Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร



เย็นวาน (26 กันยายน 2555) โชคดีและนึกขอบคุณนักศึกษาที่คะยั้นคะยอจนผมต้องยอมไปเสวนากับพวกเขาเรื่อง "จาก Gangnam Style กลายมาเป็นกำนันสไตล์" เพราะทำให้ได้คิดกับเรื่อง pop culture หรือวัฒนธรรมมวลชน วัฒนธรรมป็อบในอีกมุมหนึ่ง คือเรื่องการเมืองของสิ่งไร้รสนิยมพร้อมๆ กับความเป็นศิลปะของสิ่งขี้เหร่

ผมสารภาพกับนักศึกษาว่าใช้เวลาร่างบันทึกเพื่อมาพพูดในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก่อนพูด เพราะคิดมาเป็นสัปดาห์แล้วและดูวิดีโอคังนัมสไตล์มาเป็นสิบๆ เวอร์ชั่น เท่าไหร่ก็นึกไม่ออกสักทีว่าจะพูดอะไรที่ไม่ซ้ำกันนักกับที่เขาพูดๆ กันมา

หลายคนพูดถึงการล้อเลียน การประชดประชันของ MV เนื้อร้อง รวมทั้งนาย Psy (ไซ) นักร้องและผู้แสดง MV นี้ แต่ประเด็นที่ผมชวนคุยกับนักศึกษา ซึ่งก็ไม่ได้ใหม่นัก แต่ผมชอบวิธีที่ผมปะติดปะต่อเรื่องราว มีดังนี้

ผมเริ่มจากข้อสรุปว่า เพลงนี้เป็นตัวอย่างของการนำเอาความขี้เหร่ ความไร้รสนิยม รวมทั้งคามบ้านๆ เปิ่นๆ เชยๆ ดาดๆ ที่อาจเรียกรวมความอยู่ในคำว่า kitsch มาเป็นงานศิลปะ พร้อมๆ กับการที่มันเป็นศิลปะของการล้อเลียนชนชั้นสูง ล้อเลียนความมั่งคั่ง ความเหลื่อมล้ำ

จากนั้นผมลองตีความฉากต่างๆ ของ MV เพลงนี้ (บทวิจารณ์หลายชิ้นก็ทำอย่างนี้) เช่น ฉากแรก แทนที่จะเป็นนายไซนอนอาบแดดที่ชายหาด นายไซกลับกางเตียงผ้าใบนอนบนทรายสนามเด็กเล่น ฉากเดินควงสาวสองคนเดินฝ่าฝุ่นและบรรดาขยะที่ลอยมา ฉากซาวน่าในห้องซาวน่าคับแคบที่มีพวกยากูซ่า ฉากเต้นบนรถทัวร์พวกป้าๆ ฉากลานจอดรถ แต่นายไซใน MV ไม่มีรถขับ ฯลฯ เรียกว่า ทุกฉากของ MV นี้แสดงความไร้รสนิยม ความไม่ใช่ชาวคังนัมของไซ

Chaeyoung Jung นักศึกษาที่ร่วมเสวนาให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า เสื้อผ้าที่ไซใส่เป็นเสื้อผ้านักร้องลูกทุ่งเกาหลี แถมท่าเต้นของไซ ยังออกแนว "ไร้รสนิยม" สำหรับชาวเกาหลี ทั้งประวัติและหน้าตาของไซ ก็ล้วนไม่เป๊ะกับความหรูหรา ความเป็นย่านธุรกิจดนตรีและแฟชั่นชั้นนำของคังนัม

ความไร้รสนิยมเหล่านี้จึงขัดแย้ง ตัดกันกับการโอ้อวดของไซ (ใน MV) ว่า "แบบฉันนี่แหละ คนมีรสนิยมแบบคังนัม" แต่เป็นการตัดกัน ขัดแย้งแบบเสียดเย้ยรสนิยมคนรวย คนชั้นนำ ดังนั้นจึงไม่ผิดเลยที่นักวิจารณ์หลายคนกล่าวขนาดว่า MV นี้ทำขึ้นมาเพื่อวิพากษ์ความฟุ้งเฟ้อของเกาหลีปัจจุบัน

ผมเดินหน้าต่อไปด้วยการเปรียบเทียบกับเพลงไทยสองเพลง คือเพลง "ดาวมหาลัย" ของสาวมาดฯ ซึ่งอยู่ในข่ายของการเสียดสีความฟุ้งเฟ้อลืมตนของสาวบ้านนอก กับอีกเพลงคือ "คิดฮอด" ของบอดี้ สแลม ที่ผมมองว่าเป็นการหากินกับความแปลกของเพลงหมอลำ มากกว่าจะเอาความบ้านๆ พื้นๆ มาวิพากษ์อะไร

ผมโยงไปไกลถึงศิลปะที่เสียดเย้ยด้วยความไร้รสนิยม แบบงาน "นำ้พุ" (Fountain) ของดูชองป์ (Marcel Duchamp) ที่ทำขึ้นเมื่อค.ศ. 1917 (พ.ศ. ๒๔๖๐) ด้วยการเอาโถฉี่ผู้ชายมาหงายขึ้น แล้วเซ็นชื่อ R. Mutt ส่งไปแสดงเป็นงานศิลปะ

ต้องอธิบายยืดยาวว่าดูชองป์ต้องการสื่ออะไรและงานเขาบุกเบิกและมีอิทธิพลมาจนกระทั่งศตวรรษปัจจุบันอย่างไร แต่โดยสรุปคือ ดูชองป์ท้าทายความงามด้วยความไร้รสนิยม ด้วยความบ้านๆ ด้วยความดาดดื่น ด้วย kitsch เขาเสนอให้งานศิลปะเป็นงานทางความคิดมากกว่าทักษะฝีมือ

ประเด็นที่ผมเอาดูชองป์มาเกี่ยวกับ MV Gangnam Style คือ มันคือการนำเอาสิ่งไร้รสนิยมมาเป็นงานศิลปะ เพื่อท้าทายวัฒนธรรมสูงส่ง

ผมยังวิจารณ์ผลงานของศิลปินไทยอีกบางคนที่หากินกับ asethetics of Thai kitsch ซึ่งผมเห็นว่าไม่ต่างอะไรกับการหากินกับความแปลกของเพลงหมอลำ แบบที่บอดี้ สแลมทำ

แถมผมยังโยงไปถึงเรื่องที่ไม่น่าจะโยงไปถึงจนได้ แต่ไม่อยากกล่าวในที่นี้ (ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะเกรงคนจะหาว่าผมกลัวใคร จนต้องหาทางพูดถึง "เรื่องนั้น" จนได้)

ที่น่าสนใจคือ คังนัมสไตล์เวอร์ชั่นไทยอย่างน้อย 2 เวอร์ชั่นนั้น เดินตามวิถีทางศิลปะของ Gangnam Style อย่างแนบสนิท คือฉบับที่เรียกว่า "กำนันสไตล์" และฉบับ "กำนันสิตาย" คือเอาความไร้รสนิยมมาล้อเลียนวัฒนธรรมสูงส่ง พร้อมๆ กับล้อเลียนตนเอง คล้ายๆ กับ "ดาวมหาลัย"

จากนั้นผมลองเปรียบเทียบคังนัมสไตล์หลายๆ เวอร์ชั่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงเวอร์ชั่นที่ล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือ MV เหล่านี้ล้อเลียนสังคมตนเองผ่านชื่อ และลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของสังคมที่ผลิต MV ขึ้นมา (ที่โดดเด่นและมีหลากหลายมากคือของมาเลเซีย ที่เล่นเรื่องเพศ จะอีกยาวเกินไปหากจะให้เขียนวิเคราะห์)

ท้ายสุด ผมพบว่าเพลงคังนัมสไตล์เป็น "วิถีเอเชี่ยน" แบบหนึ่ง ในการวิพากษ์ชนชั้นนำ ด้วยการล้อเลียนตนเอง ถ้ามองในแง่หนึ่ง นี่อาจจะเป็นการดูถูกตนเอง ในอีกด้านหนึ่ง นี่อาจจะเป็นการเอาความพื้นๆ ดาดๆ มาเสพดุจงานศิลปะ 

แต่ผมอยากเลือกที่จะมองว่า วิถีคังนัมสไตล์เป็นวิถีของการวิพากษ์วัฒนธรรมสูงส่ง เป็นการนำเอาวัฒนธรรมที่ขัดกันสองแบบ มาวางไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเยาะเย้ยความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม และพร้อมกันนั้นก็เยาะเย้ยความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจไปในตัว

การเมืองของความไร้รสนิยมอาจไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางวัฒนธรรมและสังคมอันยาวนาน ที่สามารถบ่อนเซาะอำนาจครอบงำทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน

นักศึกษาช่วยกันรวบรวม MV จำนวนมากไว้ใน http://www.facebook.com/events/359615054117336/








 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง