Skip to main content

ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่จิตใจยังถูกครอบงำด้วยความโรแมนติก

เช่นเดียวกับหลายคน ผมฝันถึงบ้านที่มองเห็นภูเขา ฟ้ากว้าง ได้เฝ้ามองหมู่เมฆเคลื่อนคล้อย อาบกายด้วยแสงอัสดงทุกวัน
หรือ บ้านที่อยู่ริมทะเล เห็นเส้นขอบฟ้าไร้จุดสิ้นสุด ไกวเปลตามลมเห่ ต้นมะพร้าวโยกเอน นอนฟังเสียงคลื่นกล่อมชั่วกาล

ทว่าในบริบทของชีวิต ผู้ที่สามารถมีบ้านอย่างที่ฝันมีไม่มากเลย ทั้งเมื่อมีแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะแต่งเติมภาพฝันจนเสร็จจริง คนที่ให้ค่ากับความฝันสูงยิ่งทั้งไม่ยอมให้ความยากลำบากในชีวิตจริงมาบั่นทอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้รับที่พำนักของหัวใจชั่วชีวิต

เงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน นั่นรวมถึงความยืดหยุ่นในการวางกรอบคั่นระหว่างความฝันกับความจริงด้วย

หลังความล้มเหลวจากการทำร้านอาหารเมื่อหลายปีก่อน ความโรแมนติกอำลาจากผมไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่มานั่งทานข้าวด้วยกัน ไม่มาตอนที่อยากฝันกลางวัน ไม่ปรากฏแม้ในฝันตอนกลางคืน

ตอนนั้นผมได้แต่สงสัยว่า ความจริงของชีวิตไล่มันไป หรือ มันกลายร่างเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว...?
อาจจะกลายเป็นไข่ ที่รอวันฟักเป็นตัว
ซึ่งคงไม่ใช่นกสีรุ้ง

ผมไปๆ มาๆ ระหว่าง เพชรบุรี-สุพรรณบุรี-กรุงเทพฯ อยู่หลายรอบ คลำไปในอนาคตมืดๆ หาหนทางสร้างเนื้อสร้างตัวแต่ไม่พบ คำทักของหมอดูที่ว่า “...ตกดวงพระรามเดินดง...”  ผมจำได้ขึ้นใจเพราะไม่รู้เมื่อไรจะได้ออกจากป่าหิมพานต์คืนกลับพระนครเสียที

แม้ว่าที่บ้านของภรรยา จะมีที่ถมแล้วรอให้มาปลูกบ้าน แต่ในเมื่อยังไร้ทุนรอน ผมจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ทางเหนือ เผื่อชีวิตมันจะ“เหนือ” ขึ้นบ้าง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความคิดจะกลับไปอยู่ที่นั่น ไม่อยู่ในหัวผมเลย
ผมชอบทั้งภูเขา และทะเล แต่ถ้าให้เลือก ผมเลือกภูเขา
บ้านเช่าที่ลำพูน ไม่เห็นภูเขา แต่ถ้าออกมาห่างจากหมู่บ้านสักหน่อย จะเห็นทิวเขาทางไปอำเภอแม่ทา

ขณะที่ ที่พำนักของผมในเชียงใหม่ มองเห็นภูเขาชัดเจน หน้าร้อน เห็นควันไฟจากป่าตีนเขา ซึ่งบางครั้งก็เห็นเปลวไฟด้วย เวลาที่ฝนตกหนัก ภูเขาหลังม่านน้ำ เปี่ยมด้วยรัศมีพลังชีวิต หลังฝนซา เมฆขาวก้อนใหญ่ลอยเรี่ยอยู่รอบๆ ราวกับมาชุมนุมสังสรรค์ พอตกค่ำ แมลงตัวใหญ่ๆ อย่างผีเสื้อกลางคืนตัวเท่าฝ่ามือ หรือ ตั๊กแตนกิ่งไม้ยาวกว่าคืบ แวะมาเยี่ยมเยือนเป็นประจำ (รวมทั้งตุ๊กแกตัวอ้วนที่วิ่งเร็วจนน่ากลัว)

แน่นอน ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากมีบ้านอยู่ใกล้ภูเขา
แต่ในความเป็นจริง บ้านที่รอวันปลูกของผมอยู่ใกล้ทะเล ที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

จากเชียงใหม่มาเพชรบุรี ระยะทางประมาณพันกิโลเมตร สมัยก่อนไม่ว่าจะรถส่วนตัวหรือรถโดยสาร ก็ต้องวิ่งสายเอเชียผ่านกรุงเทพฯ แล้วเข้าเส้นพระรามสองเพื่อตัดลงใต้ที่ถนนเพชรเกษม

เดี๋ยวนี้มีเส้นทางลัดจากนครสวรรค์ วิ่งสายเอเชียตัด เข้าอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท มุ่งตรงเข้าสุพรรณ จากสุพรรณไปอำเภออู่ทองเข้าเส้นมาลัยแมน ผ่านนครปฐม-ราชบุรี ไปเข้าเส้นเพชรเกษมที่วังมะนาวแล้วเข้าสู่เพชรบุรีตามลำดับ

หลังปรับปรุงถนนสายเอเชียจากนครสวรรค์ถึงกรุงเทพฯ  และเส้นเพชรเกษมจากเพชรบุรีไปหัวหิน ทำให้ถนนสายนี้สะดวกขึ้นมาก ขับเรื่อยๆ สบายๆ ก็ราว 12 ชั่วโมง

รถทัวร์สายเชียงใหม่-หัวหิน นับเป็นการมองการณ์ไกลอย่างถูกจังหวะ
ผมคงจะจำรถทัวร์สายนี้ตลอดไป เพราะเมื่อครั้งที่เปิดบริการใหม่ๆ รถทัวร์เที่ยวกลางวัน(ไปเช้าถึงค่ำ)เที่ยวแรก มีผมเป็นผู้โดยสารคนแรกและคนเดียว จนกระทั่งถึงนครสวรรค์ ถนนเพชรเกษมขยายกว้างขึ้น การคมนาคมสะดวกขึ้น แต่บางสิ่งหายไป

เมื่อก่อนนี้ หากออกจากอำเภอท่ายางมุ่งตรงไปอำเภอชะอำ จะต้องผ่าน “สี่แยกเขื่อน” ที่แยกนี้ถ้าเลี้ยวขวาจะไปเขื่อนแก่งกระจาน แต่ถ้าเลี้ยวซ้ายจะสิ้นสุดที่ทะเล-หาดปึกเตียน เมื่อก่อนที่นี่เป็นสี่แยกไฟแดงที่รถโดยสารทุกคันต้องจอดเพื่อรับส่งคน ทว่าปัจจุบัน การขยายถนนเพชรเกษมได้สร้างสะพานข้ามแยก ทำให้รถโดยสารวิ่งใหม่ๆ บางคัน ไม่รู้จักแยกนี้เสียแล้ว คาดว่าอีกไม่นาน แยกเขื่อนคงหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นหลัง

จากแยกเขื่อน เลี้ยวซ้ายเลียบคลองชลประทานมุ่งตรงสู่ทะเล สองข้างทางเป็นท้องนาและสวนผัก ที่บ้านรอปลูกของผมอยู่ห่างออกไปประมาณหกกิโลเมตร

ที่สามงานติดถนนถมดินแล้ว นอนรอวันกลายร่างเป็นบ้าน เวลาที่ยืนมองมัน ผมทั้งภูมิใจ ทั้งวาดหวัง ทั้งหวาดหวั่น ทั้งรอคอย

ผ่านไปสามปี ดินที่ถมแน่นขึ้นมาก ตะไคร้ มะนาว พริก กล้วย ที่คุณยายของภรรยาปลูกทิ้งไว้ขึ้นงามดีเหลือเกิน  ทว่า เสาบ้านต้นแรกจะขึ้นเมื่อไร คงมีแต่เทวดาเท่านั้นที่รู้
“...จะเป็นนักเขียน อย่าหวังรวย ถ้าอยากรวยไปทำอย่างอื่น อาว์เขียนจนสี่สิบกว่าจะได้มีบ้านหลังนี้...”
ท่านผู้นั้นเคยบอกผมไว้ แต่ผมก็ยังหวังว่า ผมคงจะมีบ้านก่อนอายุสี่สิบ

หลายปีมานี้ ชีวิตผมผกผันน้อยลงไปมาก แม้ยังลุ่มๆ ดอนๆ ไส้แห้งบ้าง ไส้เปียกบ้าง ตามประสา แต่ก็ไม่ถึงกับยากแค้นแสนเข็ญ จะว่าไป หลายอย่างก็เริ่มลงตัว แม้ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

วันหนึ่ง แม่ยายยื่นข้อเสนอให้กลับมาอยู่บ้าน เพราะแกทำบ้านใหม่จากบ้านไม้ยกพื้นสูง ก็เทพื้น ทำห้องครัว ทำห้องนอนไว้ให้ ประกอบกับภรรยาผมก็เป็นห่วงแกที่ต้องอยู่คนเดียว
“...ดีสิวะ บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ เศรษฐกิจอย่างนี้ กลับไปหาฐานที่มั่น ชัวร์กว่า...” ที่ปรึกษาเจ้าประจำของผมสนับสนุนความคิดเต็มที่

คิดสะระตะคำนวณดูแล้ว ก็เข้าทีดีเหมือนกัน แม้จะไม่สะดวกสบายเท่าเชียงใหม่ แต่ก็ประหยัดกว่ามาก ที่สำคัญ คนแถวนั้น มีสีสัน colorful อย่างหาที่ใดเสมอเหมือน

อยากรู้ว่าคนเพชรบุรีเป็นอย่างไร ก็ลองหาเรื่องสั้นชุด “ผู้เฒ่า” ของมนัส จรรยงค์ มาอ่านดู
คือคนดีๆ ก็มีไม่น้อย แต่คนกิเลสหนามักจะเป็นวัตถุดิบที่ดีสำหรับการเขียน

การย้ายบ้านครั้งสุดท้ายของผมเตรียมตัวประมาณหนึ่งสัปดาห์ ใช้บริการรถตู้ถอดเบาะนั่งออก ซึ่งขนของได้มากกว่ารถกระบะ คนขับเป็นคุณลุงคนชัยภูมิที่มาอยู่เชียงใหม่สี่สิบกว่าปี อู้คำเมืองเนียนจนจับไม่ได้ แกขออนุญาตพาเพื่อนวัยเดียวกันไปด้วยคนหนึ่ง เพื่อจะได้ผลัดกันขับ
“ทางมันยาว...ผลัดกันขับไป ทะเลาะกันไป จะได้ไม่ง่วง” แกว่างั้น

พอรถออก ผมเห็นจริงอย่างที่แกว่า เพราะคุณลุงสองคน ขับรถกันคนละแบบ นิสัยไปกันคนละทาง ลุงเจ้าของรถเป็นคนใจเย็น ขับไปช้าๆ แบบเก้าสิบถึงร้อย แต่เพื่อนแกใจร้อน บอกให้แซงแล้วไม่ยอมแซงก็บ่น ทะเลาะกันแบบขำๆ ไปตลอดทาง พอเพื่อนแกได้โอกาสขับ ก็เหยียบไปร้อยยี่สิบร้อยสามสิบ จนเจ้าของรถโวยวายลั่น

แต่แม้จะตีนหนัก แกก็มีอารมณ์ขันแบบหน้าตาย
“เราไปทางเมียวดีก็ได้นะ” แกแนะนำผม เมื่อรถผ่านสี่แยกที่บอกทางไปพม่า
“ไปเมียวดี...ไปทำไมครับ?” ผมพาซื่อ
“ก็ทะลุเข้าพม่าไง ไปดูเขายิงกันก่อน ค่อยทะลุกลับมา” แกพูดหน้าตาเฉย

ออกจากเชียงใหม่เก้าโมงเช้า ถึงเพชรบุรีสามทุ่มกว่า กว่าจะจัดของเสร็จ กว่าจะอาบน้ำ กว่าจะเข้านอนก็เกือบเที่ยงคืน
ผมยังไม่ได้เห็นทะเล
แต่คิดถึงภูเขาเสียแล้ว

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…