Skip to main content

ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 

ประการแรก "การปรองดอง" ขอย้อนกลับไปในตอนแรกก่อตั้ง ศปช. ขึ้นมา คณะทำงานถกเถียงกันมากว่าจะค้นหาความจริงทุกด้านทุกมุมของความรุนแรงหรือไม่ แต่ในที่สุด ศปช. วางตำแหน่งของงานตนเองไว้ที่การเสนอข้อมูลที่เป็นทางเลือกจากการทำงานของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พูดง่ายๆ ก็คือ ศปช. ตั้งใจถ่วงดุลกับ คอป. เนื่องจากไม่ไว้ใจ คอป. ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลซึ่งก่อเหตุรุนแรง และไม่เห็นด้วยกับหลักการของ คอป. ที่ประกาศแต่แรกว่าจะไม่มุ่งตอบว่าใครผิด แต่จะมุ่งความปรองดอง 

 

จากมุมที่ผมเห็น ไม่ใช่ว่า ศปช. ไม่ได้ต้องการความปรองดอง หากแต่ ศปช. วางกรอบของความปรองดองต่างออกไป ศปช. วางกรอบการปรองดองจากการพิจารณาข้อเท็จจริงของความรุนแรงและการมุ่งผลตัดสินความผิดของผู้ก่อความรุนแรง เพื่อให้ความยุติธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ศปช. เห็นว่า การปรองดองจะไม่เกิดขึ้นหากไม่ได้มุ่งตัดสินให้ได้ว่าใครผิด ผิดอย่างไร

 

ยิ่งกว่านั้น ศปช. ยังมุ่งหวังให้เกิดการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อที่จะหยุดยั้งการเพิกเฉยไม่เอาผิดต่อการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ทั้งนี้เพื่อตัดวงจรการใช้ความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ประการที่สอง "ผู้ก่อความรุนแรงและผู้สูญเสีย" ศปช. ตั้งโจทย์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้คือความรุนแรงโดยรัฐ เนื่องจากข้อเท็จจริงเบื้องต้นหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ชี้ชัดว่ารัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ดังเช่นการที่รัฐใช้กำลังทหารติดอาวุธสงครามเพื่อควบคุมฝูงชนตั้งแต่ก่อนที่จะมีการใช้กำลังตอบโต้จากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย หรือการที่ผู้บริสุทธิ์คืออาสาสมัครพยาบาลและสื่อสวลชน บาดเจ็บ ถูกสังหาร จากทิศทางของกระสุนที่มาจากทหาร ความสูญเสียอันเนื่องมาจากความรุนแรงโดยรัฐนี้เทียบกันไม่ได้กับความความสูญเสียที่เกิดจากการชุมนุม

 

นี่คือความแตกต่างที่สำคัญระหว่างรายงานของ ศปช. กับของ กสม. รายงานของ กสม. นั้น มุ่งถ่วงดุลของความรุนแรงเสียจนกระทั่งกลายเป็นว่า ผลสรุปของรายงาน กสม. เป็นการปกป้องอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงมากมายชี้ว่า รัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม ส่วนรายงานของ ศปช. นั้นมุ่งปกป้องสิทธิของผู้สูญเสีย ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ชุมนุมหรือไม่ก็ตาม

 

ต่อประเด็นนี้ อันที่จริง กสม. ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยปละละเลยให้เหตุการณ์ล่วงเลยมาจนถึงการที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะใช้กำลังสลายการชุมนุม เพราะหาก กสม. แสดงบทบาทอย่างทันท่วงที แสดงท่าทีอย่างแข็งขันในการทัดทานการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามกับผู้ชุมนุม เหตุการณ์ก็จะไม่เลวร้ายเท่านี้

 

ประการที่สาม "มุมมองจากผู้สูญเสีย" ศปช. มุ่งนำเสนอมุมมองของผู้สูญเสีย แต่ กสม. เสนอมุมมองจากเบื้องบน จากผู้มีอำนาจ เหตุผลที่ ศปช. มุ่งมุมมองจากผู้สูญเสียนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่ ศปช. มีทุนและจำนวนคนจำกัด ศปช. ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ไม่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลในระดับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างครบถ้วน ศปช. จึงเลือกรวบรวมข้อเท็จจริง เก็บรายละเอียดจากพยานแวดล้อมและผู้ได้รับผลกระทบ จากมุมของผู้สูญเสียเป็นหลัก ยิ่งกว่านั้น ศปช. ยังแยกแยะผู้ได้รับผลกระทบในระดับต่างๆ ตั้งแต่ผู้สูญเสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ถูกจับกุมคุมขัง ผู้ถูกดำเนินคดี ทำให้สามารถใช้เป็นกรอบในการดำเนินการเยียวยาต่อไปได้

 

ถึงกระนั้น ศปช. ก็ใช่ว่าจะสามารถเก็บรายละเอียดได้ทุกกรณี ศปช. เลือกกรณีที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อผู้บริสุทธิ์ และกรณีที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ นอกจากนั้น ศปช. ยังมีข้อมูลการเผาสถานที่ราชการจากต่างจังหวัด ทำให้ ศปช. พบว่าผู้ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อเหตุแต่อย่างใด 

 

แต่จะเห็นได้ว่า ข้อมูลรายบุคคล รายกรณีของจุดปะทะ รายละเอียดของเหตุการณ์จากมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบ รายละเอียดของผู้ได้รับผลกระทบ เป็นข้อมูลที่ขาดหายไปจากรายงานของ กสม. รายงานของก กสม. จึงไม่สามารถชี้ความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐได้ และไม่สามารถใช้วางกรอบการเยียวยาได้ ขณะที่ในรายงานของ กสม. เอง ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดของการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างพิสดารมากมายนัก มีแต่เพียงปากคำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ย่อมต้องวางอยู่บนอคติของเจ้าหน้าที่ รายงานของ กสม. จึงไม่สามารถใช้ตรวจสอบการกระทำผิดโดยรัฐได้อย่างถี่ถ้วน ข้อมูลของ กสม. จึงขาดความสมบูรณ์ไม่ว่าจะมองจากมุมผู้สูญเสียหรือมุมผู้ก่อความรุนแรงคือรัฐ

 

ประการสุดท้าย "ที่มาของอำนาจ" กสม. เป็นหน่วยงานของรัฐ ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยขาดการโยงใยกับประชาชน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่งสูงๆ และมีความใกล้ชิด มีผลประโยชน์พัวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐ ถือตนว่าเป็นคนของรัฐ จึงน่าสงสัยว่าจะมิได้มีอุดมการณ์สอดคล้องไปกับอุดมการณ์ในการก่อตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา และน่าสงสัยว่าจะไม่ได้มีอุดมการณ์ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนมากพอ ผลงานจึงไม่ได้สะท้อนจิตวิญญาณของนักสิทธิมนุษยชนอย่างที่หน่วยงานนี้กล่าวอ้าง

 

หากแต่ ศปช. ไม่ได้พิจารณาการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเพียงในกรอบของกฎหมายดังที่ กสม. กระทำ ศปช. ทำงานในกรอบของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งต้องใช้กำกับ อยู่เหนือกรอบของกฎหมายอีกที หากว่ากฎหมายยอมให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน นักสิทธิมนุษยชนย่อมไม่อาจยอมได้ ต่างจากท่าทีต่อหลักการสิทธิมนุษยชนในรายงานของ กสม. ที่แสดงให้เห็นว่า กสม. ยึดหลักของกฎหมายเหนือหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มุ่งตรวจสอบรายละเอียดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ดูดายกับการที่รัฐใช้กำลังอาวุธสงครามปราบปรามผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธด้วยการอ้างหลักกฎหมาย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้