Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


"แบบเกรียนภาษา" เป็นปรากฏการณ์ในเฟซบุกไทยที่ผมว่าน่าติดตามอย่างยิ่งในขณะนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตบางประการคือ

(1) แต่ละสำนักเกรียนล้อเลียนภาษาด้วยวิธีการต่างกัน เรียกว่าวิธีวิทยาของการเกรียนของแต่ละสำนักมีแนวทางเฉพาะตัว เช่น
- "ษม่ค่ล์มนิ๋ญฒสก๊อย" เล่นกับการสะกดรุงรังโบราณ
- "พจนานุเกรียน" ให้อรรถาธิบายคำศัพท์วันรุ่น
- "มามี มานะ ล้อเลียน" วิพากษ์อุดมการณ์รัฐที่สอดแทรกในแบบเรียน
- "ตะละแม่ป๊อบคัลเจอร์" เอาคำศัพท์วันรุ่นมาล้อภาษารุงรังโบราณ
ความเฉพาะตนที่ว่า แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่บนพื้นที่ออนไลน์ได้อย่างดี

(2) แต่ละสำนักได้รับความสนใจมาก กรณีสมาคมนิยมสก๊อยก็เคยมีคนสนใจไปกดไลท์นับหมื่นในเวลาเพียงไม่กี่วัน ส่วนตะละแม่ฯ ก็ทำปรากฏการณ์สร้างความนิยมในชั่วข้ามสัปดาห์ที่มีคนไลท์ถึงหลักหมื่นในระยะเวลาไม่นาน ส่วนมานี มานะ ก็มีคนเล่น แชร์ และสร้างใหม่ต่อไปเรื่อยๆ 

ถ้าเป็นจริงที่ว่าผู้เล่นเฟซบุกส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุน้อย และอาศัยในเขตเมือง นี่แสดงให้เห็นว่าภาษาเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง พวกเขาตื่นตัวกับภาษาอย่างยิ่ง เพียงแต่พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาษาแบบอนุรักษ์ แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับการทำให้ภาษามีวิวัฒนาการ มีการสร้างสรรค์

(3) การตื่นตัวกับภาษาไม่เพียงเป็นภาษาพูด แต่คนในเฟซบุกตื่นตัวกับภาษาเขียน ทุกเพจที่โด่งดังขึ้นมาล้วนใช้ภาษาเขียน เกี่ยวพันกับภาษาเขียน เล่นกับภาษาเขียน 

กรณีสมาคมฯ ชัดเจนว่าเขาเล่นกับตัวอักษร จากบทสัมภาษณ์ (ที่ผมเลือกจะเชื่อว่าเป็นแอดมินตัวจริง) เจ้าของเพจพูดถึงความไร้สาระของอักษรไทย ที่มีการสะกดที่รุงรังยุ่งเหยิง ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับเธอหรือไม่ นี่ก็เป็นทัศนะที่เคยมีผู้นำการเมืองไทยเห็นด้วยมาแล้ว เคยมีนักปราชญ์ภาษาไทยเสนออะไรทำนองนี้มาแล้ว 

ส่วนตะละแม่ฯ นั้น เห็นได้ชัดว่าเล่นกับภาษาเขียน ด้วยการแปลงภาษาวัยรุ่นเป็นภาษาเขียน "โบราณ" ให้ดูเป็นภาษาภาษาวรรณกรรมโบราณ คนรุ่นเก่าจำนวนมากอาจไม่สนุกด้วย แต่คนรุ่นใหม่เขาสนุกมาก ผมเคยเข้าไปติดตามการเล่นของพวกเขา ที่สนุกคือเมื่อตะละแม่ฯ โพสต์มา แฟนๆ ก็จะไปแข่งกันทายว่าที่ตะละแม่ฯ เขียนมาหมายถึงวลีหรือคำวัยรุ่นคำไหน วลีไหน บางคนเร็วมากจนคนอื่นยกย่อง กดไลท์ให้เป็นร้อยในไม่กี่นาที

มานี มานะ เล่นกับการเขียน เล่นกับภาษาเด็กประถม เล่นกับคำไม่กี่คำ เป็นภาษาเขียนล้อเลียนที่มีพลังมากสำหรับผม ประกอบกับภาพเขียนแนวตำราเรียน (ที่มีคนกรุณาให้ความรู้ในเฟซบุกว่าเป็นลายเส้นสไตล์ของเตรียม ชาชุมพร)

ส่วนพจนานุเกรียน อาจดูเป็นภาษาพูด แต่ผมคิดว่าส่วนใหญ่เขาได้มาจากภาษาในโลกอินเทอร์เน็ต โลกอินเทอร์เน็ตไทยสร้างภาษาเขียนมากมาย เช่นคำว่าเกรียน คำว่าวทน. คำว่า เมพขิงๆ คำว่า จังเบย หรือวลีว่า ดงบังวงแตก ก็มาจากโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นโลกของภาษาเขียน

นี่แสดงว่า การเขียนและการอ่านกลับมาหรือยังมีความสำคัญกับโลกยุคปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์นี้น่าจะยังอยู่กับเราตราบเท่าที่โลกดิจิทัลยังไม่สามารถ "เร็ว" และกินเนื้อที่ข้อมูลได้มากกว่าโลกของการเขียน

(4) หากใครมองว่าเฟซบุกไม่สร้างสรรค์ ทำลายการคิดค้นอะไรใหม่ๆ คนพวกนั้นคงยังต่อสู้แต่ในเวทีของการเมืองเปิดหน้า การเมืองแบบทางการ การเมืองแบบพลิกผันข้ามคืน การเมืองแบบการการปฏิวัติ และพวกเขาก็ล้าหลังกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมหลังยุคการปฏิวัติ ที่มักค่อยๆ เปลี่ยนอย่่างค่อยเป็นค่อยไป

แบบเกรียนภาษาเหล่านี้จึงไม่ได้เกรียนกันเล่นๆ แม้พวกเขาไม่ได้คิดถึงสิ่งที่ผมเพ้อเจ้อมาข้างต้นอย่างเป็นระบบ แต่นัยของผลงานทางวัฒนธรรมของพวกเขามีความหมายทางสังคมที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ขอให้เกรียนกับต่อไป

ปัจฉิมลิขิต:  ขอแซวตะละแม่ฯ หน่อยครับว่า อ่านจากบทสัมภาษณ์ในประชาไท สงสัยตะละแม่ทั้งสามยังอ่าน "ความเป็นมาฯ" ของจิตร ภูมิศักดิ์ไม่จบ จึงยังเข้าใจความหมาย "ไท" ที่ไม่มี ย แบบชาตินิยมอยู่ และถ้าตะละแม่รู้ภาษาไท/ไตหรือลาวบ้าง คงรู้ว่าความหมายของคำว่าไท ไม่ได้แปลว่า อิสระ อย่างที่เราถูกสอนกันมาครับ ^ ^ และ... (ยังมีคำอธิบายต่อ แต่ขี้เกียจเขียนแล้ว)

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: จำนรรจา นารีหลุดกาล: คุยกับแอดมิน "ตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์"

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://www.facebook.com/yukti.mukdawijitra/posts/403352889731055

 

 

 

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...