wadwalee's picture
ภาพหนึ่งภาพ แทนถ้อยคำนับพัน...

<p>เรียนจบและทำงานในกรุงเทพฯ</p> <p>ในฐานะของนักข่าว, เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน, ฝ่ายสื่อของสถาบันสอนดนตรี ฯลฯและอีกหลายงานก่อนมุ่งมั่นตามความฝันมาใช้ชีวิตที่เชียงใหม่</p> <p>ปัจจุบันรับผลิตสื่อในนามของ Sister Print & Media Group แบ่งเวลาเพื่อเขียนหนังสือบ้าง เดินทาง และถ่ายรูปและ บอกผ่านบางมุมของสายตา ด้วยเรื่องเล่าสั้น ๆ ที่รู้สึก พบ ฝัน จากริมทางที่ย่างเดิน ในพื้นที่แห่งนี้</p>

บล็อกของ wadwalee

ที่ที่เราควรอยู่ ?

ผมจะย้ายกลับบ้านเกิดแล้วนะ”


อีกครั้ง ที่เพื่อนชายคนเดิม คนที่ฉันเคยช่วยเก็บข้าวของเมื่อปีก่อน บอกกับฉันในต้นปลายเดือนมีนาคมของปีนี้ถึงเรื่องการย้ายกลับภูมิลำเนาเกิดไปยังอำเภอฝาง


บ่ายที่แดดจัดจ้านนั้น ฉันจำได้ดีถึงประกายนัยน์ตามุ่งมั่นของเขา เมื่อหกเดือนที่แล้ว


................

 

พัดลมและพายุ

20080226 วางภาพประกอบ 1

อาจด้วยความเมตตาของผืนฟ้า และความปราณีของผืนดิน ที่ยังคงให้เราได้หายใจหายคอได้อยู่  ทั้งที่ “อะไรที่มองไม่เห็นในอากาศ” นั้น กำลังมาบอกอย่างโต้งๆ ว่า โลกไม่ใช่แค่กำลังร้อน แต่มันกำลังเสื่อมสลายและผุกร่อน

“ขี่รถไปไหนแสบตามากเลย หายใจไม่ค่อยออก”
คนรู้จักของฉันเล่าให้ฟัง ฉันได้แต่พยักหน้าเห็นด้วย เพราะอาการก็ไม่ต่างกัน

เมื่อวานนี้ ฉันซ้อนมอเตอร์ไซค์คนที่บ้านขี่เลียบน้ำปิงไปยังเขตเมือง ใบไม้ร่วงกราวจากพายุที่ก่อตัวตั้งเค้ามาในช่วงบ่าย ใบไม้แห้งสีน้ำตาลกรอบกระจายไปถ้วนทั่วท้องถนนและผืนหญ้าบนสวนสาธารณะ บางแห่งพัดปลิวเอาเศษกระดาษ ถุงพลาสติก วนอยู่ในอากาศ ก่อนจะร่วงไปตกลงในลำน้ำปิง

เจ้าแม่คงคาจะยังปราณีเราอยู่อีกไหม  หากเราจะโทษเอาแต่แรงของพายุ ?

ความจริงฉันตั้งใจไปซื้อใบพัดลม  ด้วยความซุ่มซ่ามเดินชนมันจนล้มไปวันก่อน ใบพัดลมแหว่งไปแค่อันเดียว แต่พาลไม่หมุนไปทั้งแผง เมื่อกดเปิด ใบพัดลมที่ขาดสมดุลนั้นก็พัดด้วยเสียงกร่ากๆ กร่ากๆ แล้วก็หยุด

ความมุ่งมั่นขณะฝ่าลมพายุออกไปนั้น ชวนให้น่าขบขันตัวเองอยู่ไม่น้อย - ฝ่าพายุไปซื้อพัดลม -  แล้วไม่รู้ว่าฝนใกล้จะตกหรือยัง คนขับบิดมอเตอร์ไซค์ให้เร็วขึ้น โชคดีที่ว่าเส้นทางจากบ้านเราไปห้างสรรพสินค้านั้นรถไม่ติด และไม่ต้องผ่านไฟแดง เลียบน้ำไปขึ้นสะพานก็ไปสิ้นสุดยังที่หมายเอาไว้

“หรือว่าเราจะยังไม่ไปซื้อ”
ฉันรำพึงเบาๆ ขณะปัดเอาเศษใบไม้ออกจากเสื้อ
คนขี่มอเตอร์ไซค์ลดความเร็วลงนิดหน่อย แล้วบอกว่า
“ตั้งใจออกมาแล้วนะ  แล้วเราก็ไม่ได้ไปซื้อใบพัดลมอย่างเดียวด้วย”
“อื้อ”

ฉันตอบรับด้วยเหตุผลตามนั้น กระพริบตาถี่ๆ จากเศษผงในอากาศที่ปลิวเข้ามา
แต่สักพักก็ต้องรีบหลับตาปี๋ เพราะควันสีขาวที่พวยพุ่งเข้ามาปะทะใบหน้าอย่างแรง ทำให้ทั้งกลั้นหายใจและลืมตาไม่ได้
คนขับจอดรถอย่างด่วน!

ความคิดถึงบนถนนสีน้ำตาล

หลายปีก่อน หญิงสาวรูปร่างบางตาคมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นน้อง เอ่ยกับฉันว่า

การหอบสัมภาระเพื่อย้ายจาก “บ้านเช่า” ไป “บ้านใหม่” ที่เธอเป็นเจ้าของนั้น ต้องเก็บไปให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กลายเป็นภาระของคนมาทีหลัง
“อะไรเอาไปได้ก็เอาไป ยกเว้นก็แต่ต้นไม้ มันโตจนเกินกว่าที่จะขุดขึ้นมา”

ฉันไม่มีโอกาสไปเยี่ยมเธอเลยในหลายปีมานี้ แต่พอจะรับรู้ได้ว่า คนรักต้นไม้แบบเธอนั้นเพียรพยายามปลูกสารพัดต้นไม้เท่าที่ผืนดินจะอำนวย นอกจากต้นโมก ดอกแก้ว หรือพลูด่างแล้วเธอยังมีพืชสวนครัว เช่น ตะไคร้ พริก โหระพา เพื่อเอาไว้ทำกับข้าว แต่ฉันเดาเอาว่าเธอคงปลูกทั้งต้นมะม่วง จำปี กระทั่งฝรั่งหรือขนุน

ด้วยหัวอกคนพเนจรต้องเช่าบ้านอยู่เหมือนกัน เราได้คุยเรื่องนี้กันบ่อยครั้ง
สุดท้ายเธอก็ให้คำตอบว่า
“เขาว่าเราบ้านะ มาปลูกต้นไม้ให้เขา กล้าก็ซื้อมา แล้วเอาไปด้วยไม่ได้”
“ถือว่ายกเป็นสมบัติของผืนดินไปละกัน”

กระดานเลือกตั้งและชีวิตหลังรั้ว

"มีลูกแมวเพิ่งออกลูกตั้งหลายตัวแน่ะ"
"มันอยู่ตรงไหนคะ"
"นั่นไง หลบอยู่หลังป้ายหาเสียงน่ะ"

คนบอกชี้นิ้วไปยังบริเวณริมรั้วที่อยู่ฝั่งตรงข้าม

ฉันอดไม่ได้ ที่จะจำใจมองไปยังป้ายโฆษณาหาเสียงขนาดใหญ่ สูงท่วมหัวตั้งโด่เด่อยู่เพียงอันเดียวในหมู่บ้าน  ป้ายอันนั้นทำด้วยไม้อัดเรียงต่อกัน แปะทับเข้าไปด้วยไวนิลพิมพ์ภาพ 4 สีสดใส ใบหน้าผุดผ่อง ขาวนวลและริมฝีปากแดงระเรื่อ ดูมีอำนาจวาสนาและความรู้ แต่ในเมื่อไม่มีป้ายหาเสียงของใครอื่นมาเทียบเคียงอีกเลย ฉันจึงคิดเล่นๆว่า  ดูท่าทางเขาไม่ใช่ผู้ลงสมัครระดับธรรมดา และบ้านหลังนั้นที่มีรถหาเสียงหลายๆ คันทยอยกันมาจอดชุมนุม ก็คงไม่ธรรมดาเช่นกัน

ลำโพงขนาดใหญ่ทำหน้าที่กระจายเสียงโฆษณาดังอย่างไม่เกรงใจใคร สลับกับบทเพลงยอดฮิต ที่ฟังแล้วเหมือนหมู่บ้านมีงานวัดหรืองานบุญ เปิดอยู่ราวๆ เกือบ 10 เพลง ถึงค่อยเข้าเรื่อง มีเพลงหลากสไตล์หลายแนวมาก เช้าวันนั้น เขาเปิดเพลง “เสียสาวที่สวนหอม” และ “ปอยหลวงวังสะแกง” ที่มีคนเผลอร้องตามตอนขับรถผ่าน

ผู้คนคับคั่งทำให้ฉันและเพื่อนถอยออกไปก่อน รวมทั้งคุณลุงอีกคนที่เดินๆ หยุดๆ อยู่บริเวณนั้น
“มันหายไปหมดละ คงตื่นคน”

นิทานท้องฟ้า

“เธอดูโน่นสิ แดดออกแล้ว แต่ฝนยังตกอยู่เลย”
ฉันเอ่ยเสียงดัง แล้วละสายตาจากคอมพิวเตอร์ ออกมายืนยังประตูบ้าน กลิ่นไอฝนกระทบกับผืนดินแตะปลายจมูก  สูดกลิ่นเข้าไปเต็มปอด พลางพิจารณาแสงแดดที่ค่อยๆ มาแทนที่อย่างเชื่องช้า

คนข้างกายลุกขึ้นบ้าง เราสองคนออกมายืนดูสายฝน ที่มีเม็ดเล็กลงเรื่อยๆ ตกช้าลง ช้าลง จนกระทั่งหยุดตก เหลือไว้เพียงก็รอยหมาดฝนบนผืนดิน ใบไม้ และทางเดิน
“แบบนี้ต้องมีรุ้งกินน้ำแน่ๆ หิวข้าวหรือยัง”

“อ้าว เกี่ยวกันยังไง”
ฉันทำหน้าเบ๋อ พุ่งตัวเข้าไปใกล้เธอในระยะประชิด
“แปลว่าเราออกไปหาอะไรกิน แล้วไปดูรุ้งกินน้ำด้วยไง”

ฉันยิ้มกริ่ม ถ้าเธอมีเวลาอยู่กับฉันทุกวันก็คงจะดี นานๆ หน ที่รู้สึกได้อย่างนี้ วางหนังสือไว้บนชั้น วางงานไว้บนโต๊ะ หยิบเงินใส่กระเป๋ากางเกง ก้าวออกมาพร้อมกับกล้องถ่ายรูปคู่ใจ

เธอพาฉันขี่มอเตอร์ไซค์ออกมา ลัดเลาะมาตามทางเล็กๆ  โผล่สู่ถนนใหญ่นอกเมือง  รอบข้างของเราเป็นทุ่งนาที่กำลังถูกหว่านเมล็ดพันธุ์ใหม่

ในสวนดอกไม้

ก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์แล้วล่ะ  ที่ฉันไปยืนอยู่ตรงนั้น
แล้วพยายามจะนับดูว่า ดอกทิวลิปที่ก้านอวบ กลีบสวย ในสวนตรงนี้ มีจำนวนกี่สีกันแน่

20080206 ดอกทิวลิปที่ก้านอวบ กลีบสวย

มวลหมู่ไม้มากมาย พืชพันธุ์ทั้งไทยและฝรั่ง ผลิบานแสดงความแข็งแรงต่ออากาศหนาวยามเช้า และแดดจัดยามบ่ายในบริเวณสวนสาธารณะของหาดเชียงราย แม้มันจะไม่ได้เกิดและเติบโตที่นั่น แต่ถูกเพาะปลูกเลี้ยงดูด้วยการทดลอง กระทั่งเมื่อสำเร็จผล ก็ถูกขนย้าย มาลงบนผืนดินชั่วคราวเพื่อแสดงงานดอกไม้

ดอกทิวลิป ลิลลี่ บานชื่อพันธุ์ใหม่ และดอกไม้ชื่อแปลกหูอีกหลายชนิด เบ่งบานอวดสีสันอยู่ไม่ไกลนักจากลำน้ำกกที่พากันไหลอ้อยสร้อย เชื่องช้า

ไม่เพียงแต่ทดสอบความทนทานของดอกไม้ต่ออากาศเท่านั้น แต่การแสดงดอกไม้ยังทดสอบความสามารถของผู้ดูแลสวนอีกด้วย แต่ละโซน มีเจ้าหน้าที่คอยพรมพร่างสายน้ำเบาๆ เพื่อควบคุมความชุ่มชื้น อยู่ตลอดเวลา มีเจ้าหน้าที่แต่งกายเรียบร้อยสวยงาม พูดจากำกับไม่ให้คนเข้าไปแหวกดอกไม้ เอาตัว เอาหน้าไปซุกถ่ายรูป

แม้จะติดป้ายเอาไว้แล้วว่า “ห้ามเข้า” คนก็ยังอยากโน้มกิ่งดอกไม้ให้มาใกล้ตัวที่สุด ยามฉีกปากยิ้มให้กับกล้องดิจิตอล

20080206 ดอกทิวลิป ลิลลี่ บานชื่อพันธุ์ใหม่ และดอกไม้ชื่อแปลกหูอีกหลายชนิด

20080206 ดอกทิวลิป ลิลลี่ บานชื่อพันธุ์ใหม่ และดอกไม้ชื่อแปลกหูอีกหลายชนิด (2)

บรรยากาศในสวนดอกไม้ในฐานะของผู้จัด บางครั้งจึงจำเป็นต้องเลือก ว่าจะดูแลดอกไม้หรือดูแลนักท่องเที่ยวดี ใครเลยจะห้ามไม่ให้คนเอามือไปสัมผัส แตะต้อง หรือกระทั่งดมกลิ่นได้

ฉันเห็นแม่อุ้ยพากันจูงมือมาจัดท่ายืน ท่านั่ง อยู่ข้างแปลงทิวลิป อาจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ที่เขาได้ใกล้กับดอกไม้ชนิดนี้ที่สุด เมื่อลูกหลานกดชัตเตอร์ถ่ายภาพแล้ว การทรงตัวที่คลอนแคลนก็ทำเอาล้ม จนเกือบทับดอกไม้

เจ้าหน้าที่รุดเข้าไปประคอง เอ่ยเตือนเบาๆ “อย่าเข้าไปนะคะ” เธอพูดเสียงเพราะในชุดแต่งกายเมืองเหนือ แต่เมื่อแม่อุ้ยฟังไม่ได้ยินเท่าไหร่ เธอก็จึงต้องเอ่ยเสียงดังขึ้น
“สุมาเต๊ะเจ๊า อย่าเข้าไปใกล้เกินไปนะคะ อย่าเด็ด อย่าข้ามรั้วเน้อเจ้า"

20080206 แปลงทิวลิป

20080206 แปลงทิวลิป (2)

ทุกโซนมีเสียงตะเบ็งแข่งกัน กับเสียงประกาศประชาสัมพันธ์อื่นๆ ภายในงาน  ทุกอย่างดูคึกครื้นดี

ฉันมีโอกาสทำหน้าที่เป็นช่างภาพให้กับบางคู่ที่มากันแค่สองคน บางคนก็ถ่ายกับป้ายในงาน บางคนก็ถ่ายกับซุ้มดอกไม้ มีบ้างบางคน ขอถ่ายกับบริเวณที่มีคนเยอะๆ และที่แปลกที่สุดคือ เขาขอให้ถ่ายโดยไม่ให้เห็นว่าที่นี่เป็นที่ไหน นอกจากสวนทิวลิป
“จะได้ไปอวดเพื่อนว่าไปต่างประเทศมา”

ฉันได้แต่อมยิ้ม ดูเหมือนจะเป็นเวลาแห่งความสุข ได้เห็นว่าคนไทยรักต้นไม้ไม่น้อย ดอกไม้ ธรรมชาติ โขดหิน น้ำตกจำลอง ที่ใช้พลังงานจำนวนมาก เพื่อประคองให้เกิดความสุขแด่ผู้มาชมให้มากที่สุด

แม้ตลอดระยะทางกว่าจะมาถึงสวน รถติดอยู่นับชั่วโมง อาหารมีราคาแพง ห้องน้ำไม่มีเพียงพอให้บริการ แต่ส่วนใหญ่ดูจะรู้สึก “คุ้มค่า” สำหรับการมาหลังจากได้ชื่นชมความงาม ของโลกดอกไม้ที่เคยอยู่ห่างออกไปครึ่งโลกจากเมืองแห่งนี้

ไม่แน่ใจว่านั่นสะท้อนว่า  ทุกคนมาเติมเต็มความงามที่ขาดหายไปจากชีวิต หรือเรากำลังแสวงหาโลกใหม่ซึ่งเราไม่เคยได้สัมผัส และคิดว่าน่าจะดีไปกว่าโลกปัจจุบันที่มีอยู่

..........................

20080206 ดอกทิวลิป

เพราะมาถึงวันนี้ ปลายเดือนมกราคม สวนสาธารณะของเชียงใหม่เดินทางมาถึงกำหนดงานดอกไม้ประจำปี อีกครั้ง

ฉันได้ยินเสียงตอบเบาๆ ของใครบางคน ที่ถูกชวนไปร่วมงานว่า
“ไม่ไปหรอก ทีนี่ไม่เห็นมีอะไร เราได้ดูดอกทิวลิปมาแล้ว ดอกไม้อื่นๆ ธรรมดามาก สู้ไม่ได้อีกแล้ว”

..............................

ชีวิตหลงฤดู

อากาศขมุกขมัว เริ่มต้นมาได้หลายวันแล้ว

ขณะที่หมอกบางเพิ่งจางลงไปในตอนเช้า ตอนสายๆ ของฤดูหนาวกลับมีเม็ดฝนมาเยือน คนในครอบครัวต้องปรับตัวในการออกไปทำงาน  ด้วยการใส่ทั้งเสื้อกันหนาวและเสื้อกันฝน

ส่วนฉัน ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปติดอยู่ที่แผงขายผักเล็กๆ ในหมู่บ้าน

คุณยายมองดูสายฝนที่หนาหนักลงมา แล้วก็ถอนหายใจ
"อย่าเพิ่งกลับเลยหนู รอให้ฝนซาก่อน"
เขาบอกฉันอย่างมีไมตรี แล้วชวนให้เข้าไปหลบฝนด้านในร้าน
เหลือบไปมองถนน บางคนฝ่าเม็ดฝนไปไม่กลัวเปียก บางคนทำท่าเก้ๆ กังๆ
แล้วบทสนทนาของฝนหลงฤดูก็เกิดขึ้น

"มันแปลกจริงๆ ฝนจะมาช่วงนี้ได้ยังไง"
"อากาศวิปริต"
"จะเข้าหน้าร้อนแล้วก็แบบนี้แหละ ฝนหัวปี"
"เฮ้ย ยังไม่ถึง"
ฯลฯ

ฉันยืนนิ่งๆ  พร้อมห่ออาหารในมือ สายตามองดูเม็ดฝน หูก็ฟังพวกเขาคุยกัน
คุณลุงคนหนึ่งขี่จักรยานฝ่าสายฝนมา จอดรถเสร็จ ไม่พูดพร่ำทำเพลง เดินอาดเข้ามาหายาย
"ลาบดิบมีไหม ข้าวเหนียวด้วยเน้อ"

แกนั่งลงบนเก้าอี้ไม้ ซึ่งมีอยู่โต๊ะเดียวในร้าน ยายทำตาแลมอง แล้วเดินเข้าไปใกล้
"ฝนตกซิกๆ แบบนี้จะกินลาบดิบเหรอ เอาแกงอ่อมอุ่นๆ หน่อยไหม"

ยายไม่กลัวเลย ว่าจะขายของไม่ได้ เสนอเมนูแกงอ่อมร้อนๆ น่ากินนัก
"แกงอ่อมไม่เอา เอาเบียร์ช้างขวดหนึ่ง" ลุงตะโกนตอบ
"ปาดโทะ จะกินแต่เช้าเลยเหรอ"
คุณยายอดแสดงความเห็นไม่ได้ แต่ก็เดินไปทำกับข้าวแต่โดยดี

เปิดฝาถังแช่ หยิบหมูที่สับไว้แล้ว ตักใช่กะละมัง จากนั้นก็ตักน้ำพริกลาบ คลุกเคล้าผสม เติมเครื่องเทศ หยอดเลือดสดๆ เข้าไป คลุกๆ แล้วก็เติมเต็มด้วยเครื่องในหั่นเป็นชิ้นๆ

ลุงผู้ชายคงเปรี้ยวปากน่าดู ขออนุญาตเดินไปหยิบเบียร์เอง แล้วก็นั่งรอ
"อากาศแบบนี้ ฝนซิกๆ ครึ้มอกครึ้มใจเหรออ้าย"

ใครบางคนตะโกนถาม ลุงผู้ชายส่ายหัวแทนคำตอบ
"ฝนตกแบบนี้ มันก็อยากกิน กินแก้เครียด  อ้ายตากตอกเอาไว้ มันชื้นมาหลายวันแล้วไม่มีแดด มาวันนี้ฝนตก เก็บแล้วก็ยังขึ้นรา"
"ก็ดีแล้ว  ได้พักผ่อนสักวัน"
ยายให้กำลังใจอย่างไม่เห็นว่าเป็นเรื่องหนักหนา ขณะโรยหน้าลาบรสเด็ดด้วยต้นหอม ผักชี แล้วยกมาเสริ์ฟ

ลุงตักลาบใส่ปาก ตามด้วยเบียร์อีกคำ หน้าตาชื่นอกชื่นใจ
"จะว่าไป ฝนตกก็ดี มันแล้งเกินไป ต้นไม้เหลืองหมด ดูน้ำในคลองสิ ถึงเข่า"
เขาหมายถึงน้ำปิงน้อยที่ไหลผ่านข้างหมู่บ้าน ที่ตอนนี้เดินไปลงเล่นได้โดยไม่ต้องกลัวจม

ยายฟังแล้วหัวเราะเอิ๊กอ๊าก
"ก็เห็นพากันไปจับปลาสบายใจอยู่นี่วันก่อน"
"ก็น้ำมันแห้ง ปลาจะตายเอา จับก็ง่าย ได้ไปหลายมื้อใหญ่"
"แล้วไม่ดีเรอะ" ยายทำเสียงแหลม
"ไม่ดีน่ะสิ จับกันทีสิบคน รอบเดียวหมดคลอง ฮ่าๆ"
คุยไปหัวเราะไป ไม่รู้ว่าเพราะเขาเป็นคนอารมณ์ดี หรือเพราะฟ้าฝนเป็นแบบนี้

มองไปบนท้องฟ้า ฝนซาลงบ้างแล้ว ฉันขยับตัว เตรียมออกไป
ยายมีแก่ใจเป็นห่วง เอื้อมไปหยิบถุงพลาสติกเก่าๆ ส่งให้ใบหนึ่ง
"เอาคลุมหัวไว้หนู"
ไม่อยากรับ แต่ก็ไม่อยากขัดใจยาย เอ่ยขอบคุณแล้ว ก็ได้ยินเสียงยายรำพึงเบาๆ
"ไม่รู้มันจะตกอีกกี่วัน ยายจะได้ตุนของเอาไว้ ไม่งั้นออกไปตลาดไม่ได้ จะไม่มีของขายเอา"
"อ๋อค่ะ ลำบากหน่อยเนอะ"
ฉันพูดได้แค่นั้น  ยายพยักหน้า ก่อนจะตามด้วยประโยคที่ว่า
"ฝนหลงฤดู คนก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม"

นี่เป็นบทสรุปจากเจ้าของแผงผักเล็กๆ และคนทำลาบขาย
บางทีบทสรุปนั้น อาจเผื่อแผ่ไปยังคุณลุงที่นั่งเคี้ยวลาบตุ้ยๆ อยู่ หรือคุณป้าอีกหลายคน ที่พากันติดฝน และเลือกซื้อข้าวของอยู่

บางคนเหลือบมองเวลา ที่จะออกไปจัดการธุระ สลับกับมองสายฝน
บางคนคิดแผนใหม่ ว่าจะทำอะไรดีในวันนี้
และบางคนคิดเลยไกลออกไปถึงอีกหลายๆ วัน ของฤดูกาลข้างหน้า

ฉันขี่รถฝ่าสายฝนมา พลางคิดในใจว่า อย่างน้อย ขอให้เป็นแค่สายฝนที่หลงฤดู อย่ามีอะไรหนักหนาให้ถึงกับต้องเปลี่ยนชีวิตบางด้านต้องหลงทางไปด้วย

หรือก็ไม่แน่ว่า...
บางที ฤดูกาล ก็แค่มาเตือนให้รู้ว่า มนุษย์เราหลงทางไปล่วงหน้า ตั้งนานแล้ว

ก็ไม่รู้.


20080130 เรื่องเล่าริมทางเดิน (1)

20080130 เรื่องเล่าริมทางเดิน (2)

20080130 เรื่องเล่าริมทางเดิน (3)

20080130 เรื่องเล่าริมทางเดิน (4)

20080130 เรื่องเล่าริมทางเดิน (5)

20080130 เรื่องเล่าริมทางเดิน (6)

ชีวิตในถังถั่วงอก

20080123 ชีวิตในถังถั่วงอก (1)

20080123 ชีวิตในถังถั่วงอก (2)

ผู้ชายคนนั้นเหมือนไม่สนใจใครเลย
เขาย่ำเท้าหนักๆ ลงบนผืนทราย บุ๋มเป็นรอยเท้าทับซ้อนกันไปมา เขาง่วนอยู่กับข้าวของบางอย่างตรงหน้า แต่ฉันไม่คิดว่าเขาจะลืม ว่าเวลาที่ตะวันยามเช้าสะท้อนแม่น้ำจนเป็นสีเหลืองนวลนั้น
สวยงามเพียงใด

หาดทรายริมแม่น้ำโขงที่ฉันมาเยือน อยู่ในความสนใจของนักเดินทาง โลกนัดเวลาให้เราไว้แล้ว สำหรับการตื่นในที่แปลกถิ่นและออกมาสูดอากาศ หากตื่นเช้ากว่าใครเพื่อน เราจะมองเห็น ผู้คนทยอยโผล่หน้าออกจากเกสเฮาส์ที่เรียงรายกันตลอดริมฝั่ง บ้างก็ลงมาเดินเล่น บ้างก็กางขาตั้งกล้องรอเอาไว้ เพื่อจะได้กดชัตเตอร์เมื่อดวงตะวันกลมโตสีแดงโผล่พ้นทิวเขาหลังแม่น้ำขึ้นมา

นักเดินทางบางคนนัดกับเรือรับจ้างเอาไว้แล้ว เช้าตรู่เขาจะมารับที่ท่าน้ำ พาล่องไปเยี่ยมชมชีวิตผู้คนสองฝั่ง คือไทยและลาวเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเต็ม แล้วก็พากลับมาส่งที่เดิม บางคนโดยสารตัดแม่น้ำไปยังฝั่งโน้น แวะไปซื้อของที่ลาว หรือ ข้ามไปเที่ยวยังหลวงพระบาง

เรือลำเล็กใหญ่เหล่านั้น ล่องผ่านสายตาของชายคนนี้อยู่ในระดับสายตา  ไปและมา มาและไป เหมือนภาพยนตร์ที่ฉายซ้ำเดิมทุกวัน

และเขาก็ยังทำเช่นเดิม ไม่เหลียวแลที่จะมองใคร หากไม่เพราะว่าเขาเบื่อที่จะมองมันแล้ว ก็อาจเป็นเพราะว่า เขาได้วางชีวิตเอาไว้ในโลกที่ไม่เกี่ยวข้องกัน โลกของเขามีเพียงหาดทราย ถังน้ำพลาสติกนับร้อยใบ เมล็ดถั่วเขียวในถัง และเช่นเดียวกัน ใครจะรู้ได้ว่า โลกของคนบนเรือที่ไม่ข้องเกี่ยวกับเขาเหล่านั้น จะสนใจไยดีเขาบ้างหรือไม่

ยกเว้นแต่ฉันเวลานี้ ความอ่อนด้อยประสบการณ์ดึงดูดให้เดินย่องลงไปใกล้ที่สุด เท่าที่จะใกล้ได้

เหยียบเท่าลงบนผืนทราย เงยหน้าของเขา ทักทายด้วยรอยยิ้ม อุ่นใจเมื่อเขายิ้มตอบกลับมา จากนั้นก็เอ่ยถามออกไปด้วยน้ำเสียงลังเล
“ลุงกำลังปลูกถั่วงอกใช่ไหมคะ”

20080123 ชีวิตในถังถั่วงอก (3)

20080123 ชีวิตในถังถั่วงอก (4)

“ใช่แล้วล่ะ”
ลุงตอบน้ำเสียงเรียบๆ เขายังไม่เงยหน้ามองฉันสักนิด จนเริ่มขาดความมั่นใจ แม้กระทั่งเรายืนใกล้กันนิดเดียว

ฉันเหลือบไปมองเบื้องหน้า ตะวันโผล่พ้นน้ำสะท้อนเงาระยับเป็นสีเหลืองทองเหมือนในภาพถ่าย แต่มือใหญ่ๆ ในชีวิตจริงของลุงกำลังเอื้อมไปตักน้ำนั้นมาใส่ถัง

เมื่อได้น้ำมาแล้ว ก็ราดรดลงไปบนถังอีกใบ ซึ่งโปรยใส่เมล็ดถั่ว เขาไม่ได้ทำแค่เพียงครั้งเดียวใน 1 ถัง แต่ลุงทำแบบนั้นซ้ำๆ เป็นชั้นๆ ซ้อนกันขึ้นมา
ใส่ถั่ว รดน้ำ กลบทราย
ใส่ถั่วอีกชั้น รดน้ำ กลบทราย
ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จวบจนกระทั่งเสร็จหมดแล้ว ก็เลื่อนกายไปยังถังที่อยู่หัวแถวที่สุด
เปิดฝาสังกะสีออก ฉันก็พบกับต้นถั่วงอกที่เจริญงอกงาม ชูช่อ ทั้งแบบสีขาวนวลและเริ่มแตกใบ

20080123 ชีวิตในถังถั่วงอก (5)

20080123 ชีวิตในถังถั่วงอก (6)

“โอ้โห” เผลออุทานออกมาเสียงดัง
ได้ผล ลุงหันมายิ้มแล้ว

“แบบนี้เก็บได้แล้วสิคะลุง”
“ใช่ เดี๋ยวคัดๆ ที่ไม่สวยออก ก็ส่งได้เลย”

ฉันพิจารณาต้นถั่วงอกที่ “ไม่สวย” ตามที่ลุงว่า แล้วก็ขออนุญาตถ่ายรูป สำหรับฉันแล้ว เริ่มรู้สึกว่าทุกต้นนั้นงามจนไม่ควรจะถูกทิ้งเสียด้วยซ้ำ และก็นึกถึง “ความสวย” ของถั่วงอกในร้านก๋วยเตี๋ยวที่ต่างกันออกไป

“กี่วันคะ ถึงจะโตเท่านี้”
“ก็ 4-5 วันนะ ลุงก็ทยอยปลูกไป เราต้องปลูกไม่พร้อมกัน ก็จะมีให้เก็บได้ทุกวัน”
“อ๋อค่ะ”
ฉันยิ้มเมื่อเห็นลุงเริ่มต้นคัดถั่วงอกที่ดีพอเพื่อนำไปส่ง

“ลุงส่งร้านแถวนี้ใช่ไหม”
“ใช่แล้ว ก็ตลาดแถวนี้ แล้วก็ตามร้านอาหารบ้าง”
“ก็แปลว่าทานได้เลย ไม่ต้องเอาไปฟอกสินะ”
“โอ้ย สดๆ แบบนี้หวานอร่อย ไม่เหม็นเลย ชิมดูสิ”

20080123 ชีวิตในถังถั่วงอก (7)

ฉันเห็นรอยยิ้มกว้างๆ ของเขาแล้ว รอยยิ้มที่สว่างแข่งกับดวงตะวันบนท้องฟ้า
ลุงเหลือบดูนาฬิกา เหมือนจะต้องไป ฉันก็เช่นกัน มองไปยังผืนน้ำ เห็นเรือลำน้อยใหญ่ยังคงเดินทางอย่างปกติ นักท่องเที่ยวคงตื่นกันหมดแล้ว ชีวิตในเมืองเชียงของเคลื่อนไหว ช้า เร็ว สลับกันไป

ก่อนเราจะจากกัน ฉันถามเขาว่า
“นี่เป็นที่ทำงานของลุงสินะ มาทุกวันเลยใช่ไหมคะ”
“ใช่ มาทุกวัน เช้ามาก็เจอลุงได้ที่นี่แหละ”
“ขอบคุณค่ะลุง”

ที่ถามไปนั้น ฉันเองก็ตอบไม่ได้ ว่าจะมีโอกาสได้กลับมาเยี่ยมลุงอีกหรือเปล่า ผ่านไปอีกไม่กี่วัน เราก็คงเป็นแค่ความทรงจำหนึ่งของกันเท่านั้น หรือ อาจจะไม่มีอยู่ด้วยซ้ำ

แน่นอน ชายคนนี้คงไม่หวังที่จะเป็นความทรงจำของใคร เช่นเดียวกับเรือที่ผ่านน้ำโขงไป ลำแล้ว ลำเล่า และมองเห็นกันเป็นจุดเล็กๆ ก่อนฟ้าจะค่ำลง

เดินห่างออกมาแล้ว ก็คลี่ดูต้นถั่วงอกที่ใหม่สดในมือ ต้นที่หล่นร่วงจากถัง และแอบหยิบมาดู
เงยไปมองท้องฟ้า แล้วคิดว่า
จริงๆ หรือ ที่ชีวิตเราไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตในถังถั่วงอกของลุงคนนั้น ?

20080123 ชีวิตในถังถั่วงอก (8)

 

เรื่องเล่าของปลาบึก

ฉันกับเพื่อนหย่อนก้นบนเก้าอี้ไม้ริมถนนของเมืองเชียงของ เราสั่งชานม ชามะนาว และกาแฟมากินให้สดชื่นหลังจากนั่งรถมาเป็นชั่วโมง มองดูผู้คนมาเยือนสวนทางกับเจ้าของท้องถิ่นไปมาในวันหยุด

20080109 1

"เรากำลังจะไปที่ไหนต่อ"
เพื่อนร่วมทางถามฉัน ฉันเหลือบมองเขา ไม่ตอบ แล้วคว้าหนังสืออ่านเล่นในร้านกาแฟมาเปิดอ่าน เราเพิ่งมาถึง แล้วจะไปไหน เธอถามแปลกจัง ฉันอยากตอบเล่นๆ ว่า เดี๋ยวจะพาเธอไปลงว่ายน้ำโขงเล่นก็แล้วกัน

"เราต้องไปกินปลาบึกไหม?"
เพื่อนถาม ฉันเกือบสำลักชามะนาว
“เธออยากกินเหรอ”
ฉันถามกลับ เขาทำหน้าไม่ถูก แต่แววตาลังเล
“ก็มีคนบอกว่ามาเชียงของต้องกินปลาบึก”

ฉันอมยิ้ม ฉันก็ได้ยินแบบนั้นเหมือนกัน แต่เท่าที่รู้ ปลาบึกไม่มีในฤดูนี้หรอก น่าจะราวๆ เดือนเมษา พฤษภา แต่ถึงเวลานั้นจริงๆ เราก็อาจจะไม่มีปลาบึกกินหรอก มันหาง่ายที่ไหนล่ะ ฉันคิดของฉันแบบนี้

ปลาบึกที่เคยเห็นในรูปตัวโตมากๆ โตเท่าตัวเรา แล้วต้องใช้เวลาแค่ไหนกว่ามันจะโตขนาดนี้ ถ้าจับมันกินทุกปี มันจะแพร่พันธุ์ได้ทันหรือ

Pages

Subscribe to RSS - บล็อกของ wadwalee