Skip to main content

(มะพร้าวกะทิ)

ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาด
ฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

แต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผม
อาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก
แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆ

ผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี
มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ ราวกับกำลังเคี้ยวเนยก้อน จะว่าอร่อยก็ไม่เชิง จะว่าไม่อร่อยก็ไม่ใช่ เมื่อกินพร้อมกับน้ำตาลทราย กลับหวานมันเพลินปาก
ตอนนั้นผมคิดตามประสาเด็กว่า ทำไมจึงเรียกว่ามะพร้าวกะทิ น่าจะเรียกว่า มะพร้าวเนยมากกว่า

หลายปีต่อมา ผมได้พบเจอกับเจ้ามะพร้าวกะทิอีกครั้งสองครั้ง แต่ไม่ค่อยประทับใจนัก เพราะรสชาติ ออกจะมันเลี่ยนเกินบ้าง เก่าจนเหม็นหืนบ้าง ทั้งผมเองก็ไม่ได้ติดอกติดใจเป็นพิเศษ จึงไม่ได้ขวนขวาย

จนกระทั่ง วันหนึ่ง หลังจากจัดข้าวของเข้าที่เข้าทางแล้ว แม่บ้านของผมไปสอยมะพร้าวข้างบ้านมากองรวมกันไว้ เนื่องจากมีคนมาติดต่อขอซื้อมะพร้าว
เธอชี้ให้ผมดูมะพร้าวต้นที่อยู่หน้าบ้านด้านติดกับถนน
“ต้นนี้แหละ...มะพร้าวกะทิ”

ทราบกันดีว่า ถ้ามะพร้าวต้นไหน เคยให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ก็จะให้อยู่เรื่อยๆ อย่างนั้น ปะปนกับมะพร้าวธรรมดา ส่วนต้นไหนที่ไม่เคยให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ก็จะไม่มีทางได้มะพร้าวกะทิจากต้นนั้นเลย

จำนวนต้นมะพร้าวที่ให้ผลเป็นมะพร้าวกะทิ ต่อ ต้นมะพร้าวธรรมดา จะเป็นสัดส่วนเท่าไร ผมไม่ทราบ แต่สำหรับราคารับซื้อนั้น มะพร้าวกะทิราคาผลละ 30-40 บาท ขณะที่มะพร้าวธรรมดาผลละ 5-7 บาทเท่านั้น

เมื่อแม่บ้านสอยมะพร้าวจากต้นนั้นลงมากองรวมกัน แม่ยายผมก็เดินมาสมทบ แกจับลูกมะพร้าวเขย่าทีละลูก ๆ เงี่ยหูฟังอย่างผู้ชำนาญการ
“ลูกนี้ไง มะพร้าวกะทิ พอเขย่าแล้วมันดังกล๊อกๆ”  แกส่งมะพร้าวกะทิให้ผมสองลูก
“สองลูก ก็ขายได้หกสิบ” ผมคำนวณอย่างรวดเร็ว
“อย่าขายเลย เก็บไว้กินเหอะ” แกบอก

ผมยิ้ม เดินเอามะพร้าวไปเก็บในครัว
แกทำให้ผมคิดได้
จะขายทำไม ของดีเราปลูกได้ ต้องเก็บไว้กินเองสิ

เย็นวันนั้น แม่บ้านตัดกล้วยกำลังสุกจากข้างบ้านมาทำ กล้วยบวชชีใส่มะพร้าวกะทิ เป็นของหวาน ที่ทั้งหวาน ทั้งมัน
อร่อยมาก...
หลังจากห่างเหินไปนาน การเจอกันระหว่างผมกับมะพร้าวกะทิครั้งนี้ ค่อนข้างน่าประทับใจ เป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดี ก่อนจะต้องพบกันอีกหลายครั้ง
        
(แก๊งหาหอย)

สังคมชาวบ้าน ไปมาหาสู่กันทั้งด้วยธุระปะปังและกิจนอกการงานเป็นเรื่องปกติ บ่อยครั้งที่มีเพื่อนบ้านมาส่งข่าวกับแม่ยายของผม ว่าวันนี้ เวลานี้ ขึ้นรถที่ตรงนั้น จากนั้นแม่ยายของผมก็จะนั่งขัดนั่งลับเหล็กแท่งยาวคล้ายชะแลง แต่ปลายแหลมแบน ไว้รอท่า

เมื่อผมถามภรรยาก็ได้คำอธิบายว่า
แม่ยายของผม นอกจากทำสวนผัก และทำนาแล้ว แกยังมีงานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งคือการ “ ไปขุดหาหอย”

ขุดหาหอย ? ... ที่ไหน...? อย่างไร...?

จากบ้านแหลมถึงชะอำ ชายหาดทอดตัวยาวหลายสิบกิโลเมตร ทั้งหาดที่เป็นทราย และหาดที่เป็นเลน ตลอดความยาวของแผ่นดินริมทะเลจะมีบริเวณที่หอยน้ำเค็มนานาชนิด ผลัดกันขึ้นมานอนอาบแดดตลอดทั้งปี

คนที่รู้แหล่ง ซึ่งส่วนใหญ่ทำมาหากินอยู่กับทะเล พอทราบว่าหอยขึ้นที่ไหนก็จะมาบอกพี่น้องพวกพ้อง ให้ไปขุดหาหอยกัน  บรรดาผู้นิยมการขุดหาหอย ไม่ว่าจุดที่หอยขึ้นนั้นจะอยู่ไกลแค่ไหน ก็จะต้องดั้งด้นไปกันจนได้

สมาชิกชมรมนี้มีจำนวนไม่น้อยเลย ว่ากันว่า จุดที่หอยขึ้น และมีคนไปขุดหานั้น ครึกครื้นระดับงานวัดย่อมๆ เลยทีเดียว
กิจกรรมที่ว่านี้ แม่ยายผมไม่เคยพลาดสักครั้ง ต่อให้ติดงานอะไรก็ต้องหาเวลาว่างไปจนได้ ผมเลยขนานนาม กลุ่มผู้นิยมการขุดหาหอยนี้ว่า  “แก๊งหาหอย”    
    
วันไหนจะไปหาหอย จะมีเพื่อนบ้านร่วมแก๊งเดินมาบอกแม่ยายผมล่วงหน้า พอถึงวันนัด เช้าตรู่ก็ขึ้นรถกันไป ตกบ่าย แม่ยายผมก็จะหอบผลงานเป็นกระสอบใส่หอยทะเลสารพัดชนิดมาวางที่ข้างครัว น้ำหนักก็ไม่มากไม่มาย แค่ครั้งละสิบกว่ากิโลกรัม เท่านั้น

หอยที่มายกพลขึ้นบกนั้นมีสารพัดชนิด ใครชอบหอยอะไรก็หาขุดหากันตามรสนิยม ส่วนใหญ่ ที่แม่ยายผมเอามาทุกครั้ง จะต้องมีหอยแครง,หอยคราง,หอยเสียบ และหอยตลับ บางครั้งก็จะได้หอยหวาน และหอยแมงภู่ติดมาด้วย

เมื่อผมถามถึงการขุดหา แม่ยายผมเล่าว่า หอยแต่ละชนิดก็มีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป วิธีการและความยากง่ายในการขุดหาก็ไม่เท่ากันด้วย หอยบางชนิดอยู่ไม่ลึก ก็ค่อยๆ คราดทรายหา แต่
อย่างหอยเสียบซึ่งเนื้อเยอะ รสชาติดี แต่ต้องใช้วิธีขุดหา ขุดๆ ไป บางทีหอยมันก็ดำทรายหนีไปได้

เมื่อมีหอยมากมายทั้งปริมาณและชนิดขนาดนี้ เมนูอาหารหลายวันต่อมาจึงเต็มไปด้วยหอย
ทั้งหอยแครงลวง ,ยำหอยแครง,หอยเสียบผัดฉ่า,หอยเสียบผัดมะพร้าว,หอยตลับผัดพริกเผา,แกงหอยใส่ใบมะขาม ฯลฯ

น่าแปลกที่กินหอยติดกันทุกมื้อ ผมก็ยังไม่รู้สึกเบื่อ อาจเพราะเป็นของสดกระมัง
ทีแรกผมเห็นปริมาณหอยที่แม่ยายจับมาแต่ละครั้งมากมาย ผมก็คิดอย่างที่หลายคนคิด นั่นคือ ถ้าเอาไปขาย คงได้ราคาคงไม่น้อย     ทว่า เรื่องนี้ก็เหมือนเรื่องมะพร้าวกะทิ คือ จะขายทำไม ของดีเราหามาได้ เก็บไว้กินเองไม่ดีกว่าหรือ ?

ครอบครัวของเราได้กินของอร่อย หากมีมากก็แบ่งให้ญาติพี่น้องให้บ้านใกล้เรือนเคียง
เงินนั้นเป็นเรื่องรอง ปล่อยให้น้ำใจ ไหลไปสู่กันและกัน
จิตใจคนก็ชุ่มชื่นเหมือนแผ่นดินหลังฝนตก
    
เมื่อกลับมาอยู่ในสังคมที่ของกินแทบไม่ต้องซื้อ
ผมคิดถึง ข้าวสาร และ น้ำมัน(ทั้งที่ปรุงอาหารและที่เติมรถยนต์) ที่ราคาขึ้นแทบทุกวัน ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
ของดีเรามี แต่เราไม่เก็บไว้กินเอง ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน คิดแต่จะส่งขายเอากำไร
สังคมเดือดร้อน เพราะคนที่มีมาก กั๊กไว้ไม่ยอมแบ่งปัน
ก็แล้วใครจะไปพูดให้เขาเข้าใจเรื่องความเห็นแก่ตัว และ การเห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคม

ในเมื่อเงินและอำนาจมันบังตาเขาหมดแล้ว

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
แกชื่อยายอิ่ม ผู้เคยเฉิดฉายในวงสังคม เพราะคัดสรรเฉพาะสามีรวย หนีออกจากบ้านไปมีผัวตั้งแต่อายุสิบสอง ผ่านมาสี่สิบกว่าปี มีผัวมากี่คน คงนับได้ยากเสียแล้ว พอยายอิ่มแก่ตัวลูกก็หนีหาย ต่างคนต่างไป ไม่มีใครเลี้ยง สุดท้าย แกคว้าตาหงอก ผู้(อ้างว่า)เป็นผู้ดีเก่ามาไว้หาเลี้ยงจนได้ สมัยสาวๆ ยายอิ่มได้มรดกจากพ่อแม่ไปเยอะ แต่ขายกินจนหมด แกมีชื่อเสียงมากด้านความคด ในข้องอในกระดูก ถึงขนาดที่ แม้แต่พี่น้องด้วยกันก็ยังโดน จนต้องตัดพี่ตัดน้องกันนั่นแหละ ในที่สุด พอแก่ตัวไม่มีที่จะอยู่ ต้องมาบีบน้ำตาขอที่จากแม่เฒ่า ซึ่งแม่เฒ่าแกก็ค่อยอยากจะให้ เพราะให้ไปมากแล้ว (แต่เอาไปขายกินหมด)…
ฐาปนา
นี่คือตลาดนัดประจำตำบล ที่เปิดมายาวนานหลายสิบปี ในละแวกใกล้เคียง 3-4 ตำบล เป็นที่รู้กันว่า ถ้า “นัดวันอาทิตย์” ก็ต้องมาที่นี่ ในระดับอำเภอ ตลาดนัดวันอาทิตย์ตอนเช้าของที่นี่ น่าจะใหญ่ที่สุด คึกคักที่สุด ลานกว้างพื้นที่หลายไร่ข้างวัด มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งสินค้ากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า พอเริ่มสว่าง คนก็เริ่มมา หกโมงถึงเจ็ดโมงเช้า เป็นช่วงเวลาที่คนกำลังเยอะ เพราะมีของให้เลือกมาก และแดดยังไม่ร้อน ก่อนที่ตลาดจะเริ่มวายประมาณแปดโมง จอดรถที่ข้างตลาด หรือ ถ้าไม่อยากเบียดเสียดก็ไปจอดในวัด บรรยากาศคึกคักของตลาดเห็นได้แต่ไกล ซอยอาหารทะเลตรงกับทางเข้าด้านที่ตรงมาจากวัด มีคนพลุกพล่านที่สุด…
ฐาปนา
ทุกเช้า ประมาณตีสี่ครึ่ง หอกระจายข่าวกลางหมู่บ้านจะเปิดข่าวเช้า(มืด)จากสถานีวิทยุของจังหวัด เป็นสัญญาณให้ทุกบ้านตื่นนอน เตรียมตัวมาปฏิบัติภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่บาตร เตรียมตัวรอขึ้นรถไปโรงเรียน เตรียมตัวรอขึ้นรถไปทำงาน ใครไม่ตื่นก็ต้องตื่น เพราะเสียงดังจนตามเข้าไปถึงในฝัน รายการเช้ามืด เริ่มต้นด้วยเพลงปลุกใจให้ยึดมั่นในสถาบัน แล้วตามด้วยธรรมเสวนา จากเจ้าอาวาสวัดที่เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด ตามด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร การทำมาหากิน โครงการต่างๆ จากรัฐบาล และ การปฏิบัติงานของหน่วยงานในจังหวัด
ฐาปนา
เช้าตรู่ของวันอากาศดีเสียงตามสายประกาศให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกันตอนบ่ายโมงตรง ณ ศาลาของหมู่บ้านพอบ่ายโมงครึ่ง สมาชิกสหกรณ์ฯ ก็มากันพร้อมหน้าเจ้าหน้าที่สหกรณ์มากันสามคน คนที่ดูอาวุโสกว่าใคร พูดมากกว่าใคร และเรียกเสียงหัวเราะได้มากกว่าใคร เป็นหัวหน้าชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมได้รับกระดาษคนละหนึ่งแผ่น ปากกาคนละหนึ่งด้าม อ่านดู ก็เห็นว่าเป็นแบบฟอร์มสำรวจเรื่อง “ความพอเพียงในครัวเรือน”
ฐาปนา
ที่นี่อยู่ไม่ห่างจากทะเล ป่าและเขาก็อยู่ไม่ไกล มีคลองส่งน้ำจากเขื่อนผ่านพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำนาได้ปีละสองครั้ง ด้านป่าบนติดเขื่อน เขาปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ได้ผลที่มีรสชาติไม่น้อยไปกว่าทางภาคใต้หรือทางภาคตะวันออก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ถนัดปลูกผัก เพราะเก็บขายได้ตลอดทั้งปี แต่ละวันจะมีรถสิบล้อขนผักผลไม้ วันละหลายสิบคันวิ่งจากตำบลต่างๆ ในอำเภอ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ พระประแดง สมุทรปราการ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ฯลฯ พร้อมด้วยผลิตผลทางการเกษตรสารพัดอย่าง ตั้งแต่ของจำเป็นในครัวอย่าง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริก หอม กระเทียม ไปจนถึงผักเจ้าประจำบนแผงผักทั้ง กะเพราะ โหระพา สะระแหน่ บวบ…
ฐาปนา
ดั้งเดิม ก่อนที่แต่ละบ้านจะมีเอกสารกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินของตัวเอง บ้านส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “รั้ว” อย่างเป็นทางการ เพราะแต่ละบ้านในละแวกก็ล้วนพี่น้อง หรือนับไปนับมาก็ญาติกันทั้งนั้น อาจปลูกต้นไม้เป็นแนวให้บอกได้ว่าเป็นแดนใคร แต่จะถึงขั้นปักเสาขึงลวดหนาม หรือก่อกำแพงล้อมนั้นน้อยราย เพราะถือเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเงิน เขตบ้านใครก็บ้านมัน ถึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถึงไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ไม่ก้าวก่ายกันอยู่แล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครคนหนึ่งเกิดอยากทำเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตน จากที่เคยชี้นิ้วบอกว่านี่เขตใคร การออกเอกสารสิทธิ์…
ฐาปนา
วัยเยาว์ของเธอ ขณะที่หัวใจครึ่งหนึ่งเปี่ยมด้วยความฝันและความหวัง ทะเยอทะยานปรารถนา แต่หัวใจอีกครึ่งกลับอ่อนไหว บอบช้ำง่าย ทั้งยังอ่อนด้อยต่อโลกแห่งเหตุผล อนาคตเลือนลางอยู่ในความฝันยามหลับ และวนเวียนอยู่ในความคิดยามตื่น เธอร่ำร้องหาบางสิ่งบางอย่างที่เธอไม่อาจบอกได้ มองไม่เห็น ไม่รู้จุดเริ่มต้น ไม่รู้จุดสิ้นสุด พลังสร้างสรรค์ของเธอฟุ้งกระจาย ไร้ทิศทาง เมื่อคำว่า ความพร้อม อยู่ห่างจากความเข้าใจ เธอจึงได้แต่ก่นโทษตนเองอยู่เป็นนิจ เธอร่อนเร่ไปในเมืองของผู้อื่น จากเมืองสู่เมือง แลกความเพียรกับเงินเลี้ยงชีพ ยิ้มแย้มให้คำดูหมิ่นเพื่อจะได้เห็นเกียรติของตนเสื่อมค่าลง
ฐาปนา
(มะพร้าวกะทิ)ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาดฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวแต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผมอาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ…
ฐาปนา
แกชื่อยายหอม เป็นคนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีแม่ของแกมีเชื้อลาวพวน พ่อของแกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน แต่เดิมแกอยู่ตำบลอื่น แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ แกเป็นคนรุ่นแรกที่มาหักร้างถางพงทำไร่ทำนาหมู่บ้านยุคบุกเบิก มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า สัตว์ป่าชุกชุม เข้าป่าเจอเสือ หรือเสือแอบเข้ามากินวัวในหมู่บ้าน เป็นเหตุการณ์ประจำวัน คอกวัวสมัยนั้น ต้องกั้นเป็นฝาจึงพอกันเสือได้ ชาวบ้านกินเนื้อเก้ง เนื้อกวาง เนื้อไก่ป่า บ่อยกว่าเนื้อหมู หนองน้ำเต็มไปด้วยปลาตัวโตๆ ตะพาบตัวเท่ากระด้ง เรื่องผีสางนางไม้อยู่แนบชิดชุมชนมากกว่าเรื่องวัดเรื่องพระแกเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นแกยังเป็นสาว…
ฐาปนา
ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่จิตใจยังถูกครอบงำด้วยความโรแมนติกเช่นเดียวกับหลายคน ผมฝันถึงบ้านที่มองเห็นภูเขา ฟ้ากว้าง ได้เฝ้ามองหมู่เมฆเคลื่อนคล้อย อาบกายด้วยแสงอัสดงทุกวัน หรือ บ้านที่อยู่ริมทะเล เห็นเส้นขอบฟ้าไร้จุดสิ้นสุด ไกวเปลตามลมเห่ ต้นมะพร้าวโยกเอน นอนฟังเสียงคลื่นกล่อมชั่วกาลทว่าในบริบทของชีวิต ผู้ที่สามารถมีบ้านอย่างที่ฝันมีไม่มากเลย ทั้งเมื่อมีแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะแต่งเติมภาพฝันจนเสร็จจริง คนที่ให้ค่ากับความฝันสูงยิ่งทั้งไม่ยอมให้ความยากลำบากในชีวิตจริงมาบั่นทอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้รับที่พำนักของหัวใจชั่วชีวิตเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน…
ฐาปนา
เสียงจักจั่นกรีดปีกจากป่าเชิงดอย ฝ่าไอแดดร้อนมาถึงเคหะสถานเงียบงัน รถกระบะบรรทุกหนุ่มสาวร่างเปียกปอนยืนล้อมถังน้ำใบใหญ่แล่นผ่านไปหญิงชราถือสายยางเดินออกมาหน้าบ้าน ฉีดน้ำใส่พื้นถนน ไอน้ำระเหยขึ้นเด็กๆ หิ้วถังพลาสติก ขัน ปืนฉีดน้ำ มองสองข้างทางอย่างมีความหวังร้านขายน้ำปั่น น้ำแข็งไส ขายดีจนต้องสั่งน้ำแข็งเพิ่มในช่วงบ่ายเจ้าของโรงทำน้ำแข็ง หน้าบาน แต่ลูกจ้างหน้าเหี่ยว เพราะข้าวสารขึ้นราคาลิตรละหลายบาทแต่ค่าแรงเท่าเดิม    ดวงอาทิตย์กลับมาอยู่ใกล้ชิดโลก เหมือนคนรักที่ได้เจอกันแค่ปีละครั้งมวลอากาศอบอ้าวเข้าเกาะกุมผิว ยึดทุกรูขุมขน เหงื่อเค็มถูกขับซึมเสื้อ เหนอะหนะ…
ฐาปนา
“...ทว่าการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ครั้งนี้ต้องอาศัยปัญญามหาศาล ความกล้าหาญมหึมา และความมุ่งมั่นเหลือคณา เพราะความกลัวจะจู่โจมถึงแกนกลางของแนวคิดนี้ และป่าวร้องว่าผิดพลาด ความกลัวจะกัดกินเข้าไปยังแก่นแห่งสัจธรรมล้ำเลิศและแปลงให้เป็นเรื่องเท็จเทียม ความกลัวจะบิดเบือน และทำลาย ฉะนั้นความกลัวจะเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุด ทว่าเธอไม่อาจมีและไม่อาจสร้างสังคมที่ปรารถนาและใฝ่ฝันมาช้านานจนกว่าจะเห็นปัญญาและกระจ่างชัดถึงปรมัตถ์สัจจ์ที่ว่า สิ่งที่เธอทำแก่ผู้อื่นเธอก็ได้ทำแก่ตัวเอง สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่น เธอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเอง ว่าความเจ็บปวดของผู้อื่น ก็คือความเจ็บปวดของตัวเธอ…