มนุษย์เกิดมาก็ต้องเรียนรู้ทั้งนั้น
สิ่งที่เรียนรู้ในโลก พอเรียนรู้มากเข้าๆ ก็สำคัญยึดมั่น
ถือเป็นทิฎฐิความเห็นว่าถูก ว่าใช่
ยิ่งคนที่ปักใจมั่นไม่ยอมลดทิฎฐิก็จะค้าน
ไม่ยอมรับ ไม่ปรับตัว เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
โลกทรรศน์ของเขาจึงแคบ
และมองไม่เห็นความรู้ใหม่ๆ ที่จะมาสอนตนเอง
เพราะอะไร? เพราะมันมีการสำคัญตนตั้งแต่ต้น
ว่ามันเป็นของๆ กู มันเลยมีการยึดถือสิ่งนั้นๆ ไว้
ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง จนกลายเป็นการเบียดเบียน
เอาทิฎฐิของตน กดข่ม บ่มเพาะคนอื่นๆ
บางความเชื่อจึงต้องพิจารณาตามกาลามสูตร
พระพุทธองค์สอนไม่ให้เชื่อด้วยหลัก 10 ประการ
อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา
อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา
อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา
อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง
อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา
อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ
อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้
อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
ที่ว่าไม่ให้เชื่อ คือ "อย่าเพิ่งเชื่อ"
คือให้ใช้สติปัญญาพิจารณาหาเหตุผลตามความเป็นจริง
แล้วเอาสัจธรรมเป็นตัวบอกว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ
ทั้งทางกายวาจาใจ
สิ่งที่ถูกอาจไม่ถูก
สิ่งที่ผิดอาจไม่ผิด
เพราะเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปมาตามกฏเกณฑ์ บรรทัดฐานสังคม
ย่อมต้องมีการพัฒนาการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง
ดังนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะเคร่งเครียดกับทิฎฐิความรู้ความเห็น
จนกลายเป็นเชื้อไฟแห่งความจองเวรอาฆาตจงเกลียดชิงชังกันและกัน
ควรลดตัวตนลง เพื่อปรับและเรียนรู้ความรู้ความเห็นใหม่ๆ
โลกทรรศน์จะได้กว้างขึ้น รอบขึ้น
ความเป็นมนุษย์จะได้ไม่หายไป พร้อมกับทิฎฐิที่ชูงวงทุกคืนวัน