Skip to main content

 

เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์
 
เกร่ินนำ
 
ก่อนอื่น ขอชื่นชมผลงานนิสิตทุกชิ้น (ไม่ค่อยคุ้นกับการใช้คำว่านิสิตเท่าไรนัก) หากให้ผมเป็นอาจารย์ผู้สอน ผมให้ A ทุกชิ้นแน่นอน บางชิ้นผมว่าทำดีเกินกว่างานนักศึกษาปริญญาเอกที่ผมเคยอ่านจากสถาบันต่างๆ ด้วยซ้ำ ยิ่งกว่านั้น งานแต่ละชิ้นยังให้ความรู้ใหม่แก่ผมมากมาย อย่างน้อยเอกสารอ้างอิงที่ค่อนข้างครบถ้วน ก็ช่วยให้สามารถไปค้นคว้าต่อได้
 
แต่หากจะยอกันไปก็คงไม่เกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ อย่างไรก็ดี ขอให้เข้าใจว่า ผมเพียงต้องการชวนคิดต่อจากที่นำเสนอมา ขออย่าคิดว่าการวิจารณ์นี้จะไปลดทอนคุณภาพของงานที่มีสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้วก็แล้วกันครับ นอกจากนั้น เนื่องจากผมจะใช้มาตรฐานในการวิจารณ์แบบเดียวกับที่ผมใช้วิจารณ์งานวิชาการทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือศาสตราจารย์ผมก็ใช้มาตรฐานนี้ ฉะนั้นไม่ต้องตกใจหากจะพูดอะไรดูรุนแรง แต่ควรภูมิใจว่า ผมใช้มาตรฐานเดียวกับงานวิชาการทั่วไป
 
ก่อนอื่น ขอให้ความเห็นต่อกรอบของการจัดงานว่า การนำผลงานของนิสิตปริญญาตรีมาเสนอนั้นน่าชื่นชมมาก เพราะมีงานจำนวนมากที่มีคุณภาพ ให้ข้อมูลใหม่ๆ มีมุมมองเฉพาะตัว แต่น่าเสียดายที่ไม่มีเวทีแสดงออกของตนเอง
 
แต่ก็จะขอตั้งคำถามท้ิงไว้นิดหนึ่งว่า ทำไมไม่มีบทความของนิสิตหญิงเลย แล้วทำไมมีแต่งานทางสังคมศาสตร์ ไม่มีงานทางมนุษยศาสตร์ (แม้ว่าจะเป็นคณะรัฐศาสตร์ก็ตาม) เรื่องวรรณกรรม ศิลปะ ศาสนา ปรัชญาหายไปไหน ที่สำคัญคือ นี่อาจมีส่วนในการจำกัดกรอบและวิธีวิทยาของการศึกษา (นิสิตผู้จัดตอบว่า มีผลงานส่งมาน้อยมาก และนี่เป็นการจัดครั้งแรก จึงขาดตกบกพร่อง)
 
ขอวิจารณ์รวมๆ กันใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ กรอบการศึกษา วิธีการศึกษา และจุดยืนของการศึกษา
 
(1) กรอบการศึกษา
 
งานแต่ละชิ้นอาศัยกรอบที่หลากหลายก็จริง แต่จะทำอย่างไรที่จะหากรอบซึ่งพัฒนาความรู้อาเซียนแบบใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น การเข้าใจองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ จะต้องเข้าใจอะไรเป็นพิเศษ แตกต่างจากการศึกษาการรวมตัวขององค์การร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆ ในโลกนี้หรือเปล่า
 
บางทีปัจจัยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจะตอบได้ เช่น การมีสถาบันกษัตริย์ (ซึ่งน่าจะช่วยอธิบายบทบาทของการใช้เคร่่ืองมือเชิงอุดมการณ์ในภูมิภาค อันเป็นส่วนสำคัญในความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค และการสร้างเครือข่ายการเมืองระหว่างประเทศ) การมีสถาบันการเมืองที่ต่อต้านอาณานิคมตะวันตก (อย่างในประเทศอื่นๆ รอบๆ ไทย อาจมีส่วนในการทำความเข้าใจเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละประเทศในการร่วม ไม่ร่วมอาเซียนแต่แรก) หรือปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์การเมืองในแต่ละประเทศ อาจช่วยให้เข้าใจอะไรมากขึ้น
 
ดังนั้น ถ้าตั้งคำถามใหม่ เช่น การที่ถนัด คอมันตร์ผลักดันให้เกิดการก่อตั้งอาเซียนเพื่อชิงการนำจากทหารคงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น การที่ถนัดถูกกันออกไปเมื่อพยายามมีบทบาทล้ำหน้าสหรัฐ ไปเจรจากับจีน ชวนให้คิดว่า เงื่อนไขภายนอกยังเป็นเงื่อนไขสำคัญ
 
หากตั้งโจทย์ใหม่ว่า ถนัดเป็นตัวแทนฝ่ายชนชั้นนำพลเรือน ที่พยายามมีบทบาทในเวทีโลกหรืออย่างน้อยคือเวทีภูมิภาคหรือเปล่า แล้วเมื่อเราดูเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็อาจจะพบโครงสร้างเดียวกัน เพราะขณะนั้น สหรัฐเลี้ยงทหารไปหมดทั่วทั้งอุษาคเนย์ ฉะนั้น นี่อาจเป็นหน่อของการเติบโตของอำนาจต่อรองจากพลเรือนในภูมิภาคก็ได้ การก่อตั้งอาเซียนอาจแสดงถึงการเติบโตของภาคธุรกิจเอกชน ที่ต้องการออกจากโครงครอบของการเมืองแบบสงครามเย็น ที่เน้นเฉพาะบทบาทของกำลังทหาร ในอีกทางหนึ่ง มันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจโดยรวมในภูมิภาคด้วย
 
สำหรับบทความเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการค้าและเรื่องการต่อรองระหว่างประเทศอาเซียน เงื่อนไขที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลสำหรับเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิคและทฤษฎีเกม อาจไม่ใช่ปัญหาสำคัญเท่ากับเงื่อนไขเชิงสถาบัน หรือเงื่อนไขเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองต่างหากที่มีผลต่อการตัดสินใจ ลำพังการคิดในกรอบของการตัดสินใจส่วนตน จะไม่ช่วยให้เราเข้าใจการตัดสินใจในระดับองค์รวม
 
การศึกษาการตัดสินใจจึงขัดกับข้อเสนอเชิงวิพากษ์ที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่บทความเรื่องการต่อรองในเวทีอาเซียนเรียกร้อง การเข้าใจการตัดสินใจของประชาชนจะใช้กรอบทฤษฎีเกมที่เอาประเทศเป็นหน่วยเชิงปัจเจกวิเคราะห์ไม่ได้เด็ดขาด
 
หากต้องการเข้าใจปรากฏการณ์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือของภูมิภาคอุษาคเนย์ เราจะสร้างกรอบใหม่ๆ ให้แก่การเข้าใจอุษาคเนย์อย่างไรได้บ้าง ผมเคยลองเสนอเรื่อง “เพื่อนบ้านศึกษา” คืออุษาคเนย์ศึกษาที่พัฒนาขึ้นมาในภูมิภาคเอง ทำอย่างไรจะไปพ้นจากการศึกษาแต่ประเทศตนเอง ไปสู่ชายขอบและเพื่อนบ้าน ทำอย่างไรจะนำเอาความเข้าใจร่วมกันและความเข้าใจที่ละเอียดอ่อนกว่าของคนไกล มาพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้าน และทำอย่างไรจึงจะทำให้ความรู้เพื่อนบ้าน ตอบโจทย์เชิงประยุกต์ ตอบผลประโยชน์ของคนรากหญ้าในอาเซียนได้ดีขึ้น เป็นต้น
 
(2) วิธีวิทยาศึกษาอาเซียน
 
แต่ละบทความใช้การศึกษาหลายวิธี แต่วิธีไหนที่จะทำให้เราเข้าใจความเป็นภูมิภาคได้บ้าง วิธีแบบเศรษฐมิติที่บทความหนึ่งใช้ บางทีไม่สามารถตอบคำถามในเชิงเหตุผลของปรากฏการณ์ บางคำถามอาจไม่ต้องเสียเวลาวัดเชิงปริมาณ เนื่องจากหลักเหตุผลมันตอบอยู่แล้ว แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ “ทำไม” ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมมันไม่สัมพันธ์กันแบบที่พบในบริบทอื่น คำถามแบบนี้ตอบไม่ได้ด้วยเศรษฐมิติเท่านั้น ส่วนวิธีวิจัยเชิงเอกสารและวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ บางทีก็ถูกจำกัดด้วยกรอบที่ใหญ่กว่า คือการยังติดกับดักการศึกษาในระดับรัฐเดี่ยว
 
ปัญหาใหญ่คือ งานแทบทุกชิ้นยังเน้นประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็น methodological nationalism บางชิ้นเป็น methodological individualism ด้วยซ้ำ จะมีก็แต่ชิ้นเดียวคือชิ้นที่ว่าด้วยบทบาทอาเซียนและการเจารจาระกว่างประเทศอาเซียน ที่พูดถึงภูมิภาคโดยรวม แต่ก็ยังขาดมิติที่เชื่อมโยงระดับนโยบายกับผู้คน นอกจากนั้น บทความนี้ยังมองประเทศเป็นหน่วยเดียว ราวกับเป็นปัจเจกชนคนเดียว มาเล่นเกมต่อรองกันในทฤษฎีเกม ทั้งๆ ที่ประเทศหนึ่งมีผู้รับผลประโยชน์ ผู้รับผลกระทบ ผู้ต่อรองภายในประเทศที่แตกต่างกันมากมาย
 
ส่วนชิ้นที่ว่าด้วยเบื้องหลังการก่อตั้งอาเซียนนั้น ส่วนแรกพูดถึงปัจจัยระดับภูมิภาคก็จริง แต่พอมาถึงส่วนหลัง ปัจจัยภายในที่อธิบายกลายเป็นปัจจัยส่วนบุคคล เน้นปัจเจกมากเกินไป ในแง่หนึ่งอาจใช่ แต่ต้องดูให้ไกลกว่านั้นหน่อย ไม่อย่างนั้นจะอธิบายประเทศฟิลิปินส์ มาเลเชีย อินโดนิเชีย สิงค์โปรได้อย่างไร หรือจะต้องดูเงื่อนไขเชิงปัจเจกของประเทศเหล่านั้นด้วย แม้ว่าจะบอกว่าบทความสั้น ทำไม่ได้หมด แต่หากจะไล่อธิบายแต่ละประเทศจริงๆ ก็จะเห็นเงื่อนไขที่กระจัดกระจาย จนอาจช่วยให้เข้าใจมิติเชิงโครงสร้างขึ้นมา หรือถ้าอย่างนั้นจะอธิบายการเข้าร่วมอาเซียนของเวียดนามและพม่าได้อย่างไร เนื่องจากปัจจัยภายในของสองประเทศหลังที่เข้าร่วมอาเซียน มาจากปัจจัยเชิงนโยบายของรัฐเป็นหลัก
 
ชิ้นที่ว่าด้วยพม่าและชิ้นที่ศึกษาการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า มีร่องรอยของการเชื่อมโยงเกินกว่าประเทศเดียว แต่ทำผ่านทฤษฎีเรื่องกลุ่มชาติพันธ์ุกับรัฐ และการศึกษาประเด็นเดียวกันนี้ในประเทศในเอเชีย อย่างไรก็ตาม หากยังมองไม่เห็นข้อเท็จจริงที่แตกต่าง แล้วก็จะขาดความเข้าใจหรือขาดการตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมรัฐพม่าจึงจัดการปัญหาชนกลุ่มน้อยไม่เหมือนที่อื่นๆ ในอาเซียน หรือเหมือน ทำไมเหมือน หรือในงานเรื่องสิทธิประโยชน์ ทำไมผู้ประกอบการไทยและรัฐไทยจัดการปัญหาการใช้สิทธิประโยชน์ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
 
วิธีวิทยาที่สำคัญในการศึกษาภูมิภาคคือ ต้องดูทั้งระดับโครงสร้าง (ไม่ใช่เฉพาะปัจเจก) และควรเปรียบเทียบข้ามรัฐ ไม่ใช่ว่่จะต้องหาลักษณะทั่วไป แต่เพื่อสร้างข้อเปรียบเทียบว่าในเงื่อนไขเดียวกัน แต่ละประเทศจัดการอย่างไร ในเงื่อนไขต่างกัน ทำไมบางทีเหมือนบางทีต่าง บางทีควรเปรียบเทียบข้ามภูมิภาค อย่างคำถามเรื่องการปรับปรุงองค์การอาเซียน น่าจะชี้ข้อเปรียบเทียบกับที่อื่น เช่น อียู
 
(3) จุดยืนเชิงวิพากษ์
 
เมื่ออ่าาจากผลงานของนักวิชาการปัจจุบัน เหมือนกับนักศึกษาจะเลิกสนใจเรื่องจุดยืนทางวิชาการกันไปแล้ว งานบางชิ้นทำเสร็จแล้ว หลังศึกษาจบ ผู้เขียนจะได้งานทำแน่นอน แต่เราจะไปรับใช้ใคร จะรับใช้คนด้อยโอกาส หรือรับใช้รัฐ จะรับใช้ทุนหรือรับใช้ประชาชน จะยืนอยู่ตรงไหน ถ้าตอบได้ งานจะชัดขึ้น แต่เหนืออื่นใด ในฐานะนักวิชาการ จะยืนอยู่ตรงไหน หากรู้ตัว เราจะจัดวางความสัมพันธ์ของเรากับสังคมได้ดีขึ้น เราไม่ควรทำงานวิชาการโดยไม่รู้จุดยืน เพราะถึงอย่างไรเราก็หนีการมีอคติไปไม่พ้น
 
บทความทั้ง 4 ขาดจุดยืนที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ที่จริงแต่ละชิ้นมีจุดยืน แต่มีเพียงชิ้นเรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่าเท่านั้นที่แสดงจุดยืนชัดเจน ส่วนชิ้นอื่นๆ ดูจะมีจุดยืนในเชิงวิพากษ์นโยบายรัฐและนโยบายอาเซียน เช่น ชิ้นที่ถามถึงการเชื่อมโยงองค์การอาเซียนกับประชาชน เลขาธิการอาเซียนยังเป็นตัวแทนรัฐมากกว่าตัวแทนประชาชน เสนอว่าควรมีรัฐสภาอาเซียนที่สะท้อนหารเป็นตัวแทนประชาชน
 
งานอีกชิ้น แม้จะมีจุดยืนในการวิพากษ์นโยบายของรัฐอยู่ แต่การไม่ได้ถามคำถามเชิงโครงสร้าง เช่น การเมืองของการใช้สิทธิประโยชน์เป็นอย่างไร เอื้อประโยชน์ใคร ความลักลั่นของการให้สิทธิประโยชน์การเอื้อประโยชน์ ส่งผลต่อปราะชาชนรากหญ้าอย่างไร
 
ส่วนงานที่ว่าด้วยเบื้องหลังการก่อตั้งอาเซียน ดูเหมือนจะมีจุดยืนวิพากษ์ประเทศมหาอำนาจ แต่เมื่อพิจารณาลงมาในระดับในประเทผสไทยแล้ว ทำให้มองไม่เห็นว่างานนี้พยายามวิพากษ์อะไร ผลประโยชน์ส่วนตนของนักการเมือง หรืออย่างไร
 
ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสนใจต่อบทบาทของประชาคมอาเซียนในอนาคตคือเรื่องสิทธิมนุษยชน ล่าสุด การประชุมกันที่กัมพูชาเพื่อร่างประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียนมีข่าวออกมาว่า ในประกาศมีข้อยกเว้นมากมาย เรียกได้ว่าเราจะได้ประกาศสิทธิมนุษยชนในมาตรฐานอาเซียน ไม่ใช่มาตรฐานสากล เนื่องจากยังมีคำว่า “public morality” และ “national and regional particularity” (คำพวกนี้ฟังดูคุ้นๆ นะครับ) ในขณะเดียวกัน การประชุมอาเซียนคู่ขนานขององค์กรประชาชนในกัมพูชาเมื่อวันสองวันที่ผ่านมา ก็ถูกกีดกันจากรัฐบาลกัมพูชา
 
ทำให้ยิ่งต้องตั้งคำถามว่า อาเซียนคงไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนทั่วไปขึ้นมาได้ ข้อนี้แตกต่างอย่างยิ่งกับอียู ซึ่งประชาชนสามารถฟ้องรัฐที่ละเมิดสิทธิตนเองได้ (ดู http://prachatai.com/journal/2011/03/33607)
 
โดยสรุป
 
หากจะศึกษาปรากฏการณ์อาเซียน เราน่าจะพิจารณากรอบการศึกษา วิธิวิทยา และจุดยืนเชิงวิพากษ์ ให้เหมาะสมกับการศึกษาในระดับภูมิภาคให้มากขึ้น ข้อวิจารณ์นี้ไม่ได้พุ่งไปที่นิสิตที่เสนองานเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายให้แวดวงวิชาการที่สนใจเรื่องอาเซียน เรื่องอุษาคเนย์ เข้าใจมิติเชิงโครงสร้าง มิติของความเป็นภูมิภาค และแสดงจุดยืนปกป้องสิทธิของผู้คนในอาเซียน เพื่อสร้่างอาเซียนยุคต่อไปให้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ ให้คนได้อยู่อย่างเสมอหน้ากันในภูมิภาค
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี