Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


(ถ้า) สุราไม่ได้มีไว้ให้เมา (แล้วจะดื่มไปหาอะไรล่ะครับ)

ผมนั่งกินก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งที่ร้านแถวท่าพระอาทิตย์แห่งหนึ่งแล้ว อดไม่ได้ที่จะรำพึงกับตัวเองแบบที่เคยพูดไว้กับสหายว่า "รสชาติก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งร้านนี้เป๊ะแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจริงๆ" คือมันมาตรฐานเสียจนเหมือนเฟ้คไปเลย แต่นี่ชื่นชมนะครับ (เดี๋ยวเจ้าของร้านที่เฝ้า "หน้าหนังสือ" อยู่จะหันมาค้อนเอา)

แล้วก็พลันคิดไปถึงค็อกเทลรสในฝัน ที่บาร์เทนดี้ดีกรี (ความรู้) สูงท่านหนึ่ง เปรยทิ้งไว้ให้เพื่อนๆ เปรี้ยวปากเมื่อสองคืนก่อนว่า "นอกจากเหล้าเกือบ 10 ชนิดที่ชงให้พวกพี่ๆ ดื่มชิมกันแล้ว ยังมี ต้มยำกุ้ง ค็อคเทลสูตรพิเศษของพี่ชายซึ่งเป็นบาร์เทนเดอร์ระดับนำของเมืองไทย" วิธีปรุงน่ะหรอครับ ต้องเก็บไว้เป็นสูตรเฉพาะของครอบครัวบาร์เทนดี้ท่านนี้ ตามแต่ว่าเมื่อไหร่ท่านจะสละเวลาชงให้สหายดื่มชิมกัน

แล้วก็พลันคิดถึงคำพูดที่สหายอีกท่านได้ยินในลิฟท์ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งว่า "คณะนี้แม่มขี้เมากันทั้งนักศึกษาทั้งอาจารย์" ไม่ว่าคำกล่าวนี้จะจริงหรือไม่ ก็ขอให้พิจารณากันหน่อยเถิดว่า การดื่มสุรามีไปเพื่ออะไรกัน

ตอนทำวิจัยอยู่เวียดนาม ผมต้องฝึกอยู่เนิ่นนานกว่าจะดื่มแบบเสมอบ่าเสมอไหล่ได้พอๆ กับผู้เฒ่าวัย 70-80 ที่ประสบการณ์การดื่มโชกโชน ยิ่งในวงเหล้าของพวกทหารผ่านศึกยิ่งน่ากลัว แต่ไม่มีโอกาสไหนที่จะได้ข้อมูลเรื่องราวละเอียดยืดยาวแบบตรงไปตรงมาได้ดีไปกว่าวงเหล้า ผมจึงต้องอึดฝึกปรือ "วิธีวิทยาของการเมา" ให้เข้มแข็ง

เรียกว่า "บันทึกภาคสนาม" ของผมส่วนใหญ่คือ "บันทึกจากวงเหล้า" นั่นแหละ แต่กระนั้นก็ยังล้มพับนอนไปหลายครา

คนเวียดนามหลายต่อหลายถิ่นมีมารยาทกำกับการดื่มสุราที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น ไม่ดื่มสุราคนเดียว แม้ในวงเหล้า จะแอบจิบอยู่คนเดียวก็ไม่ได้ ถ้าอยากจิบคนเดียว อย่างน้อยก็ต้องเชิญทั้งวงยกแก้ว คนอื่นจะดื่มด้วยจริงหรือไม่ก็ต้องบอกให้เขารับรู้ก่อน หากจะดื่มกับใครในวงเป็นพิเศษ ก็ต้องขออนุญาตทั้งวงก่อน 

ยิ่งในพิธีกรรมของชาวไทยิ่งมีมารยาทจัด ตั้งแต่ตำแหน่งในวงเหล้า แขกนั่งตรงไหน เจ้าเรือนตรงไหน ผู้ชายตรงไหน ผู้หญิงตรงไหน ใครอาวุโสนั่งตรงไหน ฝ่ายเมีย (ซึ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนไทในเวียดนาม) ควรนั่งตรงไหน ใครควรนั่งตรงไหนจะยิ่งซับซ้อนหากมีแขกสำคัญหลายระดับ 

ใครเป็นคนรินเหล้า วิธีรินเป็นอย่างไร ต้องคอยเชียร์ให้คนดื่มอย่างไร ต้องคอยกล่าวสุนทรพจน์อย่างไร ดื่มแล้วควรกินอะไรก่อนอะไรหลัง เหล้าหมดควรทำอย่างไร อาหารหมดควรทำอย่างไร จะลุกไปเข้าห้องน้ำควรทำอย่างไร จังหวะไหนจึงกินข้าว กระทั่ง ใครควรลุกคนสุดท้าย

เหล่านี้ทำให้การดื่มเป็นพิธีกรรมทางสังคมที่ไม่ธรรมดา

แน่นอนว่าผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการร่ำสุราในสนามมากมาย แต่ประสบการณ์ร่ำสุราที่ไม่รู้ลืมคือการดวด "เหล้ามายห้า" สุรา 50 ดีกรี (จุดไฟติดจริงๆ ครับ) ชั้นดีของชาวไทขาวเมืองมายเจิว กับพี่ดึ๊ก นายอำเภอหนุ่มไทขาวเมืองมุน 

เหล้ามายห้าเป็นเหล้าหมักจากข้าว ผสมเครื่องเทศบางอย่าง (ที่ผมยังไม่รู้ว่าอะไร) แล้วกลั่นจนใสปิ๊ง มายห้ารสเผ็ด จัดจ้าน แต่ไม่กระด้างจนฟาดหน้าให้หงายหลัง

คืนนั้นผมกับพี่ดึ๊กดื่มกันไป คุยกันไปเรื่องโครงการรื้อฟื้นการเรียนหนังสือไทในเวียดนาม ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะมีพิธีเปิดการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ พี่ดึ๊กกับผมต้องคุยเป็นภาษาเวียดนาม เพราะสำเนียงไทดำในเวียดนามที่ผมรู้ สื่อสารกับสำเนียงไทขาวถิ่นบ้านพี่ดึ๊กไม่รู้เรื่อง

เจอเพื่อนถูกคน ได้สุราถูกคอ ต่อบทสนทนากันถูกใจ ก็เผลอดื่มกันไปเรื่อย ทีละจอก ทีละจอก จนหมดขวด ราวเที่ยงคืน จึงแยกย้ายกันไปนอน

ตื่นเช้ามา ไม่มีอะไรติดค้างในหัว สมองสดใส พิธีเปิดดำเนินไปอย่างราบรื่น

บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา

ที่สำคัญคือ สุราไม่ได้ทำให้คนสิ้นสติ สูญเสียความเป็นมนุษย์ อย่างที่คนไม่รู้จักอารยธรรมของสุราเข้าใจเสมอไป หากเรารู้จักสร้างสังคมของการดื่มอย่างสร้างสรรค์ อารยธรรมสุราไทยจะกลายเป็นอารยธรรมโลก

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"