Skip to main content

บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม

(1) ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน-กษัตริย์
 
ปัญหาในระดับโรงเรียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยมีเยอะ นักเรียนส่วนใหญ่เรียนประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์แบบที่สร้างสมความงมงาย เพื่อนผม เพื่อนคุณ พวกคุณเอง จำนวนมากเรียนเก่งมาก เป็นคนดีมาก แต่ก็งมงายมาก งมงายกับความเป็นไทยมาก จนไม่สามารถช่วยให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้ากว่านี้ไปได้ไกลนัก
 
โรงเรียนและมหาวิทยาลัยไทยเราทุกวันนี้สอนให้เชื่อง ด้วยการบอกให้จด บอกให้จำ มากกว่าสอนให้คิด ให้ตั้งคำถาม เมื่อสอนอย่างนั้นแล้ว ก็จึงคิดเองไม่ได้ ไม่มีวิธีที่จะค้นหาความรู้เอง ผลเสียที่สุดก็คือ เชื่องมงายกับสิ่งที่สอนในโรงเรียน เช่น เชื่อว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็น "เจ้าของ" แผ่นดินไทย เป็นเทพยดา อะไรโน่น แต่แท้จริงแล้วพระมหากษัตริย์เป็นเพียงประมุขของประเทศ 
 
สอนให้เชื่อว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งที่ไม่จริง มีเรื่องงมงายพิสูจน์ไม่ได้มากมายในพระไตรปิฎก ที่เอาไว้หลอกคน ไม่สามารถช่วยให้คนพ้นทุกข์ได้ง่ายๆ หรือเชื่อว่าชาติไทยมีมานานแล้วและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาตลอด ทั้งที่จริงแล้วเป็นสิ่งประดิษฐ์สร้างขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง
 
สอนให้เชื่อว่าตนเป็นคนไทย มีบรรพบุรุษเป็นชาวอยุธยาและชาวบางระจัน โถ่ สืบย้อนกลับไป 3-4 รุ่นส่วนใหญ่ก็มาจากเมืองจีนทั้งนั้นแหละ ไม่งั้นก็มาจากเมืองลาว ผมก็ด้วย แต่เราถูกสอนให้เกลียดตัวเอง เกลียดความเป็นคนอื่น เกลียดความจริง เกลียดบรรพบุรุษเจ๊ก บรรพบุรุษลาวของตนเอง อยากเป็นไทยกันหมด
 
หลายประเด็นต้องใช้เวลากันนาน แต่ขอพูดเฉพาะเรื่องศาสนา ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมคนสมัยนี้ยังกลัวการไม่มีศาสนากันอีก เขาอ่อนแอขนาดนั้นจริงๆ เขาอยากเป็นคนดีและเขาก็ดีเพราะศาสนาจริงๆ หรือเพราะเขาดัดจริตไปอย่างนั้นเองหรือเพราะเขาไม่เคยคิดว่า ไม่มีศาสนาเราก็อยู่ได้ 
 
หากจะสอนศาสนาในโรงเรียนจริง ต้องสอนทุกๆ ศาสนาที่สำคัญๆ ให้เท่าเทียมกัน เพื่อให้นักเรียนรู้แล้วเขาจะสามารถคิดเอง เลือกเองได้ว่าจะเชื่ออะไรหรือไม่เชื่ออะไรเลย หรือไม่อย่างนั้น เขาก็จะได้เรียนรู้ว่าศาสนาอื่นๆ เขาคิดอย่างไร เขาเชื่ออะไรกัน จะได้เข้าใจความแตกต่างกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจกัน
 
(2) ลัทธิล่าปริญญา
 
การฝึกฝน การค้นคว้า การวิจัย การเรียนรู้ แตกต่างกัน แต่สมัยนี้ระบบการศึกษาไทยเขาสอนกันแต่ทักษะ ไม่ได้สอนความรู้ ไปดูรัฐเผด็จการทั่วโลก เขาจะสร้างคนเก่งทักษะเยอะ เก่งความคิดแบบวิทยาศาสตร์ เก่งความรู้ทางเทคนิคต่างๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับสังคม-การเมือง เก่งศิลปะที่ไม่เอาสังคม-การเมือง รัฐไทยมีคราบประชาธิปไตย แต่หากดูการศึกษา แสดงความเป็นเผด็จการมากกว่า
 
"ลัทธิล่าปริญญา" เป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่กับสังคมไทยมานาน ผมพูดเรื่องนี้ก็เหมือนกีดกันคนไม่ให้เรียนสูงๆ ที่จริงไม่ใช่จะกีดกัน แต่ประเด็นคือ เราเรียนเอาปริญญาไปเพื่ออะไรกัน เราเรียนโทเรียนเอกกันไปเพื่ออะไร ทุกวันนี้ระบบการศึกษาที่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเพียงเพื่อให้มีปริญญา ให้เพิ่มคำนำหน้าชื่ิอ มันทำให้ระบบการศึกษาบิดเบือนไปหมด
 
อย่างการเรียน ป. ตรี ทุกวันนี้มันมากเกินไป แล้วเรามาบอกกันว่าคนจบตรีทำอะไรไม่เป็น ก็ทำไม่เป็นแน่ล่ะครับ เพราะเขาไม่ได้สอนให้ทำอะไร เขาสอนให้คิดเป็น ส่วนจะทำอะไรก็ไปฝึกกันต่อเอาเอง ทุกวันนี้แค่จะฝึกให้มีทักษะการเขียน การพูด ก็ยากแล้ว เพราะห้องเรียนมันใหญ่ ห้องเล็กๆ เขาไม่ให้เปิด หรือไม่ บางทีวิชามากมายจำเป็นต้องเรียนห้องเล็ก เราก็ยังทำให้มันใหญ่ เป็นพันๆ คนห้องนึง แบบนี้มันจะใช้ได้อย่างไร จะฝึกอะไรลึกๆ ได้อย่างไร 
 
บอกให้ทำห้องเล็กๆ มหาวิทยาลัยก็ติดเงื่อนไขของเงินลงทุน ทีอย่างนี้ไม่เอามาวัดกันว่าเรามีห้องเรียนที่เล็กพอจะมีคุณภาพได้แค่ไหน ผมเคยยืมความคิดอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ไปเสนอให้สมาคมวิชาการศึกษาทั่วไป ว่าให้เลิกจัดการวิชาการศึกษาทั่วไปแบบอัดให้อยู่ในปีเดียวได้แล้ว วิชาที่เป็นพื้นฐานจริงๆ ก็จัดไป แต่วิชาอีกมากมายสามารถจัดการให้เรียนปีไหนก็ได้ ไม่ต้องอัดเรียนกันในปีเดียว อีกอย่างคือ ความรู้หลายอย่างมันเรียนตอนปีหนึ่งแล้วให้อะไรน้อยกว่าปีสูงๆ และแบบนี้จะทำให้ห้องเรียนน้อยลง แต่ผู้บริหารคงไม่สนใจ
 
ในประเทศที่เจริญกว่าเรา ค่าแรงคนจบทางด้านสายวิชาชีพมันสูงพอจะดึงคนไปเรียนสายอาชีพได้ คนไม่ต้องจบปริญญาก็มีชีวิตสุขสบายได้ไม่แตกต่างกัน ทุกวันนี้เรามีแต่คนทำงานภาคบริการ กับงานออฟฟิสที่เกี่ยวข้องกับด้านบริการ เราขาดแคลนคนทำงานด้านวิชาชีพ
 
อีกเรื่องที่สำคัญคือ การเรียนต่อโท เอก ทุกวันนี้เรียนกกันอย่างกับเรียนประถม เรียนมัธยม หลักสูตรระดับโท เอก เปิดกันเยอะมาก ผมไม่แปลกใจถ้าเป็นสายอาชีพ คนอยากเรียนต่อยอด หรือเพื่อเพิ่มความรู้ด้านวิชาชีพที่ตนไม่เคยเรียนมาก่อน แต่ปัจจุบันนี้เหมือนว่า ต้องมี ป. โท ป. เอก กันไปอย่างนั้นเอง ปัญหาคือ สาขาวิชาจำนวนมากมันไม่ได้ช่วยอะไรในแง่วิชาชีพ เพราะมันเป็นวิชาการมาก จบไปแล้วควรเป็นนักวิชาการ เป็นครู หรือทำวิจัย แต่คนก็ยังอยากเข้ามาเรียนเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็น ดร.
 
ผมเจอคนที่เข้ามาเรียนแบบนี้แล้วเห็นใจ เห็นใจที่เขาต้องมาเจอคนสอนหนังสือแบบผม ที่ถูกฝึกมาให้เป็นคนทำงานวิชาการ ต้องคิด ต้องเขียน ต้องอ่านมากมายอยู่เสมอ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ ต้องพยายามเสนออะไรใหม่ๆ แต่คนที่มาเรียนจำนวนมากไม่ได้ต้องการเป็นคนแบบผม ก็เลยล้มเหลว เสียเวลาเสียเงินเปล่า เสียความมัั่นใจในตนเองไปเปล่าๆ ส่วนคนสอนอย่างผม บางทีก็ทำให้ต้องลดทอนระดับการศึกษาลง บางทีสอน ป เอก แบบไม่ต่างจากสอน ป ตรี ไม่ใช่ว่าพวกเขาโง่ แต่เพราะพวกเขาไม่ได้เรียนอะไรแบบนี้มาก่อน ก็กลายเป็นว่าต้องมาปูพื้นกันใหม่เลย
 
ยิ่งหลักสูตรที่มุ่งทำเงินยิ่งแย่ ห้องเรียนใหญ่ ค่าเรียนแพง จะให้ใครสอนอะไรยากๆ เสี่ยงกับการเรียนไม่จบ เรียนช้า ได้อย่างไร
 
(3) ลัทธิแบบฟอร์ม
 
ลัทธิแบบฟอร์มคือปัญหาเรื่องการบริหาร มหาวิทยาลัยทุกวันนี้ถูกระบบประกันคุณภาพกัดกร่อน กลายเป็นทาสของการประกันคุณภาพที่วัดด้วยปริมาณ ผมพูดจากฐานะผู้บริหารเองด้วย ผมเป็นรองคณบดีมาแล้วสองตำแหน่ง เป็นกรรมการสองสถาบันวิจัย เป็นประธานบริหารศูนย์วิจัยอีกหนึ่งแห่ง การทำงานในตำแหน่งเหล่านี้ในปัจจุบันเห็นอะไรมากมาย พูดเสร็จแล้วใครจะให้ออกจากตำแหน่งก็จะยิ่งยินดีเป็นอย่างยิ่ง จะได้สอนกับทำวิจัยและเขียนงานให้เต็มที่กว่านี้
 
ปัญหาของลัทธินี้ดูได้จากหลายจุด จับไปที่ไหนก็เห็นปัญหาเต็มไปหมด ลองดูที่การพยามยามตีพิมพ์ผลงาน ผลงานจำนวนมากที่ส่งมาให้อ่านใช้ไม่ได้ อาจารย์จำนวนมากเขียนหนังสือกันยังไม่เป็นเลย ไม่รู้ว่าเรียนอะไรกันมา แต่จะบอกปัดไม่ให้พิมพ์ก็จะเสียน้ำใจกัน เพราะอ่านดูก็รู้ว่านี่คนนั้นคนนี้เขียน วงการเราก็มีแคบๆ แค่นี้ ใครทำอะไรอยู่ก็รู้ทั้งนั้น งานดีๆ ก็มีนะครับไม่ใช่ไม่มี แต่งานแย่ๆ น่ะเยอะ เพราะต้องเร่งรีบเนื่องจากมีระบบบีบคั้นให้ผลิตงานมากมาย 
 
ทุกวันนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยกำหนดให้ต้องสอนอย่างน้อยสองวิชาต่อภาคการศึกษา แล้วทำอย่างอื่น คือทำวิจัย เขียนบทความ ทำตำรา แต่เอาเข้าจริงต้องสอนถึงสาม-สี่วิชาต่อภาค เพราะหลักสูตรเยอะ ไม่สอนก็จะกลายเป็นกินแรงคนอื่น ไม่สอนมหาวิทยาลัยก็จะไม่มีรายได้เพียงพอ คณะก็จะไม่มีงบประมาณพอที่จะบริหารอะไรให้ดีได้ นอกจากนั้นอาจารย์ยังต้องพิมพ์งานอย่างน้อยปีละหนึ่งชิ้น และต้องทำวิจัยสม่ำเสมอ 
 
งานเขียนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนหมด พวกคุณไม่เห็นหรอก สังคมไม่เห็นหรอก เพราะส่วนใหญ่มันจะไปสุมอยู่ใต้บันไดตึก คุณจะเจอกองวารสารที่แจกเท่าไหร่ก็ไม่หมด บ้านผมมีวารสารที่แจกกันไปกันมามากมาย อุตสาหกรรมความรู้ที่สูญเปล่าเหล่านี้มีเพื่อสังเวยระบบประกันคุณภาพด้วยปริมาณ วิธีวัดคุณภาพเขาดูที่ผู้ทรงคุณวุฒิกับวิธีจัดการ แต่เอาเข้าจริงๆ ทำงานกันไม่กี่คน คุณภาพจริงๆ จึงต้องดูที่ตัวชิ้นงาน แต่ไม่มีใครมาอ่านหรอก
 
ที่พูดอย่างนี้เนี่ย บอกก่อนว่าพร้อมๆ กับงานบริหารต่างๆ ที่ว่าน่ะ ผมสอน 8-9 วิชาต่อปี ผมมีบทความพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งไทยและเทศปีละไม่ต่ำกว่า 4-5 ชิ้น และทำวิจัยอีกเฉลี่ยเล็ก-ใหญ่ปีละชิ้น เรื่องไปบรรยายสาธารณะ และการบริการวิชาการต่อสาธารณะคงไม่ต้องมาบอกเล่ากัน ชอบไม่ชอบเร่่ืองของคุณ แต่ประเด็นคือ จะมาว่าผมไม่ทำงานต่างๆ แล้วมาบ่นต่อว่าระบบน่ะไม่ได้ ผมได้คะแนนประเมินเต็ม 100 มาติดต่อกันหลายครั้งแล้ว
 
ระบบประกันคุณภาพด้วยปริมาณแบบนี้กำลังเกาะกุมหัวผู้บริหาร เวลานี้ในหัวผู้บริหารทุกคนต้องตีค่ากิจกรรมต่างๆ ให้เป็นตัวเลขประกันคุณภาพให้ได้ ไม่ใช่คุณจะคิดงานตามอุดมการณ์อะไรได้อย่างอิสระ แต่ต้องอยู่ในกำกับควบคุมอย่างเป็นระบบของกรอบต่างๆ เช่น ถ้าคุณจัดกิจกรรมแล้วได้ผลสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องทำแบบสำรวจมา แล้วเอาเข้าที่ประชุม การวิจัยเชิงสำรวจกลายมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันโครงการอะไรใหม่ๆ เช่น พอจะสร้างอะไรที หรือจะทำหลักสูตรใหม่ที ผู้บริหารก็จะถามว่า ทำวิจัยสำรวจมาก่อนหรือยัง ผลเป็นอย่างไร
 
ทุกวันนี้สัดส่วนของงบประมาณมาจากรัฐเท่าไหร่ ผมบอกได้เลยว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรายจ่าย แต่ละคณะต้องหารายได้กันเอง ไม่งั้นมีสามารถทำงานได้เพียงพอกับข้อเรียกร้องของระบบประกันคุณภาพในปัจจุบันหรอก ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเลี้ยงตัวเองมากกว่ารับเงินจากรัฐ แต่รัฐควบคุมมากยิ่งขึ้น มากยิ่งกว่าสมัยที่มหาวิทยาลัยรับเงินจากรัฐ เข้าใจไหมครับว่า มหาวิทยาลัยตอนนี้เป็นอิสระน้อยลงในการบริหาร แต่ถูกถีบให้ต้องปากกัดตีนถีบเองมากขึ้น
 
ลัทธิแบบฟอร์มเข้ามาควบคุมการเรียนการสอน ในโครงครอบของการประกันคุณภาพที่เรียกกันว่า มคอ. (แปลว่า ไม่มีใครเอาบ้าง มหาคาบไปอ้วกบ้าง แล้วแต่ศรัทธา) เรื่องนี้ผมพูดมามาก้ว ขอข้ามๆ ไปบ้าง ปัญหาใหญ่คือ ทุกวันนี้เราให้อำนาจคนไม่กี่คน มากำหนดทิศทางความรู้ของประเทศผ่านแบบฟอร์มที่ซ้ำซ้อน 
 
เรื่ิองการประกันคุณภาพซ้ำซ้อนนี่เรื่องนึง แต่อีกเรื่องที่ใหญ่กว่าคือ การจัดการการศึกษาแบบรวมศูนย์ รวบอำนาจในมือคนไม่กี่คนที่ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง คือคนเรารู้ทุกเรื่องไม่ได้อยู่แล้ว แต่คนชราเหล่านี้ทำเหมือนรู้ทุกเรื่อง
 
(4) ทางออกจากลัทธิงมงาย 
 
คนชอบพูดกันว่า "พวกเนี้ย ดีแต่วิจารณ์ ไม่รู้จักเสนอทางออกบ้าง" ผมก็อยากบอกว่า "วิจารณ์ก็ยากแล้วนะครับ ทางออกน่ะไปคิดกันเองบ้างสิ จะไม่คิดอะไรเองบ้างเลยรึไง" แต่เอาเถอะ ผมช่วยคิดให้หน่อยก็ได้ แต่คิดแล้วพวกคุณก็ไม่กล้า หรือไม่อยากเอาไปทำหรอก เพราะมันแก้ยาก
 
เรื่องการเรียนการสอน ให้เลิกงมงาย คุณต้องสอนการศึกษาสังคมและประวัติศาสตร์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนและค้นคว้านอกตำราด้วย ซึ่งทำได้ไม่ง่ายเลย แต่อุปสรรคใหญ่คือ ผู้มีอำนาจไม่กล้าทำหรอก เพราะมันจะรื้อถอนซากเดนความคิดที่ค้ำจุนระบอบเก่าๆ 
 
เรื่องระบบการศึกษาที่เราทุ่มผลิตปริญญาตรีมากไป อันนี้เรื่องใหญ่ ฝากให้ รมต. ศึกษาไปคิดต่อเอาเองก็แล้วกันครับ 
 
เรื่องระบบการบริหาร ระบบประกันคุณภาพไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ ผมเห็นด้วยกับการตรวจสอบ แต่ควรเป็นการตรวจสอบที่คุณภาพ ไม่ใช่ดูแต่ปริมาณเสียจนเฟ้อกันไปหมด จะดูคุณภาพก็ต้องแยกแยะประเภทของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวิจัยดูอะไร ผลิตอะไร มหาวิทยาลัยมุ่งผลิตบัณฑิตดูอะไร แยกกัน 
 
อีกอย่างคือต้องแยกสาขาวิชา สาขาที่ต่างกันจะใช้วิธีเดียวกันหมดไม่ได้ การเทียบสาขาวิชาต่างกันด้วยเกณฑ์เดียวกันเหมือนเอาปลากระป๋องไปเทียบกับปลารมควัน มันคนละเรื่องกัน แล้วเอาคนผลิตปลากระป๋องมาตัดสินคนทำปลารมควัน มันใช้ไม่ได้ เอาคนไม่รู้เรื่องสังคมศาสตร์ที่เป็นสายวิชาการมาตรวจสอบคุณภาพงานทางสังคมศาสตร์สายวิชาการ มันยิ่งผิดฝาผิดตัว เหมือนให้ผมที่เป็นนักสังคมศาสตร์ไปประเมินโรงเรียนแพทย์ จะทำได้ยังไง แต่พวกคุณเอาหมอมาประเมินคณะผม หมอก็ฟังผมพูดไม่รู้เรื่องสิ ไม่มีใครฉลาดข้ามสาขาวิชาในเรื่องลึกๆ หรอก หมอก็ควรเจียมตัวบ้าง ไม่ใช่รับงานทั่วไปหมด นึกว่าตอนเด็กๆ เรียนเก่งแล้วจะเข้าใจทุกอย่างได้ง่ายๆ รึไง 
 
นี่ผมพูดแบบรวมๆ ทางออกในรายละเอียดถ้าจะให้ผมคิดแล้วเสนอ คงต้องใช้เวลานำเสนอสักสามชั่วโมง เฉพาะแค่เสนอทางออกจากระบบประกันคุณภาพแบบ สกอ. ก็ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงแล้ว 
 
หากท่านรัฐมนตรีหรือใครคิดจะปฏิวัติระบบการศึกษาไทย ผมเสนอให้รื้อถอนลัทธิทั้งสามที่เกาะกุมถ่วงรั้งการศึกษาไทยอยู่ขณะนี้ หาไม่แล้วก็ไม่ต้องมาโพนทะนาว่าเรา "จะต้องให้ผู้เรียนเป็นใจกลางของการศึกษา สอนให้คนคิดไม่ใช่ให้จำ สอนให้รู้จักโลกกว้าง..." เก็บสโลแกนเหล่านี้เอาไว้หลอกกันเองในหมู่ผู้ชราในกระทรวงศึกษาธิการก็พอครับ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์