อุเชนทร์ เชียงเสน*
ผมอยากจะตั้งชื่อหัวข้อการอภิปรายของตัวเองในวันนี้ว่า “สังคมเป็นธรรมต้องนิรโทษกรรม” เพื่อประชดการประชดของศิษย์เก่าบัณฑิตอาสาสมัครที่โพสต์ความเห็นต่อวิทยากร“เสื้อแดง” 3 คน ว่า “คุณเสรี ดูรายชื่อแล้วหวาดเสียวกลัว [หัวข้อการเสวนาจะมีเป็น] สังคมเป็นธรรมต้องนิรโทษกรรมนะ” แต่ด้วยความเคารพต่อผู้จัดที่ให้เกียรติและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิทยากรตามแรงกดดัน และที่สำคัญ ไม่ใช่สิ่งที่ตั้งใจจะนำเสนอแต่แรก จึงเปลี่ยนใจ แต่ด้วยข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นน่าสนใจในการแลกเปลี่ยนมากกว่า จึงปรับประเด็นใหม่และใช้เป็นวัตถุดิบในการอภิปราย ทั้งนี้ มิได้มีเจตนาที่จะโจมตีตัวบุคคลแต่อย่างใด
หลายท่านคงไม่ทราบว่า ก่อนหน้านี้ มีการถกเถียงระหว่างผู้จัดกับศิษย์เก่าบัณฑิตอาสาสมัครบางท่าน เรื่องความเหมาะสมของวิทยากร 3 แดง อย่างร้อนแรงจนถึงขึ้นมีการประกาศตัดความสัมพันธ์กันเลยทีเดียว[1]
สังคมที่เป็นธรรมในแง่กระบวนการการเมือง
ดังนั้น จากเหตุการณ์นี้ แทนที่จะพูดถึงความหมายของ “สังคมที่เป็นธรรม” เป็นอย่างไร ตามโจทย์ที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นนามธรรมและขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ของแต่ละคน ผมจึงอยากเริ่มต้นด้วยบทสนทนาใน Facebook ที่ตั้งค่าสาธารณะของศิษย์เก่าบัณฑิตอาสาสมัคร เมื่อเห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานนี้
A: คุณเสรี ดูรายชื่อแล้วหวาดเสียวกลัวสังคมเป็นธรรมต้องนิรโทษกรรมนะ
B : นี่แหละที่เรามาประจานมัน และเราจะออกจากกลุ่มนี้แล้ว มันทำอย่างนี้เท่ากับหยามเรามากเลย
หลังจากนั้น คุณ B ก็โพสต์ข้อความที่ไปสืบค้นมาได้เพื่อ “ประจาน” ทั้ง 3 คนว่าเคยทำอะไรมาบ้าง เช่น นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เป็นอาสาสมัคร ครก. 112 นายอุเชนทร์ เชียงเสน เขียนบันทึก “บันทึกเมษา-พฤษภา 53” นางสาวเพียงคำ ประดับความ “กวีคนสวย” เขียนบทกวีวิวาทะกับท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ น่าเสียดายที่คุณ B สืบค้นประวัติของผมด้วยนามสกุลที่ผิด จึงได้บันทึกชิ้นนี้มา ไม่อย่างนั้นอาจจะสนุกกว่านี้ คือ จะรู้ว่าเคยทำงานที่ฟ้าเดียวกัน เป็นสมาชิกเวปฟ้าเดียวกัน/คนเหมือนกัน ซึ่งอยู่ใน “ผังล้มเจ้า” ของ ศอฉ. (บทสนทนาต่อ)
A : เหลือแค่น้องแววเท่านั้น
A : เดี๋ยวนี้ ธรรมศาสตร์ไม่เหลือในความทรงจำเลยนะ สมัยก่อนเชื่อสนิทใจว่าธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน มันเปลี่ยนตั้งแต่เมียภูมิธรรมเข้าไปจัดตั้งหรือเปล่า อาจารย์จึงเพี้ยนไปหมด
B : อจ.มธ เป็นเสื้อแดงมากมาย เพราะผลประโยชน์ที่ทักกี้ โยนให้มา พอ อจ.แดงก็ไปเป่าหู นศ.ให้เชื่อ นศ.จึงแดงไปหมด ผมหมดความอดทนแล้วจะถอนตัวที่ทำงานกับสำนักให้หมด เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า
A : ถ้าอยู่แล้วขยับไม่ไหว เราว่าคุณถอยออกมาสักนิด แล้วดูมัน เผื่อจะนึกอะไรได้
นอกจากนี้ คุณ B ได้ประกาศจุดยืนของตัวเองว่า “ผมไม่ต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือสีใดสีหนึ่ง มายึดพื้นที่ตรงนี้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายนั้นๆ คำว่า ประชาธิปไตย ประชาชน ฟังดูสวยหรู แต่จะเหมาะกับใครนั้น ต้องให้ประชาชนจริงๆตัดสิน ไม่ใช่มาแอบอ้างให้ดูดี”
สำหรับผม นี่เป็นความท้าทายสำหรับการอภิปรายในวันนี้ และดังนั้น จึงขอใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างเปิดเผย
หากนี่เป็นทัศนะของ “ส่วนใหญ่” ของผลผลิตของที่นี่ (ข้อเน้นว่า ผมเชื่อมั่นว่าไม่ใช่) และหากที่นี่มีเป้าหมายในภาพกว้าง เพื่อสร้าง “สังคมที่เป็นธรรม” ด้วยแล้ว ไม่ว่าจะมองในมิติใดก็ตาม สำนักบัณฑิตอาสาสมัครน่าจะปัญหาบางประการ ด้วยเหตุผลดังนี้
ประการแรก ไม่ว่าจะเป็นเรียนคณะหรือสำนักใด ทางด้านสังคมศาสตร์ ในระดับที่สูงกว่าปริญญาขึ้นไป พื้นฐานที่สุด ต้องทำให้ผู้เรียนคิดเรื่องการคิดหรือการเข้าใจโลกภายนอก และสามารถเข้าใจสังคมและความสัมพันธ์ของผู้คนอย่างสลับซับซ้อนได้ คนที่มีพื้นฐานเหล่านี้ ไม่น่าจะสามารถพูดได้ว่า “อจ.แดงก็ไปเป่าหู นศ.ให้เชื่อ นศ.จึงแดงไปหมด” หรือเกรงกลัวว่า คนเสื้อแดงมาพูดอะไรแล้วจะทำให้คนฟังเชื่อได้เพราะการพูดอย่างเดียว หรือใช้ประโยชน์อะไรจากเวทีนี้ได้มากมาย
คนที่คิดได้อย่างนี้ ก็ไม่น่าจะแปลกหากเขาจะคิดอย่างง่ายๆ ต่อไปว่า คนชนบทที่ลงคะแนนเสียงให้กับคนหรือพรรคที่ตนเองไม่ชอบนั้น ถูกหลอกลวง ขายเสียง ฯลฯ วิจารณ์ชาวบ้านที่ตนเองไปจัดตั้งตามอุดมการณ์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือชาวบ้านทั่วๆไป ว่า ขาดจิตสำนึก และดังนั้น ภารกิจของนักพัฒนา คือ การสร้างจิตสำนึกให้กับพวกเขาเหล่านั้น
เชื่อมโยงกลับมาที่ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ที่มีปัญหาขัดแย้งสำคัญอยู่ที่ “สถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์” ตามคำอภิปรายของศิษย์เก่านั้น อัตลักษณ์ความเป็นแดงถูกผูกไว้กับประเด็นนี้โดยตรง อย่างความไม่พอใจต่อนายนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผูกพันกับบทบาทใน ครก. 112 ซึ่งพวกเขาเห็นว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" โดยกระทงความผิดคือ “มีความเคลื่อนไหวให้เห็นเป็นพฤติกรรมให้แก้ไข ม. 112 ซึ่งแสดงถึงการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างชัดเจน"
ทั้งนี้ ในประเด็นสถาบันกษัตริย์นั้น สำหรับคนที่ติดตามการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ย่อมเห็นและรู้แก่ใจว่า ไม่เพียงแต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม อย่างการอภิปรายที่พยายามจำกัดวงไว้เท่านั้น แต่รวมถึงเข้ามาสัมพันธ์โดยตรง ที่ทำให้คำอธิบายว่าเป็นเป็นกลาง หรืออยู่เหนือการเมืองนั้น ฟังไม่ขึ้นอีกต่อไป
ดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แก้ไขหรือยกเลิก 112 จึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ทักษิณและสมุน วรเจตน์ ภาคีรัตน์และนิติราษฎร์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฯลฯ “เป่าหู” หลอกลวง ปั้นแต่งขึ้นมา แต่เกิดจากการเห็นและนำไปสู่ความเข้าใจแบบใหม่ รูปธรรมของปรากฏการณ์ที่อภิปรายได้ง่ายและเสี่ยงน้อยที่สุด คือ บทบาทของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่นำไปสู่กองทัพภิวัตน์ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ยากและเสี่ยงมากขึ้นแต่ส่งผลสะเทือนที่สุด คือ เหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม 2551
อธิบายใหม่ คือ ที่ว่ามีปัญหานั้นก็เพราะผลผลิตของทีนี่เข้าใจว่า เรื่องนี้สามารถปั้นแต่งขึ้นและนำไป “เป่าหู” ใครก็ได้ แต่ความเข้าใจหรือคำบรรยายใหม่เหล่านี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้น ได้รับการยอมรับ และทำให้เป็นวัตถุรูปธรรมผ่านการรณรงค์ได้ หากไม่มีปรากฏการณ์รองรับเลย ทำได้อย่างมากที่สุดก็เป็นเพียงเรื่องตลกทางการเมือง ที่ไม่มีใครเชื่อ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับคำบรรยายของอีกฝั่งหนึ่ง
ประการที่สอง จากปัญหาที่ได้กล่าวมา เมื่อคิดถึงสังคมที่เป็นธรรม ผมจึงสนใจในแง่ของกระบวนการด้านการเมือง-ประชาธิปไตย เพราะเป้าหมายหรือรูปแบบของสังคมที่เป็นธรรมของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ไม่สามารถที่จะบังคับคนอื่นให้มีเหมือนเราได้ แต่ในแง่กระบวนการนั้น โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมาย ต้องเปิดให้ผู้คนมีเสรีภาพ ได้แสดงความเห็นของตนเองอย่างเต็มที่และอย่างเปิดเผย อย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อไปสู่เป้าหมายอย่างสันติ ผ่านขบวนการเคลื่อนไหว การจัดตั้งพรรคการเมือง หรือสถาบันทางการเมืองอื่น ในที่นี้ รวมทั้งเรื่องสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นแนวปฏิรูปหรือยกเลิก เปลี่ยนจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐก็ตาม โดยไม่ต้องกลายเป็นอาชญากร ถูกดำเนินคดีหรือต้องโทษจำคุกอย่าง 3 ส. (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สมยศ พฤกษาเกษมสุข สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ) ไม่ต้องหลบหนีออกจาก “บ้าน” อย่างอาจารย์ใจ อึ้งภากรณ์ ลูกชายอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ หรือแม้กระทั่งตัวอาจารย์ป๋วยเองในปี 2519 ไม่ถูกทำร้ายร่างกายอย่างอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ไม่ถูกถูกล้อมปรามอย่างคนเสื้อแดงด้วยข้อหา “ล้มเจ้า”
เหตุผลสนับสนุนในเรื่องนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะนี่ไม่ใช่รัฐราชสมบัติ แต่เป็น the society of man หรือเป็นของทุกคนเท่าๆ กัน จึงไม่มีใครมีสิทธิ์ไล่คนอื่นออกจากบ้านของพ่อ
ทำไม “กระบวนการ” เหล่านี้ จึงสำคัญ เพราะ 1) จะไม่มีใครต้องสูญเสียเลือดเนื้อและอิสรภาพ เนื่องจากความคิดเห็นทางการเมือง อุดมการณ์ ที่แตกต่าง เพราะ 2) เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสวงหา “สังคมที่เป็นธรรม” ในแบบฉบับของตนเอง และผลักดันไปสู่เป้าหมายได้ เพราะ 3) เปิดโอกาสให้การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือการปฏิรูปการเมืองการปกครองอย่างสันติเป็นไปได้
ถ้าจะอ้างอาจารย์ป๋วยก็ได้นิดหน่อย โดยกลับไปที่งานเขียนยอดนิยม “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ในวรรคที่ว่า
“ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ”
“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”
ท้ายที่สุดแล้ว รูปแบบสังคมการเมืองที่เป็นธรรมจะเป็นแบบไหน คงต้องเป็นอย่างที่ศิษย์เก่าคนเดิมได้พูดไว้ว่า “ต้องให้ประชาชนจริงๆ ตัดสิน ไม่ใช่มาแอบอ้างให้ดูดี” คือ ต้องให้ประชาชนตัดสินจริงๆ ไม่ใช่ “สมมุติ” กัน โดยวิธีการสำคัญในการตัดสิน คือ การลงคะแนนเสียงในรูปแบบต่างๆ ของประชาชน ภายใต้การแข่งขันที่เสรี ไม่ใช่ด้วยการบีบบังคับในรูปแบบต่างๆ การรัฐประหาร การปิดปากคนอื่นด้วยข้อหาล้มเจ้า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฯลฯ
ประชาธิปไตยจากประสบการณ์ชีวิตและการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ผมเกิดและโตจากครอบครัวชาวนาขนาดเล็ก ยากจน ในชนบทต่างจังหวัด ในหมู่บ้าน เมื่อมีการเจ็บป่วย หากอาการไม่หนักจริงๆ ก็ไม่ค่อยมีใครอยากไปโรงพยาบาล เพราะแม้จะเป็นของรัฐ ราคาไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับเอกชน แต่มันก็มากสำหรับครอบครัวที่ไม่มีเงินเก็บ บางครั้งต้องหยิบยืมเพื่อนบ้าน และแถมด้วยดอกเบี้ยอีกนิดหน่อย ขอบคุณ 30 บาทรักษาทุกโรค
ในทุกปี พ่อต้องออกไปทำงานนอกบ้านเมื่อหมดฤดูกาลทำนา น้องสาวหนึ่งคนในหมู่พี่น้อง 4 คน ไม่ได้เรียนต่อหลังจากจบชั้นประถมศึกษา เพราะไม่มีเงิน แม้ว่าพ่อและแม่จะตระหนักว่า พวกผม 4 คนและครอบครัวในอนาคต ไม่สามารถที่จะอยู่อย่างเพียงพอได้ ด้วยที่ดินที่แบ่งให้คนละ 4 ไร่ บางครั้ง แม่ต้องออกมาทำงานก่อสร้างเป็นจับกังค่าแรงวันละร้อยกว่าบาท ในช่วงที่ค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูกเพิ่มสูงขึ้น
ขอบคุณโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษา ที่ทำให้แม่ต้องร้องไห้ เนื่องจากเป็นเหตุผลให้ไม่สามารถทัดทานลูกชายที่กระโดดขึ้นรถไฟชั้น 3 ด้วยความหวัง พร้อมเงินในกระเป๋าไม่ถึง 1000 บาท มาสอบเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และขอบคุณอีกครั้ง สำหรับโอกาสที่ให้กับผมและน้องชายได้เรียนจนจบปริญญาตรี
ไม่มีชนบทที่ “โรแมนติก” สำหรับครอบครัวที่ยากจน คนที่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตกับมันจริงๆอย่างผม ไม่ใช่นักท่องเที่ยวหรือนักพัฒนาที่แวะไปประชุมกับชาวบ้านเป็นครั้งๆ ที่อนุญาตให้เขาจินตนาการได้
ไม่มีเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับคนที่ไม่มีพอจะกิน และอนาคตสำหรับลูกหลานของพวกเขา
ที่เกริ่นมาทั้งหมด ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อที่จะกล่าวขอบคุณทักษิณ ชินวัตร เพราะบางนโยบายเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น แต่เพื่อที่จะขอบคุณการเมืองแบบเลือกตั้ง ประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งทำให้ต้องคิดคำนึงถึงประชาชนในฐานะผู้เลือกตั้ง ทำให้มีการพัฒนานโยบายเหล่านี้ขึ้นมา
ปูมหลังเหล่านี้มีผลพอสมควรกับชีวิตนักศึกษาและจุดยืนทางการเมืองในปัจจุบัน เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ผมเข้าไปทำงานชมรมด้านพัฒนา-บำเพ็ญประโยชน์ องค์การนักศึกษา และเข้าสู่องค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษา คือ สนนท. ในเวลาต่อมา รวมทั้งเข้าร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมบางส่วน เนื่องจากเห็นว่าปัญหาที่เราเผชิญหน้าจำนวนมากมาจากและเกี่ยวข้อง “การเมือง” และต้องแก้ด้วย “การเมือง”
จากข้อมูลเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ใน การเมืองบนท้องถนน : 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย งานชิ้นสำคัญของประภาส ปิ่นตบแต่ง ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์การชุมนุมประท้วงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในยุคประชาธิปไตยเต็มใบ เปรียบกับยุค “ครึ่งใบ” แต่ความสัมพันธ์ของมันกับระบอบการเมืองนี้มักถูกอธิบายในเชิงลบ คือ ระบอบการเมืองนี้เป็นที่มาของปัญหาความเดือดร้อนหรือความคับข้องใจ แต่ด้านสำคัญและเป็นพื้นฐานมากในการเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหว ไม่เฉพาะในประเทศไทย กลับถูกละเลย คือ ระบอบการเมืองนี้ การเปิดและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนที่ตามมา ในฐานะที่เป็นโครงสร้างโอกาสทางการเมือง ที่เปิดโอกาสให้การเมืองแบบขบวนการเคลื่อนไหว คือ การชุมนุมประท้วง การขัดขวางระบบการเมืองแบบปกติ เพื่อกดดันต่อรองในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นไปได้ โดยไม่ถูกกดปราบและปราบปรามอย่างรุนแรง และทำให้การต่อรองต่างๆ เป็นไปได้และมีโอกาสประสบความสำเร็จ ทัศนะแบบนี้อาจถูกวิจารณ์ว่ามองโลกในแง่ดี คัดค้านหักล้างด้วยตัวอย่างเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่ถ้าพิจารณาระยะยาวและรู้จักเปรียบเทียบก็จะเห็นได้ เนื่องจากการเมืองแบบเลือกตั้งทำให้นักการเมืองต้องหาเสียง หาการสนับสนุนจากประชาชน อย่างเช่นที่ประภาสได้วิเคราะห์ไว้ในกรณีสมัชชาคนจนว่า นอกจากปัจจัยภายในขบวนการแล้ว การเมืองของการหาเสียงเลือกตั้งของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีส่วนสำคัญกับโอกาสและความสำเร็จของสมัชชาคนจนในยุครุ่งเรือง
นอกจากนั้น นโยบายทางการเมืองใหม่ๆ ที่กระจายผลประโยชน์และสวัสดิการไปยังกลุ่มคนยากจนและหรือขาดความมั่นคงในชีวิตในมิติต่างๆ มากขึ้น ก็เกิดขึ้นในยุคที่การเมืองแบบเลือกตั้งหรือประชาธิปไตยตัวแทนมีความสำคัญมากขึ้นและเข้ามาเป็นศูนย์กลางอำนาจแทนกองทัพและระบบราชการ เห็นได้ชัดหลังจากมีการเลือกตั้งแบบใหม่ ที่พรรคและนโยบายพรรคการเมืองมีความสำคัญมากขึ้นในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ใช่ในยุคระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ผลการเลือกตั้ง จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษร ไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล เพราะ “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกฯ เป็นของเปรม”
นี่คือ ด้านที่ไม่ถูกเห็นจากนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้านการเมือง การเลือกตั้ง และประชาธิปไตยแบบตัวแทนแบบสุดโต่ง โดยไม่พิจารณาเปรียบเทียบเชื่อมโยงในแง่ของระบอบการเมือง ที่การเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรในคูหา แต่เป็นกระบวนการ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เช่น การจัดทำนโยบายและการคัดเลือกผู้สมัคร หลังการเลือกตั้ง เช่น การกำกับติดตาม ตรวจสอบการนำนโยบายไปปฏิบัติ หรืออื่นๆ จากทั้งในและนอกสภา และสุดท้าย นำไปสู่การลงโทษหรือตอบแทนด้วยการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งใหม่
สุดท้าย บทเรียนที่อยากฝากไปถึงมิตรสหายบางส่วน ที่เคยคบค้าสมาคมด้วยก่อนการเกิดขึ้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและการรัฐประหาร คือ ภายใต้สังคมที่เปิด มีเสรีภาพในการแสดงคิดเห็น และเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ที่เราและคนอื่นในฐานะเสียงข้างน้อยมีโอกาสที่จะกลายเป็นเสียงข้างมากได้ สามารถรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ผลักดันให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมในแบบฉบับของตัวเองได้ การหวังอำนาจนอกระบบ เล่นนอกกติกา นอกจากจะฆ่าและทำลายคนอื่นและตัวเราเองแล้ว ยังทำให้อุดมคติที่คาดหวังนั้น ห่างไกลไปมากขึ้นทุกที
ไม่ว่าจะวิจารณ์การเลือกตั้ง ประชาธิปไตย ว่ามีข้อจำกัดอย่างไร แต่นี่คือ วิธีการที่ดีที่สุดในการกำหนดชะตากรรมร่วมกันของคนในสังคมการเมือง โดยไม่ใช่ความรุนแรง บีบบังคับ และทำลายเป้าหมายและอุดมคติเสียเอง เว้นเสียแต่จะยึดหลักว่า เพื่อเป้าหมายอันสูงส่งในความคิดของเราแล้ว อะไรก็ได้ แต่อย่าลืมว่า โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน วันหนึ่ง เราและลูกหลานของเราเอง อาจตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ ตกอยู่ในฐานะแบบเดียวกับคนที่อยู่ตรงข้ามกับเรา แล้วเราสะใจอยู่ในขณะนี้
* นักศึกษาปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เนื้อหานำเสนอในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง "คนรุ่นใหม่กับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม" วันที่ 13 มีนาคม 2556 เวลา 13.00-16.30 ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 มหาสิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย เครือข่ายเพื่อนพ้องบัณฑิตอาสาสมัคร และสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร
[1] ดูรายละเอียดการถกเถียงบางส่วนได้ใน http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMk1UZzJOVGN5TVE9PQ%3D%3D§ionid