Skip to main content

หลายต่อหลายครั้ง ที่ฉันจดจำภาพของสถานที่ เรื่องราว ผู้คน แม้ไม่เคยรู้จักกัน และไม่เคยไปพบเจอ แต่กลับฝังลึกลงความทรงจำถึงขนาดเก็บไปฝัน แน่นอนฝันนั้นเป็นฝันดี และพอตื่นจากฝัน ก็พบกับความจริงที่ว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่ไกลเกินไปนักหรอก



สิ่งที่พูดถึงความงาม ความพอดี เหมือนหยดน้ำใสบนคลองเล็กๆ ที่เลียบไปกับแม่น้ำใหญ่ หรือบางทีอาจเป็นดอกหญ้าต้นเล็กๆ ที่แทรกตัวอยู่ในสวนกุหลาบ แต่แท้จริงเป็นสมุนไพรเยียวยาโลกได้ด้วยซ้ำ สิ่งที่ฉันพูดถึงอยู่นี้ คือชีวิตของเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม จังหวัดระยอง

เด็กน้อยเหล่านี้ มีสิ่งที่พวกเขาได้รับจากการเรียนหนังสือมากกว่าการดูหนังสือ เพราะพวกเขาได้ทำความรู้จักดิน หญ้า น้ำ ซากพืช การดำรงชีวิตด้วยตัวพวกเขาเองจากการปลูกผักบนพื้นที่ของโรงเรียน พวกเขานำไปแบ่งขาย เก็บเงินไว้ซื้อของที่จำเป็น หอบผักกลับบ้านไปให้พ่อแม่ทำกับข้าวกลิ่นหอมฉุย แล้วชวนคนข้างบ้านมากินด้วยกัน ถ้าผักเหลือพวกเขาก็เอาไปทำอาหารให้หมูหลุมที่เลี้ยงไว้ในคอก หมูหลุมพวกนี้กินอาหารธรรมชาติ ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อ ร่างกายปลอดจากเคมี เป็นอาหารปลอดภัยที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชนด้วยระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้เอาเงินเป็นใหญ่ ไม่รู้สินะ ฟังดูเหมือนโลกในอุดมคติ แต่ฉันก็เชื่อว่ามีอยู่จริง

 



ภาพสวนกล้วยของเด็กๆ ในโรงเรียน



พวกเขาเติบโตอยู่ในนี้ เขตพื้นที่โรงเรียน
59 ไร่ มีสวนกล้วย ผักสวนครัว มีเขตทำปุ๋ยอินทรีย์ เขตเลี้ยงหมู เขตเผาถ่าน ทุกอย่างในพื้นที่นี้ราวกับเป็นอัญมณีไปหมด ไม่ใช่เพราะเขาเห็นมันเป็นเงินเป็นทองหรอก แต่เพราะเด็กๆ กำลังเสาะแสวงหาความหมายของคำว่า “พอเพียง” อย่างที่คุณครูสอนเขาอยู่ทุกวัน ว่าทุกอย่างในโลกนี้มีค่าเสมอหากเรารู้จักใช้


เด็กน้อยรู้ว่าเพื่อนข้างบ้านบางคนของเขาเมินหน้าที่จะมาเรียนโรงเรียนนี้ เพราะคิดว่าเป็นโรงเรียนเกรดบี วันๆ อยู่แต่กับป่า หญ้า และผัก ไม่เหมือนโรงเรียนในเมืองที่มีทุกอย่างพร้อม บางวันเด็กๆ ก็ร้องเพลง เดินเล่น กระโดดโลดเต้นไปมา มีผีเสื้อบินเริงร่ากินเกสรดอกไม้ ขณะที่ห่างออกถนนไปไม่กี่กิโลเมตรก็มีโลกอีกใบที่ก้าวเร็วกว่านี้ แต่พวกเขาบอกว่าพวกเขาเต็มใจจะอยู่ที่นี่





แปลงผักสาธิต เศรษฐกิจพอเพียง



หากคิดว่าเพราะที่นี่มีสิ่งที่สมบูรณ์อยู่รอพวกเขาแล้ว ก็กลับไม่ใช่ เพราะจริงๆ แต่เดิมที สถานที่ก่อนจะสร้างโรงเรียนนั้น เป็นพื้นที่ที่แห้งแล้ง เสื่อมโทรม ไม่มีต้นไม้เหลือแม้แต่สักต้นเดียวด้วยซ้ำ นั่นเพราะเคยมีการเปิดสัมปทานขุดเปิดหน้าดินของนายทุนเมื่อ
14 ปีก่อน พื้นที่นี้เหมือนทำประโยชน์อะไรไม่ได้อีกแล้ว ไม่มีต้นไม้ ไม่มีสัตว์เลี้ยง มีแต่ดินสีแดงแห้งผากกับความคิดของพ่อแม่ที่จะต้องพาลูกออกไปเรียนหนังสือไกลๆ


แต่ในที่สุดที่ตรงนี้ก็กลายเป็นโรงเรียน เพราะลุงกำนันสมโภชน์ของตำบลชำฆ้อไปร่วมพิจารณาให้ที่ดินสาธารณะนี้สร้างเป็นโรงเรียนเสียดีกว่า จะได้เกิดแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนในอนาคต





ผู้อำนวยการโรงเรียน สอนเด็กๆ ปลูกต้นไม้



เขาคิดไม่ผิดเลย และยังโชคดีที่มีคุณครูผู้อำนวยการชื่อ อาจารย์วีระวัธน์ สิงหาบุตร เข้ามาทำงาน ผู้อำนวยการท่านนี้มีหลักการสอนนักเรียนอยู่
3 ข้อ ที่ไม่เหมือนใคร นั่นคือ 1. ให้ใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล 2. กินอยู่พอประมาณ และ 3. มีภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี ดูจะเป็นวิสัยโรงเรียนที่ต่างจากที่อื่นอย่างสิ้นเชิง ส่วนเรื่องความรู้ ครูบอกว่าสอนสาระ ทักษะ ทุกอย่างไม่ต่างจากที่อื่น แต่ที่นี่ นักเรียนทุกคนควรได้เรียนรู้ว่าสิ่งรอบตัวสำคัญอย่างไร พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ชุมชน คนข้างบ้าน จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันได้อย่างไร


นั่นเป็นเหตุผลที่ต้นผัก ต้นกล้วย ผักบุ้ง ผักกาด ข้าวโพด หรืออะไรที่พวกเขาปลูก มีคนหยิบไปกินได้โดยไม่หวง และยังกลายเป็น “สาร” ที่เชื่อมโยงให้ชาวบ้านกลับมาสนใจวิถีชีวิตเรียบง่าย ไม่ใช้เงิน ตระหนักถึงสุขภาพ รู้ตื่นถึงความสุข จนกลายเป็นสาระอันกว้างขวางออกไปอีก


น้องนักเรียนคนหนึ่งบอกว่า “ภูมิใจที่เป็นนักเรียนของที่ดี เพราะมีเพื่อนที่ดี มีครูที่ดี เรารักและเคารพครู สิ่งที่ครูสอนเอาไปใช้กับชีวิตได้ทุกเรื่อง”


ใครๆ ก็บอกว่า นักเรียนที่นี่ช่างสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน นั่นไม่ใช่บุคลิกของคนรู้น้อย และหวาดกลัวอย่างที่คนในสังคมเมืองคิด แต่พวกเขาถ่อมตนกับธรรมชาติ และเจียมตัวว่าที่พวกเราเรียนรู้อยู่เป็นแค่ครึ่งเดียวของความพอเพียง ซึ่งคุณครูบอกว่าถ้าโตขึ้นและได้นำไปติดตัว พวกเขาคงจะได้รู้มากกว่านี้


ฉันอ่านเรื่องนี้ ฟังเรื่องนี้ แล้วเขียนเรื่องนี้ ความรู้สึกดีดีที่ซ่อนตัวอยู่กลางพายุฝน บางทีเด็กๆ เหล่านี้ต่างหาก กำลังสอนให้เราลึกซึ้งกับคำว่า “พอเพียง” ผ่านการคิดและเรียบง่ายแบบที่พวกเขากำลังทำ


....


หมายเหตุ

  1. ปัจจุบัน โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม จ.ระยอง เป็น 1 ใน 135 โรงเรียนที่เป็น “สถานศึกษาพอเพียง 2550” และเป็น 1 ใน 68 โรงเรียนที่เข้าร่วมขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในโครงการ “เสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาและชุมชน” ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัลป์มาจล ธนาคารไทยพาณิชย์

  2. เรื่องราวของพวกเขากำลังได้รับการเผยแพร่ในหนังสือ “สังคมแห่งไมตรีจิต ความสุขในชีวิตเบ่งบาน” ในเวทีเติมน้ำใจให้สังคม ครั้งที่ 6 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช)

  3. ภาพถ่ายจากโรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม


บล็อกของ วาดวลี

วาดวลี
"ปีใหม่ไปเที่ยวไหนบ้างหรือเปล่าคะ"พี่สาวข้างบ้านไม่ตอบคำถามฉันเลย  แต่คลี่ยิ้มแล้วเดินพาฉันไปหยุดอยู่ตรงเสื่อผืนนั้น  เสื่อที่ปูบนลานซีเมนต์โล่งๆ หน้าบ้าน  ข้างกายมีกองผักกาดขนาดใหญ่  จำนวนนับร้อยต้น ข้างๆ  มีถังน้ำ  มีกะละมัง  มีเครื่องปั่นเสียบไฟฟ้า และมีถุงพลาสติกกองอยู่"พี่กำลังทำโปรเจ็คใหม่"แกบอกด้วยสายตาโอ้อวด  โปรเจ็คที่ว่าคือหนึ่งในอาชีพใหม่ที่แกเพิ่งริเริ่มทำ นั่นก็คือการทำ "น้ำผัก" ขาย
วาดวลี
   บุ้งตัวนี้คงมีพิษร้ายมาก ฉันรู้สึกอย่างนั้น จากหนามแหลมๆ ที่พวงพุ่งออกมารอบตัวมัน และจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่เคยเอามือไปโดนตัวบุ้ง แล้วคันคะเยอไปทั้งสัปดาห์ แถมมือยังบวม แสบๆ อีกด้วยตอนเด็กๆ แม่จึงพร่ำสอนเสมอ บุ้งหน้าตาแบบนี้มีพิษร้าย มันกินไม่ได้ จับมาเล่นไม่ได้ และสำคัญที่สุดให้หลีกเลี่ยงระวังอย่าได้สัมผัส เมื่อจำมาตลอด ดังนั้นฉันจึงระวังที่สุดที่จะเดินย่องเข้าไปขอถ่ายรูปในระยะใกล้ เจ้าบุ้งจากที่นิ่งๆ อยู่ คงรู้สึกได้ถึงคนแปลกหน้า มันยิ่งพองตัวอวดหนามให้ตั้งชูชันขึ้นมาอีก ความซุ่มซ่ามของฉันที่เอาตัวไปโดนกิ่งไม้ให้ไหวๆ เผลอทำให้มันตกใจมากกว่าเดิม พอมันขยับหันหัวมา…
วาดวลี
การเดินทางตามใครสักคนไป คงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการเดินทางตามฝูงมด ที่มันเคลื่อนที่ช้ากว่าเราหลายเท่าตัว ฉันเองก็นึกไม่ถึงว่าจะมีเวลามากพอที่จะเฝ้าสังเกตมดสักตัว หรือสักฝูง แล้วยังมีมดหลายชนิดให้ต้องแยกแยะอุปนิสัยอีกด้วยแต่ลองคิดกลับกันดู หากมดจะเดินทางตามเราบ้าง นั่นคงเป็นเรื่องลำบากยิ่งกว่า ก็แค่เดินสัก 2 ก้าว มดก็ตามเราไม่ทันแล้ว
วาดวลี
  หากนี่เป็นสนามรบสักแห่งหนึ่ง รังเล็กๆ ที่สร้างจากไยแมงมุมมองดูคล้ายกับดักขนาดใหญ่ที่สุดในอาณาจักรแห่งนี้ ที่สามารถสร้างความตื่นเต้น วิตก ให้กับศัตรูและเหยื่อได้มาก แถมยังประจานผู้พ่ายแพ้ต่อหน้าประชาชนอย่างเห็นกันโจ้งๆในกับดักนั้นประกอบด้วยสรรพสิ่งที่เป็นซากชีวิต ไม่ว่าจะเป็นตัวหนอน ผีเสื้อ มดแดง มดดำ แมลงวัน พวกมันตายหมดแล้ว เป็นสุสานขนาดใหญ่ที่ห้อยโหนโตงเตงด้วยแรงยึดไยแมงมุม แขวนไว้กับต้นไม้ในเช้าวันหนึ่งของฤดูหนาวฉันบอกกับตัวเองว่า นี่มันช่างน่าอัศจรรย์ดีจัง ตอนเด็กๆ ฉันทั้งเกลียดและกลัวแมงมุม ขณะเดียวกันแม่ซึ่งพยายามเอาชนะแมงมุมด้วยการกินมัน ก็สร้างเมนูรสเลิศด้วยการเอาแมงมุมไปย่างไฟ…
วาดวลี
ฉันไม่รู้ว่าทำไมหอยทากหลายตัวชอบมาซ่อนอยู่ในรองเท้า แม้จะเคาะรองเท้าก่อนแล้ว หากไม่ดูดีๆ ก็อาจจะเผลอเหยียบเข้าไปเต็มๆ เพราะความเหนียวของลำตัวที่เกาะติดอยู่กับผนังรองเท้าผ้าเวลานี้เข้าฤดูหนาวเต็มที่แล้ว หรือเปลือกหอยจะไม่สามารถกันความหนาวให้มันได้เพียงพอ ทั้งที่พอรู้มาบ้างว่า หอยทากเป็นสัตว์ที่อดทนมาก มีชีวิตได้ทั้งที่แห้ง ที่ป่าชื้น หรือบนภูเขาสูง นอกจากในรองเท้าแล้ว ซอกมุมเล็กๆ ในบ้าน หลังชั้นหนังสือ หรือแม้แต่ใต้เบาะจักรยาน ฉันก็ยังพบหอยทากมาเล่นซ่อนแอบเป็นประจำ จากที่เคยรู้สึกกึ่งรังเกียจ กึ่งขยะแขยง…
วาดวลี
๑. ผีเสื้อติฉินดอกไม้ ว่ามีน้ำหวานน้อยเกินไป ทั้งที่ไม่ได้เป็นคนปลูก ชาวสวนลุกมาพรวนดิน เผลอเคืองขุ่นแมลงหิวโหย แม่บ้านบ่นกับเม็ดฝน ที่ทำให้น้ำยาปรับผ้านุ่มไร้ความหมาย นิมิตกลายเป็นความโศก เมื่อล็อตเตอรี่ไม่ตรงกับที่ตีความมา
วาดวลี
เพลงคุ้นเคยหลายเพลงดังแว่วมาจากวิทยุข้างบ้าน สลับกับการเล่าเรื่องของดีเจ เธอบอกว่าเทศกาลลอยกระทงปีนี้ไม่คึกคักอย่างปีก่อนๆ คงเพราะบรรยากาศทางการเมือง บวกกับงานราชพิธีและผลจากพิษเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวจึงบางตา ประเพณีจึงไม่สวยงามอย่างเคยเป็นแต่นั่นเป็นเรื่องที่สวนทางกับภาพที่ฉันกำลังได้เห็นคุณลุงบรรจงทำซุ้มอย่างช้าๆ สบายๆ กับแดดยามสายคุณลุงข้างบ้านตื่นแต่เช้า เช่นเดียวกับทุกวัน แต่วันนี้ลุงไม่ไปทำงานในไร่ เช่นเดียวกับพี่สาวบ้านตรงข้ามที่ปกติออกไปขายเสื้อผ้าแต่เช้ามืด พวกเขามายืนผิงแดดอุ่นอยู่หน้าบ้าน แล้วทำความตกลงเจรจาแลกเปลี่ยนทรัพยากรจากสวนหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นก้านมะพร้าว ดอกดาวเรือง…
วาดวลี
ว่ากันว่า บนหน้าผาสูงใหญ่แห่งนี้ในอดีตกาลชายหญิงคู่หนึ่ง เดินทางมาหยุดมองหุบเหวกว้างใหญ่ในเวลาดึกสงัด  เบื้องลึกเป็นผืนน้ำ ด้านข้างเป็นโขดหินกัดเซาะขรุขระน่ากลัว พวกเขาคงรู้สึกได้ถึงความเย็นเยียบและเวิ้งว้างไปจนสุดขั้วหัวใจ ถ้าเผลอตกลงไป อย่าหวังว่าชีวิตจะเหลือรอดให้กลับบ้านหากแต่บางที การมีชีวิตอยู่โดยปราศจากความรักนั้น  บางทีอาจเวิ้งว้างยิ่งกว่าหรือมีรักแต่ไม่สมหวัง อาจเจ็บปวดกว่าการจากโลกนี้ไป
วาดวลี
  ฉันเพิ่งยอมรับความล้มเหลวอย่างหนึ่งของตัวเองในการปลูกต้นไม้นั่นคือ ปลูกต้นกุหลาบแล้วไม่มีดอกตอนเด็กๆ พ่อของฉันคือคนสอนปลูกต้นไม้คนแรก พ่อขุดดินให้เป็นหลุม หย่อนต้นกล้าลงไป กลบดินแล้วรดน้ำ พ่อบอกด้วยสายตาโอ้อวดว่านี่ไง มันง่ายจะตายไป ที่เหลือเป็นหน้าที่ของดิน น้ำ และแดด จากนั้นให้ฉันทำเหมือนกัน สิบกว่าวันผ่านไป พ่อและฉันยืนมองต้นกุหลาบของเราที่กึ่งรอดกึ่งตาย กิ่งใบเหี่ยวแห้ง ฉันจึงถามพ่อว่า "คนมือร้อน มือเย็นนี่อยู่มีจริงไหม"พ่อเดินไปนั่งบนแคร่ มวนยาเส้น จุดสูบด้วยแววตานักคิด แล้วตอบว่า "ก็จริงอยู่นะ แต่มือเป็นอาวุธของใจ คนใจเย็นปลูกอะไรก็เป็น ใจร้อนก็ปลูกแล้วตาย"พ่อพูดแล้วหัวเราะเบาๆ…
วาดวลี
หลายต่อหลายครั้ง ที่ฉันจดจำภาพของสถานที่ เรื่องราว ผู้คน แม้ไม่เคยรู้จักกัน และไม่เคยไปพบเจอ แต่กลับฝังลึกลงความทรงจำถึงขนาดเก็บไปฝัน แน่นอนฝันนั้นเป็นฝันดี และพอตื่นจากฝัน ก็พบกับความจริงที่ว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่ไกลเกินไปนักหรอก สิ่งที่พูดถึงความงาม ความพอดี เหมือนหยดน้ำใสบนคลองเล็กๆ ที่เลียบไปกับแม่น้ำใหญ่ หรือบางทีอาจเป็นดอกหญ้าต้นเล็กๆ ที่แทรกตัวอยู่ในสวนกุหลาบ แต่แท้จริงเป็นสมุนไพรเยียวยาโลกได้ด้วยซ้ำ สิ่งที่ฉันพูดถึงอยู่นี้ คือชีวิตของเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม จังหวัดระยองเด็กน้อยเหล่านี้…
วาดวลี
๑. ประชาธิปไตย สูงใหญ่ ใต้เพดาน เราไต่ เราคลาน เหยียบข้าม ขึ้นคว้าไป เราเรียน เราศึกษา เราค้นหา เราพินิจ เปรียบเทียบ ถูกผิด เท่าที่ เราคิดได้ ในสมุดมีสอน ในกลอนมีให้อ่าน ในหนังสือมีวิจารณ์ เปลี่ยนผ่านไปอย่างไร ในเคเบิ้ลมีรหัส แปลงเห็นเป็นภาพชัด นิ่ง-เลือน-และเคลื่อนไหว เราเก็บเราสะสม เพาะบ่มความคิด เธอว่าถูก-ผิด คิดเห็นเป็นอย่างไร เรารู้-ไม่รู้ เท็จจริง และลวง แต่เราก็ห่วง ห่วงประชาธิปไตย
วาดวลี
ทั้งที่แค่เป็นเวลาบ่าย แต่บ้านของเราไม่มีแสงแดด ก้อนเมฆหนาทึบขนาดมหึมาเคลื่อนเร็วเหมือนคลื่นน้ำ แผ่ความเย็นให้วันธรรมดาในฤดูฝนเย็น ให้จับใจขึ้นไปอีก   แน่นอนว่าคนใต้ฟ้าแถวบ้านฉันไม่ได้กลัวเปียก แต่พวกเขากลัวน้ำท่วม แม้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คนข้างบ้านฉันยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า “ที่นี่น้ำไม่ท่วม” เขาบอกว่าเราเป็นตำบลที่อยู่ตรงกลางระหว่างน้ำปิงของเชียงใหม่และลำพูน โดยมีจุดชลประทานอยู่เหนือหมู่บ้าน มีประตูน้ำ ดังนั้นหากน้ำมามากเกินไป ก็จะมีการปิดประตูน้ำ ที่บอกว่ากักเก็บน้ำได้มากโข ความจริงฉันเชื่อในระบบชลประทานหมู่บ้าน…