Skip to main content

ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่จิตใจยังถูกครอบงำด้วยความโรแมนติก

เช่นเดียวกับหลายคน ผมฝันถึงบ้านที่มองเห็นภูเขา ฟ้ากว้าง ได้เฝ้ามองหมู่เมฆเคลื่อนคล้อย อาบกายด้วยแสงอัสดงทุกวัน
หรือ บ้านที่อยู่ริมทะเล เห็นเส้นขอบฟ้าไร้จุดสิ้นสุด ไกวเปลตามลมเห่ ต้นมะพร้าวโยกเอน นอนฟังเสียงคลื่นกล่อมชั่วกาล

ทว่าในบริบทของชีวิต ผู้ที่สามารถมีบ้านอย่างที่ฝันมีไม่มากเลย ทั้งเมื่อมีแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะแต่งเติมภาพฝันจนเสร็จจริง คนที่ให้ค่ากับความฝันสูงยิ่งทั้งไม่ยอมให้ความยากลำบากในชีวิตจริงมาบั่นทอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้รับที่พำนักของหัวใจชั่วชีวิต

เงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน นั่นรวมถึงความยืดหยุ่นในการวางกรอบคั่นระหว่างความฝันกับความจริงด้วย

หลังความล้มเหลวจากการทำร้านอาหารเมื่อหลายปีก่อน ความโรแมนติกอำลาจากผมไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่มานั่งทานข้าวด้วยกัน ไม่มาตอนที่อยากฝันกลางวัน ไม่ปรากฏแม้ในฝันตอนกลางคืน

ตอนนั้นผมได้แต่สงสัยว่า ความจริงของชีวิตไล่มันไป หรือ มันกลายร่างเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว...?
อาจจะกลายเป็นไข่ ที่รอวันฟักเป็นตัว
ซึ่งคงไม่ใช่นกสีรุ้ง

ผมไปๆ มาๆ ระหว่าง เพชรบุรี-สุพรรณบุรี-กรุงเทพฯ อยู่หลายรอบ คลำไปในอนาคตมืดๆ หาหนทางสร้างเนื้อสร้างตัวแต่ไม่พบ คำทักของหมอดูที่ว่า “...ตกดวงพระรามเดินดง...”  ผมจำได้ขึ้นใจเพราะไม่รู้เมื่อไรจะได้ออกจากป่าหิมพานต์คืนกลับพระนครเสียที

แม้ว่าที่บ้านของภรรยา จะมีที่ถมแล้วรอให้มาปลูกบ้าน แต่ในเมื่อยังไร้ทุนรอน ผมจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ทางเหนือ เผื่อชีวิตมันจะ“เหนือ” ขึ้นบ้าง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความคิดจะกลับไปอยู่ที่นั่น ไม่อยู่ในหัวผมเลย
ผมชอบทั้งภูเขา และทะเล แต่ถ้าให้เลือก ผมเลือกภูเขา
บ้านเช่าที่ลำพูน ไม่เห็นภูเขา แต่ถ้าออกมาห่างจากหมู่บ้านสักหน่อย จะเห็นทิวเขาทางไปอำเภอแม่ทา

ขณะที่ ที่พำนักของผมในเชียงใหม่ มองเห็นภูเขาชัดเจน หน้าร้อน เห็นควันไฟจากป่าตีนเขา ซึ่งบางครั้งก็เห็นเปลวไฟด้วย เวลาที่ฝนตกหนัก ภูเขาหลังม่านน้ำ เปี่ยมด้วยรัศมีพลังชีวิต หลังฝนซา เมฆขาวก้อนใหญ่ลอยเรี่ยอยู่รอบๆ ราวกับมาชุมนุมสังสรรค์ พอตกค่ำ แมลงตัวใหญ่ๆ อย่างผีเสื้อกลางคืนตัวเท่าฝ่ามือ หรือ ตั๊กแตนกิ่งไม้ยาวกว่าคืบ แวะมาเยี่ยมเยือนเป็นประจำ (รวมทั้งตุ๊กแกตัวอ้วนที่วิ่งเร็วจนน่ากลัว)

แน่นอน ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากมีบ้านอยู่ใกล้ภูเขา
แต่ในความเป็นจริง บ้านที่รอวันปลูกของผมอยู่ใกล้ทะเล ที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

จากเชียงใหม่มาเพชรบุรี ระยะทางประมาณพันกิโลเมตร สมัยก่อนไม่ว่าจะรถส่วนตัวหรือรถโดยสาร ก็ต้องวิ่งสายเอเชียผ่านกรุงเทพฯ แล้วเข้าเส้นพระรามสองเพื่อตัดลงใต้ที่ถนนเพชรเกษม

เดี๋ยวนี้มีเส้นทางลัดจากนครสวรรค์ วิ่งสายเอเชียตัด เข้าอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท มุ่งตรงเข้าสุพรรณ จากสุพรรณไปอำเภออู่ทองเข้าเส้นมาลัยแมน ผ่านนครปฐม-ราชบุรี ไปเข้าเส้นเพชรเกษมที่วังมะนาวแล้วเข้าสู่เพชรบุรีตามลำดับ

หลังปรับปรุงถนนสายเอเชียจากนครสวรรค์ถึงกรุงเทพฯ  และเส้นเพชรเกษมจากเพชรบุรีไปหัวหิน ทำให้ถนนสายนี้สะดวกขึ้นมาก ขับเรื่อยๆ สบายๆ ก็ราว 12 ชั่วโมง

รถทัวร์สายเชียงใหม่-หัวหิน นับเป็นการมองการณ์ไกลอย่างถูกจังหวะ
ผมคงจะจำรถทัวร์สายนี้ตลอดไป เพราะเมื่อครั้งที่เปิดบริการใหม่ๆ รถทัวร์เที่ยวกลางวัน(ไปเช้าถึงค่ำ)เที่ยวแรก มีผมเป็นผู้โดยสารคนแรกและคนเดียว จนกระทั่งถึงนครสวรรค์ ถนนเพชรเกษมขยายกว้างขึ้น การคมนาคมสะดวกขึ้น แต่บางสิ่งหายไป

เมื่อก่อนนี้ หากออกจากอำเภอท่ายางมุ่งตรงไปอำเภอชะอำ จะต้องผ่าน “สี่แยกเขื่อน” ที่แยกนี้ถ้าเลี้ยวขวาจะไปเขื่อนแก่งกระจาน แต่ถ้าเลี้ยวซ้ายจะสิ้นสุดที่ทะเล-หาดปึกเตียน เมื่อก่อนที่นี่เป็นสี่แยกไฟแดงที่รถโดยสารทุกคันต้องจอดเพื่อรับส่งคน ทว่าปัจจุบัน การขยายถนนเพชรเกษมได้สร้างสะพานข้ามแยก ทำให้รถโดยสารวิ่งใหม่ๆ บางคัน ไม่รู้จักแยกนี้เสียแล้ว คาดว่าอีกไม่นาน แยกเขื่อนคงหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นหลัง

จากแยกเขื่อน เลี้ยวซ้ายเลียบคลองชลประทานมุ่งตรงสู่ทะเล สองข้างทางเป็นท้องนาและสวนผัก ที่บ้านรอปลูกของผมอยู่ห่างออกไปประมาณหกกิโลเมตร

ที่สามงานติดถนนถมดินแล้ว นอนรอวันกลายร่างเป็นบ้าน เวลาที่ยืนมองมัน ผมทั้งภูมิใจ ทั้งวาดหวัง ทั้งหวาดหวั่น ทั้งรอคอย

ผ่านไปสามปี ดินที่ถมแน่นขึ้นมาก ตะไคร้ มะนาว พริก กล้วย ที่คุณยายของภรรยาปลูกทิ้งไว้ขึ้นงามดีเหลือเกิน  ทว่า เสาบ้านต้นแรกจะขึ้นเมื่อไร คงมีแต่เทวดาเท่านั้นที่รู้
“...จะเป็นนักเขียน อย่าหวังรวย ถ้าอยากรวยไปทำอย่างอื่น อาว์เขียนจนสี่สิบกว่าจะได้มีบ้านหลังนี้...”
ท่านผู้นั้นเคยบอกผมไว้ แต่ผมก็ยังหวังว่า ผมคงจะมีบ้านก่อนอายุสี่สิบ

หลายปีมานี้ ชีวิตผมผกผันน้อยลงไปมาก แม้ยังลุ่มๆ ดอนๆ ไส้แห้งบ้าง ไส้เปียกบ้าง ตามประสา แต่ก็ไม่ถึงกับยากแค้นแสนเข็ญ จะว่าไป หลายอย่างก็เริ่มลงตัว แม้ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

วันหนึ่ง แม่ยายยื่นข้อเสนอให้กลับมาอยู่บ้าน เพราะแกทำบ้านใหม่จากบ้านไม้ยกพื้นสูง ก็เทพื้น ทำห้องครัว ทำห้องนอนไว้ให้ ประกอบกับภรรยาผมก็เป็นห่วงแกที่ต้องอยู่คนเดียว
“...ดีสิวะ บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ เศรษฐกิจอย่างนี้ กลับไปหาฐานที่มั่น ชัวร์กว่า...” ที่ปรึกษาเจ้าประจำของผมสนับสนุนความคิดเต็มที่

คิดสะระตะคำนวณดูแล้ว ก็เข้าทีดีเหมือนกัน แม้จะไม่สะดวกสบายเท่าเชียงใหม่ แต่ก็ประหยัดกว่ามาก ที่สำคัญ คนแถวนั้น มีสีสัน colorful อย่างหาที่ใดเสมอเหมือน

อยากรู้ว่าคนเพชรบุรีเป็นอย่างไร ก็ลองหาเรื่องสั้นชุด “ผู้เฒ่า” ของมนัส จรรยงค์ มาอ่านดู
คือคนดีๆ ก็มีไม่น้อย แต่คนกิเลสหนามักจะเป็นวัตถุดิบที่ดีสำหรับการเขียน

การย้ายบ้านครั้งสุดท้ายของผมเตรียมตัวประมาณหนึ่งสัปดาห์ ใช้บริการรถตู้ถอดเบาะนั่งออก ซึ่งขนของได้มากกว่ารถกระบะ คนขับเป็นคุณลุงคนชัยภูมิที่มาอยู่เชียงใหม่สี่สิบกว่าปี อู้คำเมืองเนียนจนจับไม่ได้ แกขออนุญาตพาเพื่อนวัยเดียวกันไปด้วยคนหนึ่ง เพื่อจะได้ผลัดกันขับ
“ทางมันยาว...ผลัดกันขับไป ทะเลาะกันไป จะได้ไม่ง่วง” แกว่างั้น

พอรถออก ผมเห็นจริงอย่างที่แกว่า เพราะคุณลุงสองคน ขับรถกันคนละแบบ นิสัยไปกันคนละทาง ลุงเจ้าของรถเป็นคนใจเย็น ขับไปช้าๆ แบบเก้าสิบถึงร้อย แต่เพื่อนแกใจร้อน บอกให้แซงแล้วไม่ยอมแซงก็บ่น ทะเลาะกันแบบขำๆ ไปตลอดทาง พอเพื่อนแกได้โอกาสขับ ก็เหยียบไปร้อยยี่สิบร้อยสามสิบ จนเจ้าของรถโวยวายลั่น

แต่แม้จะตีนหนัก แกก็มีอารมณ์ขันแบบหน้าตาย
“เราไปทางเมียวดีก็ได้นะ” แกแนะนำผม เมื่อรถผ่านสี่แยกที่บอกทางไปพม่า
“ไปเมียวดี...ไปทำไมครับ?” ผมพาซื่อ
“ก็ทะลุเข้าพม่าไง ไปดูเขายิงกันก่อน ค่อยทะลุกลับมา” แกพูดหน้าตาเฉย

ออกจากเชียงใหม่เก้าโมงเช้า ถึงเพชรบุรีสามทุ่มกว่า กว่าจะจัดของเสร็จ กว่าจะอาบน้ำ กว่าจะเข้านอนก็เกือบเที่ยงคืน
ผมยังไม่ได้เห็นทะเล
แต่คิดถึงภูเขาเสียแล้ว

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก