Skip to main content


ยุกติ มุกดาวิจิตร 

 


คำกล่าวเปิดเวทีเสวนา “รับเพื่อน(น้อง)ใหม่…เอาให้เคลียร์”
จัดโดย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 12 กันยายน 2555


ยุคใครยุคมัน
ผมอยากเปิดเวทีเสวนา “รับเพื่อน(น้อง)ใหม่…เอาให้เคลียร์” ด้วยคำพูดของนักปรัชญาชาวเดนนิชในศตวรรษที่ 19 ชื่อ ซอเรน เคียร์เคอกอร์ด ที่ว่า
“คนทุกๆ รุ่นต้องเริ่มต้นอะไรของตนเองอยู่เสมอ…คนทุกๆ รุ่นต้องลงแรงสร้างอะไรเอง ไม่ต่างกันทุกรุ่น”
คำพูดของนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่น่านำมากล่าวไว้ในที่นี้คือ คำพูดของจอน แบล็คกิง นักมานุษยวิทยาดนตรีอเมริกันที่เชี่ยวชาญดนตรีแอฟริกัน เขาคิดต่อจากเคียร์เคอกอร์ดแล้วเสนอว่า
“ถ้าคุณเป็นประพันธกรที่เก่งกาจ และเคารพไชคอฟสกี้อย่างที่สุด แล้วคุณเอางานไชคอฟสกี้มาเรียบเรียงใหม่ในยุคสมัยของคุณ ไม่ว่าจะอย่างไร คุณก็ไม่สามารถเรียบเรียงและเล่นเพลงของไชคอฟสกี้ได้ในแบบเดียวกับที่ไชคอฟสกี้เล่นในยุคสมัยของเขา ไม่ใช่เพราะไชคอฟสกี้เป็นอัจฉริยะจนใครต่อใครเอาอย่างไม่ได้ แต่เพราะดนตรีในยุคสมัยของคุณ มันแตกต่างจากดนตรีในยุคของไชคอฟสกี้”
ผมจึงอยากตั้งคำถามไว้ก่อนว่า ในยุคของคุณ พวกคุณจะต้องมีพิธีกรรมนี้จริงๆ หรือ? แล้วอะไรกันแน่คือคุณค่า ไม่ใช่แค่เหตุผล ของการจัดพิธีรับน้องในยุคสมัยของคุณ? หรือถึงที่สุดแล้ว ยุคสมัยคุณยังต้องการการรับน้องอยู่อีกหรือ?
 
ประสบการณ์ไม่รับน้อง
สมัยผมเรียนธรรมศาสตร์ ผมชอบไปเดินเล่นที่มหาวิทยาลัยแถวหน้าพระลาน ผมชอบบรรยากาศที่นั่น ชอบอาหารโรงอาหารที่นั่น ชอบกล่ินสี กลิ่นดิน งานศิลปะ ชอบนั่งดูพวกที่มาเรียนศิลปะเรียนโบราณคดีแต่งตัวกัน ชอบไปหาเพื่อนที่รู้จักซึ่งก็มีไม่กี่คน แต่เพื่อนผมที่เรียกตัวเองว่า “ศิลปิน” บอกว่า มันชอบมานั่งที่ธรรมศาสตร์ มันบอกพวกธรรมศาสตร์ช่างคิดช่างเขียนช่างอ่านกันดี
 
แต่ถึงผมจะชอบมหาวิทยาลัยแถวหน้าพระลานขนาดไหน ผมก็ไม่อิจฉาและงงทุกครั้งที่เห็นการรับน้องแบบที่นั่น เขาพาน้องเดินไปเดินมาที่สนามหลวง ไปกันเป็นฝูงๆ ให้น้องแต่งตัวแปลกๆ บางทีจะเรียกว่าแต่งตัวยังไม่ได้เลย อีกอย่างที่เขาทำคือ ให้น้องใส่ป้ายชื่อใหญ่ๆ
 
ที่มหาวิทยาลัยแถวสามย่านก็มีประเพณีประหลาด อย่างอื่นผมไม่รู้ แต่สมัยผมที่ผมรับรู้คือ เขาให้นิสิตปีหนึ่งผู้หญิงใส่รองเท้าขาว นิสิตผู้ชายต้องผูกไท ผมงงทุกทีว่าทำไมน้องใหม่ผู้หญิงจะต้องระวังไม่ให้รองเท้าเลอะเทอะมากกว่าน้องผู้ชาย และทำไมน้องใหม่ผู้ชายต้องเอาผ้ามารัดคอเข้าห้องเรียนด้วย
 
ผมนึกดีใจขึ้นมาที่สอบไม่ติดมหาวิทยาลัยหน้าพระลาน ผมอยากเรียนคณะจิตรกรรมที่นั่น แต่นึกๆ ดูว่า หากเข้าไปได้ ผมคงต้องอึดอัดอยู่ที่นั่นไม่ได้ เพราะไม่ชอบถูกว้ากถูกรับน้องแบบนั้น คณะรองลงมาที่อยากเข้าคือคณะสถาปัตย์ฯ มหาวิทยาลัยสามย่าน เพราะอยากสร้างงานศิลปะให้คนเข้าไปอาศัย แต่ตอนหลังก็นึกดีใจที่ผมไม่ต้องไปเอาผ้ารัดคออยู่ปีนึง
 
อยู่ธรรมศาสตร์ พอมาถึงมหาวิทยาลัยทีไร ผมบอกตัวเองแทบทุกนาทีว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ผมคิดว่าหากเรามีเหตุผลกับสิ่งที่เลือกทำ และไม่ได้ทำร้ายใคร ผมก็จะทำ ผมก็เลือกไม่ไปงานรับน้อง ไม่ไปรับใครเป็นน้อง ไป “บายเหนี่ย” ตอนปีสี่ครั้งเดียว แต่ไม่สนุก เพราะไม่รู้จักใคร และที่จริงก็ไม่อยากรู้จักใคร
ที่ธรรมศาสตร์ แม้ว่าจะพยายามรณรงค์ให้เรียกกันว่า “การรับเพื่อนใหม่” แต่คำว่าเพื่อนใหม่ก็ไม่ติดปาก คนมาใหม่ก็จะเป็นน้องอยู่ตลอดอยู่นั่นเอง ธรรมศาสตร์สมัยผมแม้ส่วนมากไม่รับน้องรุนแรง แต่มีบางคณะเหมือนกันที่ใช้วิธี “ว้ากน้อง” มีบางคณะเหมือนกันที่ให้น้องทำอะไรโง่ๆ อย่าให้เอ่ยชื่อคณะเลย
 
รับน้องทำไม
การรับน้องไม่ได้มีขึ้นเพื่อการศึกษาแน่ เพราะมันไม่มีเหตุผลอะไรที่คนจะต้องทำอะไรที่ดูโง่ๆ ตามๆ กัน จะต้องเชื่อฟังพี่อย่างง่ายๆ ซื่อๆ กระทั่งถึงกับไร้ศักดิ์ศรี เพื่อจะให้สามารถสร้างงานศิลปะได้ดีอย่างนั้นหรือ จะต้องใส่รองเท้าขาว เอาผ้ารัดคอ เพื่อให้ท่องตำราได้คล่องแคล่วอย่างนั้นหรอ ไม่ใช่แน่
 
หรือถ้าจะบอกว่าการรับน้องเพื่อสร้างสัมพันธ์ สร้างการมีเพื่อน ก็ไม่ใช่แน่ เพราะคนในโลกนี้คบหาเป็นเพื่อนกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรรมรับน้องอะไร ผมเองไม่เคยไปรับน้อง ก็มีเพื่อนฝูงมากมายจนไม่สามารถสังสันทน์ได้ครบ
 
ถ้าลองวิเคราะห์ดู ผมคิดว่าการรับน้องแบบนั้นสร้างระบบรุ่น และระบบอาวุโสแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ระบบนี้รวมเรียกว่าระบบอุปถัมภ์ การอุปถัมภ์เกื้อกูลกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยทำงานแข็งขันมาก สมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็คงยังมีอยู่ ใครจบจากสถาบันไหน ก็จะสร้างเครือข่ายของสถาบันนั้น ถ้าคุณสังเกตวงการบางวงการ องค์กรบางองค์กร บริษัทบางบริษัท จะมีผู้จบจากบางสถาบันครอบงำอยู่ตลอด สืบทอดกัน ไม่ใช่เพราะความสามารถอย่างเดียว แต่เพราะความเป็นสถาบัน ยิ่งหากอาชีพนั้นเฉพาะเจาะจงตามคณะที่เรียนกันมา ความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องก็จะยิ่งมีความสำคัญต่อการรับไม่รับรุ่นพี่รุ่นน้องกันเข้าทำงาน
 
หากวิเคราะห์ตามนักคิดทางสังคมอย่างมักซ์ เวเบอร์ การสืบทอดสถาบันและรุ่นมีลักษณะไม่ต่างจากระบบการสืบทอดอำนาจแบบประเพณี ความเป็นพี่น้องคล้ายระบบสืบสายโลหิต ระบบเครือญาติ พิธีกรรมรับน้องทำหน้าที่สร้างความผูกพันแบบเครือญาติที่วางอยู่บนระบบอาวุโส เข้ากลุ่มเจอกันก็ต้องไหว้ เรียกพี่เรียกน้องกันทั้งๆ ที่อายุก็ห่างกันไม่เท่าไหร่ หรือบางทีคนที่ “ซิ่ว” มาก็มี เข้าโรงเรียนไม่พร้อมกันก่อนหลังบ้างก็มี บางคนสมัยก่อนสอบเทียบมาก็มี อายุจึงไม่ได้ลดหลั่นกันตามปีที่เข้ามหาวิทยาลัย แต่พิธีกรรมนี้ก็จะทำให้ระบบอาวุโสทำงานไปตลอด ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
 
ระบบการรับน้องจึงมีส่วนทำลายระบบความสามารถ ระบบการใช้เหตุผล บางครั้งอาจเป็นการบ่มเพาะระบบพวกพ้อง ที่เกื้อกูลกันแม้ไม่ถูกกฎเกณฑ์ แม้ผิดกฎหมาย
 
เลยไปกว่านั้น ผมว่าพิธีรับน้องสร้างชนชั้นผู้มีการศึกษา เพราะไม่มีการศึกษาระดับอื่นที่มีการรับน้อง หรือเดี๋ยวนี้มีหรือเปล่า ผมไม่ทราบ แต่สมัยผมไม่เห็นมีใครรับน้องอนุบาล รับน้องประถม รับน้องมัธยม มีแต่ในระดับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มี
 
การรับน้องจึงเป็นเรื่องของชนชั้นทางสังคม ที่สร้างขึ้นมาจากการทำให้แตกต่าง ทำให้พิเศษไปจากการศึกษาระดับอื่นๆ ทำให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนกันระหว่าง “ผู้มีการศึกษา” ทั้งๆ ที่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย–ตามที่ควรจะเป็น–ไม่ได้มุ่งสอนให้คนเชื่องเชื่ออะไรง่ายดายอย่างนั้น
 
แต่การสร้างชนชั้นผู้มีการศึกษา แยกพวกเรียนมหาวิทยาลัยออกจากคนไม่ได้มีโอกาสเข้าหรือไม่ได้จบมหาวิทยาลัย ทำให้พวกจบมหาวิทยาลัยแปลกแยก แต่กลับอยู่เหนือสังคม ทั้งๆ ที่สังคมเลี้ยงดูอุ้มชูให้พวกเขาเติบโตมา ภาษีประชาชนที่มาชดเชยช่วยให้ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐราคาถูก กลับสร้าง “ชนชั้นผู้มีการศึกษา” ขึ้นมาดูถูกประชาชนที่จ่ายภาษีเลี้ยงดูมหาวิทยาลัย การรับน้องมีส่วนสร้างกลุ่มคนที่ “อกตัญญูต่อสังคม” เหล่านี้
 
ประดิษฐ์ประเพณีใหม่
ประเพณีต่างๆ ล้วนถูกประดิษฐ์ขึ้นมารับใช้ยุคสมัยของมัน สนองสังคมที่ประดิษฐ์มันขึ้นมา แต่ประเพณีที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาแล้ว มักกลับมาครอบงำคน จนกระทั่งคนที่เดินตามมันหลงลืม ไม่รู้แล้วว่าคุณค่าของประเพณีนั้นๆ คืออะไร แล้วก็เลยไม่ทันได้ตรวจสอบทบทวนว่ามันยังมีประโยชน์สอดคล้องกับยุคสมัยหรือไม่
 
ผมอยากเสนอว่า ในยุคสมัยของพวกคุณ คุณน่าจะมาคิดกันว่า จะรับน้องหรือไม่? จะรับกันไปทำไม? หากจะทำกิจกรรมบางอย่างทดแทน จะทำอะไร? จะทำไปเพื่ออะไร?
 
ผมคิดว่าเราควรจะคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน อย่างถึงลูกถึงคน อย่างหลากหลายแง่มุม อย่างสุดทางของเหตุผลและระบบคุณค่า
 
มาทบทวนกันว่า พวกคุณยังต้องการสร้างและสืบทอดระบบอุปถัมภ์อยู่หรือไม? พวกคุณยังอยากแยกตนเองเป็นชนชั้นผู้มีการศึกษาอยู่หรือไม่? หรืออย่างน้อย พวกคุณยังอยากทำอะไรตามๆ กันโดยไม่ตรวจสอบสงสัย หรือดัดแปลงหรือไม่?
 
เราไม่ควรพูดเลี่ยงเพียงแค่ด้วยสำนวนที่ว่า “ความคิดใครความคิดมัน มุมมองใครมุมมองมัน” เพราะถึงที่สุดแล้ว กิจกรรมรับน้องเป็นกิจกรรมที่ “รุ่นน้อง” ถูกทำให้ต้องยอมรับอย่างจำยอม ไม่ใช่เพราะ “ความคิดใครความคิดมัน” การพูดว่าความคิดใครความคิดมันเป็นการกลบเกลื่อนการใช้อำนาจเหนือการแลกเปลี่ยนเชิงเหตุผลของคนในประชาคม
 
ประเพณีธรรมศาสตร์
บอกแล้วว่าประเพณีของยุคไหนก็เป็นเรื่องที่แต่ละยุคต้องคิดกันเอาเอง ผมคิดแทนไม่ได้ แต่อยากเสนอแนวทางหนึ่งไว้เป็นข้อคิดว่า การจะตัดสินว่า จะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไรเป็นเรื่องที่น่าจะช่วยกันคิดถึง “คุณค่า” คิดถึง “ความหมายที่ลึกซึ้ง” ของยุคสมัย และค้นหาอัตลักษณ์เฉพาะตนของประชาคม เพื่อที่เราจะได้นำเสนอคุณค่าที่แตกต่าง เป็นเอกเทศ แบบเท่ๆ ของเราเองให้กับสังคม
 
ผมคิดถึงคุณค่า “ธรรมศาสตร์” ที่ไม่ต้องเลี่ยนมาก ไม่ต้อง “ธรรมส้าดธรรมศาสตร์” ไม่ต้องอ้างคาถา 14 ตุลา, 6 ตุลา, ปรีดี, ป๋วย กันตลอดเวลาหรอก ตอนผมเรียน ผมก็ไม่ได้อยากรู้เรื่องพวกนี้มากนักหรอก มันน่าเบื่อจะตาย ถูกกรอกหูจากรุ่นพี่ตลอด
 
เพียงแต่อย่าลืมว่า พวกคุณเป็นหนี้สังคมไทยอย่างไร ลำพังเงินบิดามารดาคุณไม่สามารถลงทุนสร้างมหาวิทยาลัยให้มีชื่อเสียง ให้มีเงินจ้างอาจารย์มาสอน ให้มีเพื่อนๆ ดีๆ มีคนที่มีคุณภาพของสังคมมาให้คบหาประชาคมกันได้หรอก พวกคุณจึงเป็นหนี้สังคมที่สร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้แบบนี้ขึ้นมา
 
แต่คุณค่าของธรรมศาสตร์คืออะไร? ธรรมศาสตร์ในยุคของคุณคืออะไร? ธรรมศาสตร์ที่คุณจะสร้างต่อไปคืออะไร? ธรรมศาสตร์สมัยนี้ควรสืบทอดและสร้างอะไรใหม่? ธรรมศาสตร์ควรประดิษฐ์ประเพณีรับน้องของตนเองแบบใด? หรือธรรมศาสตร์ไม่ต้องการการรับน้องอีกต่อไปแล้ว? เป็นเรื่องที่ต้องตรองกันดู

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://socanth.tu.ac.th

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร