เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาเริ่มแรกของการเปิดภาคเรียน ฉันได้รับข่าวใหม่จากเพื่อนๆในคณะอักษรศาสตร์ เรื่องการแต่งเครื่องแบบนักศึกษา ว่าจะมีความเข้มงวดขึ้น สำหรับบางภาควิชา เพื่อนๆเล่าต่อกันมาว่า ทางภาควิชาที่ว่า ให้เวลานักศึกษาหนึ่งเดือนสำหรับการปรับปรุงตนเองให้แต่งกายถูกต้องตามระเบียบ เมื่อครบกำหนดที่ตั้งไว้ทางภาควิชาจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดจัดการ ฉันถามเพื่อนถึงรายละเอียด ก็ทราบว่ามาตรการนั้นไม่มีอะไรมากนัก สั้นๆง่ายๆว่า “ถ้าไม่แต่งเครื่องแบบฯ ก็ไม่ต้องเข้าเรียน”
หากย้อนเวลากลับไปสักสามสี่ปี ฉันคงไม่ตะขิดตะขวงใจที่ได้รับฟังเรื่องราวเช่นนี้สักนิด นักเรียนผู้เชื่องเชื่ออย่างฉัน จะไม่ตั้งคำถามกับการถูกกำหนดให้แต่งกาย นักเรียนที่เป็นที่รักของคุณครูเพราะว่านอนสอนง่ายแต่งกายงามอยู่เสมออย่างฉัน คงจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะไม่ว่าอย่างไรเสีย ฉันก็เป็นนักเรียนที่ดีในสายตาครูอาจารย์ตลอดมา และในทางตรงข้าม ฉันอาจจะแอบหัวเราะเยาะพวกเพื่อนๆนอกคอกทั้งหลายที่พยายามจะไม่ยอมรับกฎเกณฑ์เหล่านั้น
ทว่า ณ วันนี้ ฉันกลับเห็นต่างออกไป ฉันตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่าการตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏการณ์นั้นจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของมนุษย์ ดังนั้นฉันจึงรู้สึกเดือดร้อนใจเมื่อทราบข่าวนี้ หากจะตั้งคำถามต่อคำสั่งนี้เป็นเบื้องต้น ง่ายที่สุดโดยที่ไม่ต้องยึดหลักอะไรเลย ก็คงถามถึงสาเหตุว่าผู้ออกคำสั่ง “คึก”อะไร ถึงได้ลุกขึ้นมาออกกฎเช่นนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้นักศึกษาก็แต่งตัวกันตามสบาย ผู้ออกคำสั่งมีเหตุผลใดหรือ จึงนึกอยากจะมาจัดระเบียบอันเป็นการพรากความอยากรู้อยากลองไปจากผู้มีศิลปะในหัวใจอย่างนักศึกษาอักษรศาสตร์
หากมองในมุมของอาจารย์หลายๆคนที่สนับสนุนการแต่งเครื่องแบบนักศึกษา ท่านเหล่านั้นมักกล่าวว่า การแต่งเครื่องแบบฯ หมายถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยเสมอกัน บางท่านเห็นว่าดูสวยงามน่ารักสดใส ดูเป็นผู้มีวินัย มีความรับผิดชอบ เป็นนักศึกษาที่ดี ให้ความเคารพให้เกียรติสถานศึกษา แต่ในมุมมองของคนที่ตั้งคำถามอย่างฉัน การแต่งเครื่องแบบฯ หมายถึงการยอมรับอำนาจชนิดหนึ่ง อำนาจนั้นอาศัยความเหนือกว่าทางความรู้ ตำแหน่งหน้าที่และความอาวุโสในการสร้างตัวตนขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งในทางกฎหมายและในทางประเพณี
ในทางกฎหมาย ข้อบังคับของมหาวิทยาลัยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่านักศึกษาต้องแต่เครื่องแบบให้ถูกต้องในงานพระราชพิธีและงานที่เป็นทางการ ส่วนที่นอกเหนือจากนี้ให้เป็นอำนาจของคณะวิชา นี่เป็นอำนาจอย่างหนึ่ง ซึ่งได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ข้อกำหนดต่างๆมีนายกสภาของมหาวิทยาลัยเป็นผู้ลงนามประกาศ นั่นก็หมายความว่า การกำหนดข้อบังคับที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งกายไม่ได้มาจากความเห็นชอบของนักศึกษาสักนิดเลย ทั้งที่เมื่อถูกประกาศใช้แล้ว ผู้ที่ต้องปฏิบัติก็คือนักศึกษา ฉันจึงเห็นว่านี่เป็นจุดหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจ หากเกิดความขัดแย้งหรือการต่อต้านระเบียบขึ้น
ส่วนการจะทำความเข้าใจอำนาจในทางประเพณี ต้องย้อนกลับไปดูความหลากของภาควิชา ซึ่งส่งผลต่อแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ต่างกันออกไปด้วย คนภายนอกที่ไม่รู้จัก อาจจะคิดว่าคณะอักษรศาสตร์เรียนกันแต่ภาษา แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ อักษรฯ ก็คล้ายๆกับศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ คือมีทั้งภาษา ประวัติศาสตร์ นาฏศิลป์ ดนตรี ปรัชญา สังคมและมีแม้กระทั่งภูมิศาสตร์ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อักษรฯไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว ระเบียบหนึ่งๆไม่สามารถบังคับใช้ได้ กับทุกภาควิชา และสำคัญที่สุด นักศึกษาเองก็รับเอาความรู้ที่แตกต่างกัน อาจารย์แต่ละคนก็มีแนวคิดอุดมการณ์ต่างกัน
ฉันกำลังจะบอกว่า บางภาควิชา มีความเข้มข้นของอำนาจนิยมน้อยกว่าบางภาควิชาเป็นอย่างมาก เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้การ รณรงค์ให้แต่งกายถูกระเบียบของบางภาควิชาไม่ประสบผลสำเร็จเสียที ภาควิชาไหนที่มีความเป็นอำนาจนิยมสูงก็ทำกันไป รณรงค์กันไป แต่ฝ่ายที่ไม่เอาด้วยก็โต้ตอบกลับพอเป็นกระษัย เช่นหากมีการติดโปสเตอร์รณรงค์ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็นำข้อความต่อต้านมาติดทับลงไปง่ายๆ ดังนั้นอำนาจในทางประเพณีจึงมีได้เฉพาะบางภาควิชา แต่ก็ไม่เฉพาะอาจารย์เท่านั้นที่ต้องการให้นักศึกษาแต่งกายถูกระเบียบ รุ่นพี่ของภาควิชานั้นๆหรือกลุ่มที่ทำกิจกรรมอันมีความใกล้ชิดกับภาควิชานั้นๆก็มีส่วนร่วม จนอาจจะถือได้ว่าเป็นมือเป็นไม้ของอาจารย์ เมื่ออาจารย์ไม่สามารถเป็นตัวอย่างในการแต่งกายได้ ก็รุ่นพี่เหล่านี้เองที่ดำเนินการรณรงค์แทน หรือคอยตักเตือนรุ่นน้องแทนอาจารย์
ฉันพยายามจะทำความเข้าใจท่านผู้รักกฎชอบระเบียบทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ทว่าครั้งแล้วครั้งเล่าที่ได้ยินคำสั่ง คำชม หรือคำเตือนเกี่ยวกับเรื่องการแต่งกาย ฉันก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่า ให้นักศึกษาแต่งเครื่องแบบฯ แล้วทำไมอาจารย์ไม่แต่ง นี่เป็นชนชั้นที่จงใจสร้างขึ้นในสถานศึกษา เป็นความไม่เท่าเทียมอย่างไร้เหตุผล เพราะเห็นว่านักศึกษาเป็นผู้น้อยกว่าหรือ จึงมาบังคับกะเกณฑ์กัน เหตุใดจึงใช้ความอาวุโสกว่า การมีความรู้มีอำนาจมากกว่ามาเป็นเครื่องมือละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น
อาจารย์รู้ตัวหรือไม่ว่าคำสั่งของอาจารย์นั้นก้าวล่วงเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของนักศึกษาผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว โดยที่อาจารย์จะเคยคิดหรือไม่ก็ตาม ว่าการตกแต่งร่างกายเป็นสิทธิส่วนบุคคล เป็นเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย เป็นความคิดสร้างสรรค์ตามแต่นักศึกษาผู้อยู่ในวัยหนุ่มสาวจะได้ทดลอง อาจารย์รู้ตัวหรือไม่ว่าการออกคำสั่งเช่นนี้กำลังปลูกฝังอำนาจนิยมให้คนรุ่นต่อๆไป อาจารย์ผู้มีความรู้กว้างขวางกว้างไกล เป็นถึงผ.ศ.ดร. จบปริญญาหลายใบ ไม่รู้หรือว่าโลกก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว ไม่รู้หรือว่าไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่ยังบังคับให้นักศึกษาแต่งเครื่องแบบ ไม่รู้หรือว่ามีแต่ประเทศเผด็จการเท่านั้นที่มีการบังคับเช่นนี้
หากอาจารย์รู้ แล้วยังเห็นด้วยกับกฎระเบียบเก่าๆ ก็คงจะคิดเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากว่าอาจารย์เป็นผู้ฝักใฝ่เผด็จการ หวงแหนอำนาจ ชื่นชมความไม่เท่าเทียม ยึดถือการละเมิดเสรีภาพ จึงประสงค์จะให้ผู้อื่นปฏิบัติตามใจของตัวเอง ทั้งที่จริงแล้วร่างกายนั้นก็ไม่ใช่ของอาจารย์ การที่นักศึกษาจะแต่งกายดีไม่ดีอย่างไร ร่างกายก็ยังเป็นของเขาหรือเธออยู่ หากอาจารย์เห็นว่านั่นเป็นความไม่ถูกต้องที่จะต้องเข้าจัดการ อาจารย์ก็ควรจะตระหนักสักนิด ว่านี่มิใช่ร่างกายตัวเอง การที่อาจารย์รู้สึกขัดตาและลามไปขัดใจ ก็หมายความว่าความรู้สึกฝ่ายอำนาจนิยมกำลังคืบคลานอยู่ในความคิดของอาจารย์แล้ว ในทัศนะของฉัน เห็นว่า หากอาจารย์ประสงค์จะเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ควรจะปฏิบัติเองก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่นักศึกษา หากอาจารย์เองก็ไม่ชื่นชมที่จะต้องแต่งกายเหมือนคนอื่นๆทุกวัน ก็พึงรู้ไว้เถิดว่า นักศึกษาซึ่ง เป็นคนเหมือนกับอาจารย์ ก็ไม่ชอบเช่นเดียวกัน
ประเด็นที่เกี่ยวกับระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ หรือการให้เกียรติสถานศึกษา หากฉันเข้าใจไม่ผิด มหาวิทยาลัยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเสริมสร้างปัญญา โดยอ้างคำกล่าวของปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะอภิวัฒน์สยาม2475 ที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหา ความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา”
ฟังแล้วทำให้เกิดคำถามว่า ระเบียบวินัย ความรับผิดชอบแบบใดที่เป็นสิ่งสำคัญและพึงกระทำ ใช่การแต่งกายเหมือนๆกันเป็นนักศึกษาผู้เชื่องเชื่องมงาย ไม่ใช้เสรีภาพแม้กระทั่งกับร่างกายของตัวเอง หรือการเข้าถึงความรู้ ปัญญาและรู้จักวิพากษ์วิจารณ์อำนาจเก่าๆ ดังเช่นคณะผู้ก่อนการเคยทำมา ใช่หรือไม่ว่านักศึกษาควรมีวินัย มีความรับผิดชอบต่อการเรียน ต่อหลักวิชาและต่อผลการใช้วิชาความรู้ของตนเอง การแสดงเกียรติภูมิของสถานศึกษา ใช่หรือไม่ว่าควรนำความรู้ที่ได้รับนั้นมาสร้างประโยชน์แก่ประชาชน หรือเพียงแต่จะภูมิใจในสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ภูมิใจในเข็มกลัด หัวเข็มขัด เน็คไทร์ ติ้ง กระดุม และเดินอวดชาวบ้านร้านรวงว่าข้าแน่ ข้าเก่ง ยกตนเหนือกว่าเป็นปัญญาชน เหยียดหยันนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัย
ประเด็นสุดท้าย “ความน่ารัก” ฉันเข้าใจว่าเป็นวาทกรรมอย่างหนึ่ง ที่เป็นส่วนเสริมสร้างอุดมการณ์อำนาจนิยมให้แข็งแกร่งขึ้น เมื่อเราตั้งคำถามกับคำว่า “น่ารัก” ถามว่าทำไมถึงน่ารัก ความน่ารักแบบหนึ่งๆเปลี่ยนไปตามกาลเวลาหรือคงอยู่ตลอดชาติ ตอบคำถามที่หนึ่ง “น่ารัก” เป็นเพราะมีลักษณะที่อ่อนน้อม เชื่อฟัง ไม่ต่อต้านดึงดันท้าทาย ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ผู้ออกกฎทั้งหลายคงปรารถนาจะเห็นเป็นอย่างยิ่ง และคำถามที่สอง ง่ายเกินกว่าจะตอบ ความน่ารักสวยงามย่อมเป็นเรื่องของการเวลา น่ารักของวันนี้ จะกลายเป็นเฉิ่มเชยของวันหน้า ในขณะที่แปลกประหลาดของวันนี้ เมื่อถึงอนาคตอาจจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา และที่สำคัญความน่ารักนั้นไม่มีความเป็นสากล น่ารักของผู้ออกกฎ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้อื่นจะคิดเช่นนั้นด้วย จึงได้ถามว่าควรแล้วหรือที่จะนำคำนี้มาอ้าง ให้นักศึกษาปฏิบัติตามกฎ
ท้ายที่สุด ด้วยความเคารพและขอบพระคุณในวิชาความรู้ที่อาจารย์ทั้งหลายมอบให้ ฉันอยากจะบอกแก่ท่านทั้งหลายว่า อยากให้ท่านเปิดใจรับฟังความคิดของคนรุ่นใหม่สักนิด การที่นักศึกษาไม่อยู่ในระเบียบวินัยแบบที่ท่านคุ้นเคยหรือถูกฝึกปรือมา ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาหรือเธอเป็นคนชั่วร้าย ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่จะนำพาประเทศไปสู่ความวิบัติ การที่นักศึกษาไม่สวมใส่เครื่องแบบก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะละทิ้งความรู้ที่ท่านถ่ายถอดให้
ท่านเป็นผู้มาก่อน คือเกิดก่อน ใช้ชีวิตมาก่อน ย่อมจะเข้าใจว่าคนแต่ละยุคมีความขัดแย้งกันในทางอุดมการณ์เสมอมา นั่นก็เป็นเพราะโลกและสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มนุษย์จึงต้องปรับตัว นักศึกษาต้องปรับตัว และท่านเองก็ต้องปรับตัว การฝืนต้าน ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ เมื่อความขัดแย้งเดินทางมาถึงจุดที่ไม่อาจประนีประนอมกัน ก็จะเกิดเป็นความสูญเสียใหญ่หลวง
ในฐานะผู้มาก่อนท่านต้องไม่ลืมว่า ชีวิตนั้นสั้น แต่ศิลปวิทยาการต่างหากที่ยืนยาว ท่านต้องไม่ลืมว่า มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่แห่งการสร้างสรรค์ ในเมื่อนักศึกษาคือคนที่จะสืบสานสังคมต่อจากท่าน ท่านจงโปรดให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ทางเลือกด้วยตัวของเราเองเถิด