครั้ง ต่อให้ติดงานอะไรก็ต้องหาเวลาว่างไปจนได้ ผมเลยขนานนาม กลุ่มผู้นิยมการขุดหาหอยนี้ว่า  “แก๊งหาหอย”    
    
วันไหนจะไปหาหอย จะมีเพื่อนบ้านร่วมแก๊งเดินมาบอกแม่ยายผมล่วงหน้า พอถึงวันนัด เช้าตรู่ก็ขึ้นรถกันไป ตกบ่าย แม่ยายผมก็จะหอบผลงานเป็นกระสอบใส่หอยทะเลสารพัดชนิดมาวางที่ข้างครัว น้ำหนักก็ไม่มากไม่มาย แค่ครั้งละสิบกว่ากิโลกรัม เท่านั้น

หอยที่มายกพลขึ้นบกนั้นมีสารพัดชนิด ใครชอบหอยอะไรก็หาขุดหากันตามรสนิยม ส่วนใหญ่ ที่แม่ยายผมเอามาทุกครั้ง จะต้องมีหอยแครง,หอยคราง,หอยเสียบ และหอยตลับ บางครั้งก็จะได้หอยหวาน และหอยแมงภู่ติดมาด้วย

เมื่อผมถามถึงการขุดหา แม่ยายผมเล่าว่า หอยแต่ละชนิดก็มีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป วิธีการและความยากง่ายในการขุดหาก็ไม่เท่ากันด้วย หอยบางชนิดอยู่ไม่ลึก ก็ค่อยๆ คราดทรายหา แต่
อย่างหอยเสียบซึ่งเนื้อเยอะ รสชาติดี แต่ต้องใช้วิธีขุดหา ขุดๆ ไป บางทีหอยมันก็ดำทรายหนีไปได้

เมื่อมีหอยมากมายทั้งปริมาณและชนิดขนาดนี้ เมนูอาหารหลายวันต่อมาจึงเต็มไปด้วยหอย
ทั้งหอยแครงลวง ,ยำหอยแครง,หอยเสียบผัดฉ่า,หอยเสียบผัดมะพร้าว,หอยตลับผัดพริกเผา,แกงหอยใส่ใบมะขาม ฯลฯ

น่าแปลกที่กินหอยติดกันทุกมื้อ ผมก็ยังไม่รู้สึกเบื่อ อาจเพราะเป็นของสดกระมัง
ทีแรกผมเห็นปริมาณหอยที่แม่ยายจับมาแต่ละครั้งมากมาย ผมก็คิดอย่างที่หลายคนคิด นั่นคือ ถ้าเอาไปขาย คงได้ราคาคงไม่น้อย     ทว่า เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องมะพร้าวกะทิ คือ จะขายทำไม ของดีเราหามาได้ เก็บไว้กินเองไม่ดีกว่าหรือ ?

ครอบครัวของเราได้กินของอร่อย หากมีมากก็แบ่งให้ญาติพี่น้องให้บ้านใกล้เรือนเคียง
เงินนั้นเป็นเรื่องรอง ปล่อยให้น้ำใจ ไหลไปสู่กันและกัน
จิตใจคนก็ชุ่มชื่นเหมือนแผ่นดินหลังฝนตก
    
เมื่อกลับมาอยู่ในสังคมที่ของกินแทบไม่ต้องซื้อ
ผมคิดถึง ข้าวสาร และ น้ำมัน(ทั้งที่ปรุงอาหารและที่เติมรถยนต์) ที่ราคาขึ้นแทบทุกวัน ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
ของดีเรามี แต่เราไม่เก็บไว้กินเอง ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน คิดแต่จะส่งขายเอากำไร
สังคมเดือดร้อน เพราะคนที่มีมาก กั๊กไว้ไม่ยอมแบ่งปัน
ก็แล้วใครจะไปพูดให้เขาเข้าใจเรื่องความเห็นแก่ตัว และ การเห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคม

ในเมื่อเงินและอำนาจมันบังตาเขาหมดแล้ว

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…