Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร



เย็นวาน (26 กันยายน 2555) โชคดีและนึกขอบคุณนักศึกษาที่คะยั้นคะยอจนผมต้องยอมไปเสวนากับพวกเขาเรื่อง "จาก Gangnam Style กลายมาเป็นกำนันสไตล์" เพราะทำให้ได้คิดกับเรื่อง pop culture หรือวัฒนธรรมมวลชน วัฒนธรรมป็อบในอีกมุมหนึ่ง คือเรื่องการเมืองของสิ่งไร้รสนิยมพร้อมๆ กับความเป็นศิลปะของสิ่งขี้เหร่

ผมสารภาพกับนักศึกษาว่าใช้เวลาร่างบันทึกเพื่อมาพพูดในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก่อนพูด เพราะคิดมาเป็นสัปดาห์แล้วและดูวิดีโอคังนัมสไตล์มาเป็นสิบๆ เวอร์ชั่น เท่าไหร่ก็นึกไม่ออกสักทีว่าจะพูดอะไรที่ไม่ซ้ำกันนักกับที่เขาพูดๆ กันมา

หลายคนพูดถึงการล้อเลียน การประชดประชันของ MV เนื้อร้อง รวมทั้งนาย Psy (ไซ) นักร้องและผู้แสดง MV นี้ แต่ประเด็นที่ผมชวนคุยกับนักศึกษา ซึ่งก็ไม่ได้ใหม่นัก แต่ผมชอบวิธีที่ผมปะติดปะต่อเรื่องราว มีดังนี้

ผมเริ่มจากข้อสรุปว่า เพลงนี้เป็นตัวอย่างของการนำเอาความขี้เหร่ ความไร้รสนิยม รวมทั้งคามบ้านๆ เปิ่นๆ เชยๆ ดาดๆ ที่อาจเรียกรวมความอยู่ในคำว่า kitsch มาเป็นงานศิลปะ พร้อมๆ กับการที่มันเป็นศิลปะของการล้อเลียนชนชั้นสูง ล้อเลียนความมั่งคั่ง ความเหลื่อมล้ำ

จากนั้นผมลองตีความฉากต่างๆ ของ MV เพลงนี้ (บทวิจารณ์หลายชิ้นก็ทำอย่างนี้) เช่น ฉากแรก แทนที่จะเป็นนายไซนอนอาบแดดที่ชายหาด นายไซกลับกางเตียงผ้าใบนอนบนทรายสนามเด็กเล่น ฉากเดินควงสาวสองคนเดินฝ่าฝุ่นและบรรดาขยะที่ลอยมา ฉากซาวน่าในห้องซาวน่าคับแคบที่มีพวกยากูซ่า ฉากเต้นบนรถทัวร์พวกป้าๆ ฉากลานจอดรถ แต่นายไซใน MV ไม่มีรถขับ ฯลฯ เรียกว่า ทุกฉากของ MV นี้แสดงความไร้รสนิยม ความไม่ใช่ชาวคังนัมของไซ

Chaeyoung Jung นักศึกษาที่ร่วมเสวนาให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า เสื้อผ้าที่ไซใส่เป็นเสื้อผ้านักร้องลูกทุ่งเกาหลี แถมท่าเต้นของไซ ยังออกแนว "ไร้รสนิยม" สำหรับชาวเกาหลี ทั้งประวัติและหน้าตาของไซ ก็ล้วนไม่เป๊ะกับความหรูหรา ความเป็นย่านธุรกิจดนตรีและแฟชั่นชั้นนำของคังนัม

ความไร้รสนิยมเหล่านี้จึงขัดแย้ง ตัดกันกับการโอ้อวดของไซ (ใน MV) ว่า "แบบฉันนี่แหละ คนมีรสนิยมแบบคังนัม" แต่เป็นการตัดกัน ขัดแย้งแบบเสียดเย้ยรสนิยมคนรวย คนชั้นนำ ดังนั้นจึงไม่ผิดเลยที่นักวิจารณ์หลายคนกล่าวขนาดว่า MV นี้ทำขึ้นมาเพื่อวิพากษ์ความฟุ้งเฟ้อของเกาหลีปัจจุบัน

ผมเดินหน้าต่อไปด้วยการเปรียบเทียบกับเพลงไทยสองเพลง คือเพลง "ดาวมหาลัย" ของสาวมาดฯ ซึ่งอยู่ในข่ายของการเสียดสีความฟุ้งเฟ้อลืมตนของสาวบ้านนอก กับอีกเพลงคือ "คิดฮอด" ของบอดี้ สแลม ที่ผมมองว่าเป็นการหากินกับความแปลกของเพลงหมอลำ มากกว่าจะเอาความบ้านๆ พื้นๆ มาวิพากษ์อะไร

ผมโยงไปไกลถึงศิลปะที่เสียดเย้ยด้วยความไร้รสนิยม แบบงาน "นำ้พุ" (Fountain) ของดูชองป์ (Marcel Duchamp) ที่ทำขึ้นเมื่อค.ศ. 1917 (พ.ศ. ๒๔๖๐) ด้วยการเอาโถฉี่ผู้ชายมาหงายขึ้น แล้วเซ็นชื่อ R. Mutt ส่งไปแสดงเป็นงานศิลปะ

ต้องอธิบายยืดยาวว่าดูชองป์ต้องการสื่ออะไรและงานเขาบุกเบิกและมีอิทธิพลมาจนกระทั่งศตวรรษปัจจุบันอย่างไร แต่โดยสรุปคือ ดูชองป์ท้าทายความงามด้วยความไร้รสนิยม ด้วยความบ้านๆ ด้วยความดาดดื่น ด้วย kitsch เขาเสนอให้งานศิลปะเป็นงานทางความคิดมากกว่าทักษะฝีมือ

ประเด็นที่ผมเอาดูชองป์มาเกี่ยวกับ MV Gangnam Style คือ มันคือการนำเอาสิ่งไร้รสนิยมมาเป็นงานศิลปะ เพื่อท้าทายวัฒนธรรมสูงส่ง

ผมยังวิจารณ์ผลงานของศิลปินไทยอีกบางคนที่หากินกับ asethetics of Thai kitsch ซึ่งผมเห็นว่าไม่ต่างอะไรกับการหากินกับความแปลกของเพลงหมอลำ แบบที่บอดี้ สแลมทำ

แถมผมยังโยงไปถึงเรื่องที่ไม่น่าจะโยงไปถึงจนได้ แต่ไม่อยากกล่าวในที่นี้ (ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะเกรงคนจะหาว่าผมกลัวใคร จนต้องหาทางพูดถึง "เรื่องนั้น" จนได้)

ที่น่าสนใจคือ คังนัมสไตล์เวอร์ชั่นไทยอย่างน้อย 2 เวอร์ชั่นนั้น เดินตามวิถีทางศิลปะของ Gangnam Style อย่างแนบสนิท คือฉบับที่เรียกว่า "กำนันสไตล์" และฉบับ "กำนันสิตาย" คือเอาความไร้รสนิยมมาล้อเลียนวัฒนธรรมสูงส่ง พร้อมๆ กับล้อเลียนตนเอง คล้ายๆ กับ "ดาวมหาลัย"

จากนั้นผมลองเปรียบเทียบคังนัมสไตล์หลายๆ เวอร์ชั่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงเวอร์ชั่นที่ล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือ MV เหล่านี้ล้อเลียนสังคมตนเองผ่านชื่อ และลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของสังคมที่ผลิต MV ขึ้นมา (ที่โดดเด่นและมีหลากหลายมากคือของมาเลเซีย ที่เล่นเรื่องเพศ จะอีกยาวเกินไปหากจะให้เขียนวิเคราะห์)

ท้ายสุด ผมพบว่าเพลงคังนัมสไตล์เป็น "วิถีเอเชี่ยน" แบบหนึ่ง ในการวิพากษ์ชนชั้นนำ ด้วยการล้อเลียนตนเอง ถ้ามองในแง่หนึ่ง นี่อาจจะเป็นการดูถูกตนเอง ในอีกด้านหนึ่ง นี่อาจจะเป็นการเอาความพื้นๆ ดาดๆ มาเสพดุจงานศิลปะ 

แต่ผมอยากเลือกที่จะมองว่า วิถีคังนัมสไตล์เป็นวิถีของการวิพากษ์วัฒนธรรมสูงส่ง เป็นการนำเอาวัฒนธรรมที่ขัดกันสองแบบ มาวางไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเยาะเย้ยความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม และพร้อมกันนั้นก็เยาะเย้ยความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจไปในตัว

การเมืองของความไร้รสนิยมอาจไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางวัฒนธรรมและสังคมอันยาวนาน ที่สามารถบ่อนเซาะอำนาจครอบงำทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน

นักศึกษาช่วยกันรวบรวม MV จำนวนมากไว้ใน http://www.facebook.com/events/359615054117336/








 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน