เช้าตรู่ของวันอากาศดี
เสียงตามสายประกาศให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกันตอนบ่ายโมงตรง ณ ศาลาของหมู่บ้าน
พอบ่ายโมงครึ่ง สมาชิกสหกรณ์ฯ ก็มากันพร้อมหน้า
เจ้าหน้าที่สหกรณ์มากันสามคน คนที่ดูอาวุโสกว่าใคร พูดมากกว่าใคร และเรียกเสียงหัวเราะได้มากกว่าใคร เป็นหัวหน้า
ชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมได้รับกระดาษคนละหนึ่งแผ่น ปากกาคนละหนึ่งด้าม อ่านดู ก็เห็นว่าเป็นแบบฟอร์มสำรวจเรื่อง “ความพอเพียงในครัวเรือน”
เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า ทางสหกรณ์ฯ จะทำการสำรวจเรื่องความพอเพียง เพื่อจะได้จัดทำโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ให้แก่สมาชิก โดยเน้นเรื่องความพอเพียง และการพึ่งตนเอง
แบบสอบถามนั้นอยู่ไม่กี่คำถาม ไม่ยากต่อการตอบ คำถามส่วนใหญ่ถามเรื่องความรู้ ความเข้าใจเรื่องความพอเพียง คำถามบางข้อเป็นเรื่องการครอบครองที่ดินและการประกอบอาชีพ คำถามบางข้อถามเรื่องการกู้ยืมที่ทำกับสหกรณ์ฯ
จากนั้น เจ้าหน้าที่ก็พูดถึงหัวข้อการประชุมในวันนี้ซึ่งได้แก่ วัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มเกษตรกร แนวคิดเรื่องการพึ่งตนเอง โครงการที่สหกรณ์ฯ คาดว่าจะดำเนินการ และการแจ้งประเภทของที่ดินในครอบครองของตน เพื่อที่สหกรณ์ฯ จะได้จัดเก็บเป็นฐานข้อมูล
“...ชาวบ้านน่าจะรู้และเข้าใจเรื่องความพอเพียงกันดีอยู่แล้ว เพราะชาวบ้านอยู่กันแบบพอเพียงมาแต่ไหนแต่ไร แต่ข้าราชการอย่างเราๆ พอเพียงไม่ได้ เพราะข้าราชการมีสังคม เลยต้องจ่ายเยอะ อยากจะพอมันก็พอไม่ได้เสียที...”
คนที่เป็นหัวหน้า พูดอย่างยอมรับความจริง เรียกเสียงฮาจากชาวบ้าน
หัวหน้าเล่าว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทางสหกรณ์ฯ ก็ได้จัดโครงการไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยพาชาวบ้านส่วนหนี่งไปดูงานที่จังหวัดใกล้ๆ และจัดให้มีการอบรมเรื่องการทำผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในครัวเรือน เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ด้วยตนเอง ซึ่งดำเนินไปด้วยดี มาคราวนี้ก็จะจัดโครงการต่อเนื่องเพื่อขยายความรู้ความเข้าใจออกไปอีก
หัวหน้าถามว่า
“...ใครอยากจะไปดูงาน หรืออยากจะเข้าอบรมตามที่สหกรณ์ฯ จัดบ้าง? ...”
ชาวบ้านยกมือกันพรึ่บ
เจ้าหน้าที่ยิ้มหน้าบาน
ชาวบ้านแอบกระซิบกัน
“...ใครก็อยากไปทั้งนั้นแหละ เที่ยวฟรี กินฟรี…”
คุยเรื่องความพอเพียงได้ประมาณสิบห้านาที หัวหน้าก็ให้ประธานกับรองประธานกลุ่มเกษตรกรของหมู่บ้านขึ้นมาพูดเรื่องการรวมกลุ่ม,ผลประโยชน์ของการรวมกลุ่ม และ การกู้ยืมปุ๋ย-ยา
แล้วประธานกลุ่มก็พูดเข้าเรื่อง การกู้-ยืมเงินสหกรณ์ อันเป็นเป้าประสงค์หลักของการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ประธานฯ พูดเรื่องหลักเกณฑ์ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของสมาชิกเก่า-สมาชิกใหม่ ระเบียบบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ฯลฯ
เมื่อประธานชี้แจงจบก็มีชาวบ้านคนหนึ่งลุกขึ้นถาม
“...มีคนเขามาคุยว่า เขาเข้าเป็นสมาชิกแค่ปีเดียวก็กู้ได้ดอกเบี้ยแค่ 7 เปอร์เซนต์ต่อปี ฉันก็อยากถามว่าทำไมเขาถึงได้ ฉันเป็นสมาชิกมาตั้งหลายปี ยังไม่ได้ดอกเบี้ย 7 เปอร์เซนต์เลย...”
หัวหน้ารีบขอไมโครโฟนจากประธานมาชี้แจง
“...เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ คนที่กู้ได้ดอกเบี้ย 7 เปอร์เซนต์ต้องเป็นลูกค้าชั้นดีเท่านั้น คือต้องเป็นสมาชิกมาไม่น้อยกว่า 5 ปี กู้ไม่น้อยกว่าสามครั้งและส่งต้นส่งดอกครบถ้วนไม่เคยผิดนัด คือสหกรณ์ฯ เราจะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ว่า...”
หัวหน้าอธิบายอีกยืดยาว ก่อนจะหันไปถามว่าเข้าใจหรือไม่ คนถามพยักหน้ารับแบบไม่ค่อยเต็มใจนัก
“ใครมีอะไรจะถามอีกหรือเปล่า?” หัวหน้าถาม
คราวนี้ยกมือกันพรึ่บ
“...ปีที่แล้วกู้เงินสหกรณ์มาลงทุนเลี้ยงหมู แต่หมูราคาตกขาดทุนไปหลายแสน ยังไม่มีเงินส่งสหกรณ์ฯ เลย ทำยังไงดี...” ป้าช้อย อดีตคนมีเงิน โอดครวญ
“...ปุ๋ยตราหมีแดงที่สหกรณ์ฯ ให้กู้มาหว่านข้าว ปีที่แล้วหว่านแล้วข้าวออกรวงดกดี แต่มาปีนี้ ข้าวออกน้อยไปตั้งครึ่ง จะทำยังไงดี กลัวจะเป็นปุ๋ยปลอมนะเนี่ย...” ตาเหลิม ชาวนาเต็มขั้น โวยบ้าง
“...ตอนแรกข้าวราคาดี ก็ทุ่มเต็มที่เลยกะว่าจะได้ปลดหนี้บ้าง ตอนนี้ราคาตกมาแล้ว กลัวจะขายข้าวแล้วไม่มีเงินใช้หนี้ สหกรณ์ฯ จะผ่อนผันหนี้ได้บ้างหรือเปล่าล่ะ ...” ลุงมั่น คนขยันถาม
ทีนี้ใครต่อใครก็มีคำถามอยากจะถามสหกรณ์ฯ บ้าง
ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องการกู้ยืม และดอกเบี้ย
เป็นเวลาอีกกว่าสี่สิบห้านาทีที่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ ต้องช่วยกันชี้แจงเรื่องการกู้ยืม การชำระหนี้ การผ่อนผัน ฯลฯ แต่มีเรื่องต้องอธิบายมากมายเหลือเกิน หัวหน้าจึงตัดบทว่า ถ้าใครมีปัญหาต้องการคำชี้แจงก็ขอเชิญไปได้ที่ ที่ทำการสหกรณ์ฯ ตลอดเวลา
เมื่อจบการประชุมก็ใช้เวลาไปเบ็ดเสร็จชั่วโมงครึ่ง
ชาวบ้านช่วยกันเก็บเก้าอี้ เจ้าหน้าที่เก็บแบบสอบถาม
ศาลาว่างเปล่า เหลือแต่ตาผวนกับลุงใบ นั่งสูบยาเส้นคุยกัน
“ปีนี้ได้กู้สหกรณ์ฯ หรือเปล่า” ลุงใบถาม
ตาผวนส่ายหน้า
“ไม่กู้แล้ว...ข้าเพิ่งใช้หนี้หมดเมื่อปีที่แล้วนี่เอง”
“แล้วจะทำอะไรต่อ”
ตาผวนหัวเราะหึๆ พ่นควันฉุย
“ทำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นหนี้”
“อยู่ว่างๆ ก็ไป...” ลุงใบชี้ไปทางที่ทำการสหกรณ์ฯ “เข้าโครงการพอเพียงกับเขาสิ ใครๆ เขาก็เข้ากัน ”
“แล้วเอ็งไม่ไปเข้าโครงการกะเขาด้วยล่ะ”
ลุงใบส่ายหน้า
“ลูกมันบอกให้หยุดทำได้แล้ว มันจะหาเลี้ยงเอง”
ตาผวน นิ่งคิดไปครู่หนึ่งก็หันมาถาม
“เออ...ไอ้ที่ว่าพอเพียงนี่...หมายความว่า เราต้องพึ่งตัวเอง ต้องไม่ก่อหนี้ใช่หรือเปล่าวะ?”
“ก็คงจะอย่างนั้น”
ตาผวนได้ฟังก็ขำก๊าก ลุงใบฉงน ถามว่าขำอะไร
“มันจะพอเพียงกันได้ยังไง เมื่อกี้ สหกรณ์ฯ เขาก็มาส่งเสริมให้กู้ให้ยืม ไอ้ที่รวมกลุ่มกันนั้นก็หาเรื่องกู้ยืมทั้งนั้น แล้วที่สำคัญ...”
ตาผวนพูดไปหัวเราะไป
“คนบ้านเราแต่ละคน...หนี้รุงรังยังกับลูกมะยม”