Skip to main content


ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในบ้านเราขณะนี้หลายคนชอบพูดกันถึงเรื่องประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ราวกับว่านี่จะเป็นทางออกที่ดีกว่าประชาธิปไตยตัวแทน (representative democracy) ในการต่อกรกับการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับทุน

เมื่อวานรับชวนไปคุยเรื่องวิกฤติประชาธิปไตยในยุคทุนนิยมปัจจุบันอะไรเนี่ยแหละ ผมบอกผู้จัดว่าไม่มีปัญญาพูดเรื่องอะไรใหญ่ๆ กับเขาหรอก ยิ่งได้ยินว่าเป็นการพูดเพื่อเปิดการบรรยายของนักปราชญ์รุ่นใหม่อย่างสลาวอย ชิเชค (ชื่อเขายังไม่รู้จะสะกดถูกหรือเปล่าเลย) ผมยิ่งกลัวเข้าไปใหญ่ เพราะมีแต่คนคูลๆ เท่านั้นที่อ่านชิเชคกัน (จริงๆ นะครับ นี่ไม่ได้ประชดประชันอะไร) ผมเป็นคนไม่มีกระดูกสันหลัง ทุกวันนี้จะเดินยังต้องคอยเกาะกำแพงเรียกหาอ.อุบลช่วยเป็นระยะๆ อยู่เลย จะไปรู้เรื่องอะไร

แต่ก็เอาล่ะ ส่วนหนึ่งเพราะผมมีลิสต์งานเขียนที่คาใจต้องอ่านอยู่ คือการศึกษาสังคมทุนนิยมปัจจุบันโดยพวกนักมานุษยวิทยา และล่าสุดมีงานเขียนเกี่ยวกับ Occupy Movement และ Arab Spring ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว งานเขียนเรื่องนี้ในทางมานุษยวิทยาทยอยออกมาเรื่อยๆ ก็ถือซะว่า ยังไงก็ต้องอ่านอยู่ดี ช้ากว่านี้คงไม่มีใครคุยด้วย อีกอย่าง ผมถือว่าการถูกกระตุ้นโดยคนรุ่นใหม่เสมอๆ เป็นกิจกรรมทางปัญญาที่สำคัญไม่แพ้การวิจารณ์ครูบาอาจารย์หรือรุ่นพี่ๆ

ขอเล่าสั้นๆ เฉพาะประเด็นกระชับๆ ที่ผมพูดและส่วนใหญ่เรียนรู้จากเอกสารจำนวนเล็กน้อยที่อ่านแล้วกันครับ

ผมอ่านงานที่ศึกษา "ขบวนการยึดครอง" 3 ชิ้นด้วยกัน ทั้งหมดเป็นงานทางมานุษยวิทยา ใช้วิธีการศึกษาแบบ ethnography (ชาติพันธ์ุนิพนธ์ คืออะไร ขอให้ไปหาอ่านเอาเองครับ) พิมพ์ใน American Ethnologist ปี 2012 คือเพิ่งออกมาปีนี้เอง

ชิ้นแรกของ Maple Razsa และ Andrej Kurnik ศึกษาการยึดครองจัตุรัสหน้าตลาดหุ้นในเมืองลุเบียยา (Ljublijana มีคนช่วยถ่ายเสียงให้อย่างนั้น) บ้านเกิดของชิเชค ในประเทศสโลวาเนีย ชิ้นต่อมาของ Jeffrey Juris ศึกษาการยึดครองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ชิ้นที่สามของ Jane Collins เล่าเรื่องการยึดครองที่ทำการรัฐของรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา สรุปคือ 

(1) ในแง่ของกลุ่มคน กลุ่มที่ยึดครองที่สโลวาเนียคือกลุ่มคนใช้แรงงาน โดยเฉพาะคนอพยพและกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง ส่วนที่บอสตัน เป็นคนขาวชนชั้นกลาง ผู้เขียนเขาไม่ได้เน้นอาชีพให้เห็นชัดเจน แน่นอนว่าบางคนอาจตกงานอยู่ ส่วนที่วิสคอนซิน คนที่ริเริ่มการยึดครองเป็นครูโรงเรียนมัธยมและประถม ต่อมาเจ้าหน้าที่รัฐและพวกคนใช้แรงงานมาร่วมด้วย

(2) ประเด็นเรียกร้อง คนใช้แรงงานที่สโลวาเนียต่อต้านการที่สโลวาเนียไม่ได้ผันทรัพยาการมาให้คนยากจน แต่กลับใช้เพื่อโอบอุ้มพวกนายทุนเป็นหลัก และต่อต้านการที่พรรคการเมืองฝ่ายขวา ที่ต่อต้านแรงงานอพยพกำลังเติบโต พวกที่บอสตันต่อต้านทุนนิยมและประชาธิปไตยแบบตัวแทน ส่วนที่วิสคอนซิน ต่อต้านการลดสวัสดิการเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

(3) วิธีการรวมตัว ในสโลวาเนียอาศัยเครือข่ายที่ทำงานกันต่อเนื่องระหว่างคนใช้แรงงานกับนักกิจกรรม เรียกกิจกรรมพวกเขาว่าประชาธิปไตยทางตรง แต่ที่บอสตันเป็นการรวมตัวผ่านเครือข่ายออนไลน์ ที่วิสคอนซิน มีสหภาพแรงงานเข้ามามีบทบาท


ข้อสังเกตและประเด็นที่ผมว่าน่าสนใจคิดต่อคือ

- กรณีศึกษาทั้งสามชี้ว่า ขบวนการยึกครองในที่ต่างๆ ต่างมีกลุ่มคน เป้าหมาย และวิธีการก่อตัวที่แตกต่างกัน ที่เหมือนกันคือการยึดครองสถานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำการของรัฐหรือสัญลักษณ์ทางธุรกิจหรือระบบทุนนิยม และการต่อต้านการร่วมมือกันของรัฐและทุนเท่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจขบวนการยึดครองในแต่ละที่ ภายในบริบทของแต่ละท้องถิ่นเอง

- ที่สโลวาเนีย มีเกร็ดน่าสนใจคือ ราสซากับเคอร์นิคเล่าว่า เดิมทีชิเชคไม่ได้ใส่ใจกับขบวนการเหล่านี้เท่าใดนัก แต่ภายหลังชิเชคกลับสนับสนุนการยึดครองวอลล์สตรีท ส่วนในประเทศตนเอง ชิเชคดูจะไม่ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่แรก การยึดครองของพวกคนใช้แรงงานในสโลวาเนียจึงเหมือนย้อนศรความคิดทางการเมืองของนักคิดใหญ่อย่างชิเชคไปด้วยในตัว

- กรณีที่บอสตัน จูริสเห็นว่าการยึดครองบอสตันเกิดจาก "การรวมตัว" คือ แค่มาอยู่รวมๆ กัน บนเครือข่ายออนไลน์ก่อน แม้ "social media" มีส่วนสำคัญก็จริง แต่จูริสเห็นว่า ที่จริง social media อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิด social network หรือ "เครือข่ายทางสังคม" อย่างแท้จริง เนื่องจากมันชั่วคราว เป็นการมาปรากฏตัวพร้อมๆ กันเท่านั้น 

ถ้าจะให้ผมเปรียบ ก็เหมือนการมากดไลค์กันมากๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างกลุ่มอะไรขึ้นมา เป็นเพียงมีปัจเจกชนมากๆ มายืนรวมๆ กัน เท่านั้นเอง ดังนั้น ปัญหาคือ หากจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการรวมตัวทางการเมือง มันก็จะมีปัญหาในแง่ที่ว่า การรวมตัวนี้ยังไม่นำไปสู่อะไร และมันก็จะสาบสูญไร้ผลต่อเนื่องใดๆ หากไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นเครือข่ายได้

- หากจะเปรียบเทียบกับในประเทศไทย การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะ 6-7 ปีที่ผ่านมานับได้ว่ามี "การยึดครอง" พื้นที่สำคัญๆ หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็จะเห็นได้ว่า วิธีการยึดครองเป็นเพียงรูปแบบทางการเมืองที่แม้ว่าจะเรียกได้ว่าเป็น "ประชาธิปไตยทางตรง" แต่คนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงต่างก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่า ประชาธิปไตยทางตรงจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าหรือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนเสมอไป

- หากจะนับขบวนการยึดครองในที่ต่างๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบทางตรง ถึงที่สุดแล้วขบวนการประชาธิปไตยแบบทางตรงก็ไม่สามารถสืบทอดคงทนต่อเนื่องไปได้ง่ายๆ หากไม่ได้มีการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่มั่นคงขึ้นมา และในแต่ละที่ แม้ว่าจะมีการต่อต้านประชาธิปไตยแบบตัวแทน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีใครเสนอให้ใช้ระบอบเผด็จการไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร มาแทนที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ขอบคุณ The Reading Room, Bangkok และ Trin Aiyara ที่ชวนมาปวดขมอง และขอบคุณผู้ฟังและผู้ร่วมนำเสนอ ที่ให้ความรู้และประสบการณ์การพูดในที่กึ่งสาธรณะอีกแบบหนึ่ง

คำเตือน (สำหรับบางคนที่แยกแยะไม่ออก): นี่ไม่ใช่งานวิชาการ มันเป็นเสมือนข้อขีดเขียนบนกำแพงวัด ขอได้โปรดเข้าใจฐานะและพื้นที่ของมัน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ