Skip to main content


การให้ความหมายว่าเป็น “การปฏิวัติทางการเมืองของมวลชน” เป็นเพียงจินตนาการของคนที่มีแรงปรารถนา/แสวงหาการเคลื่อนไหวอันทรงพลังของมวลชน แต่ไม่เจอ.... จึงนำการเคลื่อนไหวนี้มาชดเชยและปลอบประโลมตัวเองเพื่อที่จะฝันต่อเท่านั้นเอง
 

หมายเหตุต้นฉบับ

เมื่อผู้เขียนได้อ่านงาน 2 ชิ้น ที่ “ปิยะมิตร ลีลาธรรม” หรือ สุรพล ธรรมร่มดี นักวิชาการและนักยุทธศาสตร์ “ฝ่ายซ้าย” ของนักกิจกรรมบางส่วน เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง คือ “ถอดบทเรียนเพื่อสร้างขบวนการภาคประชาชนที่เป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง” ของกลุ่มศึกษาประชาธิปไตยประชาชน (กปป.).  (12 ธันวาคม 2553) และที่สำคัญ ล่าสุด คือ บทความ “ไปเหนือกว่าการเมืองเหลือง/แดงสู่การปฏิวัติของประชาชนที่เป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง” ของเขาเอง (ประชาไท,  18  พฤศจิกายน 2553) ทำให้นึกถึงบทความอีกชิ้นสำคัญของเขา “ดอกผลและหนทางข้างหน้า” ตีพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน, 4: 3 (กรกฎาคม –กันยายน, 2549) ที่พยายามอธิบายให้ความชอบธรรมกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และมองการเคลื่อนไหวของมวลชนขณะนั้น (ก่อนการรัฐประหาร) ว่าเป็น “การปฏิวัติของมวลชน”

แม้เหตุการณ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปมาก และทำให้ความเข้าใจของนักกิจกรรมจำนวนไม่น้อยต่อเสื้อเหลืองเปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับสุรพลนั้น จุดยืนหรือคำอธิบายที่ดูแบบซ้ายๆ ของเขายังคงอยู่ อย่างที่ปรากฏในบทความล่าสุด ที่อธิบายฝ่าย “เสื้อเหลือง” ว่าเป็น “การปฏิวัติของประชาชน” เพียงแต่ “พึ่งพาการรัฐประหารของทหาร" ซึ่งเป็นปัญหาหลักประเด็นเดียวเท่านั้นของพวกเขา

ในโอกาสนี้ จึงขออนุญาตนำบันทึกของผู้เขียนที่วิจารณ์ “ดอกผลและหนทางข้างหน้า” ที่นำเสนอในงานจัดการศึกษาแลกเปลี่ยน ก่อนมีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (ย้ำบันทึกนี้เขียนขึ้นก่อนรัฐประหารหลายเดือน) มาเผยแพร่ เพื่อเป็นเสมือนหนึ่ง “บทเปิด” ในการแลกเปลี่ยนกับนักยุทธศาสตร์ “ฝ่ายซ้าย” ในรายละเอียด สำหรับ 2 ชิ้นที่เหลือต่อไป

%%%%%%

เมื่อได้อ่าน “ดอกผลและหนทางข้างหน้า” ของปิยะมิตร ลีลาธรรม ซึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อบทความ “ขบวนการประชาชนกึ่งสำเร็จรูป กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบพึ่งพา” ของสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องแรก คือ รู้สึกขนพอง-แต่ไม่สยองเกล้า- เสมือนหนึ่งว่าเราอยู่ ณ ห้วงเวลาของ “สถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ” และหวนรำลึกถึงการวิเคราะห์เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ของฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่ง ว่าเป็น “การปฏิวัติของมวลชน” แต่ “ไม่มีส่วนในการจัดตั้งรัฐบาล” แม้บทความนี้จะใช้แนวทาง/แบบแผนการวิเคราะห์ ซึ่งเสมือนหนึ่งลอกเลียนกันมา แต่น่าเสียดาย ที่ไม่มีการกล่าวถึงการ “ตีงูให้กากิน” แม้สักนิด (ดูตัวอย่างการวิเคราะห์แบบนี้ได้ใน อุดม ศรีนามไทย, “บทเรียนและข้อสรุปจากการต่อสู้เดือนตุลาคม,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์, 11: 12 (ธันวาคม, 2516))

“ดอกผลและหนทางข้างหน้า” ตั้งอยู่บนฐานการวิเคราะห์ที่ไม่หนักแน่นอย่างสำคัญ นอกจากการใช้ความเชื่อที่ว่า “มีการปฏิวัติทางการเมืองของมวลชน”  ซึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนไหวภายใต้การนำของพันธมิตรฯ ไปสร้างคำอธิบายหรือการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้น

แม้บทความนี้จะมีคำว่า “ปฏิวัติ” มากกว่า 20 คำ และแม้นว่าการนิยาม“ปฏิวัติ” จะมีความแตกต่างกันได้เป็นเรื่องปกติ แต่ปิยะมิตรก็หลีกเลี่ยงและไม่ได้ให้คำนิยามอย่างตรงไปตรงมาว่า การปฏิวัติ คืออะไร อย่างไรก็ตามเขาก็ได้พยายามที่จะอธิบายอาการหรือลักษณะที่สำคัญเพื่อแสดงถึงการปฏิวัติของมวลชนดังนี้
1.รัฐบาลไร้เสถียรภาพ และเกิดความแตกแยกในฐานทางทหาร ข้าราชการ และประชาชนกลุ่มต่างๆ จน ไม่อาจจะบริหารราชการและปกครองประเทศได้
2. เกิดการต่อต้านขยายตัวอย่างกว้างขวาง, มีผู้ร่วมต่อต้านรัฐบาลโดยใช้สิทธิโนโหวตถึง 10 ล้านเสียง
3. เป็นการเคลื่อนไหวที่พ้นไปจากรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยของนายทุน, 

กล่าวคือ การต่อสู้ในครั้งนั้น 1) ได้พัฒนาจิตสำนึกของมวลชนไปสู่การเรียกร้องถอดถอนอำนาจรัฐอย่างทรงพลัง และ2) จิตสำนึกนี้ได้รับการพัฒนาให้หลุดพ้นจากการยอมตอบการกำหนดจากสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยของนายทุน นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวได้เสนอปัญหาให้กับบรรดาชนชั้นนำที่ทรงอิทธิพลว่าจะจัดการกับรัฐบาลอย่างไร เพราะ (กลัวว่า) การปล่อยให้รัฐบาลทักษิณดิ้นอยู่ต่อ มวลชนจะมีปริมาณมากขึ้นและมีคุณภาพที่มุ่งมั่นโค่นทักษิณอย่างมีสำนึก ซึ่งมวลชนที่มีสำนึกนี้ จะไม่เพียงโค่นรัฐบาลทักษิณเท่านั้น หากยังทำลายเสถียรภาพของประเทศในทุกๆ ด้านด้วย (แน่นอนในความหมายนี้ “ชนชั้นนำที่ทรงอิทธิพล” ด้วย) จึงเป็นสาเหตุไปสู่ “พระราชอำนาจยามวิกฤต” ในกรณี “ตุลาการภิวัตน์”

ถ้าพิจารณาจาก 3 ขาหยั่งข้างต้นที่แสดงถึง  “การปฏิวัติทางการเมืองของมวลชน” การใช้ท่วงทำนองแบบฝ่ายซ้าย ที่รัก เชื่อมั่น และศรัทธาต่อพลังมวลชน ไม่อาจจะช่วยอะไรมากมายนัก เนื่องจากเราจะพบการใช้วิธีการลดทอน, ไม่ยอมพิจารณารายละเอียด และการตีความอย่างอำเภอใจ อย่างน่าฉงน

1.ว่าด้วยรัฐที่ล้มเหลว (Failed State)

ปิยะมิตรพยายามชี้ให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพ และไม่อาจบริหารราชการและการปกครองประเทศได้ ซึ่งเป็นอาการของรัฐที่ล้มเหลว (Failing/Failed State) ที่ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ของมันได้อีกต่อไป แต่อาการดังกล่าวก็หาใช่เกี่ยวกับการปฏิวัติทางการเมืองของมวลชนโดยตัวมันเองไม่ กล่าวในแง่นี้ การปฏิวัติ ในความเห็นของผู้เขียน จึงไม่เกี่ยวกับความล้มเหลวของรัฐ แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงหลักการมูลฐานหรือความสัมพันธ์ทางสังคม/อำนาจหรือการเมืองอย่างพลิกกลับ (a turn around) และในทางที่ก้าวหน้าด้วย เพราะการปฏิวัติไม่ควรจะเป็นการปฏิวัติที่ถอยหลัง รวมทั้งต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นการกระทำของพลังฝ่ายใด (จริงๆแล้ว ปิยะมิตรเชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลักการอย่างพลิกกลับบางอย่างซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป)
นอกจากนั้น เราอาจจะถกเถียงได้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลวได้หรือไม่ หรือถ้ามีมันกินขอบเขตขนาดไหน

2. ว่าด้วยการต่อต้านที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง

ปิยะมิตร เสนอว่ามีการขยายตัวของการต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวาง และเสนอว่าจุดสุดยอด/สูงสุด คือ การออกมาเพื่อใช้สิทธิโนโหวตในการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 สูงถึง 10 ล้านคน-ซึ่งเป็นผลของการเคลื่อนไหว-นั้น  “ชี้ถึงระดับจิตสำนึกของมวลชนที่ก้าวหน้าถึงขั้นประท้วงผ่านการใช้สิทธิออกเสียง” ซึ่งประเด็นนี้เป็นการประเมินที่ไม่รู้จักแยกแยะ และไม่เข้าใจลำดับของสถานการณ์

2.1 กรณีโนโหวต 10 ล้านเสียง

การออกเสียงโหวตโน ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเคลื่อนภายใต้การนำของพันธมิตรฯ เพียงอย่างเดียว แต่ส่วนใหญ่กล่าวได้ว่ามาจากกลุ่มผู้สนับสนุนหรือภักดีกับพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ไม่เลือกพรรคไทยรักไทยอยู่แล้ว การใช้สิทธิโหวตโนของคนเหล่านี้เกิดจากเมื่อพรรคการเมืองเหล่านั้นบอยคอตการเลือกตั้ง และรณรงค์ให้ออกเสียงโหวตโน รวมทั้งการรณรงค์จากกลุ่มพลังอื่นๆ เช่น สื่อมวลชน อมธ. เป็นต้น พวกพันธมิตรฯ หาได้สนใจและรณรงค์เรื่องนี้ไม่เพราะมัวแต่เคลื่อนไหวให้มีการล้มการเลือกตั้ง และเมื่อประเมินว่าเป้าประสงค์ “ล้มการเลือกตั้ง” ไม่ประสบความสำเร็จเป็นแน่แท้ ในช่วง 2-3 วันสุดท้าย จึงออกมาพูดเรื่องนี้พอเป็นพิธี
ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งของประชาชน ควรพิจารณาจากคะแนนเสียงของพรรคไทยรักไทยดูจะสอดคล้องกว่า ซึ่งหากพิจารณาอย่างไม่เคร่งครัดมากนักโดยให้ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิในปี 2548 และ 2549 เท่ากัน จึงมีเพียง 19 ล้านเสียง – 16 ล้านเสียง = 3 ล้านเสียง เท่านั้นที่ถอนการสนับสนุนพรรคไทยรักไทย
สาเหตุที่ปิยะมิตรพลาดหรือเผอเรอในแง่ของการพิจารณาตัวเลขที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความสามารถในเชิงคณิตศาสตร์มากนัก เป็นเพราะต้องการนำ 10 ล้านเสียงมาสนับสนุนข้อสมมุติฐานของตนเองอย่างง่ายๆ

  2.2 การเข้าร่วมของพันธมิตรฯ กับการขยายตัวของมวลชน

ปิยะมิตรยังใช้ข้อมูลจำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขึ้น หลังจากตัดสินใจการเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสนธิ ของ “ท่านผู้นำ” ของ “ภาคประชาชน” บางส่วน  (เช่น พิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกศรัยสุข, สุวิทย์ วัดหนู, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สุริยะใส กตะศิลา, นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ หรือ เอ็นจีโอ ใน กป.อพช.) เพื่อสนับสนุนว่า การสนธิกำลังกับสนธิของคนเหล่านี้ เป็น “สิ่งที่ถูกต้อง” และวิจารณ์คัดค้านคนที่คัดค้าน-สุภลักษณ์และผู้เขียนถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้- โดยชี้ว่า “การรวมกำลังแนวร่วม (United Front)” ทำให้มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวลำพังของสนธิ

แต่ถ้าหากพิจารณาจากลำดับเหตุการณ์ จะพบได้ว่าการชุมนุมใหญ่โดยมีผู้เข้าร่วม “เรือนแสน” ซึ่งต่างกับการชุมนุมใน “รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” เกิดขึ้นครั้งแรก ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า (จำนวนผู้เข้าร่วมมักจะถูกประเมินสูงเกินไปเสมอจากผู้นำหรือผู้สนับสนุน แต่ผู้เขียนเห็นว่าอย่างไรก็ไม่เกิน 60,000 คน) หลังจากกรณีการขายหุ้น (23 มกราคม) ซึ่งขณะนั้น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ยังไม่ได้ก่อตั้งขึ้น

การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของสนธิในเวลาต่อมาของ “ผู้นำ” ภาคประชาชน ในนามของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” (ก่อตั้งขึ้นหลังจากวันที่ 4 และเข้าร่วมจัดการชุมนุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 กุมภาพันธ์) แน่นอนที่สุด มีผลทำให้ผู้คนหรือองค์กรต่างๆ ทั้งที่เป็นองค์กรชาวบ้านและไม่ใช่ชาวบ้าน จำนวนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับพิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สุวิทย์ วัดหนู, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สุริยะใส กตะศิลา, นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ หรือ “ผู้นำ” อื่นๆ ในพันธมิตรฯ เข้าร่วมการเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น มวลชนของ “ภาคประชาชน”เดิม

นอกจากความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลทักษิณเป็นฐานเดิมอยู่แล้ว การเข้าร่วมของคนกลุ่มนี้เกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น มีความคาดหวังว่าการกระโดดขึ้นรถไฟของ “ท่านผู้นำ” ทั้งหลายจะทำให้การเคลื่อนไหวไล่ทักษิณมีความก้าวหน้าได้, มีความไว้เนื้อเชื่อใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน เพราะเป็นพวกเดียวกัน รวมทั้งการที่ผู้นำเหล่านี้ใช้ความสัมพันธ์เดิมที่มีต่อกัน ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เดินสายให้เหตุผลและเรียกร้องให้คนอื่นเข้าร่วมขบวนการหลังจากที่ตนเองได้เข้าร่วมแล้วด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ เช่น ให้นึกถึงประเทศชาติบ้าง เป็นต้น

มวลชนของ “ภาคประชาชน”เดิม นี้ถือว่าเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ และที่สำคัญกว่านั้น หากลองไล่เรียงนับที่มาที่ไป ทุกกลุ่ม มีการจัดตั้ง เคลื่อนไหวของตนเองมาก่อนทั้งสิ้น ซึ่งการอ้างว่าการลุกขึ้นมาตื่นตัวทางการเมือง หรือ การพัฒนาจิตสำนึกของคนกลุ่มนี้ เกิดจากคุณูปการของพันธมิตรฯ ก็กะไรอยู่
การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนโดยรวมในการชุมนุม (ซึ่งไม่มากถึง 4-5 แสนคนอย่างที่กล่าวอ้าง) ในช่วงหลังวันที่ 11 กุมภาพันธ์ มาจากกลุ่มคนที่ติดตามหรือได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนไหวของสนธิที่มีมาแต่เดิมแล้ว ซึ่งเมื่อสถานการณ์เข้าด้ายเข้าเข็มมากขึ้น จึงออกมาแสดงตัว หลังจากดู ASTV ฟังวิทยุ เอฟเอ็ม 97.75 และอ่านหนังสือพิมพ์ เวบไซต์ ผู้จัดการมานาน มากกว่าปัจจัยการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของสนธิของพวก “ผู้นำ”ภาคประชาชนทั้งหลาย

หรือแม้แต่การตื่นตัวของนักศึกษาภายใต้การนำขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ที่ออกมาล่ารายชื่อถอดถอนนายกฯ ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเกี่ยวข้องกับพันธมิตรฯ โดยตรง แต่เกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองโดยรวมที่ผลักดันให้เธอและเขาออกจากห้องเรียน และการเคลื่อนไหวของพวกเขาก็มีลักษณะต่อต้านพันธมิตรฯอย่างชัดเจน คือ ไม่ยอมเข้าร่วมชุมนุม นอกจากนั้นยังไม่ยอมรับ จนถึงขั้นปฏิเสธ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ซึ่งเป็นกรรมการและแกนนำระดับรองๆ ลงมาของพันธมิตรฯ เสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสนธิ ของ “ภาคประชาชน” ส่งผลให้ “ภาพลักษณ์” ของขบวนการเคลื่อนไหวดีขึ้น และเมื่อบวกกับพลวัตของสถานการณ์ ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชนบางส่วนที่ก่อนหน้านั้นกระอักกระอ่วนต่อขบวนการ “ถวายคืนพระราชอำนาจ” และไม่ไว้ใจสนธิ แต่ผลที่สำคัญและเห็นได้ชัดมากที่สุดก็คือ 1) ทำให้สนธิและทีมงาน มีทีมงานในการจัดการชุมนุมมากขึ้นโดยสมัครใจ-ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเหมือนลูกจ้างบริษัท 2) การปะหน้าทาแป้งขบวนการของสนธิเสียใหม่มากกว่าอย่างอื่น –โดยเขายังกุมและกำหนดประเด็น ทิศทางการเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิม- เรื่องนี้สนธิคงรู้ดีและคงอยากจะตอบแทนและขอบคุณ “ผู้นำ” ภาคประชาชนสักหมื่นพันครั้ง

โดยสรุป สิ่งที่ส่งผลต่อจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ-อย่างน้อยก็สำคัญกว่าการเข้าร่วมของ “ภาคประชาชน” – คือ เหตุการณ์การขายหุ้นและพลวัตของสถานการณ์การเคลื่อนไหวหลังจากนั้น ที่มีลักษณะเข้มงวดหรือถูกทำให้เข้มงวดมากขึ้น โดยใช้มาตรการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการประกาศเส้นตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า การถูกทำให้เชื่อว่ามีโอกาสชนะมากขึ้นหรือชัยชนะใกล้เข้ามาแล้ว ขณะที่การเข้าร่วมของ “ภาคประชาชน” เดิม ภายใต้การนำของท่านผู้นำทั้งหลาย มีผลต่อจำนวนคนและความคิดหรือ “คุณภาพ” ของคนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทั้งหมดน้อยมาก

ประเด็นที่กล่าวมานี้เอง ที่ทำให้กลุ่ม “ภาคประชาชน”เดิม  มีขีดความสามารถในการต่อรองกับกลุ่มสนธิและทีมงานของเขา  กล่าวคือ การอิงพระราชอำนาจ หรือ “สู้เพื่อในหลวง” โดยนิยามว่าทักษิณท้าทาย “ในหลวง” มีฐานะครอบงำมาตั้งแต่ต้น เมื่อผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่สมาทานความคิดดังกล่าวแล้ว แม้นเมื่อมารวมตัวกันในภายหลัง ก็ไม่สามารถทำให้ผู้นำ “ภาคประชาชน” ต่อรองในเรื่องนี้ได้จริง จึงต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า

3. ว่าด้วยการปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ

สำหรับปิยะมิตรแล้ว  2 ประเด็นข้างต้นไม่ได้มีความสำคัญในตัวมันเอง แต่ประเด็นที่ 1 อธิบายผลสะเทือนที่เกิดจากการเคลื่อนไหว ประเด็นที่ 2 แสดงให้เห็นถึงปริมาณ เพื่ออธิบายหรือสนับสนุนประเด็นที่ 3 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการอธิบายเรื่องการปฏิวัติ  คือ การพัฒนาจิตสำนึก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิง “คุณภาพ” โดยปิยะมิตรอธิบายว่า การเคลื่อนไหวของมวลชนครั้งนี้เป็น 1) การเรียกร้องถอดทอนอำนาจรัฐอย่างทรงพลัง 2) พ้นจากรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยของนายทุน ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนเอง ดูจะเป็นการตีความเกินเลยไปจากข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่อย่างมาก กล่าวคือ

3.1 การเคลื่อนไหวที่สนธิและคณะได้ก่อรูปขึ้น ไม่ได้สนใจเรื่องกฎหมายหรือสถาบันทางการเมืองอย่างรัฐสภา องค์กรอิสระ หรือการเลือกตั้งแต่ต้น เช่น นักคิดของพวกเขาบางคนเสนอให้มีการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อเป็นเครื่องมือในการเอาทักษิณออกไปและมีนายกคนใหม่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สนธิเองก็กล่าวอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นว่าเขาไม่แคร์เรื่องรัฐธรรมนูญ (ดูการอภิปรายเรื่อง “พระราชอำนาจ” ในต้นเดือนกันยายน 2548 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ และรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรหลังจากนั้น) แต่สิ่งที่เขาทำทั้งหมดเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์  โดยเนื้อหาที่เขาพูดและตั้งเป็นประเด็นอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์จะถูกถอด คือ การละเมิดพระราชอำนาจในกรณีผู้ว่า สตง., การทำบุญในวัดพระแก้ว, การตั้งรักษาการสังฆราช และถูกเน้นย้ำมากขึ้นในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร

เพราะฉะนั้นถ้าเราตีความตามความคิดของปิยะมิตร ว่าการกระทำที่ไม่สนใจกฎหมาย/รัฐธรรมนูญ ไม่สนใจสถาบันการเมือง/การเลือกตั้ง “เพื่อขับไล่ทักษิณ” เป็นการปฏิวัติแล้ว สนธิและผู้ร่วมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรก็ได้เริ่มต้นการปฏิวัติมาตั้งแต่ต้น แต่ควรบันทึกไว้ด้วยว่า พิภพ ธงไชย เห็นว่าเป็น “การถอยหลังเข้าคลอง” ส่งผลเสียกับสังคมประชาธิปไตย (ดูบทสัมภาษณ์ของเขาได้ ใน ฟ้าเดียวกัน, 4 : 1 (มกราคม-มีนาคม, 2549) หน้า, 6)  และด้วยตรรกะเดียวกันนี้ การที่คนสนับสนุนการฆ่าตัดตอน ซึ่งไม่สนใจกระบวนการยุติธรรมก็เป็น “ความก้าวหน้า” เป็นการปฏิวัติได้ เพราะหลุดจากกรอบเหล่านี้

คำอธิบายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ดีก็คือ “เป้าหมายให้ความถูกต้องกับวิธีการ” (“The ends justify means”),  วิธีการอะไรก็ได้ขอให้นำไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองต้องการ ลักษณะอาการแบบนี้สามารถอธิบายได้จากตัวอย่างที่ชัดเจนกรณีเรื่องสงครามยาเสพติด เนื่องจากเห็นว่า ยาเสพติดไม่ดี คนที่เกี่ยวข้องก็ไม่ดี ดังนั้นเพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติด-ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ดี-การฆ่าคนบริสุทธิ์หรือประหารชีวิตผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมก็ยอมรับได้  กรณีการไล่ทักษิณก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากเห็นการเอา “ทักษิณออกไป” เป็นเป้าหมายที่ดี ดังนั้น จะใช้วิธีการอะไรก็ได้ขอให้นำไปสู่เป้าหมายได้ก็เป็นพอ

นอกจากนั้น ปิยะมิตรยังลืมไปอีกว่า สถาบันมหากษัตริย์ ก็เป็นสถาบันทางการเมือง- “ที่อยู่เหนือการเมือง?”- และในกรณีเมืองไทย มี Function และบทบาททางการเมืองที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย (“ของชนชั้นนายทุน” ตามนิยามปิยะมิตร) ตลอดเวลา รวมทั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ เองก็ทำธุรกิจแสวงหากำไร เพราะฉะนั้นการเรียกร้องของกลุ่มเคลื่อนไหวให้พระมหากษัตริย์แทรกแซงทางการเมือง จึงไม่ได้เป็นการ “ก้าวพ้น” อะไรเลย ไม่ว่าจะของนายทุนหรือว่าของชนชั้นใด นอกจากนั้นควรระลึกไว้ด้วยว่า สถาบันนี้ทรงอิทธิพล มีฐานะครอบงำ ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงกว่าสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ทั้งหมด

3.2 แม้ว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องครั้งนี้จะปฏิเสธการเลือกตั้งหรือสถาบันทางการเมืองบางส่วน แต่เป็นการตีความตาม “อำเภอใจ” เกินไป ที่จะกล่าวว่า เป็นการปฏิเสธระบอบหรือสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของ “ชนชั้นนายทุน” เพราะการปฏิเสธนั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มเคลื่อนไหวเห็นว่า สถาบันต่างๆ ตกเป็นเครื่องมือหรืออยู่ภายใต้การครอบงำของทักษิณ ดังนั้นการท้าทายเหล่านี้จึงมีเป้าหมายเพื่อที่จะต่อต้านทักษิณโดยตัวมันเองมากกว่าเป็นการต่อต้านระบอบหรือสถาบันทางการเมืองโดยรวม หาได้ต่อต้านกลไก/สถาบันของนายทุนหรือทุนนิยมไม่ ข้อเท็จจริงเล็กๆ  แต่สำคัญมากๆ ในเรื่องนี้เช่น พันธมิตรฯ สนับสนุนการทำงานของศาล หรือ “ตุลาการภิวัตน์”, เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง กกต. เพื่อให้มีการเลือกตั้งที่ชอบธรรม เพราะคิดว่าเป็นช่องทางในการไล่ทักษิณได้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเชื่อว่า เป็น “การปฏิวัติของมวลชน” และเห็นว่านี่เป็น “สถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ” ทำให้ปิยะมิตรมีความคิดบางประการที่เลยเถิดไปมาก จนทำให้เข้าใจได้ว่า เมื่อต่อต้านสถาบันทางการเมือง ต่อต้านการเลือกตั้ง ซึ่งถูกนิยามว่าเป็น “ของนายทุน” แล้ว  จึงเป็นการต่อต้านนายทุน/ทุนนิยมไปด้วย และได้นำประเด็นนี้มาตอบโต้ข้อวิจารณ์ของสุภลักษณ์และคนอื่นๆต่อพันธมิตรฯ ว่า “อธิบายเหมือนทักษิณ” หรือต้องการรักษา “ประชาธิปไตยของนายทุน” และทำให้เขาเห็นว่า การเรียกร้องให้พันธมิตร “ภาคประชาชน” ถอนตัว เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการทอนกำลังการเคลื่อนไหว ซึ่งเท่ากับทอนกำลังการปฏิวัติของมวลชนนั่นเอง

การตอบโต้ของปิยะมิตรจะฟังขึ้นก็ต่อเมื่อ การเคลื่อนไหวของ “มวลชน” นี้ อยู่ภายใต้เงื่อนไขอื่น อย่างเช่น มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเปลี่ยนแปลง/ล้มระบบความสัมพันธ์เดิมลง ไม่ใช่แค่ การถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้นว่าต้องการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลเท่านั้น -โดยวิธีการอะไรก็ได้- ซึ่งไปไกลที่สุดได้แค่การพูดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมือง/ประชาธิปไตย (ของชนชั้นนายทุน) ภายใต้โวหารอันโก้หรูว่า “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน”  เท่านั้น และภายใต้การเคลื่อนไหวของประชาชนผู้จงรักภักดีแบบนี้ ก็ไม่อนุญาตให้ไปไกลกว่านี้ได้

4) ว่าด้วยปัญหาการวิเคราะห์และท่าทีของ “ภาคประชาชน”

ประเด็นปัญหาสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวที่อ้างว่าตัวเองเป็น “ภาคประชาชน” กลุ่มคนที่เคยซ้าย หรือเข้าใจว่าตัวเองเป็นฝ่ายซ้าย ก็คือ สิ่งที่สมศักดิ์ เจียมธีรสุกลเรียกว่า แนว populism ซึ่งมักมองการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ/รัฐบาล ว่าเป็นสิ่งที่ดี ชอบธรรม และควรสนับสนุน (ดูสัมภาษณ์ใน “วิวาทะปฏิรูปการเมืองภาคใต้,” ฟ้าเดียวกัน, 3 : 2 (เมษายน-มิถุนายน, 2548), หน้า 102-134) เพราะเป็น “ความก้าวหน้า” ท่าทีของปิยะมิตรในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยลืมไปว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ/รัฐบาล หรือสถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความก้าวหน้าเสมอไป ในกรณีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ก็เช่นกัน มีความชัดเจนว่า มีความโน้มเอียงไปในทาง อนุรักษ์นิยมมากขึ้น ดูจากข้อเรียกร้องต่างๆ เช่น การถวายคืนพระราชอำนาจ, มาตรา 7 เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองพระราชทาน นายกรัฐมนตรีพระราชทาน และบางเรื่องก็ดูตลกร้ายมาก เช่น การเรียกร้องให้องคมนตรีมาพิทักษ์รักษาประชาธิปไตย, หรือเห็นว่าวิจารณ์องคมนตรีเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม,  เรียกร้องให้ทหารออกมารัฐประหาร เป็นต้น

ประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือเสรีนิยม ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็น “ความก้าวหน้า” และไม่สามารถที่จะนิยามได้ว่าเป็น “การปฏิวัติ” ได้เลย น่าสงสัยเสียจริงว่าทำไมปิยะมิตรผู้คร่ำหวอดในวงการการเคลื่อนไหว “ภาคประชาชน” มองไม่เห็นประเด็นเหล่านี้

นอกจากนั้น ยังสะท้อนปัญหาในการวิเคราะห์การเมืองของกลุ่มคนข้างต้นอีกประการหนึ่งที่ธงชัย วินิจจะกูล  ได้หยิบยกมาอภิปรายในการสัมมนาของฟ้าเดียวกันที่เชียงใหม่ (ดู “วิวาทะว่าด้วย การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2,” ฟ้าเดียวกัน, 4: 3 (กรกฎาคม-กันยายน), หน้า160-226.) คือ มักจะโน้มเอียงที่จะมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญกับ Monarchist  -รวมทั้งเครือข่ายของเขา- หรือไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหาทางการเมืองอีกต่อไป และการละเลยเรื่องนี้ทำให้มองเห็นเพียงว่า การเมืองเป็นการแข่งขันแย่งชิงกันของกลุ่มการเมืองอื่นๆ เช่น นักการเมือง หรือ ประชาชน โดยลืมบทบาทของกลุ่มหรือเครือข่ายนี้ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถอธิบายได้ว่า  Intervention ทางการเมืองที่ผ่านมา เป็นอย่างอื่นไปได้ เช่น ความพยายามรักษาระบบสังคมที่เป็นอยู่ นอกจาก เป็นการเข้ามาประชันขันแข่งกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ

5) สรุป

ผู้เขียนเห็นว่า คำนิยามที่จะใช้กับขบวนการเคลื่อนไหวนี้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด น่าจะเป็นเรื่องของการ “โค่น” หรือ “ขับไล่” ทักษิณ หรือ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งไม่มีความหมายชัดเจนว่าคืออะไร โดยไม่เสนใจวิธีการ มากกว่าเพื่อประชาธิปไตยหรืออื่นๆ

เป็น “ฝ่ายค้านนอกสภาที่จงรักภักดี” ตามคำนิยามของเกษียร เตชะพีระ อย่างไม่ต้องสงสัยหรือมีถกเถียงได้อีกต่อไปในเชิงพฤติกรรม
การเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ Monarchy และเครือข่าย มีฐานะสูงส่งขึ้น สนับสนุนให้มีอำนาจทางการเมืองมากกว่าเดิม อย่างน้อยที่สุดก็มากกว่าในรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ตีความได้

และหัวใจที่สำคัญที่สุดก็คือ การผลิตซ้ำความเชื่อที่ว่า คนเราไม่เท่ากันโดยพื้นฐาน และเชื่อว่ามีผู้มีบุญญาธิการ มีความเหนือกว่าทางศีลธรรมกว่าคนอื่น มีความชอบธรรมที่จะเข้ามาตัดสินปัญหาทางการเมืองแทนคนอื่นๆ

ซึ่งในแง่นี้มิได้หมายความว่า เป็นการย้อนกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิ์ แต่เป็นการ “ถอยหลัง” ออกจากหลักหมายที่สังคมสมัยใหม่พยายามสร้างขึ้นมา คือ ปัจเจกชนที่อิสระ ปกครองตนเองได้ (Autonomous subject) ที่สามารถที่จะมาสมาคมกันได้อย่างเสรี อันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย

การให้ความหมายว่าเป็น “การปฏิวัติทางการเมืองของมวลชน” เป็นเพียงจินตนาการของคนที่มีแรงปรารถนา/แสวงหาการเคลื่อนไหวอันทรงพลังของมวลชน แต่ไม่เจอ.... จึงนำการเคลื่อนไหวนี้มาชดเชยและปลอบประโลมตัวเองเพื่อที่จะฝันต่อเท่านั้นเอง
 

บล็อกของ อุเชนทร์ เชียงเสน

อุเชนทร์ เชียงเสน
การให้ความหมายว่าเป็น “การปฏิวัติทางการเมืองของมวลชน” เป็นเพียงจินตนาการของคนที่มีแรงปรารถนา/แสวงหาการเคลื่อนไหวอันทรงพลังของมวลชน แต่ไม่เจอ.... จึงนำการเคลื่อนไหวนี้มาชดเชยและปลอบประโลมตัวเองเพื่อที่จะฝันต่อเท่านั้นเอง  
อุเชนทร์ เชียงเสน
อุเชนทร์ เชียงเสน 
อุเชนทร์ เชียงเสน
 "Perpetrators of genocide in resource-poor countries are like decision makers elsewhere: they act on the basis of what they see, experience, know, and fear, not simply on the basis of what they hear—or even what they are told—on the radio.