Skip to main content

 

เป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่นอกเหนือไปจากการบ้านและการเรียนได้ จะด้วยความขี้เกียจ หรือความชักช้าอืดอาดของตัวเองก็ตาม ทำให้หนูไม่มีเวลาสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆขึ้นมา ดังนั้นเลยเลือกการบ้านของตัวเองมาเผยแพร่ แทนที่จะปล่อยบล็อกว่างอยู่เปล่าๆ แต่ถึงเอาการบ้านมาให้แฟนๆ(หวังว่าจะมี)อ่าน ก็เป็นการบ้านที่หนูอยากนำเสนออยู่นั่นเองล่ะค่ะ อยากให้คนที่ไม่ได้เรียนด้วยกันรู้ว่า หนูได้เรียนอะไรสนุกๆ ได้ทำการบ้านที่ชอบ ไม่ได้มีแต่วิชาที่น่าเบื่อน่าบ่นเท่านั้น     เพราะงั้นหนูจึงเต็มใจเสนอการบ้านห้าคะแนน ซึ่งดัดแปลงมานิดหน่อย จากวิชาเลือกที่เรียนแสนจะสนุก เสาร์อาทิตย์นั่งดูหนังจนตาแฉะ และถึงแม้จะเป็นหนังเก่าอยู่สักนิด แต่ก็มีคุณค่าพอที่เราจะเรียนรู้ หยิบมาคิดหยิบมาถกเถียงกันได้อย่างไม่มีเก่า โดยเฉพาะสำหรับสังคมดินแดนตอแหลแลนด์แห่งนี้ เรื่องชาติ เรื่องผู้ปกครอง ดูจะไม่เป็นเรื่องเก่าเลย ออกจะฮิตเสียด้วยซ้ำ เพราะเห็นมีคนพูดถึงกันมากเหลือเกิน เอาล่ะค่ะๆ ก่อนอ่านหนูคุยนิดนึง ว่าได้ห้าคะแนนเต็ม ส่วนคนอ่านจะให้หนูเท่าไรก็ไม่ว่ากันค่ะ


........................................  

 ความเป็นชาติในภาพยนตร์ The Patriot

ในทางสังคมศาสตร์ ชาติหรือความเป็นชาติถือเป็นวาทกรรมอย่างหนึ่ง ที่ประกอบขึ้นจากชุดความคิดต่างๆ ชาติจึงเป็นสิ่งที่ผ่านการผลิตสร้าง ให้มีเอกลักษณ์และความหมายอย่างหนึ่ง ซึ่งความหมายที่ถูกสร้างขึ้นนั้นไม่ได้ดำรงอยู่อย่างมีสารัตถะท่ามกลางเวลาที่เปลี่ยนไป แต่เป็นสิ่งที่ลื่นไหล ดังนั้นในสังคมที่แตกต่างกัน ในช่วงเวลาที่แตกต่าง ย่อมมีการให้ความหมายของชาติอย่างแตกต่างด้วย

ภาพยนตร์ The Patriot  (ชื่อภาษาไทย “ชาติบุรุษ ดับแค้นฝังแผ่นดิน”) ออกฉายในปีพ.ศ. 2543 เล่าถึงการสู้รบของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งของรัฐเซาท์แคโลไลนา ในสงครามช่วงปลายศตวรรษที่ 18 หรือสงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกัน โดยมีเบนจามิน มาร์ติน เป็นวีรบุรุษคนสำคัญในการรบแบบกองโจรครั้งนี้

 

ภาพจาก http://www.fanpop.com/clubs/movies/images/72628/title/patriot-wallpaper

 

เบนจามินเป็นทหารเก่า มีลูก 7 คน เขาผ่านการสู้รบในสงครามอินเดียฝรั่งเศสมาก่อนและรู้สึกเข็ดขยาด กลัวบาปกรรมที่ทำไว้จะกลับมาถามหา ในตอนแรกที่รัฐสภาของเซาท์แคโรไลนา ประกาศสงคราม เขาไม่เห็นด้วย เขาคิดว่าแต่ละรัฐในอเมริกาควรได้ปกครองตัวเอง แต่ไม่ควรแลกกับการทำสงคราม สมควรที่อเมริกาจะเจรจาเพื่อขอให้กษัตริย์คือพระเจ้าจอร์จที่3 ยกเลิกสงคราม แต่ภายหลังลูกชายคนโตของเขาถูกทหารม้าของอังกฤษจับตัวไปเพื่อจะแขวนคอในฐานะสายลับ กับลูกชายคนรองถูกยิงเสียชีวิต เขาจึงเปลี่ยนใจกลับมาสู้ใหม่ เพื่ออิสรภาพของอเมริกาและเพื่อแก้แค้นให้แก่ลูกชายที่เสียชีวิต

 

ภาพจาก http://thecia.com.au/reviews/p/patriot/

 

การสู้รบระหว่างอังกฤษกับอเมริกา ในภาพยนตร์เป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 วาทกรรมชาติที่ขัดแย้งกัน ชาติของอเมริกา หมายถึง ประชาชนที่มีอิสรภาพ มีสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สินของตน ไม่ถูกขูดรีดภาษีจากรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของกษัตริย์จอร์ช คนอเมริกาจึงพยายามร่วมกันสร้างความเป็นชาติขึ้นมาเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากรัฐบาลอังกฤษ ทั้งที่จริงแล้วชาติอเมริกาไม่เคยมีอยู่ แต่เมื่อเกิดสงครามพวกเขาต่างบอกว่า พวกเขารักชาติ และจะสู้เพื่อชาติ สำนึกของพวกอาณานิคมเป็นสำนึกที่สร้างขึ้นใหม่และแยกจากสำนึกภักดีต่อกษัตริย์ของคนอังกฤษ เมื่ออเมริกามีทหารไม่พอ การปลุกสำนึกรักชาติกับชาวบ้านก็เกิดขึ้น แม้แต่ผู้หญิงอย่างแอนน์(นางเอก)ก็รักชาติได้ โดยการทำหน้าที่ปลุกเร้ากำลังใจเพื่อนร่วมชาติให้ไปรบ ผู้ชายอย่างเกเบรียล(พระเอก)ยิ่งสมัครเป็นทหารเพื่อไปรบอย่างไม่ต้องสงสัยตามที่เขาบอกว่าแก่พ่อ(เบนจามิน มาร์ติน) I’m a soldier, it’s my duty. ภาระหน้าที่ของเขาคือการรบเพื่อชาติ ไม่ใช่ซ่อนอยู่หลังคำว่าครอบครัว เพราะพ่อเขาบอกในบอกตอนแรกๆว่าหน้าที่ของเขาคือดูแลครอบครัว ส่วนเบนจามิน เขาเป็นตัวแทนของคนทั่วไปที่สำนึกรักชาติถูกปลุกขึ้นได้เพราะเขาสูญเสียผลประโยชน์ คือลูกชายและภาษีให้แก่ฝ่ายตรงข้ามของชาติ

 

 

ความเป็นชาติของอเมริกาประกอบสร้างจากการมีสถาบันร่วมกัน คือรัฐสภาซึ่งมีลักษณะเป็นประชาธิปไตย ประชาชนสามารถลงคะแนนเสียงเพื่อจุดมุ่งหมายของตน(ทำสงครามหรือไม่) โดยไม่ถูกบังคับจากกษัตริย์ อเมริกามีกองทัพทหาร มีผู้นำทางทหารที่ไม่ขึ้นกับอังกฤษ และมีสัญลักษณ์ของชาติเป็นธงชาติ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำให้คนอเมริกาตระหนักร่วมกันถึงความหมายของชาติ จนนำไปสู่ความรู้สึกรัก หวงแหนและต้องการสู้เพื่อชาติ เมื่อชาติของอเมริกาหมายถึงเสรีภาพของประชาชนทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อังกฤษก็เป็นศัตรูของอเมริกาเพราะเป็นตัวขูดรีดความเป็นอยู่ที่ดีของคนอเมริกาด้วยการเก็บภาษี การสูญเสียผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ของชาติจึงกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

ในขณะที่ชาติ ของอังกฤษกลับหมายถึงความจงรักภักดีต่อรัฐบาลอังกฤษและพระเจ้าจอร์ช หากไม่จงรักภักดีก็ถือว่าเป็นกบฏที่จะต้องถูกปราบลง ดังที่กัปตันวิลกินส์ ตอบคำถามของวิลเลี่ยม แทวิงตัน(ทหารม้าเขียว)ว่า Those neighbor of mine who stand against England deserve to die a traitor’s death. “เพื่อนบ้านของผมที่ทรยศต่ออังกฤษ สมควรตายเยี่ยงกบฏ” การทำสงคราม ฆ่าคนที่เคยมีเชื้อชาติเดียวกันมาก่อนจึงเป็นไปอย่างชอบธรรม เพราะถือว่าชาวอเมริกาผิด ที่ไม่ตระหนึ่งถึงความหมายร่วมกันชาวอังกฤษ ไม่ยอมรับกฎหมายการเก็บภาษี ไม่จงรักภักดีต่อรัฐบาลพระเจ้าจอร์ช เช่นเดียวกับที่คนอเมริกาก็รู้สึกว่าการทำสงครามกับอังกฤษแล้วต้องฆ่าคนนั้นไม่มีความผิด เนื่องจากหากไม่ทำก็จะถูกกดขี่ต่อไป เพียงเพื่ออิสรภาพของตน จะทำอย่างไรก็ได้ ดังที่เบนจามินบอกลูกชายหลังเขายิงทหารเสียชีวิตว่า You did what you had to do. There was no wrong in it. และลูกชายก็ตอบกลับอย่างลังเลใจว่า I’m glad I killed them.

การอพยพมายังโลกใหม่ ทำให้ความเป็นชาติของอเมริกาก็ไม่ผูกติดอยู่กับชาติแบบอังกฤษที่จงรักภักดีต่อกษัตริย์อีกต่อไป แต่ถูกสร้างขึ้นผ่านการนิยมความหมายใหม่ ว่าชาติคือประชาชนซึ่งมีเสรีภาพ ดังนั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพของชาติและของประชาชนจึงต้องมีสงคราม ดังที่แฮร์รี เบอร์เวลล์ กล่าวว่านี่ไม่ใช่สงครามของเมืองใดเมืองหนึ่ง แต่เป็นเอกราชของทั้งชาติ We are at war. It’s not a war for the independence of one or two colonies but for independence of one nation. และปีเตอร์ ฮาร์เวิร์ด(พ่อนางเอก)เสริมว่า An American nation. สำนึกร่วมของถึงความเป็นชาติของคนอเมริกา จึงประกอบสร้างจากสถาบันทหาร ธงชาติ และศัตรูของชาติซึ่งเป็นคนๆเดียวกัน ในขณะที่อังกฤษยังมีสำนึกถึงชาติแบบเดิม จึงมองว่าอเมริกาเป็นกบฏและต้องทำสงครามกันในที่สุด

 

....................................................

ลิงค์ตัวอย่างภาพยนตร์ The Partiot 
http://www.youtube.com/results?search_query=the+patriot+trailer&oq=the+patriot+&gs_l=youtube.3.1.35i39l2j0l8.4189.4189.0.7420.1.1.0.0.0.0.87.87.1.1.0...0.0...1ac.1.E1lBRT1LJ4A

 

บล็อกของ ย้งยี้

ย้งยี้
เดี๋ยวนี้หันมาสนใจตะวันออกกลาง ทั้งด้านสงคราม ศาสนา วัฒนธรรม เสรีภาพ ฯลฯ บวกกับชอบคราวน์ปริ๊นซ์เมืองดูไบ ตามประสาเด็กผู้หญิงที่โตมากับละครหลังข่าว ก็เลยยืมฟ้าจรดทรายจากห้องสมุดม
ย้งยี้
 *** ปรับแก้จากการบ้านวิชากระบวนการสร้างความหมายในสังคม Construction of meanings in society คณะอักษรศาสตร์
ย้งยี้
ข้อโต้แย้งและคำเตือนจากผู้ไม่ยอมที่จะ"เชื่องเชื่อ"ถึงผู้ออกกฎว่ามาเป็นนักศึกษาเพื่อหาความรู้ ไม่ใช่มาเพื่อรับคำชมว่าน่ารักเมื่อแต่งกายในชุดนักศึกษา