Skip to main content

ผมไปสังขละบุรีกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็จำไม่ได้แล้ว ราวกับว่าเป็นนักท่องเที่ยวคนฉกาจ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ส่วนหนึ่งที่ได้ไปบ้างก็เพราะน้าของแฟนมีบ้านหลังที่สองอยู่ที่ทองผาภูมิ เมื่อก่อนได้ไปบ้างเป็นครั้งเป็นคราว บางคราวได้ไปนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่นั่นต่อเนื่องนานๆ เลยทีเดียว

เมื่อต้องสอนวิชาหนึ่งให้นักศึกษานานาชาติเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มชาติพันธ์ุ (ภาษาทั่วไปเรียกชนเผ่า แต่คำนี้ล้าสมัยแล้ว ขอไม่อธิบายในที่นี้) ผมก็อาศัยความรู้จักเส้นทางและพื้นที่อยู่บ้าง พานักศึกษามาชิมลาง มีประสบการณ์ตรงกับชีวิตผู้คน ผมเลือกสังขละบุรีด้วยเหตุผลดังกล่าว

ปีนี้จัดทริปลักษณะนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ปีที่แล้วอดไป เพราะน้ำท่วม ระหว่างทางเส้นนี้มีจุดน่าสนใจหยุดพักและเรียนรู้ได้มากมาย แต่ก็ต้องตัดออกหลายที่ ปกติผมจัดแค่สามวัน ซึ่งน้อยไป เพราะลำพังรถวิ่ง กว่าจะออกจากท่าพระจันทร์ไปถึงสังขละบุรีก็ร่วม 5 ชั่วโมงแล้ว

แต่ละครั้งที่ไปได้ประสบการณ์ ได้รู้เห็น ได้พบผู้คนแปลกใหม่เสมอ ครั้งแรกที่จัดทริปเส้นทางนี้ ได้พบอีกซีกหนึ่งของชุมชนวัดวังวิเวการามที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ มีครั้งหนึ่งได้ร่วมการฉลองกระทงในคืนก่อนวันลอยกระทงกับชาวบ้าน อีกครั้งหนึ่งได้พบคนจัดกิจกรรมการสอนภาษาสองภาษาในหมู่บ้าน ครั้งหนึ่งได้พบครูสอนนาฏศิลป์มอญเดินทางจากพม่ามาสอนวัยรุ่นที่สังขละบุรี อีกครั้งหนึ่งได้พบอดีตผู้ร่วมขบวนการปลดปล่อยมอญ ในครั้งนี้ก็ได้พบอะไรแปลกใหม่เช่นกัน

คนไปเที่ยวสังขละบุรีโดยมากก็จะนึกถึงกิจกรรมและสถานที่อยู่ไม่กี่แห่ง เช่น สะพานไม้ วัดหลวงพ่ออุตตมะ เจดีย์พุทธคยาจำลอง กิจกรรมตักบาตรพระมอญ แล้วไปช้อปปิ้งที่ด่านเจดีย์สามองค์ แล้วก็กินปลาแรดทอด ปลาคังลวก ทอดมันปลากราย ปลาเหล่านี้มาจากน้ำเหนือเขื่อนเขาแหลม

แต่ใครจะรู้หรืออยากรู้บ้างว่า ทำไมจึงมีสะพานไม้ ใครเป็นคนสร้าง ทำไมชาวมอญจึงมาอยู่ที่นี่ เขาอยู่กันอย่างไร ทำมาหากินอะไร ทำไมเขาจึงเรียกสองฝั่งของสะพานไม้ว่าฝั่งไทยกับฝั่งมอญ ใครเคยเดินเข้าไปในวัดบ้าง ใครเคยเดินขึ้นบันไดที่ชาวบ้านใช้เดินขึ้นไปถวายของพระบ้าง ทำไมวัดวังวิเวการามจึงใหญ่โตมโหฬาร ใครเคยรู้บ้างว่าที่ดินใน “ฝั่งมอญ” เป็นของวัดทั้งหมด แล้ววัดเก็บค่าเช่าหรือไม่

มีใครคุยกับคนมอญบ้าง คนมอญที่ไม่ใช่แม่ค้าน่ะ คนมอญต่างจากคนพม่าอย่างไร ใครเดินไปที่ตลาดของคนมอญเองบ้าง มีอะไรขายบ้าง ใครเคยขึ้นเรือนคนมอญบ้าง เรือนมอญต่างจากเรือนไทยอย่างไร คนมอญนับถือศาสนาอะไร ทำไมจึงมีรูปในหลวงติดบ้านพร้อมๆ กับเจดีย์ชเวดากองเต็มไปหมด บางเรือนมีรูปทหารมอญ เขาเป็นใคร

รู้ไหมว่าคนที่นี่ได้สิทธิ์พลเมืองเท่าคนไทยหรือไม่ มีสักกี่คนที่ได้สิทธิ์นั้น ทำไมเกิดชุมชนมอญวัดวังฯ มีชนชั้นในชุมชนนี้หรือไม่ ยังมีคนมอญอพยพเข้ามาหรือไม่ คนมอญที่นี่ต่างจากคนมอญที่อื่นๆ ในประเทศไทยหรือไม่ คนมอญที่สังขละฯ อยากกลับไปเมืองมอญในพม่าหรือไม่ คนมอญยังอยากมีประเทศของตนเองหรือไม่ ทำไมคนมอญจึงยังเป็นคนมอญ คนมอญที่สังขละบุรียังติดต่อกับมอญที่พม่าหรือไม่ อนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป เด็กๆ ที่นี่มีการศึกษาสูงหรือไม่ และอีกหลายคำถามที่นักท่องเที่ยวมักไม่ถาม

คำถามเหล่านี้ควรถามในการท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์ แต่ปัญหาใหญ่ของการท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์คือ ในเมื่อเราไม่รู้ภาษาเขา หรือกรณีนักเรียนต่างชาติคือ ไม่รู้ภาษาไทยดีพอที่จะถามผู้คน แล้วพวกเราจะเข้าใจอะไรได้อย่างไร จะเข้าถึงชุมชนที่เราไปเที่ยวได้อย่างไร

ต่อปัญหานี้ ผมขอตอบว่า เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ รู้จากผัสสะ จากการมอง การฟัง การชิม การสัมผัส การดมกลิ่น

เราต้องไม่ด่วนสรุปว่าอะไรต่างๆ ที่เรารับรู้ รู้สึกได้ จะมีความหมายอย่างที่เราเคยเข้าใจเคยรับรู้มา เราต้องสงสัยต่อการรับรู้ที่เคยมีมาก่อนนี้ของเรา แล้วเปิดใจให้กับความรับรู้ต่อหน้าเราใหม่ ว่าอาจจะไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจมาก่อน

เราต้องบันทึกสิ่งที่เรารับรู้อย่างพินิจพิเคราะห์ ไม่ใช่สักแต่ว่าเก็บๆ ข้อมูลมาโดยไม่เข้าใจความหมายที่คนในสังคมนั้นเข้าใจ

วิธีหนึ่งที่เราจะเรียนรู้ได้คือ การเรียนรู้จากปฏิกิริยาที่เรามีต่อเขา เช่น ที่เรารู้สึกว่าแปลก เหม็น ไม่น่าอภิรมย์ ไม่อร่อย น่ารังเกียจ น่าสนใจ น่าทึ่ง น่าขัน และที่เขาขำเรา ตักเตือนเรา ทำหน้าสงสัยเรา ไม่เข้าใจเรา เหล่านี้คือ culture shock ที่เราและเขามีต่อกัน คือจุดปะทะกันของความคุ้นเคย คือจุดปะทะกันของวัฒนธรรม คือจุดเริ่มต้นของความเข้าใจความแตกต่างและความเข้าใจขีดจำกัดของตัวเรา

ที่สำคัญอีกประการคือ นักท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์ควรถามด้วยว่า มีความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจอะไรที่ทำให้เรามาเป็นผู้ท่องเที่ยวส่วนเขาเป็นผู้ถูกเที่ยว มีอะไรที่ทำให้เราได้ครอบครองมุมมองที่น่าอภิรมย์ในขณะที่คนในชุมชนที่ถูกท่องเที่ยวไม่มีโอกาสนั้น

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง