Skip to main content

ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 

ประการแรก "การปรองดอง" ขอย้อนกลับไปในตอนแรกก่อตั้ง ศปช. ขึ้นมา คณะทำงานถกเถียงกันมากว่าจะค้นหาความจริงทุกด้านทุกมุมของความรุนแรงหรือไม่ แต่ในที่สุด ศปช. วางตำแหน่งของงานตนเองไว้ที่การเสนอข้อมูลที่เป็นทางเลือกจากการทำงานของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พูดง่ายๆ ก็คือ ศปช. ตั้งใจถ่วงดุลกับ คอป. เนื่องจากไม่ไว้ใจ คอป. ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลซึ่งก่อเหตุรุนแรง และไม่เห็นด้วยกับหลักการของ คอป. ที่ประกาศแต่แรกว่าจะไม่มุ่งตอบว่าใครผิด แต่จะมุ่งความปรองดอง 

 

จากมุมที่ผมเห็น ไม่ใช่ว่า ศปช. ไม่ได้ต้องการความปรองดอง หากแต่ ศปช. วางกรอบของความปรองดองต่างออกไป ศปช. วางกรอบการปรองดองจากการพิจารณาข้อเท็จจริงของความรุนแรงและการมุ่งผลตัดสินความผิดของผู้ก่อความรุนแรง เพื่อให้ความยุติธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ศปช. เห็นว่า การปรองดองจะไม่เกิดขึ้นหากไม่ได้มุ่งตัดสินให้ได้ว่าใครผิด ผิดอย่างไร

 

ยิ่งกว่านั้น ศปช. ยังมุ่งหวังให้เกิดการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อที่จะหยุดยั้งการเพิกเฉยไม่เอาผิดต่อการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ทั้งนี้เพื่อตัดวงจรการใช้ความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ประการที่สอง "ผู้ก่อความรุนแรงและผู้สูญเสีย" ศปช. ตั้งโจทย์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้คือความรุนแรงโดยรัฐ เนื่องจากข้อเท็จจริงเบื้องต้นหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ชี้ชัดว่ารัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ดังเช่นการที่รัฐใช้กำลังทหารติดอาวุธสงครามเพื่อควบคุมฝูงชนตั้งแต่ก่อนที่จะมีการใช้กำลังตอบโต้จากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย หรือการที่ผู้บริสุทธิ์คืออาสาสมัครพยาบาลและสื่อสวลชน บาดเจ็บ ถูกสังหาร จากทิศทางของกระสุนที่มาจากทหาร ความสูญเสียอันเนื่องมาจากความรุนแรงโดยรัฐนี้เทียบกันไม่ได้กับความความสูญเสียที่เกิดจากการชุมนุม

 

นี่คือความแตกต่างที่สำคัญระหว่างรายงานของ ศปช. กับของ กสม. รายงานของ กสม. นั้น มุ่งถ่วงดุลของความรุนแรงเสียจนกระทั่งกลายเป็นว่า ผลสรุปของรายงาน กสม. เป็นการปกป้องอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงมากมายชี้ว่า รัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม ส่วนรายงานของ ศปช. นั้นมุ่งปกป้องสิทธิของผู้สูญเสีย ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ชุมนุมหรือไม่ก็ตาม

 

ต่อประเด็นนี้ อันที่จริง กสม. ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยปละละเลยให้เหตุการณ์ล่วงเลยมาจนถึงการที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะใช้กำลังสลายการชุมนุม เพราะหาก กสม. แสดงบทบาทอย่างทันท่วงที แสดงท่าทีอย่างแข็งขันในการทัดทานการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามกับผู้ชุมนุม เหตุการณ์ก็จะไม่เลวร้ายเท่านี้

 

ประการที่สาม "มุมมองจากผู้สูญเสีย" ศปช. มุ่งนำเสนอมุมมองของผู้สูญเสีย แต่ กสม. เสนอมุมมองจากเบื้องบน จากผู้มีอำนาจ เหตุผลที่ ศปช. มุ่งมุมมองจากผู้สูญเสียนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่ ศปช. มีทุนและจำนวนคนจำกัด ศปช. ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ไม่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลในระดับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างครบถ้วน ศปช. จึงเลือกรวบรวมข้อเท็จจริง เก็บรายละเอียดจากพยานแวดล้อมและผู้ได้รับผลกระทบ จากมุมของผู้สูญเสียเป็นหลัก ยิ่งกว่านั้น ศปช. ยังแยกแยะผู้ได้รับผลกระทบในระดับต่างๆ ตั้งแต่ผู้สูญเสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ถูกจับกุมคุมขัง ผู้ถูกดำเนินคดี ทำให้สามารถใช้เป็นกรอบในการดำเนินการเยียวยาต่อไปได้

 

ถึงกระนั้น ศปช. ก็ใช่ว่าจะสามารถเก็บรายละเอียดได้ทุกกรณี ศปช. เลือกกรณีที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อผู้บริสุทธิ์ และกรณีที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ นอกจากนั้น ศปช. ยังมีข้อมูลการเผาสถานที่ราชการจากต่างจังหวัด ทำให้ ศปช. พบว่าผู้ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อเหตุแต่อย่างใด 

 

แต่จะเห็นได้ว่า ข้อมูลรายบุคคล รายกรณีของจุดปะทะ รายละเอียดของเหตุการณ์จากมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบ รายละเอียดของผู้ได้รับผลกระทบ เป็นข้อมูลที่ขาดหายไปจากรายงานของ กสม. รายงานของก กสม. จึงไม่สามารถชี้ความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐได้ และไม่สามารถใช้วางกรอบการเยียวยาได้ ขณะที่ในรายงานของ กสม. เอง ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดของการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างพิสดารมากมายนัก มีแต่เพียงปากคำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ย่อมต้องวางอยู่บนอคติของเจ้าหน้าที่ รายงานของ กสม. จึงไม่สามารถใช้ตรวจสอบการกระทำผิดโดยรัฐได้อย่างถี่ถ้วน ข้อมูลของ กสม. จึงขาดความสมบูรณ์ไม่ว่าจะมองจากมุมผู้สูญเสียหรือมุมผู้ก่อความรุนแรงคือรัฐ

 

ประการสุดท้าย "ที่มาของอำนาจ" กสม. เป็นหน่วยงานของรัฐ ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยขาดการโยงใยกับประชาชน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่งสูงๆ และมีความใกล้ชิด มีผลประโยชน์พัวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐ ถือตนว่าเป็นคนของรัฐ จึงน่าสงสัยว่าจะมิได้มีอุดมการณ์สอดคล้องไปกับอุดมการณ์ในการก่อตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา และน่าสงสัยว่าจะไม่ได้มีอุดมการณ์ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนมากพอ ผลงานจึงไม่ได้สะท้อนจิตวิญญาณของนักสิทธิมนุษยชนอย่างที่หน่วยงานนี้กล่าวอ้าง

 

หากแต่ ศปช. ไม่ได้พิจารณาการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเพียงในกรอบของกฎหมายดังที่ กสม. กระทำ ศปช. ทำงานในกรอบของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งต้องใช้กำกับ อยู่เหนือกรอบของกฎหมายอีกที หากว่ากฎหมายยอมให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน นักสิทธิมนุษยชนย่อมไม่อาจยอมได้ ต่างจากท่าทีต่อหลักการสิทธิมนุษยชนในรายงานของ กสม. ที่แสดงให้เห็นว่า กสม. ยึดหลักของกฎหมายเหนือหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มุ่งตรวจสอบรายละเอียดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ดูดายกับการที่รัฐใช้กำลังอาวุธสงครามปราบปรามผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธด้วยการอ้างหลักกฎหมาย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์