Skip to main content

ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 

ประการแรก "การปรองดอง" ขอย้อนกลับไปในตอนแรกก่อตั้ง ศปช. ขึ้นมา คณะทำงานถกเถียงกันมากว่าจะค้นหาความจริงทุกด้านทุกมุมของความรุนแรงหรือไม่ แต่ในที่สุด ศปช. วางตำแหน่งของงานตนเองไว้ที่การเสนอข้อมูลที่เป็นทางเลือกจากการทำงานของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พูดง่ายๆ ก็คือ ศปช. ตั้งใจถ่วงดุลกับ คอป. เนื่องจากไม่ไว้ใจ คอป. ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลซึ่งก่อเหตุรุนแรง และไม่เห็นด้วยกับหลักการของ คอป. ที่ประกาศแต่แรกว่าจะไม่มุ่งตอบว่าใครผิด แต่จะมุ่งความปรองดอง 

 

จากมุมที่ผมเห็น ไม่ใช่ว่า ศปช. ไม่ได้ต้องการความปรองดอง หากแต่ ศปช. วางกรอบของความปรองดองต่างออกไป ศปช. วางกรอบการปรองดองจากการพิจารณาข้อเท็จจริงของความรุนแรงและการมุ่งผลตัดสินความผิดของผู้ก่อความรุนแรง เพื่อให้ความยุติธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ศปช. เห็นว่า การปรองดองจะไม่เกิดขึ้นหากไม่ได้มุ่งตัดสินให้ได้ว่าใครผิด ผิดอย่างไร

 

ยิ่งกว่านั้น ศปช. ยังมุ่งหวังให้เกิดการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อที่จะหยุดยั้งการเพิกเฉยไม่เอาผิดต่อการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ทั้งนี้เพื่อตัดวงจรการใช้ความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ประการที่สอง "ผู้ก่อความรุนแรงและผู้สูญเสีย" ศปช. ตั้งโจทย์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้คือความรุนแรงโดยรัฐ เนื่องจากข้อเท็จจริงเบื้องต้นหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ชี้ชัดว่ารัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ดังเช่นการที่รัฐใช้กำลังทหารติดอาวุธสงครามเพื่อควบคุมฝูงชนตั้งแต่ก่อนที่จะมีการใช้กำลังตอบโต้จากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย หรือการที่ผู้บริสุทธิ์คืออาสาสมัครพยาบาลและสื่อสวลชน บาดเจ็บ ถูกสังหาร จากทิศทางของกระสุนที่มาจากทหาร ความสูญเสียอันเนื่องมาจากความรุนแรงโดยรัฐนี้เทียบกันไม่ได้กับความความสูญเสียที่เกิดจากการชุมนุม

 

นี่คือความแตกต่างที่สำคัญระหว่างรายงานของ ศปช. กับของ กสม. รายงานของ กสม. นั้น มุ่งถ่วงดุลของความรุนแรงเสียจนกระทั่งกลายเป็นว่า ผลสรุปของรายงาน กสม. เป็นการปกป้องอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงมากมายชี้ว่า รัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม ส่วนรายงานของ ศปช. นั้นมุ่งปกป้องสิทธิของผู้สูญเสีย ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ชุมนุมหรือไม่ก็ตาม

 

ต่อประเด็นนี้ อันที่จริง กสม. ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยปละละเลยให้เหตุการณ์ล่วงเลยมาจนถึงการที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะใช้กำลังสลายการชุมนุม เพราะหาก กสม. แสดงบทบาทอย่างทันท่วงที แสดงท่าทีอย่างแข็งขันในการทัดทานการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามกับผู้ชุมนุม เหตุการณ์ก็จะไม่เลวร้ายเท่านี้

 

ประการที่สาม "มุมมองจากผู้สูญเสีย" ศปช. มุ่งนำเสนอมุมมองของผู้สูญเสีย แต่ กสม. เสนอมุมมองจากเบื้องบน จากผู้มีอำนาจ เหตุผลที่ ศปช. มุ่งมุมมองจากผู้สูญเสียนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่ ศปช. มีทุนและจำนวนคนจำกัด ศปช. ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ไม่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลในระดับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างครบถ้วน ศปช. จึงเลือกรวบรวมข้อเท็จจริง เก็บรายละเอียดจากพยานแวดล้อมและผู้ได้รับผลกระทบ จากมุมของผู้สูญเสียเป็นหลัก ยิ่งกว่านั้น ศปช. ยังแยกแยะผู้ได้รับผลกระทบในระดับต่างๆ ตั้งแต่ผู้สูญเสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ถูกจับกุมคุมขัง ผู้ถูกดำเนินคดี ทำให้สามารถใช้เป็นกรอบในการดำเนินการเยียวยาต่อไปได้

 

ถึงกระนั้น ศปช. ก็ใช่ว่าจะสามารถเก็บรายละเอียดได้ทุกกรณี ศปช. เลือกกรณีที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อผู้บริสุทธิ์ และกรณีที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ นอกจากนั้น ศปช. ยังมีข้อมูลการเผาสถานที่ราชการจากต่างจังหวัด ทำให้ ศปช. พบว่าผู้ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อเหตุแต่อย่างใด 

 

แต่จะเห็นได้ว่า ข้อมูลรายบุคคล รายกรณีของจุดปะทะ รายละเอียดของเหตุการณ์จากมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบ รายละเอียดของผู้ได้รับผลกระทบ เป็นข้อมูลที่ขาดหายไปจากรายงานของ กสม. รายงานของก กสม. จึงไม่สามารถชี้ความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐได้ และไม่สามารถใช้วางกรอบการเยียวยาได้ ขณะที่ในรายงานของ กสม. เอง ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดของการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างพิสดารมากมายนัก มีแต่เพียงปากคำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ย่อมต้องวางอยู่บนอคติของเจ้าหน้าที่ รายงานของ กสม. จึงไม่สามารถใช้ตรวจสอบการกระทำผิดโดยรัฐได้อย่างถี่ถ้วน ข้อมูลของ กสม. จึงขาดความสมบูรณ์ไม่ว่าจะมองจากมุมผู้สูญเสียหรือมุมผู้ก่อความรุนแรงคือรัฐ

 

ประการสุดท้าย "ที่มาของอำนาจ" กสม. เป็นหน่วยงานของรัฐ ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยขาดการโยงใยกับประชาชน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่งสูงๆ และมีความใกล้ชิด มีผลประโยชน์พัวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐ ถือตนว่าเป็นคนของรัฐ จึงน่าสงสัยว่าจะมิได้มีอุดมการณ์สอดคล้องไปกับอุดมการณ์ในการก่อตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา และน่าสงสัยว่าจะไม่ได้มีอุดมการณ์ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนมากพอ ผลงานจึงไม่ได้สะท้อนจิตวิญญาณของนักสิทธิมนุษยชนอย่างที่หน่วยงานนี้กล่าวอ้าง

 

หากแต่ ศปช. ไม่ได้พิจารณาการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเพียงในกรอบของกฎหมายดังที่ กสม. กระทำ ศปช. ทำงานในกรอบของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งต้องใช้กำกับ อยู่เหนือกรอบของกฎหมายอีกที หากว่ากฎหมายยอมให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน นักสิทธิมนุษยชนย่อมไม่อาจยอมได้ ต่างจากท่าทีต่อหลักการสิทธิมนุษยชนในรายงานของ กสม. ที่แสดงให้เห็นว่า กสม. ยึดหลักของกฎหมายเหนือหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มุ่งตรวจสอบรายละเอียดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ดูดายกับการที่รัฐใช้กำลังอาวุธสงครามปราบปรามผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธด้วยการอ้างหลักกฎหมาย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้