Skip to main content


ปีนี้หลายคนคงระลึกถึงเหตุการณ์รุนแรงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยรูปนักศึกษาเรือนแสนถมเต็มถนนราชดำเนินรายล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า "พลังบริสุทธิ์" กันอีก แน่นอนว่าผมก็เหมือนกับใครก็ตามที่ใฝ่ฝันให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้อย่างแท้จริง ย่อมยินดีกับภาพนี้

แต่ผมเอียนกับการที่จะต้องคอยติดป้ายให้นักศึกษาดูบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนั้นตลอด เนื่องจาก

(1)

 ภาพความบริสุทธิ์ของนักศึกษาถูกสร้างให้ขัดแย้งตัดกันกับพลังของเผด็จการทหารในยุค 14 ตุลา 2516 แต่เราต่างรู้กันดีว่าภาพสีขาวนี้กลับถูกลบล้างไปอย่างไร้ความปรานี เมื่อนักศึกษาถูกแปลงให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ในวันที่ 6 ตุลาคมในอีกสามปีถัดมา 

ความเป็นนักศึกษาจึงไม่ได้เป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์เสมอไป ชนชั้นนำไทยพร้อมจะโอบอุ้มหรือเข่นฆ่านักศึกษา (และมวลชนใดๆ) ได้เสมอ สุดแท้แต่ว่านักศึกษาจะอยู่ข้างใคร สุดแท้แต่นักศึกษาจะไม่อยู่ข้าง "ใคร"

(2) การยกย่องให้นักศึกษาบริสุทธิ์ผุดผ่องกลับทำให้พลังมวลชนอื่นๆ กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังไปหมด และจึงแปดเปื้อนมีมลทินกันไปเสียหมด ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วนักศึกษาเองก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ไม่ต่างจากกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ 

แต่ประวัติศาสตร์แนวหนึ่งกลับเขียนให้มีแต่เพียงนักศึกษาเท่านั้นที่เป็นมวลชนซึ่งมีอุดมการณ์สูงส่ง หากคนกลุ่มอื่นเดินขบวน อย่างดีที่สุดเขาก็จะถูกมองว่าทำเพียงเพื่อผลของตนเอง อย่างเลวร้ายที่สุดคือ พวกเขาถูกดูแคลนว่าเป็นแค่ม็อบรับจ้าง

ภาพบริสุทธิ์ผุดผ่องของนักศึกษาในอดีต จึงเปล่งรัศมีกลบลบกลุ่มพลังอื่นๆ ไปเสียทั้งหมด พลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาลดทอนคุณค่าของให้พลังอื่นดูหมองหม่นไปเสียทั้งหมด

(3) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษา 14 ตุลาฯ 2516 กลายเป็นทุนทางการเมือง โอบอุ้ม "คนเดือนตุลา" ให้ดูดีมีราศรีเกินจริงไปเสียทุกคน ราวกับว่าเราจะใช้มาตรฐานที่วัดตัดสินคนเดือนอื่น ไปตัดสินคนเดือนตุลาฯ ไม่ได้เด็ดขาด เพราะไม่ว่าจะทำอะไร พวกเขาก็จะบริสุทธิ์ล้ำหน้าเกินพวกเราเสมอ

แม้ว่าหลายต่อหลายคนจะมีความสามารถ มีผลงานเพียงแค่ระดับ "งั้นๆ" แต่บุญบารมีทางการเมืองของการเป็น "คนเดือนตุลาฯ" ที่แปะติดหน้าผากพวกเขาไว้ ก็จะช่วยขับเน้นให้อะไรที่งั้นๆ ไต่ระดับกลายเป็นอัจฉริยะไปได้อย่างง่ายดาย 

(4) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษายังสร้างความคาดหวังอย่างผิดๆ ต่อนักศึกษารุ่นต่อๆ มาตลอดว่า นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ จึงต้องมีอุดมการณ์สูงส่ง จึงควรเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์ ทั้งๆ ที่ที่จริงแล้วพวกเขาก็ทำเพื่อผลประโยชน์ตนเอง และเมื่อถึงยุคที่พวกเขาต่างสมประโยชน์แล้วดังเช่นในทุกวันนี้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวกันอีกต่อไป 

ไม่เท่านั้น พวกเขายังกลับพร้อมจะเหยียบย่ำมวลชนกลุ่มอื่นที่ขัดผลประโยชน์ของพวกเขา สังคมจึงไม่ควรคร่ำครวญเรียกร้องอะไรนักหนากับพลังนักศึกษา ซึ่งหมดพลังเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ไปแล้วอีกต่อไป

ในเมื่อขบวนการมวลชนใดๆ ก็ล้วนเป็นพลังไม่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการนักศึกษา ม็อบมือถือ สมัชชาคนจน พันธมิตรประชาชนฯ คนเสื้อแดง เราจะยังตัดสินคุณค่าของมวลชนแค่จากสถานภาพของพวกเขากันอยู่อีกทำไม

การตรวจสอบว่าพลังมวลชนกลุ่มใดทำเพื่อผลประโยชน์ใด ปิดกั้นผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมหรือไม่ มวลชนใดส่งเสริมระบอบหมอบกราบ ไม่เห็นหัวประชาชน ขัดขวางกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินหรือไม่ เป็นสิ่งที่ควรจะใส่ใจกันมากกว่าหรือไม่

แล้วก็โปรดเลิกเรียกพลังนักศึกษาว่าพลังบริสุทธิ์กันเสียทีเถอะ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"