Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร



เย็นวาน (26 กันยายน 2555) โชคดีและนึกขอบคุณนักศึกษาที่คะยั้นคะยอจนผมต้องยอมไปเสวนากับพวกเขาเรื่อง "จาก Gangnam Style กลายมาเป็นกำนันสไตล์" เพราะทำให้ได้คิดกับเรื่อง pop culture หรือวัฒนธรรมมวลชน วัฒนธรรมป็อบในอีกมุมหนึ่ง คือเรื่องการเมืองของสิ่งไร้รสนิยมพร้อมๆ กับความเป็นศิลปะของสิ่งขี้เหร่

ผมสารภาพกับนักศึกษาว่าใช้เวลาร่างบันทึกเพื่อมาพพูดในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก่อนพูด เพราะคิดมาเป็นสัปดาห์แล้วและดูวิดีโอคังนัมสไตล์มาเป็นสิบๆ เวอร์ชั่น เท่าไหร่ก็นึกไม่ออกสักทีว่าจะพูดอะไรที่ไม่ซ้ำกันนักกับที่เขาพูดๆ กันมา

หลายคนพูดถึงการล้อเลียน การประชดประชันของ MV เนื้อร้อง รวมทั้งนาย Psy (ไซ) นักร้องและผู้แสดง MV นี้ แต่ประเด็นที่ผมชวนคุยกับนักศึกษา ซึ่งก็ไม่ได้ใหม่นัก แต่ผมชอบวิธีที่ผมปะติดปะต่อเรื่องราว มีดังนี้

ผมเริ่มจากข้อสรุปว่า เพลงนี้เป็นตัวอย่างของการนำเอาความขี้เหร่ ความไร้รสนิยม รวมทั้งคามบ้านๆ เปิ่นๆ เชยๆ ดาดๆ ที่อาจเรียกรวมความอยู่ในคำว่า kitsch มาเป็นงานศิลปะ พร้อมๆ กับการที่มันเป็นศิลปะของการล้อเลียนชนชั้นสูง ล้อเลียนความมั่งคั่ง ความเหลื่อมล้ำ

จากนั้นผมลองตีความฉากต่างๆ ของ MV เพลงนี้ (บทวิจารณ์หลายชิ้นก็ทำอย่างนี้) เช่น ฉากแรก แทนที่จะเป็นนายไซนอนอาบแดดที่ชายหาด นายไซกลับกางเตียงผ้าใบนอนบนทรายสนามเด็กเล่น ฉากเดินควงสาวสองคนเดินฝ่าฝุ่นและบรรดาขยะที่ลอยมา ฉากซาวน่าในห้องซาวน่าคับแคบที่มีพวกยากูซ่า ฉากเต้นบนรถทัวร์พวกป้าๆ ฉากลานจอดรถ แต่นายไซใน MV ไม่มีรถขับ ฯลฯ เรียกว่า ทุกฉากของ MV นี้แสดงความไร้รสนิยม ความไม่ใช่ชาวคังนัมของไซ

Chaeyoung Jung นักศึกษาที่ร่วมเสวนาให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า เสื้อผ้าที่ไซใส่เป็นเสื้อผ้านักร้องลูกทุ่งเกาหลี แถมท่าเต้นของไซ ยังออกแนว "ไร้รสนิยม" สำหรับชาวเกาหลี ทั้งประวัติและหน้าตาของไซ ก็ล้วนไม่เป๊ะกับความหรูหรา ความเป็นย่านธุรกิจดนตรีและแฟชั่นชั้นนำของคังนัม

ความไร้รสนิยมเหล่านี้จึงขัดแย้ง ตัดกันกับการโอ้อวดของไซ (ใน MV) ว่า "แบบฉันนี่แหละ คนมีรสนิยมแบบคังนัม" แต่เป็นการตัดกัน ขัดแย้งแบบเสียดเย้ยรสนิยมคนรวย คนชั้นนำ ดังนั้นจึงไม่ผิดเลยที่นักวิจารณ์หลายคนกล่าวขนาดว่า MV นี้ทำขึ้นมาเพื่อวิพากษ์ความฟุ้งเฟ้อของเกาหลีปัจจุบัน

ผมเดินหน้าต่อไปด้วยการเปรียบเทียบกับเพลงไทยสองเพลง คือเพลง "ดาวมหาลัย" ของสาวมาดฯ ซึ่งอยู่ในข่ายของการเสียดสีความฟุ้งเฟ้อลืมตนของสาวบ้านนอก กับอีกเพลงคือ "คิดฮอด" ของบอดี้ สแลม ที่ผมมองว่าเป็นการหากินกับความแปลกของเพลงหมอลำ มากกว่าจะเอาความบ้านๆ พื้นๆ มาวิพากษ์อะไร

ผมโยงไปไกลถึงศิลปะที่เสียดเย้ยด้วยความไร้รสนิยม แบบงาน "นำ้พุ" (Fountain) ของดูชองป์ (Marcel Duchamp) ที่ทำขึ้นเมื่อค.ศ. 1917 (พ.ศ. ๒๔๖๐) ด้วยการเอาโถฉี่ผู้ชายมาหงายขึ้น แล้วเซ็นชื่อ R. Mutt ส่งไปแสดงเป็นงานศิลปะ

ต้องอธิบายยืดยาวว่าดูชองป์ต้องการสื่ออะไรและงานเขาบุกเบิกและมีอิทธิพลมาจนกระทั่งศตวรรษปัจจุบันอย่างไร แต่โดยสรุปคือ ดูชองป์ท้าทายความงามด้วยความไร้รสนิยม ด้วยความบ้านๆ ด้วยความดาดดื่น ด้วย kitsch เขาเสนอให้งานศิลปะเป็นงานทางความคิดมากกว่าทักษะฝีมือ

ประเด็นที่ผมเอาดูชองป์มาเกี่ยวกับ MV Gangnam Style คือ มันคือการนำเอาสิ่งไร้รสนิยมมาเป็นงานศิลปะ เพื่อท้าทายวัฒนธรรมสูงส่ง

ผมยังวิจารณ์ผลงานของศิลปินไทยอีกบางคนที่หากินกับ asethetics of Thai kitsch ซึ่งผมเห็นว่าไม่ต่างอะไรกับการหากินกับความแปลกของเพลงหมอลำ แบบที่บอดี้ สแลมทำ

แถมผมยังโยงไปถึงเรื่องที่ไม่น่าจะโยงไปถึงจนได้ แต่ไม่อยากกล่าวในที่นี้ (ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะเกรงคนจะหาว่าผมกลัวใคร จนต้องหาทางพูดถึง "เรื่องนั้น" จนได้)

ที่น่าสนใจคือ คังนัมสไตล์เวอร์ชั่นไทยอย่างน้อย 2 เวอร์ชั่นนั้น เดินตามวิถีทางศิลปะของ Gangnam Style อย่างแนบสนิท คือฉบับที่เรียกว่า "กำนันสไตล์" และฉบับ "กำนันสิตาย" คือเอาความไร้รสนิยมมาล้อเลียนวัฒนธรรมสูงส่ง พร้อมๆ กับล้อเลียนตนเอง คล้ายๆ กับ "ดาวมหาลัย"

จากนั้นผมลองเปรียบเทียบคังนัมสไตล์หลายๆ เวอร์ชั่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงเวอร์ชั่นที่ล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือ MV เหล่านี้ล้อเลียนสังคมตนเองผ่านชื่อ และลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของสังคมที่ผลิต MV ขึ้นมา (ที่โดดเด่นและมีหลากหลายมากคือของมาเลเซีย ที่เล่นเรื่องเพศ จะอีกยาวเกินไปหากจะให้เขียนวิเคราะห์)

ท้ายสุด ผมพบว่าเพลงคังนัมสไตล์เป็น "วิถีเอเชี่ยน" แบบหนึ่ง ในการวิพากษ์ชนชั้นนำ ด้วยการล้อเลียนตนเอง ถ้ามองในแง่หนึ่ง นี่อาจจะเป็นการดูถูกตนเอง ในอีกด้านหนึ่ง นี่อาจจะเป็นการเอาความพื้นๆ ดาดๆ มาเสพดุจงานศิลปะ 

แต่ผมอยากเลือกที่จะมองว่า วิถีคังนัมสไตล์เป็นวิถีของการวิพากษ์วัฒนธรรมสูงส่ง เป็นการนำเอาวัฒนธรรมที่ขัดกันสองแบบ มาวางไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเยาะเย้ยความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม และพร้อมกันนั้นก็เยาะเย้ยความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจไปในตัว

การเมืองของความไร้รสนิยมอาจไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางวัฒนธรรมและสังคมอันยาวนาน ที่สามารถบ่อนเซาะอำนาจครอบงำทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน

นักศึกษาช่วยกันรวบรวม MV จำนวนมากไว้ใน http://www.facebook.com/events/359615054117336/








 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง