Skip to main content

ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง 

แต่ของขวัญที่คนรับถูกใจ บางครั้งเป็นของขวัญที่คนให้ตั้งใจให้ หรือเลือกนำสิ่งที่ตนรักมาให้ เดี๋ยวนี้จึงมีวิธีจับฉลากของขวัญด้วยการให้แต่ละคนนำของที่รักมา แล้วบอกว่าของสิ่งนั้นมีค่าอย่างไร ในงานปาร์ตีปีใหม่ที่ผมได้ไปร่วมเมื่อวันก่อน เพื่อนกลุ่มหนึ่งก็นำเอาวิธีการนี้มาใช้เล่นจับฉลากกัน

การจับฉลากแบบนี้จะสนุกยิ่งขึ้นหากมีการยอมให้ผู้ที่ไม่พอใจของขวัญตนเอง ขอแลกของขวัญกับคนอื่น โดยที่คนถูกขอไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่การขอแลกก็ต้องมีที่สิ้นสุด เช่นในแต่ละรอบของการขอแลก อาจกำหนดให้สามารถเปลี่ยนมือได้เพียง 4 มือ แล้วก็ค่อยจับฉลากของขวัญชิ้นต่อไป วันก่อนเพื่อนบางคนก็เลยได้ของถูกใจกลับบ้าน ส่วนบางคนแม้ไม่ได้ของถูกใจ ก็มีส่วนทำให้การแลกเปลี่ยนในวันนั้นมีคุณค่าขึ้นมา

วิธีการเช่นนี้คล้ายคลึงกันกับวิธีที่ชาวเกาะทรอเบียนส์ในหมู่เกาะแปซิฟิคใต้ (เหนือประเทศออสเตรเลีย) เคยใช้ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) ปรมจารย์ทางมานุษยวิทยาคนหนึ่งพบว่า ชาวเกาะสร้างวงแหวนของการแลกเปลี่ยน ที่เรียกกันว่า "กูลา" (kula) แลกของมีค่าคือสร้อยคอและกำไลแขน การแลกเปลี่ยนมีกฎเกณฑ์สำคัญได้แก่ สร้อยคอต้องแลกต่อๆ กันไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกา ส่วนกำไลแขนต้องแลกต่อไปกันไปในทิศทางตรงกันข้าม

แม้ว่าสร้อยคอและกำไลแขนบางชิ้นจะมีชื่อเสียง มีค่า ผู้คนอยากเห็นอยากจับต้องอยากครอบครอง หากแต่ว่า แต่ละคนจะสามารถครอบครองสร้อยคอและกำไลแขนได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แบบสมบัติผลัดกันชม แล้วก็ต้องแลกต่อๆ กันไป เครือข่ายของการแลกเปลี่ยนนี้ใหญ่โตมาก กินอาณาบริเวณข้ามทะเลไปหลายเกาะ ข้ามกลุ่มคนที่พูดภาษาที่แตกต่างกันหลายสังคม

ในบรรดาการศึกษาเรื่องของขวัญ ดูจะไม่มีใครเกินมาร์เซล โมส (Marcel Mauss ในหนังสือชื่อ The Gift) เขาเสนอว่า ของขวัญมีวิญญาณของผู้ให้ฝังอยู่ ผู้รับจึงไม่ได้รับมาเพียงวัตถุ แต่รับความผูกพันทางใจของผู้ให้มาด้วย ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ของขวัญสร้างภาระผูกพันที่จะต้องตอบแทน หากไม่ใช่ด้วยสิ่งของ ก็ด้วยความภักดี การให้จึงนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนตอบแทนกลับคืนไม่ว่าจะรูปใดรูปหนึ่งเสมอ การแลกเปลี่ยนจึงสร้างพันธะทางสังคม

สิ่งของในนามของขวัญจึงไม่ได้เป็นเพียงวัตถุ แต่ยังมีคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าทางสังคมแฝงอยู่ หากจะไม่รังเกียจวัตถุกันแบบนักจิตนิยมใจแคบหัวทื่อ วัตถุจึงนับเป็นสื่อสำคัญของการสร้างสายใยทางสังคม

โมสทำให้ของขวัญกลายเป็นมโนทัศน์ทางทฤษฎีที่ยิ่งกว่าเพียงตัวของขวัญเป็นชิ้นๆ แต่เขาได้ขยายความเข้าใจเรื่องของขวัญไปสู่การแสกเปลี่ยนแบบอื่นๆ ทั้งงานปาร์ตี งานเลี้ยงฉลอง คำอวยพร ตลอดจนการบนบานศาลกล่าว การบริจาค การทำทาน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้วางอยู่บนความสมเหตุสมผลในทางวัตถุแบบแกนๆ 

หากแต่คนแลกเปลี่ยนในงานเฉลิมฉลองกันบนความสมเหตุสมผลทางสังคม และความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่นอกจากจะวางอยู่บนความสัมพันธ์เชิงระบบนิเวศน์แล้ว ยังมีความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ

ลัทธิพิธีทางศาสนาแบบโบราณ ที่ดูเหมือนไร้เหตุผลในสายตาของนักการศาสนาแบบศาสนาใหญ่ๆ ของโลกทั้งหลาย หรือดูเหมือนสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและนักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ (สายคร่ำครึ) ล้วนวางอยู่บนหลักการทางสังคมและจิตวิญญาณที่มีเหตุมีผลของตัวเองไปอีกแบบหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน เราจึงเห็นได้ว่าคนปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างไปจากคนโบราณ เนื่องจากเรายังแลกเปลี่ยนของขวัญกันอยู่ เรายังเฉลิมฉลองกันอยู่ เรายังอวยพรและขอพรกันอยู่ แม้ว่าความเข้าใจแบบเดิมจะถูกแทรกแซงจากความสมเหตุสมผลอย่างใหม่ๆ หรือถูกลดทอนคุณค่าลงไปบ้างก็ตาม

ฉะนั้น จงมาร่วมกันเฉลิมฉลอง ร่วมกันแลกเปลี่ยนสิ่งของ ร่วมกันสืบทอดความเป็นมนุษย์ ด้วยการ "ฆ่าเวลา" กับการดื่มฉลองข้ามปี (ยังอาจจะดีเสียกว่าสวดมนต์ข้ามปีอย่างไม่ใยดีกับการสังหารหมู่ประชาชน) ด้วยการแลกเปลี่ยนคำอวยพร (แม้จะต้องทนฟังคำอวยพรจากคนที่คอยระแวงว่าเราจ้องจะล้มล้างเขากันบ้าง) ด้วยการปาร์ตีหลายๆ วงกับเพื่อนหลากกลุ่ม (เพราะสังคมสมัยใหม่แหลกละเอียดด้วยอาณาบริเวณทางสังคมที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาอย่างกระจัดกระจาย

อย่างไรเสีย (มีคำเตือนอย่างปอดๆ แบบคน "สมัยใหม่" ที่นิยมในเหตุผลอย่างแคบว่า) หากคุณไม่ได้เชื่อถือในปรัชญาของการสูญเสียอย่างที่สุดจนสามารถยอมรับความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิตโดยไม่มีเงื่อนไขได้ ก็ขอให้ฉลองและแลกเปลี่ยนของกำนัลกันแต่พอประมาณ อย่าได้เตลิดเพลิดเพลินกันจนก่อความสูญเสียแก่ตนเองและสังคมมากนักเลย

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์