Skip to main content



                การเดินทางรอบโลกภายในของนิ้วกลม

กับ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์

เสาร์ที่ 4 พฤษภาคม 2562 ณ วัชรสิทธา

 

ร่วมสนทนา โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และ วิจักขณ์ พานิช

ชัยณภัทร จันทร์นาค ถอดความ 

 

ถ้าหาก เอ๋ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ สูงเกิน 170 เซนติเมตร เราคงไม่ได้รู้จักเขาในฐานะนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า “นิ้วกลม” เนื่องจากเขาเคยฝันอยากที่จะขึ้นปกนิตยสารวัยรุ่นยุค 90s ถึงขนาดพยายามดื่มนมมากๆ เล่นบาสเกตบอลบ่อยๆ  หรือโทรไปถามราคาคอร์สปรับผิวให้ขาวขึ้น แต่เส้นทางสู่ความสูงก็หยุดลงที่ประมาณ 166 เซนติเมตร เช่นเดียวกันกับแผนความขาวที่จบสิ้นเมื่อทราบราคาคอร์ส

คุณเอ๋ในวัยเด็กไม่ได้มีวี่แววที่จะเติบโตขึ้นเป็นนักเขียนหรือแม้กระทั่งนักอ่านเลย จะมีก็แต่หนังสือการ์ตูน ข้อความบนกล่องลัง หรือตำราสูตรอาหารของแม่ที่เขาพอจะได้อ่านบ้าง กระทั่งเขาได้เข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้อ่านนวนิยายเรื่อง The Neverending Story ของ Michael Ende ที่เพื่อนในคณะเอามาให้อ่าน คุณเอ๋หลุดเขาไปในโลกของหนังสือเช่นเดียวกับตัวเอกของเรื่อง บวกกับสภาพแวดล้อมที่มีแต่เพื่อนที่ชอบอ่านหนังสือและนิตยสารต่างๆ ของนักเขียนในยุคนั้น เขาจึงเริ่มเมามันกับการอ่าน จนไม่ได้กินข้าวปลา และเริ่มสั่งสมแรงบันดาลใจในการอ่าน รวมไปถึงความสนใจในการเขียนที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติ

สิ่งหนึ่งที่การอ่านหนังสืออาจสร้างให้กับตัวเราคือความสงสัย...มันเริ่มไม่เชื่อสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ...และก็อยากหาคำตอบ  

เมื่ออ่านอ่านมาถึงจุดหนึ่ง คุณเอ๋เริ่มรู้สึกถึงความต้องการที่จะเขียน โดยเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของการอ่านกับการเขียนเป็น “ปรากฏการณ์ฝน” ...เมฆจะกลั่นตัวเป็นเม็ดฝนในที่สุดเมื่อมันโอบอุ้มไอน้ำไว้มากพอ และยังเปรียบความสัมพันธ์ดังกล่าวให้เข้าถึงอารมณ์ยิ่งขึ้น ด้วย “ปรากฏการณ์อุจจาระ” ซึ่งแค่ชื่อปรากฏการณ์ก็เพียงพอแล้วที่จะไม่ต้องอธิบายต่อว่ามันเหมือนกับอาการคันไม้คันมืออยากเขียน เมื่ออ่านงานเขียนมาถึงจุดหนึ่ง

ตอนเริ่มเขียนมันไม่ได้คิดอะไรมาก ถ้าคิดอะไรมากคงไม่ได้เขียน และอาจจะไม่ได้เขียนเลยก็ได้

ในตอนแรก คุณเอ๋ไม่ได้คิดไว้ก่อนเลยว่าเขาอยากจะเขียนออกมาในรูปแบบไหน ทุกอย่างเริ่มต้นจากการเขียนเรื่องสัพเพเหระลงบนเว็บบอร์ดที่เพิ่งเปิดใหม่ของคณะ ด้วยนามคีย์บอร์ดว่า “นิ้วกลม” ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกันของความตั้งใจที่จะล้อกับชื่อ “ตัวกลม” ที่รุ่นน้องคนหนึ่งใช้ บวกกับความบังเอิญที่เขามองไปที่นิ้วของตัวเองพอดี

ตัวคุณเอ๋เคยคิดอยากจะย้อนกลับไปตั้งนามปากกาใหม่ที่เท่กว่านี้หลังจากที่เริ่มรู้สึกเกลียดชื่อ นิ้วกลม เมื่อทำงานเขียนไปได้ระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดเขาก็ยอมรับชื่อนี้ได้ในฐานะที่มันสะท้อนถึง ความไม่คิด ซึ่งเป็นบุคลิกของวัยนั้น

เห็นขี้หมาก้อนนึง มึงก็เขียนได้” – อ.ตุล

ใช่ว่าจุดเริ่มต้นในการรู้จักกับ นิ้วกลม ของทุกคนจะสวยงามเสมอไป อย่างจุดเริ่มต้นของ  อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ถึงกับสบถขึ้นมาว่า เขียนส้นตีนอะไรเนี่ย!” หลังจากที่ได้ขอดูหนังสือของนิ้วกลมที่กลุ่มลูกศิษย์กำลังอ่านกันอยู่

หลังจากนั้น อ.ตุล ก็เริ่มติดตามนิ้วกลมในฐานะชาวท่าแซะ มาโดยตลอดจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เลิกแซะ กระทั่งได้มาเจอกันตัวเป็นๆ ตอนที่คุณเอ๋ไปสัมภาษณ์ อ.ตุล ในหัวข้อเกี่ยวกับศาสนาฮินดูที่จะนำไปใช้ในรายการพื้นที่ชีวิต ซึ่งการได้ปฏิสัมพันธ์กันตัวเป็นๆ ทำให้อคติของ อ.ตุลค่อยๆ จางไป กลายเป็นเพียงความหมั่นไส้ในความสามารถและการถ่ายทอดราวกับผู้บรรลุแล้วของคุณเอ๋ ซึ่งมักกระตุ้นให้ อ.ตุล และใครอีกหลายคนอยากที่จะเห็นแง่มุมอันชั่วร้ายของคุณเอ๋บ้าง

เส้นทางในฐานะนักเขียนของคุณเอ๋ค่อนข้างที่จะราบรื่นดี จนกระทั่งเขาเดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งในช่วงที่เขาปล่อยหนังสือออกมาสู่สายตานักอ่านได้ประมาณ 10 เล่ม

คุณเอ๋บังเอิญไปเจอเข้ากับกระทู้พันธุ์ทิพย์รวมคนเกลียดนิ้วกลม (ซึ่งก็น่าสงสัยว่า อ.ตุล เป็นคนไปตั้งกระทู้หรือไม่) ที่เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของเขาอย่างหนักหน่วง ในกระทู้เต็มไปด้วยคำค่อนแคะเกี่ยวกับความโลกสวยในงานเขียนของเขา ซึ่งเขาในตอนนั้นไม่เข้าใจเลยว่า ความโลกสวยมันเป็นปัญหายังไง และเขายังตกใจมากที่ถูกมองว่ากำลังเขียนหนังสือเพื่อสั่งสอนคนอื่น ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น

แรงปะทะจากการได้อ่านกระทู้พันธุ์ทิพย์ส่งผลให้คุณเอ๋จิตตกเป็นอย่างมาก จนเขาต้องหยุดอ่านกระทู้เพื่อไม่ให้คิดกระโดดตึกหรือผูกคอตาย

ต่อมาก็เริ่มมีเพื่อนๆ พี่ๆ หลายคนออกมาสะท้อนเกี่ยวกับความโลกสวยในงานเขียนของเขา จนเขาต้องพาตัวเองไปพูดคุยกับหลายคนที่สะท้อนมา และในที่สุดการพูดคุยก็ทำให้เขาเข้าใจว่าปัญหาของงานเขียนในยุคแรกของเขาคืออะไร

พอเอากะลาออกแล้ว ก็มองเห็นว่ามันมีคนที่ไม่ได้เป็นแบบเรา มีคนที่โอกาสน้อยกว่าเรา มีปัญหาอื่นๆ อีกเยอะแยะเลยในโลกใบนี้... แล้วอิทธิพลของการที่คุณเทไปข้างใดข้างหนึ่ง ชวนคนเข้าไปในกะลาเยอะๆ มันก็เหมือนคุณทอดทิ้งคนนอกกะลา เหมือนคุณอยู่กันคนละโลก

คุณเอ๋มองย้อนกลับไปถึงการที่เขาเติบโตมาได้รับโอกาสทางสังคมที่ดี และเห็นถึงการใช้ประสบการณ์ในโลกของเขาเองไปชี้นำคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เติบโตมาบนเงื่อนไขเดียวกับเขา

เมื่อคุณเอ๋เริ่มตระหนักถึงการมีอยู่ของโลกอื่น เขาก็เริ่มต้นออกเดินทางไปนอกโลกของตัวเอง ด้วยการกระโดดเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยในขณะนั้น เขาเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง และออกไปพบกับผู้คนเพื่อพยายามทำความเข้าใจกับปัญหาการเมืองไทยให้ได้มากที่สุด จนเขาเริ่มมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน

ถึงแม้คุณเอ๋จะไม่ใช่นักเขียนสายการเมืองโดยตรง แต่ด้วยความกล้าที่จะสื่อสารในสิ่งที่เขาเชื่อก็ทำให้เขาปล่อยงานเขียนที่แสดงถึงจุดยืนทางการเมืองออกมา ซึ่งส่งผลให้เขาต้องเผชิญกับกับวิกฤติทางจิตวิญญาณที่ส่งผลให้งานเขียน และตัวตนของเขาเติบโตขึ้นไปอีกขั้น

ตอนแรกที่เขียนแบบโลกสวยเนี่ย ก็มีคนด่า พอเราเริ่มเปิดตัวเองมากขึ้น เริ่มสนใจเรื่องคนอื่น เรื่องสังคมมากขึ้น พอเขียนอีกแบบ ก็โดนด่า แถมอาจจะโดนด่ามากกว่าเดิมด้วย เลยอยากจะรู้ว่า เมื่อมองเส้นทางการเติบโตของตัวเอง คิดว่านิ้วกลมเดินมาถูกทางหรือเปล่า?” – ตั้ม วิจักขณ์ พานิช โยนคำถาม

คุณเอ๋พยายามเหลางานเขียนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองให้ละมุนละม่อมที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่สร้างประเด็นขัดแย้งเพิ่ม แต่ก็ยังมีคนพยายามทำให้เขาเป็นในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น ส่งผลให้เขาต้องปะทะกับความคิดเห็นที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังที่ไม่ใช่แค่กับนามปากกานิ้วกลม แต่ยังเลยเถิดมาถึงชีวิตส่วนตัว และครอบครัวของเขาอีกด้วย

นิ้วกลมๆ ของคุณเอ๋เริ่มที่จะด้านชา เขาหมดหวังกับสังคม และหมดหวังกับตัวเองที่ไม่สามารถหยุดยั้งความเกลียดชังที่สะท้อนกลับมาได้ ในขณะเดียวกัน เขาก็เริ่มมองเห็นเชื้อโลกสวยของเขาเอง ที่เปลี่ยนรูปจากโลกสวยใบเล็กของเขามาสู่สังคมสวยๆ ที่เขาฝันถึง

ความคาดหวังในการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ไม่สามารถบรรลุผลได้ เริ่มกลายเป็นความรู้สึกไร้ความสมารถที่บั่นทอนพลังใจในการทำงานของคุณเอ๋ลงไปทุกที หนำซ้ำความว่างเปล่าในชีวิตอีกด้านของเขาก็ปรากฏขึ้นเมื่อชีวิตครอบครัวของเขาก็ดำเนินมาถึงจุดที่เขาได้วาดฝันไว้

จังหวะที่ชัดที่สุดคือทำบ้านเสร็จ เคยคิดว่าอยู่ในบ้านนี้แล้วคงจะแฮปปี้มีความสุข แต่พอบ้านเสร็จแล้วเรากลับรู้สึกว่ามันไม่มีที่ให้ไปต่อ...มันตอบตัวเองไม่ได้ว่าตื่นมาพรุ่งนี้จะทำอะไรดี

แม้กระแสแง่ลบในช่วงนั้นจะถาโถมเข้าใส่คุณเอ๋ แต่ อ.ตุล กลับไม่ใช่หนึ่งในนั้น แถม อ.ตุล ยังเป็นเพียงไม่กี่คนที่ชื่นชมนิ้วกลมที่เริ่มมีกลิ่นอายการเมืองอยู่ในงานเขียน เขาชื่นชมคุณเอ๋ในฐานะนักเขียนที่ไม่ได้เติบโตมาในสายสังคมการเมือง แต่กล้าที่จะเขียนถึงแง่มุมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ในขณะที่นักเขียนอีกหลายคนที่ไม่ได้เดินมาในสายการเมืองเลือกที่จะไม่เขียนถึง

จำได้ว่าอยู่ในห้วงภาวะนั้นด้วยกัน...ในช่วงภาวะที่ดาวน์สุดๆอ.ตุล ย้อนรำลึก

นิ้วกลมที่ใช้การไม่ได้ เริ่มกระดิกอีกครั้งเพื่อหาแสงสว่างที่จะนำพาเขาออกจากช่วงเวลาอันดำมืด เขาเริ่มค้นหาตัวอย่างของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางวันเวลาแห่งความขัดแย้งจากหลายยุคสมัย หลายวัฒนธรรม จนเขาได้เห็นถึงความธรรมดาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในสังคมมนุษย์ทุกยุคสมัย เขาก้าวออกมาจากจุดอับแสง และเริ่มมองชีวิตเป็นการเดินทางทางจิตวิญญาณ ตามแนวคิดของมหาตมะ คานธี

จริงๆ เราเติบโตขึ้นมาก็เพื่อที่จะขัดเกลาจิตใจตัวเอง...ทุกเหตุการณ์ ทุกประสบการณ์ ทุกผู้คนที่มันผ่านเข้ามาในชีวิตเรา ร้าย และดี เกลียด หรือชอบ...มันผ่านเข้ามาในชีวิตเราไม่ได้เพื่ออะไร แต่เพื่อขัดเกลาใจเรา

คุณเอ๋สนใจแนวทางของคานธีเป็นพิเศษหลังจากได้ศึกษาเรื่องราวและผลงานของบุคคลต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางสังคม เนื่องจากตัวเขาเองยังต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับโลก และเมื่อโลกมันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เขาจึงเลือกที่จะหาวิธีอยู่กับมันแบบคานธี

จริงๆ เรายังปฏิสัมพันธ์กับความขัดแย้งได้อยู่ แล้วเราก็อาจจะค่อยๆ เห็นก็ได้ว่า ความเกลียดชังมันเป็นเรื่องปกติ...  แต่เมื่อเกิดความเกลียดชังขึ้น เราก็ไม่จำเป็นต้องเกลียดชังผู้ที่เกลียดชังเรา แล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนใจเขาให้ไม่เกลียดเรา แต่เราควรทำงานกับความเกลียดชังอย่างแรกคือ ความเกลียดชังในใจเรา แล้วค่อยทำงานกับความเกลียดชังในใจเขา... มันอาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือใจเรา

ตั้ม วิจักขณ์ รู้สึกประหลาดใจที่คุณเอ๋เริ่มเข้าสู่เส้นทางจิตวิญญาณผ่านความสนใจในตัวบุคคลที่จัดการกับความขัดแย้งด้วยการเลือกที่จะปฏิสัมพันธ์กับสังคมต่อไป เนื่องจากคุณเอ๋ทำรายการพื้นที่ชีวิตที่มักจะต้องคลุกคลีกับคำสอนทางจิตวิญญาณและต้องไปทำเรียลลิตี้ปฏิบัติธรรมอยู่บ่อยๆ แต่ไฉนคุณเอ๋กลับไม่เลือกที่จะจัดการวิกฤติชีวิตด้วยการไปปฏิบัติธรรมกับเขาบ้าง

คุณเอ๋มองว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกทางใดทางหนึ่งในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งในชีวิต ในบางเวลาเราอาจต้องหลบออกจากสังคมบ้าง แต่ความต้องการปฏิสัมพันธ์กับโลกของเราก็ยังมีอยู่

ถ้าเกิดเราไปนั่งนิ่งๆ แล้วไม่เกิดปัญหากับใครเลย ก็รู้สึกว่ามันไม่จริง ความจริงมันต้องมีปัญหา และพอมีปัญหาเราก็รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของไอ้ระบบใหญ่เนี่ย... สิงโตมันก็ต้องกินกวาง คือมองช็อตเดียวมันก็อาจรู้สึกว่ามีผู้ได้และผู้เสีย แต่มันก็เคลื่อนไปแบบนี้เรื่อยๆ ก็เลยรู้สึกว่า ตราบใดที่เรายังปฏิสัมพันธ์อยู่กับโลก เราจะอยู่ในความจริง...มันจริงมากกว่าและคงได้เรียนรู้อะไรมากกว่าบนทางแบบนี้

ความเงียบงันเกิดขึ้นชั่วครู่หลังจากคุณเอ๋พูดจบ จนใครสักคนต้องพูดอะไรบางอย่างขึ้นมา

เคลิ้มเลยอ.ตุล ชาวท่าแซะคนเดิม

อ.ตุล นึกสงสัยว่าคุณเอ๋ยังมีอารมณ์ โลภ โกรธ หลงอยู่บ้างไหม หลังจากที่คุณเอ๋ได้ผ่านวิกฤติทางจิตวิญญาณบนเส้นทางนักเขียนมาจนกลายเป็นเหมือนผู้บรรลุแล้ว...

คุณเอ๋ยอมรับว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ เอ๊ยไม่ใช่... ยอมรับว่ายังมีอารมณ์ต่างๆ เหมือนมนุษย์ทั่วไป โดยเฉพาะที่เด่นชัดกว่าอันอื่นคือตัวความโลภ เช่น อยากให้งานเขียนของตัวเองวางอยู่บนชั้นเบสเซลเลอร์ของคิโนะคุนิยะ และความอยากวิ่งมาราธอนให้ได้เวลาที่ดีกว่าเดิม

โห กิเลสมึงยังฟังดูดีเลย แม่งฟังแล้วแม่งน่าหมั่นไส้ชิบหายอ.ตุล หูอย่างมีอารมณ์

ในด้านปัญหาความสัมพันธ์ คุณเอ๋รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่มีปัญหาความสัมพันธ์น้อยมาก จะมีกับแค่คนคนเดียวซึ่งก็คือพี่สาว ที่เป็นคู่ขัดแย้งกันมาตลอดชีวิต เขาไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมคนคนนี้ต้องมีปัญหากับเขา ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นคนยอมคนมากๆ เขาเคยคิดว่า ถ้ามึงมีปัญหากับกู มึงก็มีปัญหากับคนทั้งโลกแหละซึ่งพี่สาวของเขาก็ไม่มีปัญหากับใครเลยนอกจากกับเขาคนเดียว

แต่คุณเอ๋ก็นึกขอบคุณพี่สาว ที่คอยมาทำให้ชีวิตเขาไม่ราบรื่น เขามองปัญหาความสัมพันธ์เป็นโจทย์ที่สร้างโอกาสให้เขาได้ตรวจสอบเข้าไปภายในตนเอง และนำพาเขาเข้าไปสู่การทำความเข้าใจสิ่งที่แตกต่าง ในฐานะที่แต่ละสิ่งเป็นตัวของมันเอง

จริงๆ แล้ว จิตวิญญาณมันก็เป็นเรื่องด้านใน แล้วเวลาเราสนใจด้านใน...มันก็ทำให้เรามองโลกเปลี่ยนมิติไป...พอเราเริ่มเห็นตัวเองชัด มันจะเริ่มเห็นคนอื่นในแบบที่เห็นตัวเอง แม้เราไม่เข้าใจ แต่เราก็จะเริ่มเห็นว่าที่เขาด่าเรา จริงๆ  มันมีข้างในลึกๆ ...ซึ่งมันคืออะไรวะ?

ปัญหาที่ในชีวิตแต่งงานของคุณเอ๋ก็เป็นอีกโจทย์สำคัญที่ทำให้ชีวิตของคุณเอ๋ได้เรียนรู้ที่จะถอยออกจากความเคยชินในการเป็นผู้แก้ไขปัญหา ปล่อยให้ทุกสิ่งดำเนินไปบนวิถีทางของมัน และเรียนรู้ที่จะเป็นภาชนะเพื่อรองรับซึ่งกันและกัน

ภรรยาสอนว่า คุณไม่ต้องจัดการชีวิตใคร

คนเราจะมีบางวันที่มันล้น ล้นด้วยอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเรามีอีกคนมารับสิ่งที่เราล้นไว้ เขาจะเห็นสิ่งที่เขาล้น แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่มีคนนี้เลย มันจะพุ่งพล่านอยู่ภายใน ก็คิดว่าจริงๆ คุณประโยชน์ คุณูปการของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ภรรยา คือการที่ได้มาทำให้ได้เห็นความล้นของกันและกัน... และถ้าเราเป็นภาชนะที่ว่างได้ มันก็เป็นการฝึกตัวเองเหมือนกัน





 

หลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณเอ๋จนถึงจุดหนึ่ง ตั้ม วิจักขณ์ ก็ถามคำถามเพื่อส่งให้คุณเอ๋เข้าสู่ช่วงของการเล่าเรื่องราวการเดินทาง

แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นอยากถามว่า จุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือก็เป็นการเดินทางของเอ๋ด้วย  เดินทางไปนู่นไปนี่ แล้วก็ออกมาเป็นเนื้อหา เป็นวัตถุดิบในการเขียนหนังสือ และปัจจุบันก็ยังเดินทางอยู่ อยากรู้ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเดินทางของเราบ้างไหม จากช่วงแรกจนมาถึงตอนนี้?

คุณเอ๋ได้รับนิสัยในการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมของแต่ละที่ที่เขาได้เดินทางไปถ่ายทำรายการพื้นที่ชีวิต

สถานที่หนึ่งหรือการเดินทางหนึ่งมันมีเสน่ห์มากกว่าเดิมได้ เพราะเรารู้เรื่องราวของสิ่งนั้น หรือว่าเราดึงบางแง่มุมที่เราสนใจแล้วก็ขุดมันลงไป มันก็จะน่าสนใจขึ้น

ในอีกแง่หนึ่งคุณเอ๋ก็ได้เรียนรู้ที่จะเติบโตจากภายในจากการเดินทางออกจากพื้นที่ปลอดภัยของเขาเอง

จริงๆ แล้วมันเป็นไปได้สองแบบแบบที่หนึ่งคือมันเกิดขึ้นเองของมัน อีกแบบหนึ่งก็คือว่าเราสามารถสร้างการเรียนรู้นี้ให้เกิดขึ้นได้ คือเราไม่รู้หรอกว่าเราเรียนรู้บทเรียนอะไร แต่ว่าเรากำหนดโจทย์บางอย่างได้

แม้ในสถานการณ์ที่ไม่น่าพึงใจ คุณเอ๋ก็สามารถมองสิ่งต่างๆ ให้เป็นบทเรียนเพื่อการเติบโตได้

ทางมันคือทางเส้นเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนมันคือใจเรา มันจะมีทางบางเส้นที่เราหนีไม่ได้ แล้วมันก็ต้องเดิน แต่ว่าเราเดินด้วยใจแบบไหน... ถ้าทางเส้นนี้มันเรียบก็คงไม่ได้บทเรียน

การเดินทางรอบโลกภายในของนิ้วกลมจบลงด้วยการที่คุณเอ๋นำภาพผู้คนและสถานที่ต่างๆ ที่เขาเคยเดินทางไปมาประกอบการบรรยายไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวการหลบหนีจากโลกที่ถูกปิดกั้นมาพบโลกภายนอกของชายชาวเกาหลีเหนือคนหนึ่ง หรือโลกที่กัญชาและโสเภณีที่มีให้เลือกซื้อ เลือกใช้บริการอย่างเสรีในโซนสีแดงของเมืองอัมสเตอร์ดัม เรื่องราวของชาวอินเดียที่เต็มไปด้วยสัญชาตญาณนายแบบนางแบบ ที่พร้อมทุกเมื่อสำหรับการถูกถ่ายรูป ขณะที่คุณอาจถูกใครสักคนขอให้ลบรูปที่มีรูปลูกของเขาติดอยู่ ในประเทศที่จริงจังกับความเป็นส่วนตัว จนไปถึงนิยามและการให้คุณค่ากับ ความงาม ความดี ความจริง และคุณค่าในด้านอื่นๆ ที่แตกต่างกระทั่งสวนทางกันของผู้คนต่างพื้นที่หรือในพื้นที่เดียวกันที่ต้องอาศัยความเคารพและความอดทนอดกลั้นในการอยู่ร่วม

เรื่องราวการเดินทางที่คุณเอ๋ถ่ายทอดออกมาทำให้เราได้เห็นถึงเสน่ห์ และคุณค่าของการก้าวออกไปสัมผัสกับมิติอันหลากหลายของความเป็นมนุษย์ เพื่อสลายขอบเขตที่ขวางกั้นเราออกจากโอกาสแห่งการเรียนรู้ประสบการณ์อันไร้ขอบเขตของชีวิต การเดินทางภายในเช่นนั้นทำให้เราสามารถเติบโตจากข้างในได้อย่างมั่นคง เต็มไปด้วยความหวัง และมีพลัง ดังข้อความสุดท้ายที่เขาทิ้งท้ายไว้...

อย่าลืมออกไปนอกโลกบ้างนะครับ

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
" ถ้าคุณไม่เห็นแหล่งอำนาจ คุณจะดูพฤติกรรมคน เช่น คนๆ นี้ไปอยู่ที่หนึ่งทำพฤติกรรมแบบหนึ่ง ไปอยู่อีกที่ก็ทำอีกแบบหนึ่ง คุณจะหลุดจากการตีตราพฤติกรรมคนก็ต่อเมื่อคุณวิเคราะห์แหล่งอำนาจของคนนั้นทันที นี่คือวิธีการที่พยาบาลและนักจิตวิทยาทำงานกับคนที่ใช้ความรุนแรง เมื่อเราบอกว่าเด็ก
วัชรสิทธา • vajrasiddha
วัชรสิทธา • vajrasiddha
ท่องจักรวาลจิตใต้สำนึก (1)กับ ถิง ชู ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ/เรียบเรียง
วัชรสิทธา • vajrasiddha
เปิดเปลือยตัวตน ค้นพบตัวเองกับ ปรีดา เรืองวิชาธร30 ตค - 1 พย 2563ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ / เรียบเรียง“กล่องใบใหญ่ใส่ใจ เล็ก หนัน นกฮูก ป้อย อัน นา เปิ้ล แพร์ งี้ อ้อย ดิว เหม ออย บิ๋ม เอิร์ธ จี๋ ณี วีณ ขนุน สุรินทร์ ต้น ตั้ม”
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ บรรยายเนื้อหาจากเสวนา "เราจะรักกันไปทำไม? : ภราดรภาพในฐานะพลังในการขับเคลื่อนสังคม"
วัชรสิทธา • vajrasiddha
เนื้อหาจากคอร์สอบรม ตั้งหลัก: พื้นฐานการดูแลจิตและใจ รุ่น 4สรุปความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาคPART 1 เสียหลัก
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 Drawing Unconscious…เส้น สี ชีวิต และจิตใต้สำนึกที่ถูกหลงลืมบทความ โดย ฝน กนกพร ตรีครุฑพันธ์จากประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรม “วาดจิตใต้สำนึก”22-23 กุมภาพันธ์ 2563 ณ วัชรสิทธา  
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 หัวใจสุขาวดีเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกแห่งสุขาวดีของคนบาปแต่มีหัวใจกับ อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 WUJI : Unlock Potentialกำลังแห่งสุญญตาธรรมอ.ต้น ร่วมด้วย หมอดิน ถ่ายทอดและนำกระบวนการชัยณภัทร จันทร์นาค เรียบเรียงเนื้อหา 
วัชรสิทธา • vajrasiddha
มหายาน: "เพื่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์" บนหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 ขับเคลื่อนใจไปพร้อมกับสังคม Subtle Activism: การเปลี่ยนแปลงสังคมทางพลังงาน เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา Subtle Activism โดย Mary Englisแปลไทย โดย กฤตยา ศรีสรรพกิจ4 ตุลาคม 2562 ณ วัชรสิทธา