Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


(ถ้า) สุราไม่ได้มีไว้ให้เมา (แล้วจะดื่มไปหาอะไรล่ะครับ)

ผมนั่งกินก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งที่ร้านแถวท่าพระอาทิตย์แห่งหนึ่งแล้ว อดไม่ได้ที่จะรำพึงกับตัวเองแบบที่เคยพูดไว้กับสหายว่า "รสชาติก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งร้านนี้เป๊ะแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจริงๆ" คือมันมาตรฐานเสียจนเหมือนเฟ้คไปเลย แต่นี่ชื่นชมนะครับ (เดี๋ยวเจ้าของร้านที่เฝ้า "หน้าหนังสือ" อยู่จะหันมาค้อนเอา)

แล้วก็พลันคิดไปถึงค็อกเทลรสในฝัน ที่บาร์เทนดี้ดีกรี (ความรู้) สูงท่านหนึ่ง เปรยทิ้งไว้ให้เพื่อนๆ เปรี้ยวปากเมื่อสองคืนก่อนว่า "นอกจากเหล้าเกือบ 10 ชนิดที่ชงให้พวกพี่ๆ ดื่มชิมกันแล้ว ยังมี ต้มยำกุ้ง ค็อคเทลสูตรพิเศษของพี่ชายซึ่งเป็นบาร์เทนเดอร์ระดับนำของเมืองไทย" วิธีปรุงน่ะหรอครับ ต้องเก็บไว้เป็นสูตรเฉพาะของครอบครัวบาร์เทนดี้ท่านนี้ ตามแต่ว่าเมื่อไหร่ท่านจะสละเวลาชงให้สหายดื่มชิมกัน

แล้วก็พลันคิดถึงคำพูดที่สหายอีกท่านได้ยินในลิฟท์ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งว่า "คณะนี้แม่มขี้เมากันทั้งนักศึกษาทั้งอาจารย์" ไม่ว่าคำกล่าวนี้จะจริงหรือไม่ ก็ขอให้พิจารณากันหน่อยเถิดว่า การดื่มสุรามีไปเพื่ออะไรกัน

ตอนทำวิจัยอยู่เวียดนาม ผมต้องฝึกอยู่เนิ่นนานกว่าจะดื่มแบบเสมอบ่าเสมอไหล่ได้พอๆ กับผู้เฒ่าวัย 70-80 ที่ประสบการณ์การดื่มโชกโชน ยิ่งในวงเหล้าของพวกทหารผ่านศึกยิ่งน่ากลัว แต่ไม่มีโอกาสไหนที่จะได้ข้อมูลเรื่องราวละเอียดยืดยาวแบบตรงไปตรงมาได้ดีไปกว่าวงเหล้า ผมจึงต้องอึดฝึกปรือ "วิธีวิทยาของการเมา" ให้เข้มแข็ง

เรียกว่า "บันทึกภาคสนาม" ของผมส่วนใหญ่คือ "บันทึกจากวงเหล้า" นั่นแหละ แต่กระนั้นก็ยังล้มพับนอนไปหลายครา

คนเวียดนามหลายต่อหลายถิ่นมีมารยาทกำกับการดื่มสุราที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น ไม่ดื่มสุราคนเดียว แม้ในวงเหล้า จะแอบจิบอยู่คนเดียวก็ไม่ได้ ถ้าอยากจิบคนเดียว อย่างน้อยก็ต้องเชิญทั้งวงยกแก้ว คนอื่นจะดื่มด้วยจริงหรือไม่ก็ต้องบอกให้เขารับรู้ก่อน หากจะดื่มกับใครในวงเป็นพิเศษ ก็ต้องขออนุญาตทั้งวงก่อน 

ยิ่งในพิธีกรรมของชาวไทยิ่งมีมารยาทจัด ตั้งแต่ตำแหน่งในวงเหล้า แขกนั่งตรงไหน เจ้าเรือนตรงไหน ผู้ชายตรงไหน ผู้หญิงตรงไหน ใครอาวุโสนั่งตรงไหน ฝ่ายเมีย (ซึ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนไทในเวียดนาม) ควรนั่งตรงไหน ใครควรนั่งตรงไหนจะยิ่งซับซ้อนหากมีแขกสำคัญหลายระดับ 

ใครเป็นคนรินเหล้า วิธีรินเป็นอย่างไร ต้องคอยเชียร์ให้คนดื่มอย่างไร ต้องคอยกล่าวสุนทรพจน์อย่างไร ดื่มแล้วควรกินอะไรก่อนอะไรหลัง เหล้าหมดควรทำอย่างไร อาหารหมดควรทำอย่างไร จะลุกไปเข้าห้องน้ำควรทำอย่างไร จังหวะไหนจึงกินข้าว กระทั่ง ใครควรลุกคนสุดท้าย

เหล่านี้ทำให้การดื่มเป็นพิธีกรรมทางสังคมที่ไม่ธรรมดา

แน่นอนว่าผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการร่ำสุราในสนามมากมาย แต่ประสบการณ์ร่ำสุราที่ไม่รู้ลืมคือการดวด "เหล้ามายห้า" สุรา 50 ดีกรี (จุดไฟติดจริงๆ ครับ) ชั้นดีของชาวไทขาวเมืองมายเจิว กับพี่ดึ๊ก นายอำเภอหนุ่มไทขาวเมืองมุน 

เหล้ามายห้าเป็นเหล้าหมักจากข้าว ผสมเครื่องเทศบางอย่าง (ที่ผมยังไม่รู้ว่าอะไร) แล้วกลั่นจนใสปิ๊ง มายห้ารสเผ็ด จัดจ้าน แต่ไม่กระด้างจนฟาดหน้าให้หงายหลัง

คืนนั้นผมกับพี่ดึ๊กดื่มกันไป คุยกันไปเรื่องโครงการรื้อฟื้นการเรียนหนังสือไทในเวียดนาม ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะมีพิธีเปิดการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ พี่ดึ๊กกับผมต้องคุยเป็นภาษาเวียดนาม เพราะสำเนียงไทดำในเวียดนามที่ผมรู้ สื่อสารกับสำเนียงไทขาวถิ่นบ้านพี่ดึ๊กไม่รู้เรื่อง

เจอเพื่อนถูกคน ได้สุราถูกคอ ต่อบทสนทนากันถูกใจ ก็เผลอดื่มกันไปเรื่อย ทีละจอก ทีละจอก จนหมดขวด ราวเที่ยงคืน จึงแยกย้ายกันไปนอน

ตื่นเช้ามา ไม่มีอะไรติดค้างในหัว สมองสดใส พิธีเปิดดำเนินไปอย่างราบรื่น

บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา

ที่สำคัญคือ สุราไม่ได้ทำให้คนสิ้นสติ สูญเสียความเป็นมนุษย์ อย่างที่คนไม่รู้จักอารยธรรมของสุราเข้าใจเสมอไป หากเรารู้จักสร้างสังคมของการดื่มอย่างสร้างสรรค์ อารยธรรมสุราไทยจะกลายเป็นอารยธรรมโลก

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน