อ่าน "ฟ้าจรดทราย" ได้มากกว่าความ "ฟิน"

เดี๋ยวนี้หันมาสนใจตะวันออกกลาง ทั้งด้านสงคราม ศาสนา วัฒนธรรม เสรีภาพ ฯลฯ บวกกับชอบคราวน์ปริ๊นซ์เมืองดูไบ ตามประสาเด็กผู้หญิงที่โตมากับละครหลังข่าว ก็เลยยืมฟ้าจรดทรายจากห้องสมุดมาอ่าน

ฟ้าจรดทรายเป็นนวนิยายของผู้เขียนนามปากกา "โสภาค สุวรรณ" แน่นอนหลายคนรู้จัก เนื้อเรื่องเล่าถึง มิเชล ผู้หญิงลูกครึ่งฝรั่งเศส-ตะวันออกไกล (ไม่บอกว่าประเทศไหน) พ่อแม่ตาย ญาติไม่รับเลี้ยง จึงต้องอาศัยอยู่คอนแวนต์ในฝรั่งเศส เติบโตโดยมีแม่ชีเลี้ยงดูให้เป็นคนดี เรียนหนังสือจากทุนการศึกษา แต่ชีวิตเลื่อนลอยเพราะขาดความรักจากครอบครัว เมื่อเรียนจบแล้ว เธอเดินทางติดตามเพื่อนสาวชาวตะวันออกกลางผู้ร่ำรวยไปสอนหนังสือที่ประเทศฮิลฟารา แต่แล้วเธอทะเลาะกับเพื่อนเรื่องผู้ชาย เพื่อนแก้แค้นด้วยการส่งไปเป็นนางสนมกษัตริย์ในวัง ก่อนเธอจะตอบรับเป็นของสนมองค์อาหเม็ด ก็เกิดกบฏขึ้น เธอต้องระหกระเหินติดตามทหารราชองครักษ์ ชาริฟ เร่ร่อนไปในทะเลยทรายนานหลายเดือนจนเกิดความรักต่อกัน ท้ายที่สุด ชาริฟกอบกู้ราชบัลลังก์คืนแก่องค์อาหเม็ดได้ ทั้งสองคนจึงได้แต่งงานกัน

 

เมื่ออ่านแล้วสรุปความคิดของตัวเองที่ไปไกลกว่าความสนุก ได้ดังนี้

 

---ข้อ 1---
มองเชื่อมโยงกับความจริงทางประวัติศาสตร์การเมืองตามที่พอรู้มา โสภาค สุวรรณ ให้เมือง ฮิลฟาราของชาริฟ แทนประเทศซาอุดิอาระเบีย สังเกตจากข้อมูลที่ว่า เป็นประเทศมั่งคั่งจากน้ำมันมากที่สุด เป็นระบอบกษัตริย์ และกษัตริย์รวบรวมดินแดนเป็นปึกแผ่นใหญ่โตที่สุด ในตอนที่ซาอุค้นพบน้ำมัน ประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอ่าวอาหรับบางชาติยังไม่เป็นประเทศเลยด้วยซ้ำ อย่างสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ หลายชาติก็ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ อย่างกาตาร์ บาห์เรน คูเวต เว้นแต่โอมาน ที่ไม่ได้เป็นอาณานิคม แต่ก็มีขนาดเล็กกว่าซาอุฯ ส่วนเยเมนไม่ต้องพูดถึง ป่านนี้ยังมีสงครามกลางเมืองกันอยู่  

เมื่อตัวร้ายคือ เจ้าชายโอมาน (ไม่เกี่ยวกับประเทศโอมานนะ) ซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย ก่อการล้มล้างการปกครององค์อาหเม็ด ผู้เขียนไม่ได้บอกชัดว่าโอมานไม่ต้องการระบอบกษัตริย์หรือเปล่า เพราะตัวโอมานก็สถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์ ในขณะที่องค์อาหเม็ดผู้ถูกทรยศ กลับบอกว่าประเทศต้องมีกษัตริย์ (ก็โอมานไงท่าน จะพูดทำไม) โอมานพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศที่ "ยังมีภาพไม่ชัดว่าปกครองด้วยกษัตริย์ หรือสาธารณรัฐกันแน่" นั่นน่าจะหมายถึง ประเทศอิรัก 

เพราะดูจากปวศ.แล้ว เดิมทีดินแดนตะวันออกกลางมีสามเหลี่ยมอำนาจ คืออิรัก อิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย ทั้งสามประเทศนี้มีขนาดใหญ่และมีพรมแดนต่อกัน อิรักเป็นประเทศแรกที่โค่นล้มกษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ (ที่เป็นเผด็จการ) เมื่อปีค.ศ. 1958 หรือพ.ศ. 2501 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสามเหลี่ยมอำนาจ ชมไดที่รายการตอบโจทย์ 


เหตุผลที่ไม่ใช่อิหร่าน เพราะอิหร่านเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐในปี 1979 (2522) ซึ่งเป็นเวลาหลังจากนวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกไปแล้วนานถึง 5 ปี 

ในเวลาที่อิรักเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่านก็มีความแนบแน่นมาก เพราะต้องผนึกกำลังกัน ป้องกันปราบปรามพวกที่เอาอย่างอิรักมาโค่นล้มราชวงศ์ในประเทศตัวเอง ดังนั้นประเทศมิตรของฮิลฟาราในนวนิยาย ก็น่าจะเป็นอิหร่าน

 

---ข้อ 2 ---
ในแง่ของการเพิ่มพูนสติปัญญา เราให้ 4.8 เต็ม 10 คะแนน ค่าที่ผู้เขียนบรรยายสภาพแล้วล้อมช่วงผจญภัยของพระนาง ชาริฟและมิเชลได้โรแมนติกดี บวกกับเล่าถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่เราไม่เคยรู้จัก ที่เหลือก็ไม่มีอะไร แค่นิยายน้ำเน่าธรรมดาเรื่องหนึ่ง

     ความสวยงามของโอเอซิสดินแดนอาหรับ ภาพนี้คือ Al Qudra Lake แห่งดูไบ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์
ชมเพิ่มเติมที่ Gulf News


ช่วงผจญภัยในทะเลทรายสนุกดี แต่พอช่วงท้าย สรรเสริญกษัตริย์เป็นการใหญ่ ปรีชาสามารถ รวมประเทศเป็นปึกแผ่น อย่างงั้นอย่างงี๊ ทำเพื่อประชาชน ในขณะที่ความเป็นจริง พวกราชวงศ์ซาอุทั้งหลายกอบโกยผลประโยชน์จากน้ำมันไว้แต่ในกลุ่มเล็กๆ ยิ่งช่วงสรรเสริญความเก่งกล้าของพระเอกชาริฟผ่านบทสนทนาของตัวละครอื่น น่าเบื่อมากกกก (รึว่านี่จะเป็นวัฒนธรรมอาหรับก็ยังไม่ทราบ)


---ข้อ 3---
ในแง่วัฒนธรรม เราอ่านผู้เขียน

ผู้เขียนเป็นลูกฑูต ติดตามพ่อไปประเทศต่างๆ ก็น่าจะเขียนขึ้นจากความเข้าใจแต่ชนชั้นสูง จึงมีท่าทีดูถุูกชนเร่ร่อนอย่างเบดูอิน ที่มักจะมี "แววตาเจ้าเล่ห์" คอยแต่จะรบราฆ่าฟันกัน รูปร่างหน้าตายังเตี้ยตัน ดำ ขี้เหร่ ไม่สง่างามแบบพวกราชวงศ์ซึ่งขาวจัด สูงใหญ่ คมเข้ม

เขียนโดยไม่แยกระหว่างคำสอนศาสนาอิสลามที่พยายามปกป้องให้เสรีภาพกับผู้หญิง กับวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนอาหรับ ที่มองผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง ความโหดร้ายทุกอย่างกลายเป็นเรื่องของศาสนา เช่น เอาหินปาใส่ผู้หญิงที่คบชู้จนตาย ผู้หญิงต้องหอบหิ้วข้าวของเดินตามผู้ชาย ศาสนาไม่ให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ ฯลฯ
 

เขียนโดยใส่ความเข้าใจจากวัฒนธรรมไทย (พุทธ) เช่น คำกราบบังคมทูลกษัตริย์ว่า "พระพุทธเจ้าข้า" เขียนถึงจินตนาการของคนมุสลิมว่า "เทวดา" (มุสลิมนับถือพระเจ้าองค์เดียว ไม่แน่ใจว่ามีเทวดาที่นับถือกันด้วยหรือไม่)


---ข้อ 4---
ต่อประเด็นที่คุณมะเดี่ยว ผกก.ภาพยนตร์เคยวิจารณ์ รวมความได้ว่า 

...ดาราวีดีโอที่นำบทประพันธ์ไปทำเป็นละครนั้นทำออกมาได้ห่วย
พรอพเป็นฝรั่งทั้งที่เนื้อเรื่องเป็นอาหรับ เอาวัฒนธรรมไทยไปใส่...

(อ่านเพิ่มเติมที่ผู้จัดการออนไลน์)

 
ถือว่าเป็นคำวิจารณ์ที่ไม่รอบด้าน เพราะนวนิยายถูกเขียนมาแบบนี้ เรื่องพรอพเป็นยุโรป น่าจะถูกต้องแล้ว เพราะพวกชนชั้นสูงอาหรับรวยมาก มีเงินและนิยมสร้างบ้านแบบฝรั่ง ผู้สร้างละครไม่ได้ดัดแปลง ไม่ได้สร้างสรรค์บทให้ดีขึ้น ความห่วยของละครจึงมาจากบทประพันธ์เดิมเป็นเบื้องต้น และมาจากผู้สร้างละครในแง่ที่ว่า ทำงานไม่ละเอียด โปรดักชั่นกาก ไม่ตีความใหม่ ไม่ปรับอะไรให้ทันสมัยเลย เลยยยยย (ขอย้ำ)



เอาแค่นี้ก่อน นึกออกเท่านี้ เท่าที่ความรู้ของคนเพิ่งเริ่มสนใจตะวันออกกลางจะมี อาจจะผิดบ้างถูกบ้าง

ท่านใดไม่เห็นด้วย มีคอมเมนท์ก็สามารถ คุยกันได้ที่ Facebook 

อ่าน "ฟ้าจรดทราย" ได้มากกว่าความ "ฟิน"

เดี๋ยวนี้หันมาสนใจตะวันออกกลาง ทั้งด้านสงคราม ศาสนา วัฒนธรรม เสรีภาพ ฯลฯ บวกกับชอบคราวน์ปริ๊นซ์เมืองดูไบ ตามประสาเด็กผู้หญิงที่โตมากับละครหลังข่าว ก็เลยยืมฟ้าจรดทรายจากห้องสมุดม

i am sam กับความยุติธรรมของศาล

30 November, 2012 - 22:03 -- yongyee

 

*** ปรับแก้จากการบ้านวิชากระบวนการสร้างความหมายในสังคม Construction of meanings in society คณะอักษรศาสตร์