ฮิปโปน้อย บรมสุขเกษม
อันโตนีโอ กรัมชี่ เป็นนักมาร์กซิสต์ชาวอิตาลี ซึ่งเป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน รวมไปถึงเป็นนักสังคมนิยม เขาเคยติดคุกถึง 10 ปี ในช่วงปี 1926-1935 จากการที่หัวหน้าพรรคฟาสซิสต์ขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองในอิตาลี จนทำให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ถูกกวาดล้างและจับกุม ในช่วงที่กรัมชี่ติดคุกอยู่นั้น เขาได้มีผลงานการเขียนบทความหลาหลายประเด็นในขณะนั้น โดยเรียกบทความที่กรัมชี่เขียนในคุกว่า “สมุดบันทึกจากคุก”(Prison Notebook)
จากสมุดบันทึกในคุกของกรัมชี่ มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่พูดถึงเรื่องความคิดและจิตสำนึกของมนุษย์ โดยกรัมชี่พยายามชี้ให้เห็นว่า การที่คนในสังคมดำรงอยู่ในรัฐ ชนชั้นปกครองของรัฐมักจะตีกรอบทางความคิดให้ประชาชนในรัฐ ซึ่งเป็นเหมือนการวางยาให้ประชาชนในรัฐคล้อยตามจนเชื่อง เพื่อจะได้ปกครองง่ายๆ อย่างเช่น การนำเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือ เพื่อลดทอนการต่อสู้ทางชนชั้น ในรูปแบบของการคำสอนที่ว่า มันเป็นเรื่องเวรกรรม พระเจ้าเป็นผู้กำหนด เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ดังนั้นเราจงควรมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่ อย่าได้คิดจะเปลี่ยนแปลงสังคม การครอบงำให้คนในสังคมเชื่องนั้น ก็จะผ่านสื่อกลางทาง วัด โรงเรียน สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ ฯลฯ
กรัมชี่ได้กล่าวถึงความคิดของมนุษย์ไว้ว่า ในสมองของคนเรานั้น จะมีความคิดกระแสหลักของชนชั้นปกครองตีกรอบไว้ ซึ่งเรียกว่าความคิดกระแสหลัก โดยความคิดกระแสหลักนี้ จะถูกถ่ายทอดจากสถาบันต่างๆ ที่อยู่ในรัฐ เช่น สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา และการสื่อสารมวลชน เมื่อชนชั้นปกครองเป็นผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตในสังคม ชนชั้นปกครองย่อมได้เปรียบอยู่แล้ว ในการนำเสนอแนวความคิดของตัวเอง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง แต่สิ่งที่เป็นหลุมฝั่งกลบความคิดของชนชั้นปกครอง ที่กรัมชี่กล่าวไว้คือ วันหนึ่งหากประชาชนในสังคม เรียนรู้จากการต่อสู้ผ่านประสบการณ์ในโลกจริง คนในสังคมก็จะรู้ว่า สิ่งที่ตนเองได้รับการสั่งสอนครอบงำมาตั้งแต่เกิดนั้น มันสวนทางย้อนแย้งกับผลประโยชน์ของตนเอง คนในสังคมจะค่อยๆ ตาสว่าง จากการต่อสู้ผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐกับคนในรัฐ โดยเฉพาะเมื่อถึงคราวที่คนในรัฐลุกขึ้นมาต่อสู้ ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพและเพื่อประชาธิปไตย
จากบันทึกที่กรัมชี่ได้เขียนไว้นั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงบันทึกที่ไม่ยาวมาก แต่ก็ทำให้เราเข้าใจในเรื่องของความคิดและจิตสำนึก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากมีคนกล่าวหาว่าแรงงานนั้นขาดจิตสำนึกทางชนชั้น เพราะการจะเกิดจิตสำนึกทางชนชั้นนั้น ต้องเกิดมากจากการต่อสู้โดยตรงเท่านั้น อย่างเช่น การที่ผู้ใช้แรงงานในโรงงานประท้วงนัดหยุดงาน ประสบการณ์จากการประท้วงต่อสู้นั้น จะเป็นตัวเปลี่ยนความคิด เขาจะเห็นว่าอันที่จริงแล้วพวกเขานั้นมีพลังในการต่อสู้กับนายทุนแค่ไหน เพราะเขาจะรู้ว่าผลผลิตและกำไรเกิดจากพวกเขา ไม่ใช่ความสามารถของนายทุนหรือเงินแต่อย่างใด
หรืออีกกรณีหนึ่งที่ประชาชนลุกหือขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย การต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่เรียกตนเองว่า เป็นคนตาสว่างนั้น เป็นตัวบ่งชี้ได้ดีเลยทีเดียว เพราะเขาได้รู้แล้วว่าเขาต้องต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่กดหัวเขาอยู่ เขาเรียนรู้ผ่านการไปชุมนุม การรับทราบข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่พวกชนชั้นปกครองปิดบังไว้ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ของเสื้อแดงเอง เกิดการรวมเป็นกลุ่มเพื่อต่อสู้ในจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน เมื่อผ่านการต่อสู้ก็จะได้เห็นถึงสภาพจริงในสังคม ในการต่อสู้คนเสื้อแดงก็จะได้คำตอบ ที่ขัดกับโฆษณาชวนเชื่อและกรอบความคิดที่ฝั่งสมอง ตัวอย่างเช่น แต่ไหนแต่ไรเรามักถูกสอนว่า ทหารคือผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของชาติ แต่สิ่งที่เห็นผ่านการต่อสู้นั้นคือ ทหารคือเป็นผู้รักษาอำนาจเผด็จการให้กับชนชั้นปกครองเพียงไม่กี่คน และไม่เคยอยู่ข้างประชาชนเลย หรือคำกล่าวที่ว่าไทยนี้รักสงบ เป็นเมืองพุทธศีลธรรมดีงามมาตั้งแต่โบราณ แต่เหตุใดกลับปล่อยให้มีการฆ่ากันกลางเมือง โดยไม่มีผู้ที่อ้างว่าตนเองมีศีลธรรมสูงส่งออกมาแสดงความคิดเห็นหรือประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้นแล้วงานเขียนของกรัมชี่ในเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า จิตสำนึกทางชนชั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประชนชนลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตังเอง ประการณ์จากโลกจริงจะทลายกรอบความคิด ที่ชนชั้นปกครองคอยป้อนเราผ่านสถาบันต่างๆมาตั้งแต่เกิด และความคิดต่างๆที่ขัดแย้งอยู่ในสมองก็จะได้รับคำตอบ
เอกสารอ้างอิง: ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ. (2545). อะไรนะลัทธิมาร์คซ์ เล่ม 2. กรงเทพฯ: ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน.