Skip to main content

ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่จิตใจยังถูกครอบงำด้วยความโรแมนติก

เช่นเดียวกับหลายคน ผมฝันถึงบ้านที่มองเห็นภูเขา ฟ้ากว้าง ได้เฝ้ามองหมู่เมฆเคลื่อนคล้อย อาบกายด้วยแสงอัสดงทุกวัน
หรือ บ้านที่อยู่ริมทะเล เห็นเส้นขอบฟ้าไร้จุดสิ้นสุด ไกวเปลตามลมเห่ ต้นมะพร้าวโยกเอน นอนฟังเสียงคลื่นกล่อมชั่วกาล

ทว่าในบริบทของชีวิต ผู้ที่สามารถมีบ้านอย่างที่ฝันมีไม่มากเลย ทั้งเมื่อมีแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะแต่งเติมภาพฝันจนเสร็จจริง คนที่ให้ค่ากับความฝันสูงยิ่งทั้งไม่ยอมให้ความยากลำบากในชีวิตจริงมาบั่นทอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้รับที่พำนักของหัวใจชั่วชีวิต

เงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน นั่นรวมถึงความยืดหยุ่นในการวางกรอบคั่นระหว่างความฝันกับความจริงด้วย

หลังความล้มเหลวจากการทำร้านอาหารเมื่อหลายปีก่อน ความโรแมนติกอำลาจากผมไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่มานั่งทานข้าวด้วยกัน ไม่มาตอนที่อยากฝันกลางวัน ไม่ปรากฏแม้ในฝันตอนกลางคืน

ตอนนั้นผมได้แต่สงสัยว่า ความจริงของชีวิตไล่มันไป หรือ มันกลายร่างเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว...?
อาจจะกลายเป็นไข่ ที่รอวันฟักเป็นตัว
ซึ่งคงไม่ใช่นกสีรุ้ง

ผมไปๆ มาๆ ระหว่าง เพชรบุรี-สุพรรณบุรี-กรุงเทพฯ อยู่หลายรอบ คลำไปในอนาคตมืดๆ หาหนทางสร้างเนื้อสร้างตัวแต่ไม่พบ คำทักของหมอดูที่ว่า “...ตกดวงพระรามเดินดง...”  ผมจำได้ขึ้นใจเพราะไม่รู้เมื่อไรจะได้ออกจากป่าหิมพานต์คืนกลับพระนครเสียที

แม้ว่าที่บ้านของภรรยา จะมีที่ถมแล้วรอให้มาปลูกบ้าน แต่ในเมื่อยังไร้ทุนรอน ผมจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ทางเหนือ เผื่อชีวิตมันจะ“เหนือ” ขึ้นบ้าง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความคิดจะกลับไปอยู่ที่นั่น ไม่อยู่ในหัวผมเลย
ผมชอบทั้งภูเขา และทะเล แต่ถ้าให้เลือก ผมเลือกภูเขา
บ้านเช่าที่ลำพูน ไม่เห็นภูเขา แต่ถ้าออกมาห่างจากหมู่บ้านสักหน่อย จะเห็นทิวเขาทางไปอำเภอแม่ทา

ขณะที่ ที่พำนักของผมในเชียงใหม่ มองเห็นภูเขาชัดเจน หน้าร้อน เห็นควันไฟจากป่าตีนเขา ซึ่งบางครั้งก็เห็นเปลวไฟด้วย เวลาที่ฝนตกหนัก ภูเขาหลังม่านน้ำ เปี่ยมด้วยรัศมีพลังชีวิต หลังฝนซา เมฆขาวก้อนใหญ่ลอยเรี่ยอยู่รอบๆ ราวกับมาชุมนุมสังสรรค์ พอตกค่ำ แมลงตัวใหญ่ๆ อย่างผีเสื้อกลางคืนตัวเท่าฝ่ามือ หรือ ตั๊กแตนกิ่งไม้ยาวกว่าคืบ แวะมาเยี่ยมเยือนเป็นประจำ (รวมทั้งตุ๊กแกตัวอ้วนที่วิ่งเร็วจนน่ากลัว)

แน่นอน ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากมีบ้านอยู่ใกล้ภูเขา
แต่ในความเป็นจริง บ้านที่รอวันปลูกของผมอยู่ใกล้ทะเล ที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

จากเชียงใหม่มาเพชรบุรี ระยะทางประมาณพันกิโลเมตร สมัยก่อนไม่ว่าจะรถส่วนตัวหรือรถโดยสาร ก็ต้องวิ่งสายเอเชียผ่านกรุงเทพฯ แล้วเข้าเส้นพระรามสองเพื่อตัดลงใต้ที่ถนนเพชรเกษม

เดี๋ยวนี้มีเส้นทางลัดจากนครสวรรค์ วิ่งสายเอเชียตัด เข้าอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท มุ่งตรงเข้าสุพรรณ จากสุพรรณไปอำเภออู่ทองเข้าเส้นมาลัยแมน ผ่านนครปฐม-ราชบุรี ไปเข้าเส้นเพชรเกษมที่วังมะนาวแล้วเข้าสู่เพชรบุรีตามลำดับ

หลังปรับปรุงถนนสายเอเชียจากนครสวรรค์ถึงกรุงเทพฯ  และเส้นเพชรเกษมจากเพชรบุรีไปหัวหิน ทำให้ถนนสายนี้สะดวกขึ้นมาก ขับเรื่อยๆ สบายๆ ก็ราว 12 ชั่วโมง

รถทัวร์สายเชียงใหม่-หัวหิน นับเป็นการมองการณ์ไกลอย่างถูกจังหวะ
ผมคงจะจำรถทัวร์สายนี้ตลอดไป เพราะเมื่อครั้งที่เปิดบริการใหม่ๆ รถทัวร์เที่ยวกลางวัน(ไปเช้าถึงค่ำ)เที่ยวแรก มีผมเป็นผู้โดยสารคนแรกและคนเดียว จนกระทั่งถึงนครสวรรค์ ถนนเพชรเกษมขยายกว้างขึ้น การคมนาคมสะดวกขึ้น แต่บางสิ่งหายไป

เมื่อก่อนนี้ หากออกจากอำเภอท่ายางมุ่งตรงไปอำเภอชะอำ จะต้องผ่าน “สี่แยกเขื่อน” ที่แยกนี้ถ้าเลี้ยวขวาจะไปเขื่อนแก่งกระจาน แต่ถ้าเลี้ยวซ้ายจะสิ้นสุดที่ทะเล-หาดปึกเตียน เมื่อก่อนที่นี่เป็นสี่แยกไฟแดงที่รถโดยสารทุกคันต้องจอดเพื่อรับส่งคน ทว่าปัจจุบัน การขยายถนนเพชรเกษมได้สร้างสะพานข้ามแยก ทำให้รถโดยสารวิ่งใหม่ๆ บางคัน ไม่รู้จักแยกนี้เสียแล้ว คาดว่าอีกไม่นาน แยกเขื่อนคงหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นหลัง

จากแยกเขื่อน เลี้ยวซ้ายเลียบคลองชลประทานมุ่งตรงสู่ทะเล สองข้างทางเป็นท้องนาและสวนผัก ที่บ้านรอปลูกของผมอยู่ห่างออกไปประมาณหกกิโลเมตร

ที่สามงานติดถนนถมดินแล้ว นอนรอวันกลายร่างเป็นบ้าน เวลาที่ยืนมองมัน ผมทั้งภูมิใจ ทั้งวาดหวัง ทั้งหวาดหวั่น ทั้งรอคอย

ผ่านไปสามปี ดินที่ถมแน่นขึ้นมาก ตะไคร้ มะนาว พริก กล้วย ที่คุณยายของภรรยาปลูกทิ้งไว้ขึ้นงามดีเหลือเกิน  ทว่า เสาบ้านต้นแรกจะขึ้นเมื่อไร คงมีแต่เทวดาเท่านั้นที่รู้
“...จะเป็นนักเขียน อย่าหวังรวย ถ้าอยากรวยไปทำอย่างอื่น อาว์เขียนจนสี่สิบกว่าจะได้มีบ้านหลังนี้...”
ท่านผู้นั้นเคยบอกผมไว้ แต่ผมก็ยังหวังว่า ผมคงจะมีบ้านก่อนอายุสี่สิบ

หลายปีมานี้ ชีวิตผมผกผันน้อยลงไปมาก แม้ยังลุ่มๆ ดอนๆ ไส้แห้งบ้าง ไส้เปียกบ้าง ตามประสา แต่ก็ไม่ถึงกับยากแค้นแสนเข็ญ จะว่าไป หลายอย่างก็เริ่มลงตัว แม้ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

วันหนึ่ง แม่ยายยื่นข้อเสนอให้กลับมาอยู่บ้าน เพราะแกทำบ้านใหม่จากบ้านไม้ยกพื้นสูง ก็เทพื้น ทำห้องครัว ทำห้องนอนไว้ให้ ประกอบกับภรรยาผมก็เป็นห่วงแกที่ต้องอยู่คนเดียว
“...ดีสิวะ บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ เศรษฐกิจอย่างนี้ กลับไปหาฐานที่มั่น ชัวร์กว่า...” ที่ปรึกษาเจ้าประจำของผมสนับสนุนความคิดเต็มที่

คิดสะระตะคำนวณดูแล้ว ก็เข้าทีดีเหมือนกัน แม้จะไม่สะดวกสบายเท่าเชียงใหม่ แต่ก็ประหยัดกว่ามาก ที่สำคัญ คนแถวนั้น มีสีสัน colorful อย่างหาที่ใดเสมอเหมือน

อยากรู้ว่าคนเพชรบุรีเป็นอย่างไร ก็ลองหาเรื่องสั้นชุด “ผู้เฒ่า” ของมนัส จรรยงค์ มาอ่านดู
คือคนดีๆ ก็มีไม่น้อย แต่คนกิเลสหนามักจะเป็นวัตถุดิบที่ดีสำหรับการเขียน

การย้ายบ้านครั้งสุดท้ายของผมเตรียมตัวประมาณหนึ่งสัปดาห์ ใช้บริการรถตู้ถอดเบาะนั่งออก ซึ่งขนของได้มากกว่ารถกระบะ คนขับเป็นคุณลุงคนชัยภูมิที่มาอยู่เชียงใหม่สี่สิบกว่าปี อู้คำเมืองเนียนจนจับไม่ได้ แกขออนุญาตพาเพื่อนวัยเดียวกันไปด้วยคนหนึ่ง เพื่อจะได้ผลัดกันขับ
“ทางมันยาว...ผลัดกันขับไป ทะเลาะกันไป จะได้ไม่ง่วง” แกว่างั้น

พอรถออก ผมเห็นจริงอย่างที่แกว่า เพราะคุณลุงสองคน ขับรถกันคนละแบบ นิสัยไปกันคนละทาง ลุงเจ้าของรถเป็นคนใจเย็น ขับไปช้าๆ แบบเก้าสิบถึงร้อย แต่เพื่อนแกใจร้อน บอกให้แซงแล้วไม่ยอมแซงก็บ่น ทะเลาะกันแบบขำๆ ไปตลอดทาง พอเพื่อนแกได้โอกาสขับ ก็เหยียบไปร้อยยี่สิบร้อยสามสิบ จนเจ้าของรถโวยวายลั่น

แต่แม้จะตีนหนัก แกก็มีอารมณ์ขันแบบหน้าตาย
“เราไปทางเมียวดีก็ได้นะ” แกแนะนำผม เมื่อรถผ่านสี่แยกที่บอกทางไปพม่า
“ไปเมียวดี...ไปทำไมครับ?” ผมพาซื่อ
“ก็ทะลุเข้าพม่าไง ไปดูเขายิงกันก่อน ค่อยทะลุกลับมา” แกพูดหน้าตาเฉย

ออกจากเชียงใหม่เก้าโมงเช้า ถึงเพชรบุรีสามทุ่มกว่า กว่าจะจัดของเสร็จ กว่าจะอาบน้ำ กว่าจะเข้านอนก็เกือบเที่ยงคืน
ผมยังไม่ได้เห็นทะเล
แต่คิดถึงภูเขาเสียแล้ว

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
แกชื่อยายอิ่ม ผู้เคยเฉิดฉายในวงสังคม เพราะคัดสรรเฉพาะสามีรวย หนีออกจากบ้านไปมีผัวตั้งแต่อายุสิบสอง ผ่านมาสี่สิบกว่าปี มีผัวมากี่คน คงนับได้ยากเสียแล้ว พอยายอิ่มแก่ตัวลูกก็หนีหาย ต่างคนต่างไป ไม่มีใครเลี้ยง สุดท้าย แกคว้าตาหงอก ผู้(อ้างว่า)เป็นผู้ดีเก่ามาไว้หาเลี้ยงจนได้ สมัยสาวๆ ยายอิ่มได้มรดกจากพ่อแม่ไปเยอะ แต่ขายกินจนหมด แกมีชื่อเสียงมากด้านความคด ในข้องอในกระดูก ถึงขนาดที่ แม้แต่พี่น้องด้วยกันก็ยังโดน จนต้องตัดพี่ตัดน้องกันนั่นแหละ ในที่สุด พอแก่ตัวไม่มีที่จะอยู่ ต้องมาบีบน้ำตาขอที่จากแม่เฒ่า ซึ่งแม่เฒ่าแกก็ค่อยอยากจะให้ เพราะให้ไปมากแล้ว (แต่เอาไปขายกินหมด)…
ฐาปนา
นี่คือตลาดนัดประจำตำบล ที่เปิดมายาวนานหลายสิบปี ในละแวกใกล้เคียง 3-4 ตำบล เป็นที่รู้กันว่า ถ้า “นัดวันอาทิตย์” ก็ต้องมาที่นี่ ในระดับอำเภอ ตลาดนัดวันอาทิตย์ตอนเช้าของที่นี่ น่าจะใหญ่ที่สุด คึกคักที่สุด ลานกว้างพื้นที่หลายไร่ข้างวัด มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งสินค้ากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า พอเริ่มสว่าง คนก็เริ่มมา หกโมงถึงเจ็ดโมงเช้า เป็นช่วงเวลาที่คนกำลังเยอะ เพราะมีของให้เลือกมาก และแดดยังไม่ร้อน ก่อนที่ตลาดจะเริ่มวายประมาณแปดโมง จอดรถที่ข้างตลาด หรือ ถ้าไม่อยากเบียดเสียดก็ไปจอดในวัด บรรยากาศคึกคักของตลาดเห็นได้แต่ไกล ซอยอาหารทะเลตรงกับทางเข้าด้านที่ตรงมาจากวัด มีคนพลุกพล่านที่สุด…
ฐาปนา
ทุกเช้า ประมาณตีสี่ครึ่ง หอกระจายข่าวกลางหมู่บ้านจะเปิดข่าวเช้า(มืด)จากสถานีวิทยุของจังหวัด เป็นสัญญาณให้ทุกบ้านตื่นนอน เตรียมตัวมาปฏิบัติภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่บาตร เตรียมตัวรอขึ้นรถไปโรงเรียน เตรียมตัวรอขึ้นรถไปทำงาน ใครไม่ตื่นก็ต้องตื่น เพราะเสียงดังจนตามเข้าไปถึงในฝัน รายการเช้ามืด เริ่มต้นด้วยเพลงปลุกใจให้ยึดมั่นในสถาบัน แล้วตามด้วยธรรมเสวนา จากเจ้าอาวาสวัดที่เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด ตามด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร การทำมาหากิน โครงการต่างๆ จากรัฐบาล และ การปฏิบัติงานของหน่วยงานในจังหวัด
ฐาปนา
เช้าตรู่ของวันอากาศดีเสียงตามสายประกาศให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกันตอนบ่ายโมงตรง ณ ศาลาของหมู่บ้านพอบ่ายโมงครึ่ง สมาชิกสหกรณ์ฯ ก็มากันพร้อมหน้าเจ้าหน้าที่สหกรณ์มากันสามคน คนที่ดูอาวุโสกว่าใคร พูดมากกว่าใคร และเรียกเสียงหัวเราะได้มากกว่าใคร เป็นหัวหน้าชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมได้รับกระดาษคนละหนึ่งแผ่น ปากกาคนละหนึ่งด้าม อ่านดู ก็เห็นว่าเป็นแบบฟอร์มสำรวจเรื่อง “ความพอเพียงในครัวเรือน”
ฐาปนา
ที่นี่อยู่ไม่ห่างจากทะเล ป่าและเขาก็อยู่ไม่ไกล มีคลองส่งน้ำจากเขื่อนผ่านพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำนาได้ปีละสองครั้ง ด้านป่าบนติดเขื่อน เขาปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ได้ผลที่มีรสชาติไม่น้อยไปกว่าทางภาคใต้หรือทางภาคตะวันออก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ถนัดปลูกผัก เพราะเก็บขายได้ตลอดทั้งปี แต่ละวันจะมีรถสิบล้อขนผักผลไม้ วันละหลายสิบคันวิ่งจากตำบลต่างๆ ในอำเภอ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ พระประแดง สมุทรปราการ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ฯลฯ พร้อมด้วยผลิตผลทางการเกษตรสารพัดอย่าง ตั้งแต่ของจำเป็นในครัวอย่าง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริก หอม กระเทียม ไปจนถึงผักเจ้าประจำบนแผงผักทั้ง กะเพราะ โหระพา สะระแหน่ บวบ…
ฐาปนา
ดั้งเดิม ก่อนที่แต่ละบ้านจะมีเอกสารกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินของตัวเอง บ้านส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “รั้ว” อย่างเป็นทางการ เพราะแต่ละบ้านในละแวกก็ล้วนพี่น้อง หรือนับไปนับมาก็ญาติกันทั้งนั้น อาจปลูกต้นไม้เป็นแนวให้บอกได้ว่าเป็นแดนใคร แต่จะถึงขั้นปักเสาขึงลวดหนาม หรือก่อกำแพงล้อมนั้นน้อยราย เพราะถือเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเงิน เขตบ้านใครก็บ้านมัน ถึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถึงไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ไม่ก้าวก่ายกันอยู่แล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครคนหนึ่งเกิดอยากทำเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตน จากที่เคยชี้นิ้วบอกว่านี่เขตใคร การออกเอกสารสิทธิ์…
ฐาปนา
วัยเยาว์ของเธอ ขณะที่หัวใจครึ่งหนึ่งเปี่ยมด้วยความฝันและความหวัง ทะเยอทะยานปรารถนา แต่หัวใจอีกครึ่งกลับอ่อนไหว บอบช้ำง่าย ทั้งยังอ่อนด้อยต่อโลกแห่งเหตุผล อนาคตเลือนลางอยู่ในความฝันยามหลับ และวนเวียนอยู่ในความคิดยามตื่น เธอร่ำร้องหาบางสิ่งบางอย่างที่เธอไม่อาจบอกได้ มองไม่เห็น ไม่รู้จุดเริ่มต้น ไม่รู้จุดสิ้นสุด พลังสร้างสรรค์ของเธอฟุ้งกระจาย ไร้ทิศทาง เมื่อคำว่า ความพร้อม อยู่ห่างจากความเข้าใจ เธอจึงได้แต่ก่นโทษตนเองอยู่เป็นนิจ เธอร่อนเร่ไปในเมืองของผู้อื่น จากเมืองสู่เมือง แลกความเพียรกับเงินเลี้ยงชีพ ยิ้มแย้มให้คำดูหมิ่นเพื่อจะได้เห็นเกียรติของตนเสื่อมค่าลง
ฐาปนา
(มะพร้าวกะทิ)ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาดฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวแต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผมอาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ…
ฐาปนา
แกชื่อยายหอม เป็นคนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีแม่ของแกมีเชื้อลาวพวน พ่อของแกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน แต่เดิมแกอยู่ตำบลอื่น แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ แกเป็นคนรุ่นแรกที่มาหักร้างถางพงทำไร่ทำนาหมู่บ้านยุคบุกเบิก มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า สัตว์ป่าชุกชุม เข้าป่าเจอเสือ หรือเสือแอบเข้ามากินวัวในหมู่บ้าน เป็นเหตุการณ์ประจำวัน คอกวัวสมัยนั้น ต้องกั้นเป็นฝาจึงพอกันเสือได้ ชาวบ้านกินเนื้อเก้ง เนื้อกวาง เนื้อไก่ป่า บ่อยกว่าเนื้อหมู หนองน้ำเต็มไปด้วยปลาตัวโตๆ ตะพาบตัวเท่ากระด้ง เรื่องผีสางนางไม้อยู่แนบชิดชุมชนมากกว่าเรื่องวัดเรื่องพระแกเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นแกยังเป็นสาว…
ฐาปนา
ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่จิตใจยังถูกครอบงำด้วยความโรแมนติกเช่นเดียวกับหลายคน ผมฝันถึงบ้านที่มองเห็นภูเขา ฟ้ากว้าง ได้เฝ้ามองหมู่เมฆเคลื่อนคล้อย อาบกายด้วยแสงอัสดงทุกวัน หรือ บ้านที่อยู่ริมทะเล เห็นเส้นขอบฟ้าไร้จุดสิ้นสุด ไกวเปลตามลมเห่ ต้นมะพร้าวโยกเอน นอนฟังเสียงคลื่นกล่อมชั่วกาลทว่าในบริบทของชีวิต ผู้ที่สามารถมีบ้านอย่างที่ฝันมีไม่มากเลย ทั้งเมื่อมีแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะแต่งเติมภาพฝันจนเสร็จจริง คนที่ให้ค่ากับความฝันสูงยิ่งทั้งไม่ยอมให้ความยากลำบากในชีวิตจริงมาบั่นทอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้รับที่พำนักของหัวใจชั่วชีวิตเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน…
ฐาปนา
เสียงจักจั่นกรีดปีกจากป่าเชิงดอย ฝ่าไอแดดร้อนมาถึงเคหะสถานเงียบงัน รถกระบะบรรทุกหนุ่มสาวร่างเปียกปอนยืนล้อมถังน้ำใบใหญ่แล่นผ่านไปหญิงชราถือสายยางเดินออกมาหน้าบ้าน ฉีดน้ำใส่พื้นถนน ไอน้ำระเหยขึ้นเด็กๆ หิ้วถังพลาสติก ขัน ปืนฉีดน้ำ มองสองข้างทางอย่างมีความหวังร้านขายน้ำปั่น น้ำแข็งไส ขายดีจนต้องสั่งน้ำแข็งเพิ่มในช่วงบ่ายเจ้าของโรงทำน้ำแข็ง หน้าบาน แต่ลูกจ้างหน้าเหี่ยว เพราะข้าวสารขึ้นราคาลิตรละหลายบาทแต่ค่าแรงเท่าเดิม    ดวงอาทิตย์กลับมาอยู่ใกล้ชิดโลก เหมือนคนรักที่ได้เจอกันแค่ปีละครั้งมวลอากาศอบอ้าวเข้าเกาะกุมผิว ยึดทุกรูขุมขน เหงื่อเค็มถูกขับซึมเสื้อ เหนอะหนะ…
ฐาปนา
“...ทว่าการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ครั้งนี้ต้องอาศัยปัญญามหาศาล ความกล้าหาญมหึมา และความมุ่งมั่นเหลือคณา เพราะความกลัวจะจู่โจมถึงแกนกลางของแนวคิดนี้ และป่าวร้องว่าผิดพลาด ความกลัวจะกัดกินเข้าไปยังแก่นแห่งสัจธรรมล้ำเลิศและแปลงให้เป็นเรื่องเท็จเทียม ความกลัวจะบิดเบือน และทำลาย ฉะนั้นความกลัวจะเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุด ทว่าเธอไม่อาจมีและไม่อาจสร้างสังคมที่ปรารถนาและใฝ่ฝันมาช้านานจนกว่าจะเห็นปัญญาและกระจ่างชัดถึงปรมัตถ์สัจจ์ที่ว่า สิ่งที่เธอทำแก่ผู้อื่นเธอก็ได้ทำแก่ตัวเอง สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่น เธอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเอง ว่าความเจ็บปวดของผู้อื่น ก็คือความเจ็บปวดของตัวเธอ…