อุเชนทร์ เชียงเสน
ภาพบันไดที่เตรียมไว้ปีนทำเนียบตั้งแสดงไว้หน้าเวทีปราศรัย กลางที่ชุมนุม (ภาพจาก facebook ของ Pmove)
หลังจาก “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” หรือ Pmove เดินทางมาปักหลักชุมนุมข้างทำเนียบเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ค่ำวันที่ 6 พฤษภาคม 2556 ผมเลยถือโอกาสแวะไปเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องที่รู้จักบางส่วนซึ่งเคยเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน ได้เจอและพูดคุยกับเพื่อนๆ อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าป้าย ไพจิตร ศิลารักษ์, พี่หลา สมภาร คืนดี, แม่สมปอง เวียงจันทร์, พ่อบุญมี คำเรื่อง, พี่จอบ น้องชายของพี่มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่มาทำงานกับพี่น้องกรณีเขื่อนปากมูล แทนพี่สาวที่เสียชีวิตไป ฯลฯ
เมื่อเข้าไปด้านหลังเวทีก็พบ “หัวหน้าแป้น” ชายวัยห้าสิบกว่า ซึ่งจนถึงตอนนี้ ผมไม่เคยรู้จักชื่อจริงเลย ยังนั่งเขียนป้ายผ้าอยู่เหมือนเดิม เฮ้ย! นี่มันเหมือนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเลยนี่หว่า เพียงแต่ผมคงไม่ได้มาเขียนป้ายผ้าหรือทำอะไรทำนองนี้เหมือนเดิมอีกแล้ว
ภาพที่เห็นและผู้คนที่ได้คุย ทำให้บรรยากาศสมัยเก่าๆ และประสบการณ์กับสมัชชาคนจนสมัยเป็นนักศึกษา ฉากแล้วฉากเล่า เวียนเข้ามาในจินตนาการ รวมทั้งฉากการประชุมพ่อครัวใหญ่และที่ปรึกษาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549
ล่าสุด เห็นภาพใน facebook ของ Pmove เตรียมบันไดไว้ “บุก” ปีนทำเนียบ “หากนายกฯ ไม่นั่งหัวโต๊ะสั่งแก้ปัญหาด้วยตัวเองภายในศุกร์นี้ ” ก็ยิ่งทำให้นึกถึงอารยะขัดขืน การปีนทำเนียบของสมัชชาคนจนในปี 2543 ขึ้นมาทันที และกระตุ้นให้ต้องเขียนอะไรนิดหน่อยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยความปรารถนาว่า จะเป็นประโยชน์กับการแก้ไขปัญหาและการต่อสู้ของพี่น้องบ้างไม่มากก็น้อย ในสถานการณ์ที่อะไรก็ดูยุ่งยากเช่นนี้
“ออกตัว”: สนับสนุนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ “ดึงลาก” องค์กรชาวบ้านมาเคลื่อนไหววาระของตนเอง
ตามธรรมเนียมครับ เมื่อจะเขียนอะไรที่อาจจะกระทบกับขบวนการนี่ ต้องออกตัวเสียก่อนว่ามีทัศนะ จุดยืน และวิธีการ อยู่บนผลประโยชน์ของคนยากจนหรือไม่ ไม่เช่นนั้นแล้วจะง่ายต่อการถูกโจมตีได้ว่า ไม่รักชาวบ้าน ไม่รักประชาชน ไม่รู้จักแยกแยะฯลฯ ว่า ผมสนับสนุนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุมเหล่านี้ แม้จะรู้รายละเอียดปัญหาเพียงบางกลุ่มเท่านั้น นอกจากนั้นยังเห็นว่ารัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลนี้ที่มาจากประชาธิปไตยนั้น แตกต่างจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือรัฐบาลอื่นๆ อย่างไรในการแก้ไขปัญหาคนยากจน
ที่สำคัญที่สุด ในห้วงเวลากระแสสูงของขบวนการ “โค่นทักษิณ” ผมไม่เคยพยายาม “ดึงลาก” องค์กรชาวบ้าน ที่มีความสัมพันธ์หรือร่วมงานด้วย โดยการชักจูง โน้มน้าว หรือกดดัน ให้เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวตามจุดยืนของตัวเองกับพันธมิตรฯ (ประเด็นนี้ คงไม่ต้องอธิบายว่า มีองค์กรใดบ้าง ที่เข้าร่วมขบวนการนี้) มากกว่านั้น ยังคัดค้านด้วยจุดยืนว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้านต้องอยู่บนฐานของการแก้ไขปัญหาของตัวเอง ไม่ควรเล่นเกมการเมืองแบบเอ็นจีโอที่ทำตัวเป็นนักฉวยโอกาส อ้างชาวบ้าน “ใช้สื่อของสนธิในการเสนอปัญหาของชาวบ้าน” ให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ ฯลฯ และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ “โค่นประชาธิปไตย”
การทำเช่นนั้น นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มศัตรูให้กับชาวบ้าน หรือทำให้ องค์กรชาวบ้านเป็นศัตรูคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกและสนับสนุนรัฐบาลไทยรักไทยในขณะนั้น
อารยะขัดขืน : การเรียกร้องสำนึกแห่งความยุติธรรมของสังคมโดยการยอมรับผลของการละเมิดกฎหมาย
ความคิดเรื่อง “civil disobedience” ก่อนหน้านี้ เป็นที่รู้จักกันในวงที่จำกัดมาก เฉพาะกลุ่มผู้ศึกษาเรื่องปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเท่านั้น แต่ถูกทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อนักวิชาการนำความคิดนี้มาอธิบายการปืนทำเนียบของสมัชชาคนจนในปี 2543 อย่างเช่น สมชาย ปรีชาศิลปะกุล นักกฎหมายจากรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ดู สมชาย ปรีชาศิลปกุล, การดื้อแพ่งต่อกฎหมาย (กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาการเมือง, 2543)) และต่อมา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรงและปฏิบัติการไร้ความรุนแรง จากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เข้ามาถกเถียงและเสนอความคิดนี้อย่างเป็นระบบมากขึ้น (ดู ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อารยะขัดขืน (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมล คีมทอง, 2549))
ในที่นี้ ผมยึดความเข้าใจ อารยะขัดขืน ตามแนวทางของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในหนังสือ อารยะขัดขืน เพราะเสนอที่มาของความคิด การถกเถียง และค้นคว้าให้เหตุผลอย่างครอบคลุมและเป็นระบบอย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ อารยะขัดขืนต่างกับปฏิบัติการไร้ความรุนแรงแบบอื่นๆ อย่างไรนั้น อาจจะเริ่มทำความเข้าใจ ผ่านการนิยามความหมายของ John Rawls ซึ่งชัยวัฒน์เองก็ยึดเป็นกรอบหลักในการการอธิบายเรื่องนี้
กล่าวคือ John Rawls ได้นิยาม "อารยะขัดขืน (civil disobedience)" ว่า หมายถึง "การกระทำทางการเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณะ (public) สันติวิธี (nonviolent) และมีมโนธรรมสำนึก (conscientious) ที่ขัดต่อกฎหมาย (contrary to law) ปกติเป็นสิ่งที่ทำโดยมุ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย (in the law) หรือนโยบายของรัฐบาล" ทั้งนี้ การจำกัดไว้เฉพาะที่การเปลี่ยนแปลง "ในกฎหมายหรือนโยบาย" นั้น เพราะเขาวางตำแหน่งแห่งที่ของมันไว้เฉพาะในสังคมที่ใกล้จะเป็นธรรม (nearly just society) คือ "สังคมที่ส่วนใหญ่มีการจัดระเบียบอย่างดี แต่มีการละเมิดความยุติธรรมอยู่บ้าง" หรือเสนออารยะขัดขืนต่อหน้ารัฐประชาธิปไตยที่ขึ้นมาสู่อำนาจโดยชอบธรรมเท่านั้น และดังนั้น การคัดค้านรัฐด้วยสันติวิธีจึงเป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผลรองรับ (justified) เพราะการใช้ civil disobedience มิได้มุ่งเปลี่ยนแปลงแย่งชิงอำนาจรัฐ แต่ต้านอำนาจรัฐด้วยการเปลี่ยนแปลง "บางสิ่ง" ในกฎหมายหรือนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม (หน้า 16-17)
ใน "บทนำ" ชัยวัฒน์อธิบายว่า "civil disobedience" หรือ "อารยะขัดขืน" เป็นการขัดขืนอำนาจรัฐที่ทั้งเป้าหมายและตัววิธีการอันเป็นหัวใจของ civil disobedience ส่งผลทำให้สังคมการเมืองโดยรวมมี "อารยะ" ยิ่งขึ้น และคัดค้านการพยายามทำให้ civil disobedience กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพราะเห็นว่า จะเป็นการลดทอนพลังอำนาจในทางมโนธรรมสำนึกของอารยะขัดขืนไปในตัว เนื่องจากเงื่อนไขประการแรกของการอารยะขัดขืน คือ ปฏิบัติการที่เป็นการละเมิดกฎหมาย ซึ่งมีหน้าที่สำคัญคือ "เพื่อสื่อสารกับสังคมการเมืองว่า เกิดอะไรผิดปกติบางอย่าง ที่ผู้คนซึ่งปกติปฏิบัติการตามกฎหมาย จงใจละเมิดกฎหมาย" ดังนั้น อารยะขัดขืนจึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายบางข้อหรือนโยบายของรัฐบางประการ เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และ "การปลุกมโนธรรมสำนึกของสาธารณะ มิได้เพียงเกิดจากการละเมิดกฎหมาย แต่เกิดจากการรับผลของการละเมิดกฎหมายดังกล่าว" ด้วย พร้อมกับเน้นย้ำว่า อารยะขัดขืนแตกต่างจากการละเมิดอำนาจรัฐอื่นทั้งหมดก็คือ ผู้ใช้ต้องยอมรับการลงโทษของรัฐที่จะกระทำต่อตน ในฐานะพลเมืองของรัฐด้วย
กล่าวโดยสรุป อารยะขัดขืนแตกต่างจากสันติวิธีแบบอื่นตรงที่เป็นการตั้งใจที่จะละเมิดกฎหมายของผู้ปฏิบัติการแล้วยอมรับผลจากการละเมิดนั้น ทั้งนี้การยอมรับผลของการละเมิดกฎหมายนั้นถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดอารยะขัดขืนในการชี้ให้เห็นปัญหาความอยุติธรรมและเรียกร้องสำนึกแห่งความยุติธรรมของสังคมนั่นเอง
อารยะขัดขืนของสมัชชาคนจน : ปีนทำเนียบ 2543 ยอมถูกจับและไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง
การปีนทำเนียบรัฐบาลของสมัชชาคนจน (กรณี 16 ปัญหา) ครั้งแรก เกิดขึ้นราวพฤษภาคม 2543 หลังจากที่ปักหลักชุมนุมที่สันเขื่อนปากมูลมาตั้งแต่กลางปี 2542 เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ตกค้างมาหลายรัฐบาล และเผยแพร่ข้อมูลปัญหาให้กับสาธารณะชน ต่อมาได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม 2543 เพื่อรณรงค์ชี้แจงปัญหาเป็นเวลานับเดือน จากนั้นจึงสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลโดยเข้าไปชุมนุมในลานจอดรถโรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2543 และส่งกำลังคนส่วนหนึ่งมาปืนเข้าไปในทำเนียบ ทำให้รัฐบาล โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกฯ และ รมว. มหาดไทยในขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ปัญหาสมัชชาคนจน ในวันที่ 2 มิถุนายน 2543 เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับรัฐบาล
การปีนทำเนียบรัฐบาลของสมัชชาคนจนครั้งที่สอง เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการกลางฯ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขต่อรัฐบาลแล้ว วันที่ 10 กรกฎาคม 2543 สมัชชาคนจนจึงเดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย จึงปีนทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 16 กรกฎาคม 2543 เพื่อกดดันให้รัฐบาลมีมติ ครม. รับรองข้อเสนอของกรรมการกลางฯ
การปีนทำเนียบครั้งแรกไม่เอิกเกริกเหมือนครั้งที่สอง เพราะครั้งแรก กระทำอย่างเงียบๆ และจบลงด้วยการตั้งคณะกรรมการฯ ที่เป็นที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่าย แต่ครั้งที่สอง อันเป็นที่มาของการนำ civil disobedience มาใช้อธิบายนั้น ตรงกันข้าม คือ มีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในอีก 1 วันต่อมา ผู้ชุมนุมที่ปีนเข้าไปในทำเนียบถูกจับกุมทั้งหมดกว่าสองร้อยคน
ในปฏิบัติการปีนทำเนียบครั้งที่สองนี้ สมัชชาคนจนเองเรียกว่า “ปฏิบัติการสันติวิธี เข้าทำเนียบรัฐบาล” และอธิบายว่า
การกระทำครั้งนี้ไม่ใช่การขับไล่รัฐบาลอย่างแน่นอน ตรงกันข้าม สมัชชาคนจนมีความต้องการอย่างยิ่งที่จะให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มสมัชชาคนจนที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน หากเป็นการขับไล่รัฐบาลแล้วใครจะเป็นผู้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับสมัชชาคนจน.... และการเคลื่อนขบวนเข้าชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลครั้งนี้จึงถือเป็นการชุมนุมโดยสันติวิธีเพื่อผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นตามมติของคณะกรรมการกลางฯ ” (แถลงการณ์สมัชชาคนจน วันที่ 16 กรกฎาคม 2543)
พร้อมกับอธิบายการต่อสู้ของตนว่า “ยืนยันแนวทางสันติวิธี ไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวจับ ไม่ใช้ความรุนแรง” และไม่ตอบโต้กับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่
สมัชชาคนจน ได้ยึดแนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธีมาโดยตลอด เรามาเรียกร้องด้วยเหตุและผล เรามีเพียงสองมือเปล่ากับเจตนาบริสุทธิที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขปัญหาของเรา การปฏิบัติการสันติวิธีของเรา หากเป็นการผิดกฎหมายที่ล้าหลัง เราก็ยอม ให้จับกุมแต่โดยดี แต่อย่าจับกุมแบบใช้กำลังทำร้ายเราเยี่ยงศัตรู หรือผู้ก่อการร้าย การชุมนุมของเราที่ในทำเนียบรัฐบาล หากรัฐบาลเห็นว่าผิดกฎหมายก็จับเราไป... (แถลงการณ์สมัชชาคนจน 18 กรกฎาคม 2543)
แม้สมัชชาคนจน จะไม่ได้เรียกปฏิบัติการของตนว่า “อารยะขัดขืน” และอาจจะไม่มีมโนทัศน์นี้อยู่ในใจขณะปฏิบัติการ แต่กล่าวได้ว่าดำเนินตามแนวทางนี้อย่างเคร่งครัด ข้อความในแถลงการณ์เรื่องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงและยอมให้จับกุมนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของโวหารแต่เป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ ก่อนวันปฏิบัติการจริง มีการชี้แจง เตรียมความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมปฏิบัติการอย่างดีเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ และสำคัญที่สุด คือ ผลที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการถูกจับกุมหรือตอบโต้ด้วยความรุนแรง และการไม่ตอบโต้กลับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากลำบากนักสำหรับสมัชชาคนจนซึ่งใช้แนวทางไร้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด
ในวันปฏิบัติการ จำได้ว่า หัวหน้าป้าย ไพจิตร ศิลารักษ์ (ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของ Pmove ขณะนี้) พร้อมชาวบ้านที่เป็นผู้ชายจำนวนหนึ่ง (ผมซึ่งยังเป็นนักศึกษาก็อยู่ในชุดนี้ด้วย) ถูกมอบหมายให้เป็น “เป้าลวง” เจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่กลุ่มหลักที่จะปีนทำเนียบจริง คือ กลุ่มชาวบ้านที่เดินทางไปทำบุญเนื่องในวันอาสาฬหบูชาที่วัดเบญจมบพิตร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะเป็นผู้หญิง รวมทั้งผู้สูงอายุ
ปฏิบัติการในลักษณะนี้ ที่ผู้หญิงมักเป็นผู้ปฏิบัติการหลัก ไม่ใช่เพราะต้องการสร้างภาพว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายผู้หญิง แต่มาจากประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมเอง คือ จะหลีกเลี่ยงหรือลดความรุนแรงได้มากว่า เพราะผู้หญิงมักจะมีความอดทนอดกลั้น ใจเย็น ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้มากกว่าผู้ชายในสถานการณ์ที่คับขัน ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการควบคุมฝูงชนก็ “กลัว” ผู้หญิงน้อยกว่า และดังนั้น จึง “เบามือ” กับผู้หญิงมากกว่า
เมื่อถึงเวลานัดหมาย พลบค่ำ ของวันที่ 16 กรกฎาคม 2543 เมื่อกลุ่มหลักกลับจากไว้พระทำบุญที่วัด “เป้าลวง” ก็วิ่งอ้อมเข้าไปทางด้านหลังเพื่อปีนรั้วทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่จึงนำกำลังเกือบทั้งหมดที่มีอยู่มาสกัดกลุ่มนี้ แม้เป้าลวงจะมีการผลักดันด้วยมือกับเจ้าหน้าที่ในบางจังหวะ เพื่อถ่วงเวลา แต่ไม่มีใครทำร้ายเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด นอกจากพยายามพูดคุย โน้มน้าว ขอความเห็นใจ (ไม่มีการด่าทอ) เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนและเป้าหมายของกิจกรรม คือ ความจำเป็นต้องเข้าไปพบนายกฯ ในกลุ่มนี้ เข้าใจว่าหัวหน้าป้ายหรือใครสักคนหนึ่ง ถูกตีที่มือขณะจับรั้วจนนิ้วแตก แต่ก็ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เมื่อกลุ่มหลักปีนเข้าไปในทำเนียบตรงหัวมุมฝั่งตรงข้าม ปปช. ได้จำนวนหนึ่งแล้ว กลุ่มนี้จึงกลับมาที่ชุมนุมตามเดิม
วันต่อมา 17 กรกฎาคม 2543 รัฐบาลได้ระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม มีการผลักดันกับผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านนอกหน้าทำเนียบฝั่งถนนพิษนุโลก ที่พยายามต้านทานการเข้าสลายการชุมนุมด้วยร่างกายตัวเอง โดยปราศจากอาวุธใดๆ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ศีรษะแตกจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่สามารถต้านทานได้ ก็ถอยกลับมาปักหลักในที่ชุมนุมบริเวณถนนข้างทำเนียบรัฐบาล ขณะที่กลุ่มที่ปีนเข้าไปอยู่ในทำเนียบก็ยอมให้จับกุมโดยไม่ต่อสู้หรือใช้ความรุนแรงตอบโต้แต่อย่างใด
แม้จะมีการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมภายนอกทำเนียบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่สมัชชาคนจนก็ยังยึดมั่นในสันติวิธีอย่างเคร่งครัด และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ไม่ทำให้สถานการณ์เกินเลย บานปลายออกไป และได้รับบาดเจ็บมากกว่านั้น ขณะที่ส่วนที่อยู่ในรั้วทำเนียบรัฐบาลก็ยอมรับผลของการละเมิดกฎหมาย ยอมให้จับแต่โดยดี
หลังจากเหตุการณ์นี้ แรงกดดันต่อรัฐบาลมีมากขึ้น จนในที่สุดรัฐบาลได้มีมติ ครม. เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 และ 8 สิงหาคม 2543 แต่สมัชชาคนจนเห็นว่าไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการกลางฯ เสนอ และไม่สามารถนำสู่การแก้ไขปัญหาได้ จึงยังคงปักหลักชุมนุมที่ข้างทำเนียบฯ ต่อไป และนำไปสู่การเปิดเวทีสาธารณะชี้แจงปัญหาระหว่างตัวแทนรัฐบาล คณะกรรมการกลางฯ กับสมัชชาคนจน โดยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2543 จนน้ำตาท่วมจอกันทั้งชาวบ้านและคนดูเลยทีเดียว
ความสำเร็จของสมัชชาคนจนในการเคลื่อนไหวในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา อาจจะมีการประเมินถกเถียงกันได้มาก แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นภาพประทับใจและเรียกร้องความเห็นใจจากคนที่ได้เข้ามาสัมผัส เรียนรู้ และจะอยู่ในความทรงจำไปอีกนานก็คือ การเคร่งครัดในสันติวิธี และยืนหยัดต่อสู้บนฐานการแก้ไขปัญหาของตนเองที่ชอบธรรมเป็นที่ตั้ง พยายามหลีกเลี่ยงหรือไม่เล่นการเมืองแบบยอมตนเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง หรือโค่นล้มรัฐบาล จนเอ็นจีโอที่คิดใหญ่ทำใหญ่ เรียกในความหมายในเชิงลบและดูแคลนว่าเป็นเพียง “กลุ่มผลประโยชน์”
ส่งท้าย : อารยะขัดขืนของ Pmove หากมีในอนาคต
ท่ามกลางความขัดแย้งและการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆเกี่ยวกับระบอบการเมืองว่าควรจะเป็นอย่างไร ความพยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ยังคงดำรงอยู่ และการต่อต้านของผู้สนับสนุนรัฐบาล พร้อมกับภาพลักษณ์ที่ตกต่ำอย่างถึงขีดสุดของเอ็นจีโอไทยในภาพรวมในฐานะของผู้ต่อต้านประชาธิปไตย สนับสนุนการรัฐประหาร และควรจะมีส่วนรับผิดชอบกับการสังหารหมู่กลางเมืองหลวงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 นั้น การเคลื่อนไหวของ Pmove ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของตัวเอง แต่สลัดความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเอ็นจีโอและขบวนการที่มีส่วนในการ “โค่นล้มทักษิณ” และ “โค่นประชาธิปไตย” ไม่พ้นนั้น ย่อมประสบความยากลำบาก และถูกเฝ้ามองด้วยความหวาดระแวง
สำหรับเอ็นจีโอและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากท่านจะถูกตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลบ้าง ข้อมูลถูกบ้างผิดบ้าง ก็โปรดอย่าประณามชี้นิ้วว่าพวกเขาว่าไม่รู้จักแยกแยะ แต่โปรดสำรวจและกล่าวโทษถึงพฤติกรรมของท่านเองในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาด้วย
หากท่านจะบรรยายถึงความยากลำบากของชาวบ้านในการชุมนุมว่า ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย ตากแดด “ร้อนฉิบหาย” ก็ต้องนึกด้วยว่าคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยก็ผ่านมาแล้วเหมือนกัน โดยไม่จำเป็นต้องมาแข่งกันว่า กลุ่มไหนเสียเลือดและชีวิต หรือมีจำนวนชั่วโมงที่อยู่ในคุก มากกว่ากัน เพราะไม่ใช่ประเด็น
หากท่านคิด (อยู่ในใจ) ว่าเสื้อแดง คือ คนที่ถูกหลอกลวง จ้างมา ก็อย่าโวยวายเมื่อประชาชนของท่านถูกกล่าวหาในลักษณะเดียวกัน รวมทั้งการแสดงออกถึงความสะใจ สมน้ำหน้าต่อการบาดเจ็บ สูญเสียของอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะตรรกะแบบนี้มีเหมือนกันทั้งสองฝ่าย เพียงอยู่คนละฝั่งกันเท่านั้น
กลับมาที่อารยะขัดขืน ในฐานะคนนอก ผมไม่รู้หรอกว่า บันไดที่เตรียมไว้จะถูกนำมาใช้หรือไม่อย่างไร หรือเอามาขู่เฉยๆ แต่อยากจะหวังว่า การเคลื่อนไหวจะประสบความสำเร็จมีความก้าวหน้า โดยไม่ต้องใช้บันได
ที่เล่ามายืดยาวเกี่ยวกับการปีนทำเนียบของสมัชชาคนจนในปี 2543 นี่ ไม่ได้มีเจตนาจะยกชูสมัชชาคนจน (คนใน Pmove หลายส่วนก็เคยเป็นส่วนหนึ่งในสมัชชาคนจน) และไม่ได้ต้องการจะบอกว่า Pmove จะต้องทำการบ้าน รณรงค์เผยแพร่ปัญหาอย่างยาวนานแบบนั้นก่อน ถึงจะทำได้
แต่สถานการณ์ทั้งทางการเมืองและภายในขบวนการเองนี่น่าจะมีความแตกต่างกันอยู่มาก
หาก Pmove จะปีนทำเนียบ หรือนำ “อารยะขัดขืน” มาใช้จริงๆ ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร แต่ที่สำคัญ คือ ต้องทำความเข้าใจกับผู้เข้าร่วมปฏิบัติการอย่างเพียงพอกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และพร้อมที่จะยอมรับผลของมันที่จะเกิดขึ้นจากการละเมิดกฎหมาย อย่าทำตัวแบบพันธมิตรฯ ที่ประกาศอารยะขัดขืนแต่ไม่ยอมรับผลของการละเมิดกฎหมาย คือ การยอมให้เจ้าหน้าที่จับกุม และใช้ความรุนแรงตอบโต้[1] เพราะจะสร้างปัญหาให้กับขบวนการเคลื่อนไหวเองและวิธีการต่อสู้ในลักษณะนี้ไปพร้อมกัน
จริงแล้วผมไม่ใช่นักวิชาการสันติวิธีและไม่มีความรู้เรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ครูที่ให้การเรียนรู้เรื่องนี้กับผม คนแรก คือ คนที่ตายไปแล้ว และสมัชชาคนจน พี่มด วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ไม่เคยบอกว่าต้องรักคู่ปรับหรือเป้าหมายที่เราเรียกร้องด้วย อย่างที่มีการพูดๆกันทั่วไป แต่บอกว่า คนที่จะปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในลักษณะที่มีการเผชิญหน้าได้ จะต้องไม่มีความเกลียดชังในการปฏิบัติการ ซึ่งผมตีความเอาเองว่า คนที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังนั้น แม้จะพยายามควบคุมตัวเองอย่างไร แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินและเผชิญหน้า ความเกลียดชังจะครอบงำและแสดงออกมาได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำลายปฏิบัติการทั้งหมดนั้นเสียเอง
หมายความว่า หาก Pmove จะอารยะขัดขืน อาจจะจำเป็นต้องกันคนที่เกลียดทักษิณเป็นทุนเดิม และยิ่งลักษณ์และรัฐบาลในปัจจุบัน (หากไม่โกหกกัน) ที่มีอยู่ในขบวนการ ออกไปจากปฏิบัติการนี้เสียตั้งแต่ต้นเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
ในสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง แม้ Pmove จะไม่สามารถที่ห้ามสื่อบางสำนักที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาล นำประเด็นของไปโจมตีรัฐบาลได้ แต่ผู้นำการเคลื่อนไหวจะต้องระมัดระวัง อย่ายอมตนหรือสร้างสถานการณ์เสียเองเพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อต้านรัฐบาลของฝั่งตรงกันข้าม และต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยการกระทำว่า เราไม่ยอมตนเช่นนั้น
สำหรับบรรดากองเชียร์ผู้สนับสนุนทั้งหลายที่ต่อต้านรัฐบาล ถ้าเห็นแก่การแก้ไขปัญหาของชาวบ้านจริงๆ ก็อย่าผสมโรง เอาวาระซ่อนเร้นของตัวเองมาผนวกกับการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ตัวอย่างเช่น มาเยี่ยมผู้ชุมนุมแล้วถ่ายรูป พร้อมโพสต์ข้อความ “เข้าร่วมให้กำลังใจกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ Pmove เพื่อไปทวงสัญญากับนางชะนีคนหนึ่งให้ทำงานบ้าง ไม่ใช่ไปขายชาติขายปั๊ปแต่อย่างเดียว” ( ในบริบทนี้ “ขายปั๊ป” หมายความว่า ขายไอ้นั่นครับ โดยส่วนตัวผมเองไม่ได้สนใจเรื่องการด่าทำนองนี้ แต่ตลกร้ายคือ ผู้ดูแล facebook ของ Pmove แชร์ข้อความนี้โดยไม่คิดอะไรเลย ซึ่งอาจจะมาจากสำนึกด้านใน เลยทำไปอย่างอัตโนมัติ)
ลืมบอกไปอย่างหนึ่ง ผมไม่เคยปิดบังว่าตัวเองเป็นเสื้อแดง และไม่เคยกังวลว่า Pmove จะล้มรัฐบาล หรือทำอะไรรัฐบาลได้มากมายนัก
แต่เพียงเห็นว่าการกระทำในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น (เหมือนกับการพยายามดึงลากองค์กรชาวบ้านมาไล่ทักษิณในครั้งก่อน) เป็นการสร้างศัตรูเพิ่มให้กับชาวบ้าน ไม่ใช่ความเห็นอกเห็นใจ อาจจะนำไปสู่การปิดทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต และการเผชิญหน้ากับผู้สนับสนุนรัฐบาลแทน ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ต่างออกไปจากเดิมอย่างมาก พวกเขามีเดิมพันไม่มากไม่น้อยไปกว่าชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่ขณะนี้
พูดไปก็เหมือนกับเอามะพร้าวไปขายสวน ประเด็นเหล่านี้ นักกิจกรรมทางการเมือง นักเคลื่อนไหวย่อมคำนวณผลได้เสีย และเข้าใจกันดีทุกคน เพียงแต่จะกระทำหรือไม่เท่านั้นเอง และค่อนข้างมั่นใจว่า สิ่งที่หลายฝ่ายระแวงจะไม่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวครั้งนี้
ขอให้พี่น้องปากมูล สกน. สลัม 4 ภาค และทุกกลุ่มใน Pmove ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหว
10 พฤษภาคม 2556
[1] ดูการอภิปรายเรื่องอารยะขัดขืนของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เปรียบเทียบกับของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้จากบทความของผู้เขียน “อารยะขัดขืนของนักปรัชญา Vs อารยะขัดขืนของพันธมิตร” จำนวน 2 ตอน เผยแพร่ใน ประชาไทออนไลน์ (http://prachatai.com/journal/2008/06/17026 และ http://www.prachatai.com/journal/2008/06/17114 )