Skip to main content


ปีนี้หลายคนคงระลึกถึงเหตุการณ์รุนแรงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยรูปนักศึกษาเรือนแสนถมเต็มถนนราชดำเนินรายล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า "พลังบริสุทธิ์" กันอีก แน่นอนว่าผมก็เหมือนกับใครก็ตามที่ใฝ่ฝันให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้อย่างแท้จริง ย่อมยินดีกับภาพนี้

แต่ผมเอียนกับการที่จะต้องคอยติดป้ายให้นักศึกษาดูบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนั้นตลอด เนื่องจาก

(1)

 ภาพความบริสุทธิ์ของนักศึกษาถูกสร้างให้ขัดแย้งตัดกันกับพลังของเผด็จการทหารในยุค 14 ตุลา 2516 แต่เราต่างรู้กันดีว่าภาพสีขาวนี้กลับถูกลบล้างไปอย่างไร้ความปรานี เมื่อนักศึกษาถูกแปลงให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ในวันที่ 6 ตุลาคมในอีกสามปีถัดมา 

ความเป็นนักศึกษาจึงไม่ได้เป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์เสมอไป ชนชั้นนำไทยพร้อมจะโอบอุ้มหรือเข่นฆ่านักศึกษา (และมวลชนใดๆ) ได้เสมอ สุดแท้แต่ว่านักศึกษาจะอยู่ข้างใคร สุดแท้แต่นักศึกษาจะไม่อยู่ข้าง "ใคร"

(2) การยกย่องให้นักศึกษาบริสุทธิ์ผุดผ่องกลับทำให้พลังมวลชนอื่นๆ กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังไปหมด และจึงแปดเปื้อนมีมลทินกันไปเสียหมด ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วนักศึกษาเองก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ไม่ต่างจากกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ 

แต่ประวัติศาสตร์แนวหนึ่งกลับเขียนให้มีแต่เพียงนักศึกษาเท่านั้นที่เป็นมวลชนซึ่งมีอุดมการณ์สูงส่ง หากคนกลุ่มอื่นเดินขบวน อย่างดีที่สุดเขาก็จะถูกมองว่าทำเพียงเพื่อผลของตนเอง อย่างเลวร้ายที่สุดคือ พวกเขาถูกดูแคลนว่าเป็นแค่ม็อบรับจ้าง

ภาพบริสุทธิ์ผุดผ่องของนักศึกษาในอดีต จึงเปล่งรัศมีกลบลบกลุ่มพลังอื่นๆ ไปเสียทั้งหมด พลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาลดทอนคุณค่าของให้พลังอื่นดูหมองหม่นไปเสียทั้งหมด

(3) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษา 14 ตุลาฯ 2516 กลายเป็นทุนทางการเมือง โอบอุ้ม "คนเดือนตุลา" ให้ดูดีมีราศรีเกินจริงไปเสียทุกคน ราวกับว่าเราจะใช้มาตรฐานที่วัดตัดสินคนเดือนอื่น ไปตัดสินคนเดือนตุลาฯ ไม่ได้เด็ดขาด เพราะไม่ว่าจะทำอะไร พวกเขาก็จะบริสุทธิ์ล้ำหน้าเกินพวกเราเสมอ

แม้ว่าหลายต่อหลายคนจะมีความสามารถ มีผลงานเพียงแค่ระดับ "งั้นๆ" แต่บุญบารมีทางการเมืองของการเป็น "คนเดือนตุลาฯ" ที่แปะติดหน้าผากพวกเขาไว้ ก็จะช่วยขับเน้นให้อะไรที่งั้นๆ ไต่ระดับกลายเป็นอัจฉริยะไปได้อย่างง่ายดาย 

(4) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษายังสร้างความคาดหวังอย่างผิดๆ ต่อนักศึกษารุ่นต่อๆ มาตลอดว่า นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ จึงต้องมีอุดมการณ์สูงส่ง จึงควรเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์ ทั้งๆ ที่ที่จริงแล้วพวกเขาก็ทำเพื่อผลประโยชน์ตนเอง และเมื่อถึงยุคที่พวกเขาต่างสมประโยชน์แล้วดังเช่นในทุกวันนี้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวกันอีกต่อไป 

ไม่เท่านั้น พวกเขายังกลับพร้อมจะเหยียบย่ำมวลชนกลุ่มอื่นที่ขัดผลประโยชน์ของพวกเขา สังคมจึงไม่ควรคร่ำครวญเรียกร้องอะไรนักหนากับพลังนักศึกษา ซึ่งหมดพลังเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ไปแล้วอีกต่อไป

ในเมื่อขบวนการมวลชนใดๆ ก็ล้วนเป็นพลังไม่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการนักศึกษา ม็อบมือถือ สมัชชาคนจน พันธมิตรประชาชนฯ คนเสื้อแดง เราจะยังตัดสินคุณค่าของมวลชนแค่จากสถานภาพของพวกเขากันอยู่อีกทำไม

การตรวจสอบว่าพลังมวลชนกลุ่มใดทำเพื่อผลประโยชน์ใด ปิดกั้นผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมหรือไม่ มวลชนใดส่งเสริมระบอบหมอบกราบ ไม่เห็นหัวประชาชน ขัดขวางกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินหรือไม่ เป็นสิ่งที่ควรจะใส่ใจกันมากกว่าหรือไม่

แล้วก็โปรดเลิกเรียกพลังนักศึกษาว่าพลังบริสุทธิ์กันเสียทีเถอะ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ