Skip to main content

 

*** ปรับแก้จากการบ้านวิชากระบวนการสร้างความหมายในสังคม Construction of meanings in society คณะอักษรศาสตร์

i am sam  เป็นภาพยนตร์อเมริกัน ออกฉายตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 เรื่องราวเล่าถึงความรักอันไม่ปกติระหว่างสองพ่อลูก คือแซม ชายผู้มีอาการออทิสตก มีระดับสติปัญญาเท่าเด็ก7ขวบ ต้องเลี้ยงดูลูก(ลูซี่)ตามลำพังเพราะแม่ของเธอหนีไปตั้งแต่เกิด แซมทำงานเสิร์ฟกาแฟที่ร้านสตาร์บัค และเลี้ยงลูกมาโดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านหญิงที่กลัวการออกจากห้อง  กับเพื่อนๆซึ่งก็เป็นคนไม่ปกติอีกสี่คน  กระนั้นก็ตาม ลูซี่กลับเป็นเด็กปกติที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด นับวันก็ยิ่งดูเหมือนว่าเธอจะฉลาดกว่าพ่อ เมื่อลูซี่อายุ7ขวบ กองสวัสดิการเด็กและครอบครัวยื่นฟ้องต่อศาลว่าแซมเป็นคนไร้ความสามารถ ควบคุมเองไม่ได้ เป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง ไม่สมควรและไม่มีความสามรถที่จะเลี้ยงดูลูกได้ต่อไป แต่ด้วย ความรักที่มีต่อลูก แซมจึงพยายามหาทนายมาสู้คดีตามคำแนะนำของเพื่อนๆ ในที่สุดก็ได้รับความช่วยจากทนายสาว(ริต้า)ผู้มากความสามารถคนหนึ่งโดยที่เธอไม่เต็มใจ

ภาพจาก http://www.photobooth.net/movies_tv/index.php?movieID=55

แม้ริตาจะเป็นทนายที่เก่งมากเพียงใด แต่ก็ไม่ทำให้แซมชนะคดีได้ เพราะแซมเองรู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามรถ ดังที่ถูกกล่าวหา เขายอมแพ้ ทำให้ลูซี่ก็ต้องแยกจากพ่อ ไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์  หากภายหลังทนายริตาต้องการสู้คดีใหม่ เธอกลับมาให้กำลังใจและช่วยเหลือแซมอีกครั้ง จนได้ลูซี่กลับคืน พร้อมๆกับริตาเองก็ได้สิ่งที่ดีในชีวิตของเธออกลับคืนมา

หากมองมุมความรักระหว่างพ่อลูก การสูญเสียลูกไปเพราะพ่อผู้ให้กำเนิดไม่มีความสามารถเลี้ยงดู เป็นสิ่งที่น่าสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ในข้อเขียนนี้ ผู้เขียนมุ่งความสนใจไปที่สาเหตุของการที่แซมเกือบจะสูญเสียลูก และเห็นว่า มิใช่เพราะเขาเป็นคนไร้ความสามารถที่จะเลี้ยงลูก แต่เพราะคนในสังคมบอกว่าควรเป็นเช่นนั้น มีสถาบันที่บอกว่าเขาเป็นเช่นนั้น นั่นคือ “ศาล” ผู้เขียนจะวิเคราะห์ คำและความหมายของคำ ที่มีลักษณะการใช้อำนาจจากภาพยนตร์เรื่องนี้

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของศาลไว้ว่า  เป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ศาล รัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร หรือเป็นที่ชำระความ เช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา  และอีกความหมายหนึ่งเป็นที่สิงสถิต ของเทวดา เทพารักษ์ หรือเจ้าผี  เช่น ศาลเทพารักษ์ ศาลเจ้า ศาลเจ้าแม่ทับทิม

 i am sam เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน ศาลจึงมีความหมายเกี่ยวกับการมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดย ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย บทบาทของศาลในภาพยนตร์ ได้สะท้อนถึงการใช้อำนาจของสถาบันอย่างชัดเจน  โดยคำว่าศาล ซึ่งมี meaning ถึงสถาบันที่เชื่อว่ารักษาความยุติธรรม ได้กำหนดบทบาทของผู้คนอย่างไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดผู้ได้เปรียบเสียเปรียบ ผู้สูญเสียผลประโยชน์ เสียใจ จากการกระทำของศาลโดยที่ศาลไม่ได้ถูกตั้งคำถามกลับเลย

ศาล ในฐานะที่เป็นสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์และยุติธรรมเสมอ มีอำนาจตัดสินว่าแซมจะได้เลี้ยงลูกต่อไปหรือไม่โดยพิจารณาตามคำให้การของพยานแต่ละคน ซึ่งไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาเช่นไร แซมก็คัดค้านหรือวิจารณ์คำตัดสินไม่ได้ ทำได้เพียงยื่นอุทธรณ์ให้ศาลพิจารณาต่อไป ความสัมพันธ์ระหว่างศาลกับแซมและคนอื่นๆ จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ศาลมีอำนาจเหนือใครอื่นทั้งหมด ในขณะที่แซม อัยการ ทนาย และพยานแต่ละคน ต้องเชื่อฟังศาล สังเกตได้จากการสืบพยานในห้องพิจารณาคดี เมื่อศาลเข้ามาในห้อง ผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีทุกคนต้องยืนตรงเป็นเกียรติให้แก่ศาล คำสั่งศาลถือเป็นเด็ดขาดว่าจะใครทำอะไรได้ และใครทำอะไรไม่ได้ ศาลซึ่งจริงๆแล้วก็คือผู้พิพากษา คือคนธรรมดาที่มีความรู้ทางกฎหมาย มีอำนาจอนุญาตให้ทนายและอัยการซักถามพยาน สั่งให้พยานตอบคำถาม สั่งระงับความวุ่นวายทั้งหมดได้ (ยกเว้นกรณีของแซมที่เป็นออทิสติก แสดงอาการดีใจเสียใจ เดินไปมาในห้องพิจารณาคดี เพราะไม่เข้าใจคำสั่งศาล) นอกจากนี้ ศาลยังมีอำนาจอยู่นอกห้องพิจารณาคดีอย่างสำคัญ คือแม้ว่าแซมเป็นพ่อของลูซี่โดยสายเลือด แต่เมื่อศาลสั่งให้ลูซี่อยู่ภายใต้การดูแลของกองสวัสดิการเด็กและครอบครัว และกำหนดเวลาให้แซมไปเยี่ยมได้เพียงสัปดาห์ละ2ครั้ง ครั้งละ2ชั่วโมง และหากไม่เคารพคำสั่งศาล แซมก็จะต้องถูกลงโทษ ทั้งที่แซมเป็นพ่อแต่กลับไม่สามารถทำอะไรได้เลย จึงเห็นได้ว่าศาลไม่ได้มีอำนาจอยู่เพียงแต่ในห้องพิจารณาคดี แต่คำสั่งของศาลซึ่งอิงอยู่กับกฎหมายได้เข้าครอบครองจัดการชีวิตของพลเมืองไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

ภาพจาก http://moviescreenshots.blogspot.com/2006/08/i-am-sam-2001.html

การที่คนธรรมดาซึ่งมีความรู้ทางกฎหมายจนสามารถเป็นผู้พิพากษาได้ เรียกตัวเองและถูกเรียกว่าศาล จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า คำว่า ศาล ได้สร้างความศักดิ์สิทธิ์ ห้ามละเมิดขึ้นมา ศาลทั้งถูกมองและพยายามสร้างอำนาจแก่ตัวเองว่าเป็นผู้ผดุงความยุติธรรม โดยไม่มีใครอื่นจะยุติธรรมไปมากกว่านี้อีกแล้ว เนื่องจากมีกระบวนการที่เป็นระเบียบ แบบแผน ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้ ทั้งผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้เผชิญหน้ากันอย่างเท่าเทียม ศาลจึงไม่ได้ฟังความข้างเดียว และไม่ได้พิจารณาคดีจากความคิดของศาลคนเดียว แต่ประกอบด้วยพยานผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือ เช่น แพทย์(พยานฝ่ายแซม) นักจิตวิทยา(พยานฝ่ายอัยการกองสวัสดิการเด็กและครอบครัว) รวมถึงได้รับฟังความเห็นจากตัวจำเลยเองด้วย

ศาล เป็นคำพูดที่สื่อถึงความน่าเชื่อถือ ความเป็นเด็ดขาด เมื่อผู้พิพากษาพูดระหว่างการพิจารณาคดีได้แทนตัวเองว่าศาล เพื่อตอกย้ำสถานภาพอำนาจของตัวเองและตอกย้ำความด้วยกว่าของผู้ฟัง การใช้คำว่าศาลจึงเป็นการให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาและลดทอนอำนาจของผู้อื่น ให้เชื่อฟังศาลไม่ว่าศาลจะตัดสินยุติธรรมหรือไม่ถูกต้องอย่างไรก็ตาม

ในอีกทางหนึ่ง ศาล ซึ่งเป็นผู้มีความยุติธรรมก็ไม่ได้สร้างความหวาดกลัวหรือเคารพเท่านั้น หากยังดูเสมือนเป็นความหวังของผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องอีกด้วย ดังนั้นในการตัดสินของศาล ศาลเองก็อาจไม่รู้สึกว่าตนได้ทำอะไรผิด เพราะได้พิจารณาหลักฐานและพยานอย่างดีแล้ว และจุดมุ่งหมายของการตัดสินก็เพื่อประโยชน์สูงสุด ที่ศาลตัดสินให้ลูซี่ไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อชีวิตที่ดีของเธอ แทนที่จะอยู่กับพ่อซึ่งเป็นออทิสติก มีความสามารถในการเลี้ยงดูต่ำ มีรายได้น้อย (กรณีนี้เดาว่าศาลพิจารณาจากคำพูดของอัยการเทอร์เนอร์ ซึ่งพูดกับทนายริตาว่า เมื่อทนายว่าความจบก็ไป แต่เด็กต่างหากที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับพ่อ(ซึ่งเป็นออทิสติก)) กรณีนี้ศาลย่อมไม่เห็นว่ากำลังจะพรากพ่อไปจากลูก หรือแม้จะเห็นก็มีน้ำหนักน้อยกว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับลูซี่   และในท้ายที่สุดแล้วศาลก็ได้ใช้อำนาจของตัวเองตัดสินคดี ให้ลูซี่ไปอยู่กับพ่อแม่อุปถัมภ์ แม้ว่าทั้งแซมและลูซี่จะเสียใจ แต่ก็ไม่มีใครถือว่าศาลได้ลิดรอนสิทธิหรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดความเป็นพ่อของแซม เพราะแซมไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา หากเป็นคนไร้ความสามารถและอาจเป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง    

  

ภาพจาก http://www.sfgate.com/movies/article/Penn-plays-sad-Sam-He-s-full-of-integrity-as-2880088.php

การตัดสินของศาลจึงถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นความปรารถนาดี ดังนั้น ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องต้องยอมรับคำพิพากษา การยอมรับคำพิพากษาจึงไม่ได้เป็นไปเพราะคำพิพากษานั้นถูกต้อง แต่เพราะสมควรยอมรับ เพราะผู้ตัดสินคือศาล เพราะศาล มีmeaning ถึงผู้ที่มีความยุติธรรม ศาลมีความยุติธรรมก็เพราะ ศาลคือศาล ไม่ใช่ศาลยุติธรรมเพราะมีความยุติธรรมที่แท้จริง เพราะความยุติธรรมที่แท้จริงไม่มี มีแต่ยุติธรรมในมุมมองของใคร และกรณีนี้กับอีกหลายๆกรณี  การตัดสินย่อมยุติธรรมเพราะเป็นอำนาจของ “ศาล”

 

บล็อกของ ย้งยี้

ย้งยี้
เดี๋ยวนี้หันมาสนใจตะวันออกกลาง ทั้งด้านสงคราม ศาสนา วัฒนธรรม เสรีภาพ ฯลฯ บวกกับชอบคราวน์ปริ๊นซ์เมืองดูไบ ตามประสาเด็กผู้หญิงที่โตมากับละครหลังข่าว ก็เลยยืมฟ้าจรดทรายจากห้องสมุดม
ย้งยี้
 *** ปรับแก้จากการบ้านวิชากระบวนการสร้างความหมายในสังคม Construction of meanings in society คณะอักษรศาสตร์
ย้งยี้
ข้อโต้แย้งและคำเตือนจากผู้ไม่ยอมที่จะ"เชื่องเชื่อ"ถึงผู้ออกกฎว่ามาเป็นนักศึกษาเพื่อหาความรู้ ไม่ใช่มาเพื่อรับคำชมว่าน่ารักเมื่อแต่งกายในชุดนักศึกษา