Skip to main content

ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง


ว่ากันว่า เนื่องจากพวกผู้ใหญ่ในอดีตมัวสาละวนอยู่กับการเก็บเกี่ยวข้าว จึงไม่ได้มีเวลาดูแลเด็กๆ วันนี้จึงจัดเทศกาลเพื่อเอาใจพวกเด็กๆ เป็นการปลอบขวัญและแสดงความรักต่อลูกหลาน 

วันไหว้พระจันทร์ของเวียดนามจึงให้อารมณ์ที่แตกต่างจากในเมืองไทย ซึ่งมีแต่การขายขนมไหว้พระจันทร์ ประกวดขนมไหว้พระจันทร์ยักษ์ และชิงตลาดขนมกันด้วยไส้ขนมสูตรพิศดารต่างๆ นานาจนเหลือจะจินตนาการและรับประทานได้

แต่ไม่รู้ทำไม ความทรงจำเกี่ยวกับ "เต้ดจุงม์ทู" ของผมมักมีสายฝน อากาศชื้นแฉะ และค่อนข้างเย็นๆ คงเป็นเพราะปีแรกๆ ของวันไหว้พระจันทร์ในฮานอยของผมเป็นวันที่ฝนโปรยปราย 

แต่พวกเด็กๆ ก็สนุกสนานกันเต็มที่ เด็กฮานอยถืิอลูกโป่งหลากสีสัน เดินไปมายามค่ำคืน พวกเด็กออกมาเที่ยวเล่นกันตามลำพังเป็นกลุ่มๆ ตามสถานที่สาธารณะ 

ปกติเด็กฮานอยเป็นตัวของตัวเองจนผมกลัว ผมเคยถูกเด็กถ่มน้ำลายแกล้งบนรถเมล์โดยที่แม่เขาไม่ได้ว่าสักคำ ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายมีพลังท้าทายคนโตๆ อย่างน่าประหลาด พอวันปีใหม่ของเด็กๆ มาถึง ผมจึงหลบอยู่ในบ้านเป็นหลัก

พอถึงปลายเดือนตุลาคม ต่อเดือนพฤศจิกายน อากาศในฮานอยจึงจะแห้งลง แทบไม่มีฝน เย็นสบาย จนบางวันต้องใส่เสื้อสองตัว เป็นช่วงเดือนที่เหมาะแก่การเดินเล่นเรื่อยเปื่อยในเมืองฮานอยอย่างยิ่ง

สำหรับผม สถานที่พิเศษของเดือนพฤศจิกายนในฮานอยคือถนน Nguyễn Du ซึ่งตั้งชื่อตามกวีเวียดนามคนสำคัญในต้นศตวรรษที่ 19 ไม่มีใครที่ศึกษาเรื่องเวียดนามแล้วจะไม่รู้จักเหงวียน ซู เนื่องจากผลงานอันโด่งดังของท่านชื่อ "ตำนานแห่งเกี่ยว" (Truyện Kiều) ซึ่งดัดแปลงมาจากวรรณคดีจีนอีกทีหนึ่ง (หากต้องการทราบเรื่องราว จะหาอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ไม่ยากนัก)

ถนนเหงวียนซูปลูกต้น hoa sữa (ไม่สามารถเขียนด้วยอักษรมหัศจรรย์ได้ ที่ใกล้เคียงหน่อยคือเขียนว่า ฮวา เสือ แปลตามตัวว่าดอกน้ำนม หรือชื่อไทยว่าพระยาสัตบัน หรือต้นตีนเป็ด) เรียงรายริมถนน ฮวาเสือบนถนนเหวงียนซูสูงชลูด แตกกิ่งก้านที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจนสวยงาม ประดุจไม้ดัดต้นโต 

เพียงรูปทรงสูงชลูดและกิ่นก้านที่ตัดผ่านฟ้าใสในฤดูใบไม้ร่วง ก็ชวนให้แหงนหน้ามองไม่รู้เบื่อ 

พลันเมื่อถึงเดือนสิบเอ็ด ฮวาเสือออกดอกสะพรั่ง ส่งกลิ่นรัญจวนอบอวนไปทั่วท้องถนน จนต้องหาโอกาสไปนั่งจิบกาแฟในร้านคุ้นเคยบนถนนเหวงียนซูอยู่เนืองนิจ

หวังว่าจะได้กลับไปฮานอยในฤดูฮวาเสืออีกครั้งในเร็ววันนี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"