Skip to main content

 

"Perpetrators of genocide in resource-poor countries are like decision makers elsewhere: they act on the basis of what they see, experience, know, and fear, not simply on the basis of what they hear—or even what they are told—on the radio.

Scott Straus, “What is the Relationship between Hate Radio and Violence? Reexamining Rwanda’s ‘Radio Machete,” Politics & Society, 35:4 (2007), p. 632

           

0 0 0 0 0 0 0 0 0

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การถกเถียงในกลุ่มเพื่อนๆใน Facebook ที่สำคัญอย่างหนึ่ง และนำไปสู่บทความหลายชิ้นในประชาไท และ http://blogazine.in.th  คือเรื่อง hate speech และความรุนแรง โดยผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมนิดหน่อย และดังนั้น จึงคิดว่าควรจะทำให้เกิดดอกออกผลเพิ่มขึ้นกับเขาบ้าง

สำหรับคนที่ติดตามการถกเถียงนั้น ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า ไม่มีใครสนับสนุนหรือเชียร์ hate speech เลย สำหรับประเด็นของผู้เขียนนั้น เพียงแต่สงสัยเรื่องการอธิบายความสัมพันธ์ของ hate speech กับอย่างอื่น

อย่างเช่นเพื่อนท่านหนึ่งอธิบายว่า  “hate speech เป็นศัตรูอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หากเห็นว่าไม่ควรถูกจำกัด แนะนำให้ไปอธิบายเรื่องเสรีภาพของ hate speech กับคน 600,000 คนที่ถูกสังหารหมู่ที่รวันดา และคนยิวกว่า 6 ล้านคนที่ถูกสังหารเพราะ hate speech” (ถาม : เขาถูกฆ่าเพราะ hate speech จริงๆหรอครับ?) “จริงค่ะ มีการทำวิจัยด้วยนะจากมหาลัย Harvard ถ้าสนใจเอาไปอ่านได้”

ต่อเนื่องจากท่านแรก อีกท่านหนึ่งถึงขึ้นสรุปว่า “Every single study on earth shows that hate speech kills. To deny that is like denying the earth is round. It's not only stupid, it's dangerous/ การทำวิจัยทุกครั้งระบุว่า hate speech นำไปสู่การสังหาร การไม่ยอมรับเรื่องดังกล่าวคือการปฏิเสธว่าโลกกลม ไม่ใช่แค่โง่เขลาเท่านั้น แต่เป็นสิงที่อันตราย”

ขณะอีกท่านหนึ่ง (คนละโพสต์กัน แต่ประเด็นเดียวกัน) ก็อธิบายว่า “การฆ่าในรวันด้ามาจาก hate speech นะคะ การสนับสนุนให้ทหารออกมาฆ่าเสื้อแดงก็มาจาก hate speech ที่ถูกปลุกเร้าก่อนหน้านั้น

ในฐานะที่มีโอกาสอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับประเด็นเหล่านี้มาบ้างนิดหน่อย ผู้เขียนเห็นว่า การอธิบายข้างต้นนั้นเป็นการมองด้านเดียวเกินไป และความสัมพันธ์ระหว่าง hate speech กับความรุนแรง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) นั้นไม่ได้ง่ายๆ อย่างที่กล่าวมา รวมทั้งกรณีรวันดา ที่ในสังคมไทยมักจะเอามาอ้างกันเสมอๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เลยขออนุญาตนำของเก่ามาขาย คือ นำบันทึกเชิงสรุปประเด็นเกี่ยวกับหนังสืองาน-ศึกษาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กรณีรวันดาที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือ The Order of Genocide: Race, Power, and War in Rwanda  ของ Scott Straus[1]  มาเผยแพร่ในที่นี้เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนต่อไป   

หนังสือ The Order of Genocide: Race, Power, and War in Rwanda
พิมพ์โดย Cornell University Press ในปี  2006

ผู้เขียนรู้จักและอ่านหนังสือเล่มนี้บางส่วน ตอนเรียนวิชาหนึ่งกับอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่ธรรมศาสตร์เมื่อหลายปีที่แล้ว และกลับมาอ่านอีกรอบตอนช่วงเหตุการณ์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่มีการนำฉากโศกนาฏกรรมของเหตุการณ์และบทบาทของวิทยุในฐานะเครื่องมือในการปลุกระดมให้คนลุกขึ้นมาฆ่ากัน มาอธิบาย ผลิตซ้ำ เพื่อเป้าหมายทางการเมือง คือ สร้างความกลัวให้กับผู้คนและต่อต้านการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง โดยอธิบายว่าความเกลียดชังเป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงหรือเป็นแรงจูงใจสำหรับผู้กระทำความรุนแรง ทั้งในกรณีทั่วไปและโดยเฉพาะในกรณีรวันดา 

คำถามหลักและวิธีการศึกษา

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเกิดขึ้นในปี 1994 หลังการลอบสังหารประธานาธิบดี Juvenal Habyarimama และคณะ ซึ่งเป็นผู้นำชาว Hutu ในวันที่ 6 เมษายน 1994 และท่ามกลางสงครามกลางเมืองกับกลุ่มกบฏ RPF (Rwandan Patriotic Front-ฝ่าย Tutsi) ซึ่ง ที่กลับมาใหม่ โดยพวกขาโหด (hardliners) ชาว Hutu ในพรรคการเมืองและกองทัพ ได้รวบอำนาจในการควบคุมรัฐไว้ ประกาศสงครามกับ “the Tutsi enemy” และใช้หน่วยกำลังทหาร พลเมืองติด ระดมฝ่ายปกครองที่เป็นพลเมือง และกระตุ้นให้ทุกคนเข้าร่วมการต่อสู้ โดยมีคำสั่งให้ “กำจัด Tutsi (eliminate Tutsi)”  โดยความรุนแรงและการฆ่านี้เกิดขึ้นและกระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ มีผู้คนธรรมดาสามัญเข้าร่วมจำนวนมาก (มีการประมาณการว่า มีผู้กระทำความรุนแรงราว 175,000-210,000 คน, 14-17 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนผู้ชายที่บรรลุนิติภาวะในขณะนั้น ) มีลักษณะ low-tech คือ ใช้เครื่องในฟาร์มธรรมดา เป็นไปอย่างเปิดเผย ต่อหน้าต่อตา ทั้งในโบสถ์ โรงเรียน สำนักงานของรัฐบาล และบนท้องถนน ทั้งนี้ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุติลงเมื่อพวก hardliners พ่ายแพ้ในสงครามกลางเมือง แม้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะกินเวลาเพียง 100 วัน แต่ผลที่ตามมา คือ พลเรือน Tutsis ถูกฆ่าตายอย่างน้อย 500,000 คน (ราว 75 เปอร์เซ็นต์ของ Tutsis ทั้งหมด) และไม่เพียงแต่ Tutsis เท่านั้น มีพลเรือน Hutus ถูกฆ่าอีกด้วยราว 10,000 คนด้วย จนมีการเรียกว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เร็วที่สุดในศตวรรษที่ 20

แน่นอน กรณีรวันดา ก็คงไม่ต่างจากกรณีอื่น ที่มีนักวิชาการที่เข้าไปศึกษาจำนวนมาก โดยมีจุดเน้น และท้ายที่สุด ข้อสรุปที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนเห็นว่างานนี้สำคัญและน่าสนใจ คือ คำถามและวิธีการศึกษา ในหนังสือเล่มนี้ Scott Straus พยายามที่จะตอบคำถามหลักว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไม  (How and why did genocide happen?) โดยมีจุดเน้นสำคัญ 3 ส่วนหลัก คือ  ประการแรก  ศึกษาพลวัตระดับท้องถิ่นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อจะตอบคำถามว่าอะไรเป็นตัวผลักดันการฆ่า ทำไมจึงมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก (ประเด็นจำนวนคนนี้มีความสำคัญในการทำความเข้าใจความรุนแรงเกิดขึ้นในรวันดา) ประการที่สอง ประเมินคำอธิบาย คือ ทฤษฎีที่พยายามอธิบายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และด้านต่างๆของมัน ที่นักเขียนบางส่วนได้เสนอไว้ และการสร้างหลักฐานอย่างเป็นระบบ และใช้ข้อมูลนั้นประเมินปัจจัยที่ผลักดันความรุนแรง ประการที่สาม พัฒนาทฤษฏีเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ที่สามารถที่จะอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ทั้งผลที่ตามมาและความเป็นจริงที่ซับซ้อนของความรุนแรง และศึกษากรณีรวันดาในฐานะกรณีทดสอบทฤษฎีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยทั่วไปด้วย

จุดเด่นของการศึกษานี้ คือ การให้ความสนใจไปที่ตัวผู้ใช้ความรุนแรง (perpetrators):บุคคลที่มีส่วนร่วมในการโจมตีพลเรือนเพื่อฆ่าให้ตายหรือทำให้เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรง  ว่าทำไมพวกเขาซึ่งเป็นประชาชนธรรมดานั้นจึงเข้าร่วมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยใน ขั้นแรก ทำการารทำการสัมภาษร์คนเหล่านั้น โดยในขั้นแรก เข้าร่วมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ()ใสำรวจผู้กระทำความรุนแรงซึ่งมีส่วนโดยตรงและเห็นการฆ่าที่เกิดขึ้น ที่ถูกลงโทษในคุกทั่วประเทศและให้การสารภาพผิด โดยเลือกสัมภาษณ์โดยวิธีการสุ่ม (สัมภาษณ์ 210 คน ในคุก 15 แห่ง) เนื่องจากต้องการข้อมูลเรื่องพลวัตรของการระดมและการมีส่วนร่วม  โดยข้อมูลชุดนี้ เป็นกระดูกสันหลังของหลักฐานในหนังสือ ขั้นที่ 2 ศึกษาเปรียบเทียบระดับไมโครของพลวัตการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน 5 พื้นที่ (คอมมูน) เพื่อดูแบบแผนของการระดม (pattern of mobilization) โดยในแต่ละพื้นที่ยังได้สัมภาษณ์ผู้รอดชีวิต เจ้าหน้าที่ และผู้นำท้องถิ่นด้วย  ขั้นที่ 3 กลับไปที่คุกใหม่ โดยการเลือกผู้ให้สัมภาษณ์ที่ถูกระบุใน 2 ขั้นตอนแรกว่าเป็นผู้นำของการฆ่าหรือนักฆ่าที่ก้าวร้าว เพื่อที่จะตรวจสอบซ้ำสอง ทั้งนี้เขาสัมภาษณ์ผู้กระทำความรุนแรงรวมทั้งหมด 230 คน (Pp.4-6)

ผู้กระทำความรุนแรงและแรงจูงใจ

            ผู้กระทำความรุนแรง เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าใจความรุนแรง เพราะท้ายที่สุดแล้ว คนที่ลงมือฆ่าหรือใช้ความรุนแรง คือ พวกเขา ไม่ใช่โครงสร้างหรืออื่นๆ ที่เหนี่ยวไกปืนหรือเหวี่ยงแขนที่กำจอบ-พร้าอยู่ไปยังเหยื่อ ดังนั้น ทำไมปัจเจกชนจึงลงมือฆ่าจึงเป็นคำถามสำคัญสำหรับคนที่อยากเข้าใจเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และคำถามนี้ก็สำคัญสำหรับกรณีรวันดาเพราะมีพลเรือนเข้าไปมีส่วนร่วมในการฆ่าจำนวนมากและมีส่วนสำคัญต่อผลที่เกิดขึ้นด้วย

            สำหรับข้อมูลผู้ใช้ความรุนแรงนั้น เป็นผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ชาว Hutu โดยทั่วไป คนที่ฆ่าส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่ม กองกำลังติดอาวุธ เยาวชนของพรรคการเมือง ที่เป็นพวกอันธพาล (Thugs) คนที่ชักจูงนำพาการโจมตี คือ คนที่มีฐานะอยู่ก่อน-ชนชั้นนำท้องถิ่น- และในการโจมตี เกือบทั้งหมด สมาชิกของรัฐจะปรากฏอยู่ด้วยเสมอ การกระทำในลักษณะรวมหมู่เป็นลักษณะสำคัญของความรุนแรงนี้ ผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงจะเข้าไปรวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งมักจะมีขนาดใหญ่ และพวกเขาจะทำการฆ่าโดยใช้กลุ่ม และมักจะอยู่ภายใต้การบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้มีสิทธิอำนาจในท้องถิ่น (p.119)

          ทั้งนี้ หนังสือได้อธิบายและแจกแจงแรงจูงใจในการฆ่าไว้ในบทที่ 5 “Why Perpetrators Say They Committed Genocide” โดยแบ่งประเภทแรงจูงใจออกเป็น 9 อย่าง ดังต่อไปนี้ 

            (1) การบีบบังคับที่มาจากภายใน Hutu กันเอง หมายถึง กรณีที่ผู้ให้สัมภาษณ์อธิบายว่ามีส่วนร่วมเพราะกลัวผลกระทบที่ตามมาในเชิงลบหรือถูกลงโทษจาก Hutu คนอื่นๆ หากไม่มีส่วนร่วม โดยผลที่ตามมาในเชิงลบนี้ นอกจากได้รับบาดเจ็บทางกายภาพและเสียชีวิตแล้ว ยังรวมทั้งความเสียหายต่อทรัพย์สินและค่าปรับที่เป็นเงิน บางคนบอกว่า การมีส่วนร่วมเป็น “หน้าที่ (obligation)” ที่ทุกคนจำเป็นต้องทำตามหรือจะเผชิญหน้ากับผลสะท้อนกลับที่รุนแรง  โดยการบีบบังคับนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการระดมที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเจอแบบซึ่งหน้า คือ ปัจเจก ผู้นำ หรือกลุ่ม ชักชวนโดยตรงให้มีส่วนร่วม ณ ศูนย์กลางการค้า บนถนน ทางเดิน หรือที่บ้าน

            (2) “การยินยอมทำตาม (obedience)” หมายถึง กรณีคนให้ผู้ให้สัมภาษณ์อธิบายว่า เข้าร่วมการโจมตีเพราะการทำอย่างนั้นเพราะเป็น “กฎ (law)” โดยเขาเน้นว่า รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้ออกคำสั่งให้อำนาจในการมีส่วนร่วมในการฆ่าต่อผู้ชาย Hutu ทุกคนที่ร่างกายทำงานได้ ดังนั้น การฆ่าจึงเป็น “กฎ (law)”  ซึ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการยอมรับทำตามกฎและเจ้าหน้าที่โดยทั่วไป

            (3) การปกป้องสมาชิกในครอบครัวที่เป็น Tutsi หรือ Tutsi ที่ซ่อนอยู่ในบ้านของเขา ในกรณีที่ผู้ให้สัมภาษณ์อธิบายว่า เนื่องจากตนเองได้ซ่อน Tutsi ไว้ จึงเข้าร่วมเพื่อที่จะปกปิดข้อพิรุธ-ความสงสัย หรือป้องกันการถูกหาว่า พวกเขากำลังปกป้อง Tutsi

            (4)  การทำตามคนอื่น (copycat) เป็นแรงจูงใจที่ผู้ให้สัมภาษณ์อธิบายว่า มีส่วนร่วมเพราะมีคนอื่นทำด้วย คือ ไปโจมตีเพราะต้องการช่วยคนอื่นหรือร่วมกับมิตรสหาย  เพราะเห็นว่าจะไม่มีอะไรตามมาหรือถูกทำให้คุ้นเคยต่อความรุนแรงที่อยู่รอบตัว  โดยผู้ให้สัมภาษณ์ที่จัดอยู่ในประเภทนี้เน้นรูปแบบของการล้อเลียนแบบ

            (5) การเข้าไปรวมในกลุ่มโดยบังเอิญ-ไม่ตั้งใจ (Accidental integration) กรณีนี้ บางคนบอกว่าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ไปดูที่เกิดความอลหม่าน และพบว่าตนเอง ถูกดึงลากเข้าไปในกลุ่มที่กำลังโจมตี บางคน บอกว่าเข้าร่วมการโจมตีโดยไม่รู้จริงๆ ว่ากำลังทำอะไรอยู่ โดยผู้สัมภาษณ์ที่จัดอยู่ในประเภทนี้จะโยงกับรูปแบบของความสับสนอลหม่าน ความไม่แน่นอนหรือความอยากรู้อย่างเห็น

            (6) การได้รับสิ่งที่เป็นวัตถุ ในกรณีนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์ อธิบายว่า  เข้าร่วมการโจมตีเพื่อที่จะขโมยปล้นชิงทรัพย์สินจาก Tutsi รวมทั้งสินค้าในบ้านและปศุสัตว์ 

            (7) ความกลัวที่โยงกับสงครามและความต้องการที่จะต่อสู้  (War-related fear and combativeness)  ในกรณีนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์บรรยายว่ากลัว RPF หรือการร่วมกันของ RPF และพันธมิตร Tutsi ของ RPF หลังการสังหารประธานาธิบดี  ในการเล่าเรื่องนี้ ทั้งการสังหารประธานาธิบดีและการกลับมาใหม่ของสงครามกลางเมืองเป็นสิ่งที่ปรากฏเห็นได้ชัดเจน  โดยผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่า เขาเข้าร่วมโจมตีหรือร่วมฆ่าเพื่อ “ปกป้อง Hutu”  “เพื่อชนะสงคราม” หรือ “รักษาประเทศ” บางคนบอกว่า การร่วมโจมตีเพื่อป้องกันตนเองหรือครอบครัว ต่อต้านการโจมตี ยังมีบางคนบอกว่า ทำเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบกษัตริย์กลับมา โดยทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นภาพของการศึกสงครามทางชาติพันธุ์ (ethnic warfare) ที่ Tutsi กำลังจะโจมตี Hutu และพวกเขาเข้าร่วมเพื่อโจมตีก่อน (pre-emptive) เพื่อต่อต้านTutsi

            (8) ความโกรธและล้างแค้นสำหรับการตายของประธานาธิบดี กรณีนี้คล้ายกับข้อ 7 แต่ไม่ได้เน้นความกลัวในช่วงสงคราม แต่เน้นการตายของประธานาธิบดี ในการอธิบายเหล่านี้ ผู้ให้สัมภาษณ์เน้นว่า ประธานาธิบดีเป็น “ผู้ให้กำเนิด” หรือ “พ่อ” และการตายของเขาจำเป็นต้องล้างแค้น  โดยคนเหล่านี้จะประณามว่า  RPF  ฆ่าประธานาธิบดี และพูดว่าการกระทำผิดที่ยิ่งใหญ่เช่นนั้นต้องการการแก้แค้นต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุน ของ  RPF คือ “the Tutsi”

          (9) การแก้แค้นส่วนตัวระหว่างบุคคล ในกรณีนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์บรรยายว่ากลุ่มได้ฆ่าสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนที่เป็น Tutsi ที่ถูกซ่อนอยู่ในบ้านของเขา ซึ่งจำเป็นต้องแก้แค้น แต่ระหว่างนั้นการฆ่า Hutu เป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้ จึงมุ่งแก้แค้นไปที่ Tutsi ที่มีความสัมพันธ์กับผู้โจมตีพวกเขาก่อน   

            ทั้งนี้จากข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ใช้ความรุนแรง จำนวน 209 คน โดยให้พวกเขาบอกอย่างสมัครใจถึงแรงจูงใจหรือเหตุผลในการเข้าร่วมที่เขาเห็นว่าเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด 1 อย่าง ปรากฏผลดังตาราง 5.9

ตาราง 5.9 แรงจูงใจจากถ้อยคำของผู้ให้สัมภาษณ์ (ผู้ให้สัมภาษณ์จำนวน 209 คน) P.136

(1) การบีบบังคับภายใน Hutu 64. 1 เปอร์เซ็นต์
(2) การทำตามคำสั่ง  12.9 เปอร์เซ็นต์
(3) การปกป้องสมาชิกในครอบครัวที่เป็น Tutsi หรือซ่อน Tutsi5.2 เปอร์เซ็นต์
(4) การทำตามคนอื่น (copycat) 4.8 เปอร์เซ็นต์  
(5) การเข้าไปร่วมกับกลุ่มโดยบังเอิญ6.2 เปอร์เซ็นต์
(6)  การได้รับสิ่งที่เป็นวัตถุ (การปล้นชิงทรัพย์สิน)   5.2 เปอร์เซ็นต์
(7) ความกลัวที่โยงกับสงครามและความต้องการที่จะต่อสู้ 22 เปอร์เซ็นต์
(8) ความโกรธเมื่อประธานาธิบดีถูกสังหารและต้องการแก้แค้น4.8 เปอร์เซ็นต์
(9) การแก้แค้นระหว่างบุคคล 1.0 เปอร์เซ็นต์
(10) อ้างว่าไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วน (claimed no active participation)15.3 เปอร์เซ็นต์

 

 

             อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแรงจูงใจเหล่านี้ไม่ได้แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด และมีผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนบอกถึงแรงจูงใจอื่นที่เกิดขึ้นพร้อมกันหรือมีการเปลี่ยนแปลงจากอันหนึ่งไปสู่อันหนึ่ง ทั้งนี้ โดยมีผู้ให้สัมภาษณ์ถึง 38.6 เปอร์เซ็นต์ที่มีแรงจูงใจ 2 อย่างที่แตกต่างกัน, 9.5 เปอร์เซ็นต์มีอย่างน้อย 3 อย่าง  เขาจึงพัฒนามารวมกันเป็นกลุ่มใหม่ดังปรากฏในตารางที่ 5.10    

ตาราง 5.10 แรงจูงใจจากถ้อยคำของผู้ให้สัมภาษณ์  (ผู้ให้สัมภาษณ์จำนวน 210 คน) p.139

(1) การบีบบังคับภายใน Hutu และ/หรือ การทำตามคำสั่งอย่างเดียว45 เปอร์เซ็นต์
(2) การบีบบังคับภายใน Hutu และ/หรือการทำตามคำสั่ง บวกกับ แรงจูงใจอย่างอื่นที่ไม่เชื่อมกับสงครามหรือความโกรธเมื่อประธานาธิบดีถูกสังหาร 10.6  เปอร์เซ็นต์
(3) การปกป้อง Tutsi0.2 เปอร์เซ็นต์
(4) การทำตามคนอื่น (copycat) หรือเข้าร่วมโดยไม่ได้ตั้งใจ3.9 เปอร์เซ็นต์   
(5)  การได้รับสิ่งที่เป็นวัตถุ (การปล้นชิงทรัพย์สิน) 0.9 เปอร์เซ็นต์
(6) แรงจูงใจที่โยงกับสงคราม หรือความโกรธ/แก้แค้นต่อการสังหารประธานาธิบดี และการบีบบังคับภายใน Hutu หรือการทำตามคำสั่ง13.7 เปอร์เซ็นต์
(7) แรงจูงใจที่โยงกับสงครามหรือความโกรธ/แก้แค้นต่อการตายของประธานาธิบดี และแรงจูงใจอื่นๆ ที่เป็นไม่ใช่เป็นการบีบบังคับ/ยินยอมตาม 2.3 เปอร์เซ็นต์
(8) แรงจูงใจโยงกับสงครามและหรือความโกรธ/แก้แค้นต่อการการตายของประธานาธิบดี8.3 เปอร์เซ็นต์
(9) อ้างว่าไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม (claimed no active participation)15.1 เปอร์เซ็นต์

 

จากตารางข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงแรงจูงใจขั้นพื้นฐาน (primary motivations) ในการเข้าร่วม 2 ประการ คือ (1) แรงกดดันที่มาจากภายในกลุ่ม (in-group pressure)  และ (2) ความกลัวและการแก้แค้นเอาคืนที่มาจากภายนอกกลุ่ม (out-group fear and revenge) โดยมีตัวอย่าง 79.9 เปอร์เซ็นต์ที่มีแรงจูงใจจากอันใดอันหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง ขณะที่ 5 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ 2 อย่างนี้ (คือ การปกป้อง Tutsi, ลอกเลียนแบบ และเข้าร่วมโดยอุบัติเหตุ, และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน) ขณะที่อีก 15.1 เปอร์เซ็นต์ อ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นจริง ข้อค้นพบนี้เสนอว่า ผู้ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้ความรุนแรงเพราะเขากลัวผลที่ตามมาของการไม่เข้าร่วมกระทำ คือ หากไม่กลัวการลงโทษจาก Hutu คนอื่น ก็กลัวการถูกลงโทษแทนและการโจมตีจากกบฏ Tutsi และพันธมิตรพลเรือนทางเชื้อชาติของ Tutsi

ทั้งนี้เขาสรุปว่า ข้อค้นพบเรื่องแรงจูงใจนี้ สนับสนุนทฤษฎีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เน้น 1) การทำตามคำสั่ง-ไม่ขัดขืน และ 2) ความกลัวในบริบทของปัญหาเขาควายด้านความมั่นคง (a security dilemma: ความคิดที่ว่าในบริบทของ anarchy และสงคราม ปัจเจกจะโจมตีก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงจากตกเป็นผู้ถูกโจมตี)

แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองทฤษฎีนี้ต้องถูกปรับปรุง กล่าวคือ สำหรับผู้กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (geocidaires) นั้น การยินยอมตามคำสั่ง (obedience) นี้แทบจะไม่ได้มาจาก “วัฒนธรรมแห่งการยินยอม” หรือจากความชอบธรรมของสิทธิอำนาจแต่อย่างใด แต่มาจากการบีบบังคับที่มาจากภายในกลุ่มและแรงกดดันทางสังคมมากกว่า : พวกเขากลัวว่าตัวเองจะถูกลงโทษหากปรากฏว่าปฏิเสธการเข้าร่วม

สำหรับความกลัว กรณีปัญหาเขาควายด้านความมั่นคง ที่เน้นว่าประชาชนตัดสินใจเข้าร่วมเพื่อที่จะโจมตีก่อนความรุนแรงที่จะโจมตีพวกเขานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของ anarchy และการพังทลายของรัฐ ส่วนแรก ตรงกันกับกรณีรวันดา คือ ปัจเจกพูดว่า เขากลัว RPF ในบริบทของสงครามที่กลับมาใหม่และหลังการสังหารประธานาธิบดี ดังนั้น เขาโจมตีเพื่อนบ้าน Tutsi แต่อีกประการหนึ่ง แต่ส่วนหลัง ไม่ตรงกับหลักฐานมากนัก เพราะในรวันดาไม่ได้อยู่ในภาวะ total anarchy สถาบันของรัฐยังคงอยู่ และเป็นบรรทัดฐานของการยอมทำตาม และมีส่วนสนับสนุนเหตุผลว่าทำไมคนจำนวนมากเข้าร่วมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  (pp.135-140)

นอกจากนั้น ข้อมูลที่ได้มาสนับสนุนข้อสมมติฐานที่ว่า ปัจเจกชนที่ก้าวร้าวความรุนแรงมากจะอ้างแรงจูงใจที่เชื่อมโยงกับสงคราม รวมทั้งการแก้แค้นต่อการสังหารประธานาธิบดี  ขณะที่ปัจเจกที่ใช้ความรุนแรงไม่มากอ้างถึงแรงกดดันภายในกลุ่ม และชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผู้ใช้ความรุนแรง คือ ความกลัวที่เชื่อมโยงกับสงครามและความโกรธผลักดันผู้ใช้ความรุนแรงที่ก้าวร้าวรุนแรงมาก ขณะที่ความกลัวการลงโทษจากภายในกลุ่มเป็นแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมสำหรับผู้ที่ใช้ความรุนแรงน้อย (p.141)

เชื้อชาติ อำนาจ และสงคราม

            จากการศึกษาทั้งหมดเขา ในหนังสือเล่มนี้  Scott Straus สรุปว่า สงครามกลางเมืองที่เข้มข้น อำนาจรัฐ และการจัดประเภทแยกแยะทางเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ เป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลักดันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา โดยสงครามซึ่งเป็นสิ่งที่มาทีหลังนั้น มีความสำคัญเป็นพิเศษ  กล่าวคือ สงครามให้ความชอบธรรมกับการฆ่าและให้เหตุผลกับมาตรการที่รุนแรงสุดขั้วว่าชอบธรรม  ผู้ใช้ความรุนแรง อ้างว่า ความรุนแรงเป็นวิธีการเพื่อป้องกันการกบฏที่รุกล้ำเข้ามา โดยสงครามและการตายของประธานาธิบดี เป็นสาเหตุทำให้เกิดความกลัว ความเกรี้ยวโกรธ และความไม่แน่นอน ในที่สุดนำชาวรวันดาบางส่วนไปสู่ความรุนแรง ความสำเหนียกถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากสงครามและการสังหารประธานาธิบดี ได้บ่อนเซาะพวกสายกลางของประเทศลงไปด้วย

            แต่สงครามอย่างเดียวนั้นก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดการฆ่าเผ่าพันธุ์ แต่เป็นว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นเพราะพวกขาโหดชาว Hutu (hardliners) ตัดสินใจที่จะปั่น-ส่งเสริมความรุนแรงต่อต้าน Tutsis และเป็นเพราะพวก hardliners ได้ควบคุมรัฐไว้มากกว่า ทั้งนี้ หลังการสังหารประธานาธิบดี พวก hardliners ได้ฆ่านักการเมืองฝ่ายค้าน และตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ เข้าโจมตีเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพสากล ให้พวกหน่วยงานสากลออกไปจากรวันดา และพวก hardliners ได้ระดมสถาบันต่างๆ รวมทั้งหน่วยทหารระดับนำ กองกำลังพลเรือนติดอาวุธ-ทหารพราน (paramilitary force ) เครือข่ายพรรคการเมือง และสื่อ ผลที่ตามมาคือ ในพื้นที่ยังไม่ถูกยึดครอง  (จากพวกกบฏ) เขาก็สถาปนาการครอบงำได้ นอกจากนั้น รัฐในรวันดายังเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการทำให้การตัดสินใจในการดำเนินการต่างๆและการระดมพลเรือนทำได้สำเร็จ โดยการควบคุมรัฐไว้ได้ ทำให้พวก hardliners มีวิธีการในทางการบีบบังคับในการใช้จุดยืนของตัวเองในเรื่องนี้ไปทั่วทั้งประเทศ

            การจัดการแบ่งประเภท Tutsis ในฐานะที่เป็นกลุ่มเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ที่เป็นหน่วยเดียว เป็นปัจจัยสำคัญที่ 3 แต่ความเกลียดบนฐานเอกลักษณ์นี้ไม่ใช่มีลักษณะเป็นกลไก เขาแทบไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับอคติและความเป็นปฏิปักษ์อันลึกซึ้ง ที่มีมาก่อนต่อ Tutsis ของผู้กระทำความรุนแรงเลย ทั้งนี้ เนื่องจากรวันดาเป็นประเทศที่มีการผสมรวมกันสูงมากในรูปแบบของชาติพันธุ์ มากกว่าประเทศอื่นๆ ในอัฟริกา ทั้งสองกลุ่มพูดภาษาเดียวกัน แต่งงานกันบ่อยๆ และอยู่กันแบบมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ผู้ใช้ความรุนแรงร่วมมือกันกับ tutsis ในการใช้ชีวิตฐานประจำวัน ก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่แสดงให้เห็นถึงมีความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่ทั่วไปกับเพื่อนบ้านที่เป็น Tutsis แม้ว่าพวกเขาจะเชื่อว่าทั้งสองกลุ่มเป็นสมาชิกของชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน และมีคุณสมบัติทางกายภาพที่แตกต่างกัน  นอกจากนั้น ความรุนแรงไม่ได้มีอยู่อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาในรวันดา การฆ่าในอดีตเคยเกิดขึ้นแต่เป็นในช่วงเวลาเฉพาะเท่านั้น ดังนั้น จึงบางสิ่งเข้าไปแทรกแซงเป็นสาเหตุให้ปัจเจกเปลี่ยนจากการมองประชาชนที่ต่างประเภทในทางเชื่อขาติหรือชาติพันธุ์ ในฐานะเพื่อนบ้าน มาเป็น ศัตรู ผู้ที่ต้องโดนฆ่า

            สองปัจจัยสำคัญนี้ที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ ความกลัว และความไม่แน่นอนในสงคราม ในทางหนึ่ง และอีกทางหนึ่งก็คือ การบีบบังคับและแรงกดดันทางสังคม Tutsis กลายมาเป็นศัตรูเมื่ออยู่ในสงครามและเมื่อถูกขึ้นป้ายแบบนั้นโดยรัฐเท่านั้น ดังนั้น ในสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงนี้ Tutsis จึงหยุดเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อน ครอบครัว และกลายมาเป็นประเภทเดียวทั้งหมด คือ “The enemy is one: it is The Tutsi” ซึ่งวลีนี้เป็นฐานสำหรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ศัตรูที่เป็นหนึ่งเดียวกันนี้ยินยอมให้เหตุผลในการทำสงครามกลายมาเป็นเหตุผลในการกำจัดทิ้ง  

            โดยสรุป 3 ปัจจัยหลักที่สนับสนุน-ส่งเสริมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คือ สงคราม อำนาจรัฐ และการจัดประเภทแยกแยะทางเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์ที่อยู่มาก่อนหน้า สงครามเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง และเป็นสาเหตุให้เกิดความกลัวและความไม่แน่นอนที่นำบางคนไปสู่การฆ่า หากปราศจากสงครามแล้ว เขาเชื่อว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะไม่เกิดขึ้น ขณะที่อำนาจรัฐเป็นสิ่งที่เป็นแก่น-สาระสำคัญ หากไม่มีการหนุนหลังจากรัฐและความสามารถของรัฐในการระดมพลเรือนแล้ว ความรุนแรงจะเกิดขึ้นอย่างจำกัดมากกว่าที่เป็น ในตรงกันข้าม การฆ่านี้เกิดขึ้นในบนอำนาจของกฎหมาย และการขัดขืนในบางกรณีมีความหมายเหมือนกับการคิดกบฏทรยศ สุดท้าย การแบ่งประเภททางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์รวมหมู่วางรากฐานของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ทำให้ Tutsis ทั้งหมดเป็นเหมือนกันหมด หากไม่มีการจัดแบ่งประเภทและประวัติศาสตร์ของอุดมการณ์ทางการเมืองเชิงเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ดำรงอยู่ก่อน การเรียกร้องให้โจมตี Tutsis จะเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้อง และการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์น่าจะไม่เกิดขึ้น (pp.224-226)

Hate Speech, วิทยุ, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา

                จากข้อสรุปการศึกษาข้างต้นนี้ พอที่จะแสดงให้เห็นว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกรณีรวันดาเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ซึ่งแน่นอน มันไม่สามารถที่จะพูดได้ง่ายๆ อย่างที่ได้ยกตัวอย่างมาในตอนแรก นอกจากเรื่องสถานการณ์สงครามกลางเมืองในกรณีนี้ แล้ว จะเห็นได้ว่า รัฐหรืออำนาจรัฐนั้นมีความสำคัญมากในการระดม (Mobilization)  

            สำหรับผู้ที่สนใจประเด็นเรื่องวิทยุกับความรุนแรง  : การปลุกระดม Hate Speech ผ่านวิทยุนั้น Scott Straus ได้ศึกษาและอธิบายว่าอย่างเฉพาะเจาะใจในบทความชื่อ “What is the Relationship between Hate Radio and Violence? Reexamining Rwanda’s ‘Radio Machete” (ผู้ที่สนใจสามารถที่จะดาวน์โหลดได้ที่ http://www.mediafire.com/view/?v919l56puqwiq2w) ซึ่งได้ผลที่ต่างออกไปจากที่มักจะอ้างกันโดยทั่วไปในสังคมไทย คือ วิทยุ (ที่ออกอากาศ hate speech) ไม่ใช่ตัวผลักดันพื้นฐานของความรุนแรง (primary driver of violence) ในความนี้เขาสรุปว่า หลักฐานของผลกระทบในเชิงประจักษ์ของวิทยุนั้น คือ วิทยุเข้าไปมีส่วนทำให้เกิดจำนวนการกระทำความรุนแรงที่จำกัดจำเขี่ยมาก, ทำให้ผู้กระทำการเพียงบางคนตกผลึก, ใช้ประสานงานชนชั้นนำด้วยกัน และทำให้ข้อความความรุนแรงในท้องถิ่นมีความชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ จึงพอฟังได้สำหรับสมมติฐานที่ว่า วิทยุมีผลในเชิงเงื่อนไงและ marginal effects  แต่วิทยุไม่ได้เป็น “สาเหตุ (cause)” ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือมีผลโดยตรง ใหญ่โตอะไรนัก วิทยุนี้ทำให้พวกขาโหดกล้ามากขึ้นและไปเสริมการระดมกำลังแบบซึ่งหน้า (face-to-face mobilization) มากกว่า ซึ่งอันนี้จะช่วยให้พวกเขาซึ่งสนับสนุนความรุนแรง ยืนยันถึงการครอบงำและทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  (p.631)



[1]  ปัจจุบัน Scott Straus  เป็น  Associate Professor of Political Science and International Studies, University of Wisconsin Madison โดยหนังสือเล่มนี้พิมพ์โดย Cornell University Press ในปี  2006 และได้รับรางวัลที่สำคัญ (1)  Winner, 2006  Award for Excellence in Government and Political Science, Professional and Scholarly Publishing Division of the Association of American Publishers. (2) Honorable Mention, 2007 Herskovits Prize, awarded by the African Studies Association to the most important book published in African Studies in the previous year (3) Winner, 2007 Choice Outstanding Academic Title award

 

บล็อกของ อุเชนทร์ เชียงเสน

อุเชนทร์ เชียงเสน
การให้ความหมายว่าเป็น “การปฏิวัติทางการเมืองของมวลชน” เป็นเพียงจินตนาการของคนที่มีแรงปรารถนา/แสวงหาการเคลื่อนไหวอันทรงพลังของมวลชน แต่ไม่เจอ.... จึงนำการเคลื่อนไหวนี้มาชดเชยและปลอบประโลมตัวเองเพื่อที่จะฝันต่อเท่านั้นเอง  
อุเชนทร์ เชียงเสน
อุเชนทร์ เชียงเสน 
อุเชนทร์ เชียงเสน
 "Perpetrators of genocide in resource-poor countries are like decision makers elsewhere: they act on the basis of what they see, experience, know, and fear, not simply on the basis of what they hear—or even what they are told—on the radio.